Saturday, January 31, 2009

อัตวินิบาตกรรม


เรื่องนี้ผมเคยเขียนลงในบลอกเก่า ขออนุญาตนำมาลงในที่นี้ครับ เป็นสังเกตการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยคร่าวๆ ใช้เวลาไม่มาก ขอเชิญอ่านครับ 

---------------------------
             
      คงมีหลายๆท่านที่กำลังตั้งคำถามเช่นเดียวกันกับผมว่า เหตุใดในช่วงเวลานี้จึงมีข่าวคนฆ่าตัวตายบ่อยครั้งขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ และที่สำคัญคือเหล่าคนที่ตัดสินใจปลิดชีวิตของตนเองลงมักจะเป็นเยาวชนเสียด้วย เรื่องนี้จึงนับว่าควรจะได้รับความสนใจจากหลายๆฝ่ายของสังคม เพราะปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยกำลัง เป็นโรค บางประการเสียแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นทำนองเดียวกับอาการเจ็บป่วยทางร่างกายนั่นละครับ คือเมื่อมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นแก่ร่างกาย หรือเราเกิดไม่สบายขึ้นมา จะมีสัญญาณบางอย่างบ่งบอก ไม่ว่าจะเป็นเล็บมีดอก ปลายนิ้วเป็นขุย ลิ้นฝ้า มีขี้ตา ฯลฯ ดังนั้นการที่มีเยาวชนกระทำอัติวินิบาตกรรม [อัตตะวินิบาดตะกำ](1) เพิ่มขึ้นทำให้เราควรจะมาคิดกันดูว่า มันเกิดความผิดปกติขึ้นกับโครงสร้างของสังคม-หรือร่างกายของสังคมไทยอย่างไรบ้าง

            ก่อนที่จะเข้าเรื่องสังคมไทย ผมขอกล่าวโดยกว้างถึงพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย (suicide) เสียก่อน เพราะพฤติกรรมนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเพียงสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก  จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) สถิติการฆ่าตัวตายของคนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 ภายในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา และจากข้อมูลของปีค.ศ.2000 จำนวนเฉลี่ยของผู้ที่ตัดสินใจปลิดชีวิตลงทั่วโลกคือ 16 คนจากจำนวนประชากรหนึ่งแสนคน หรือกล่าวอย่างน่าตกใจคือ จะมีคนๆหนึ่งฆ่าตัวตายภายในทุกๆ 40 วินาที (2) จะเห็นได้ว่า โลกในยุคใหม่นี้นำมาซึ่งปัจจัยนานาประการที่เป็นแรงผลักดันให้คนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าตัวเลขจะสูงขึ้นในทุกๆปี

คำว่า “suicide” มาจากภาษาละตินว่า suicidium ซึ่งมาจากคำว่า sui caedere ซึ่งหมายความว่า “to kill oneself” ซึ่งในหลายศาสนาไม่ว่าจะเป็นฮินดู อิสลามหรือพุทธนั้นมองการฆ่าตัวตายว่าเป็นการการะทำที่ขัดต่อหลักศาสนา โดยศาสนาพุทธนั้นมีปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค ตติยปราชิกกัณฑ์ สิกขาบท วิภังค์บัญญัติ และอนุบัญญัติไว้ว่า พุทธศาสนาไม่ยินยอมให้ทำ อัตวินิบาตกรรมเป็นอันขาด เนื่องจากเป็นโทษหนักสามารถทำให้ผู้กระทำไปปฏิสนธิในอบายภูมิได้ ส่วนในศาสนาอิสลามมองว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้นจะไม่มีโอกาสได้ไปสวรรค์ โดยปรากฏในพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน(3)

 นักสังคมวิทยาอย่างเอมิลล์ เดอร์ไคม์ (1858-1917) เป็นคนแรกๆที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็วกระทั่งทำให้สมาชิกไม่สามารถปรับตัวได้ทันนั้นเปรียบได้กับสภาวะไร้ระเบียบ (anomie) และจะนำไปสู่พฤติกรรมการฆ่าตัวตายของสมาชิกได้  เขาได้ทำการศึกษาการฆ่าตัวตายอย่าละเอียดในงาน Le Suicide (1897) โดยได้ทำการแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ โดยผมจะไม่นำมากล่าวเอาไว้ในที่นี้ อย่างไรก็ตาม แม้งานชิ้นนี้ของเขาได้จัดระบบและเปิดพรมแดนการศึกษาสังคมออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น แต่เดอร์ไคม์มิได้เสนอแนะถึงทางออกที่เป็นรูปธรรม(4)

            ในวิวาทะเชิงปรัญชา มีมุมมองเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายหลากหลายแตกต่างกันออกไป ในที่นี้ผมจะยกมาเพียงบางท่านเท่านั้น เช่น Immanuel Kant (1724-1804) มองว่าการฆ่าตัวตายด้วยจุดประสงค์ในการมุ่งหาความสุข (จากความทุกข์ที่มีในขณะยังมีชีวิตอยู่) นั้นเป็นการกระทำที่ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากเขามองว่าเมื่อมนุษย์ตัดสินใจกระทำการฆ่าตัวตาย เขากำลังใช้ ตนเอง เป็น วิธีการ (means) ในการสร้างความสุขแก่ตน ทั้งนี้เพราะ Kant มองว่ามนุษย์ต้องรับผิดชอบการกระทำของเขาทั้งหมด การใช้ ตนเอง เพื่อหาความสุข (โดยการตายจากโลกนี้ไป) โดยไม่รับผิดชอบถึงจุดหมาย (ends) ที่จะเกิดขึ้นนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือนักเขียนในสำนัก Absurdism ที่เชื่อในอิสรภาพของมนุษย์อย่าง Albert Camus (1913-1960) ก็มองเรื่องการฆ่าตัวตายว่าเป็น การปฏิเสธอิสรภาพของตนเอง  ชนิดหนึ่ง โดย Jean-Paul Sartre (1905-1980) ผู้ถูกจัดอยู่ในสำนัก Existentialism ก็ได้เชื่อในทำนองเดียวกัน (5)

            ในอีกด้านหนึ่ง มีกลุ่มนักปรัชญาที่มองการฆ่าตัวตายว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างไร นักปรัชญาในสำนัก Idealism อย่าง Herodotus กล่าวในงานเขียนของเขาว่า เมื่อการดำเนินชีวิตนั้นเป็นภาระอันหนักหนายิ่งนัก ความตายจึงเป็นแหล่งพักพิงที่ดี นอกจากนี้ Arthur Schopenhauer (1788-1860) เขียนในงานชิ้นหลักของเขา The World as Will and Representation ว่าแต่ละคนมีสิทธิเหนือชีวิตของตนเอง และการฆ่าตัวตายนั้นไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใด ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 งานเขียนของ Goethe  เรื่อง Die Leiden des jungen Werthers [ความเศร้าโศกของ Werther] กลายเป็นประเด็นแห่งการวิพากษ์วิจารณ์เพราะเนื้อเรื่องของเด็กหนุ่มที่ฆ่าตัวตายจากความล้มเหลวจากความรัก ได้ก่อให้เกิดการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นในประเทศเยอรมนีในช่วงเวลานั้น (6)

            นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมการฆ่าตัวตายหมู่ (collective suicide) โดยกลุ่มคนมีความเชื่อเดียวกัน  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีทั่วโลก ซึ่งสมาชิกได้ถูกทำให้เชื่อ หรือถูกบังคับให้กระทำอัตวินิบาตกรรม ผมจะไม่กล่าวถึงรายละเอียด แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นในญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นประเทศที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก) คือการใช้อินเตอร์เนตในการหาผู้ที่มีจุดประสงค์ในการฆ่าตัวตายเหมือนกับตน เพื่อจะได้ปลิดชีวิตตนลงพร้อมๆกัน โดยเวบไซต์ต่างๆจึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ (7) จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการฆ่าตัวตายได้เดินทางผ่านเวลามาสู่ศตวรรษที่ 21 และกำลังแพร่กระจายไปอย่างน่าเป็นห่วง

            สำหรับประเทศไทย มีงานศึกษาพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในช่วงปีค.ศ. 1977-1985 เรื่อง Suicidal Behaviour in Thailand โดย Chanpen Choprapawon& Sumana Visalyaputra ซึ่งได้ข้อสรุปทางสถิติบางประการว่า แนวโน้มของการฆ่าตัวตายในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยกลุ่มอายุที่มีจำนวนผู้ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ 15-24 ปี โดยภาคที่มีจำนวนผู้ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือภาคเหนือ และเดือนเมษายนมักจะมีตัวเลขสูงที่สุด และส่วนใหญ่จะตัดสินใจกระทำในวันอาทิตย์ จันทร์และอังคารมากกว่าวันอื่นๆ โดยสาเหตุจูงใจส่วนใหญ่คือความลัมเหลวเรื่องความรัก รองลงมาคือปัญหาครอบครัว ความยากจน และความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ (8)

            สำหรับทางออก หรือแนวทางการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมนั้นมีอยู่หลายด้านด้วยกัน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุขได้เปิดสายด่วนสุขภาพจิต 1667 เพื่อรับปรึกษาและให้คำแนะนำกับผู้ที่มีอาการซึมเศร้า นอกจากนี้มีกลุ่มทางสังคมหลายฝ่ายได้ตั้งขึ้นเพื่อมีจุดประสงค์ให้ผู้ที่เคยตัดสินใจฆ่าตัวตายเปลี่ยนทัศนคติของตนเองได้

            ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ผมมองว่าสำคัญที่สุดคือสถาบันครอบครัวนั่นเอง เพราะมนุษย์เติบโตและได้รับการขัดเกลามาจากหน่วยเล็กที่สุดของสังคมนี้ ดังนั้น สมาชิกในครอบครัวมีหน้าที่เป็นหูเป็นตา และเอาใจใส่ดูแลสมาชิกคนอื่นๆ และสร้างครอบครัวที่แข็งแรงขึ้น เพื่อประกอบให้สังคมใหญ่เข้มแข็งขึ้นได้ รวมทั้งทำให้คนมองเห็นคุณค่าของชีวิตตนเองมากขึ้นด้วย

 

อ้างอิง

(1) พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542

(2) ข้อมูลจากเวบไซต์ WHO

(3) http://www.mahapruettharam.com/webboard/index.php?showtopic=31

(4) http://www.deathreference.com/Da-Em/Durkheim-mile.html

(5) http://en.wikipedia.org/wiki/Philosophical_views_of_suicide

(6) ibid.

(7) http://www.physorg.com/news7046.html

(8) Kok Lee Peng and Wen-Shing Tseng, Suicidal behaviour in the Asia-Pacific region

 

1 comment:

Jeerayus said...

เราเป็นคนเชื่อในเรื่อง good will ของปัจเจก
แต่ในเรื่องการฆ่าตัวตายเรากลับเห็นเป็นทางเดียวว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะเราเชื่อว่าคนเราเกิดมามีกายและจิต ร่างกายสลายจิตใจยังคงอยู่ หากแต่คนเราเกิดมาเพื่อใช้ร่างกายในการสร้างประโยชน์ต่อตน ต่อส่วนรวมอย่างใดอย่างหนึ่ง

ร่างกายจึงเป็นของขวัญหรือส่วนเติมเต็มของการมีชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่ขาดไม่ได้