Thursday, August 6, 2009

สัมภาษณ์ : อีวาน คลีมา


ผมเข้าใจว่านักอ่านไทยไม่ค่อยจะรู้จักนักเขียนชาวเชคมากไปกว่ามิลัน คุนเดอรา แต่หากพิจารณาถึงวงการวรรณกรรมของเชค เราจะเห็นว่ามีนักเขียนอยู่หลายคนที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคม ต่อไปนี้คือเรื่องราวของอีวาน คลีมา นักเขียนเชคอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ขอเชิญอ่านครับ



คนเชกหัวดื้อที่เป็นนักเขียนมีชื่อผู้นี้ใช้ช่วงเวลาแรกของชีวิตในค่ายกักกัน ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องซึ่งอิสรภาพของเขา เมื่อรถถังรัสเซียมุ่งเข้าสู่ปรากในปีค.ศ.1968 นั้น เขากำลังเดินทางไปสหรัฐฯเพื่อสอนหนังสือ แต่ด้วยวิญญาณนักต่อสู้ เขาเดินทางกลับประเทศของตน และใช้ชีวิตแบบ "ผู้ถูกเนรเทศในบ้านเกิดของตนเอง" เขาให้สัมภาษณ์ทิม อดัมส์ถึงการใช้ชีวิต ความรัก และช่วงเวลาอันควรจดจำของตน




เมื่ออีวาน คลีมาเกิด เขาก็รู้ทันทีว่าเสรีภาพนั้นเป็นอย่างไร นั่นก็เพราะเสรีภาพเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับชีวิตในวัยเด็กของเขานั่นเอง ในปีค.ศ.1941 คลีมาอายุสิบขวบ พ่อของเขาถูกส่งไปในการขนส่งของพวกนาซีรอบแรกสุด ไปสู่ "ป้อมแห่งความแออัด" ในเทเรซิน (Terezin) ทางตอนเหนือของปราก และจากนั้นทั้งครอบครัวก็ต้องตามไป คลีมาอยู่ที่เทเรซินตลอดช่วงสงคราม เขาบอกว่าตัวเองไม่เคยรู้มาก่อนว่าพ่อแม่เป็นชาวยิว กระทั่งฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ

เขาเคยเขียนในครั้งหนึ่งว่า "ใครก็ตามที่เคยผ่านค่ายกักกันสมัยยังเด็ก ใครก็ตามผู้ซึ่งมีชีวิตแขวนอยู่กับอำนาจที่จะสามารถเข้ามาทำร้ายเข่นฆ่าเขา หรือคนรอบตัวเขาเมื่อใดก็ได้นั้น คงย่อมจะมีบทเรียนชีวิตแตกต่างจากคนที่โตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์และได้รับการศึกษาไปบ้าง เพราะชีวิตแบบนั้นเป็นดั่งเชือกเส้นบางๆ ที่สามารถขาดได้ทุกเมื่อ และนั่นเกิดกับผมทุกวันในยามเด็ก"

แต่มันก็ยังมีบทเรียนอื่นอีก - บทเรียนแห่งการเอาตัวรอด และบทเีรียนแห่งการหลบหนี - ขณะที่อยู่ในเทเรซิน คลีมามีหนังสือเล่มเดียวคือ The Pickwick Papers เขาอ่านมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเดินเข้าำไปในโลกแห่งถ้อยคำของแซม เวลเลอร์และนาธาเนียล วิงเกิล ขณะนั้น, เสรีภาพได้สถาปนาขึ้นในจิตใจของเขาดั่งเรื่องเล่า

แล้วเขาก็เริ่มเขียนขณะยังอยู่ในค่าย เขียนโดยรู้ตัวว่าแต่ละหน้าที่จบไปอาจเป็นหน้าสุดท้าย ในขณะเดียวกันก็พบว่าการเขียนเป็นกลวิธีในการหลบหนีที่ดีเยี่ยม เขาเขียนบทละครและทำหุ่นเพื่อแสดงเอง เขียนเรื่องเกี่ยวกับเด็กหญิงที่เขาหลงใหล ฝันกลางวันไปกับรักแรกของตนเอง ผัสสะแห่งการปลดปล่อยที่เขาค้นพบในแต่ละประโยคๆไม่เคยหนีจากเขาไปไหน "ผมติดตามอิสรภาพที่ร่ำร้องอยู่ภายในเสมอ" คลีมาบอกที่บ้านในปรากของเขา "นั่นทำให้ผมไม่เคยถูกเซนเซอร์"

ประสบการณ์ที่เขาเรียกว่า "วัยเยาว์" ของตนเองนั้น ถึงเวลานี้มันปรากฏเด่นชัดอยู่ในใจภายใต้ฐานะนักเขียน กระทั่งเมื่อเขาโตแล้ว เขาก็ยังนอนโดยเอาผ้าพันคอปิดหน้าเอาไว้ เป็นนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่สมัยอยู่ที่เทเรซิน เพราะที่นั่นไม่เคยปิดไฟ ผ้าพันคอเป็นเหมือนผ้าห่มอันอุ่นไอ และขณะเดียวกันก็เป็นกลไกในการป้องกันตนเอง เขามักฝันซ้ำๆเสมอมา ฝันว่าถูกจับตัว ถูกคุมขัง ฝันร้ายเหล่านี้มาทุเลาลงในหลังๆมานี้เท่านั้นเอง เวลานี้คลีมาอายุ 77 ปีและกำลังเขียนบันทึก My Crazy Century อยู่อย่างขะมักเขม้น

"ประมาณสักเจ็ดสิบเปอร์เซนต์ของชีวิตผมนั้นปราศจากซึ่งเสรีภาพ" คลีมาบอก หากแต่จริงๆแล้วเขาถ่อมตัวเกินไปที่จะไม่พูดถึงการอุทิศตนเพื่อการต่อสู้ของเขา หลังจากเทเรซิน, โซเวียตได้เข้ารุกรานเชคโกสโลวาเกีย มันเป็นช่วงเวลาแห่งความหวังสั้นๆในฤดูใบไม้ผลิของปีค.ศ.1968 คลีมาเองก็เป็นหนึ่งในหัวหมู่ในเวลานั้นซึ่งยืนหยัดต่อต้านระบอบเผด็จการที่ยาวนานถึง 21 ปี ก่อนจะเกิดการปฏิวัติในค.ศ.1989 (Velvet Revolution) ตลอดเวลาเหล่านี้ ไม่มีสักเวลาที่เขาจะไม่คิดเกี่ยวกับเสรีภาพ และยังเชื่อว่าเราจะได้รับอิสรภาพผ่านการเขียนความจริงออกมา

ปัจจุบันคลีมาอาศัยอยู่ที่ชายป่าทางตอนใต้ของปราก ลูกสองคนและครอบครัวของพวกเขาต่างก็อยู่บนถนนเส้นเดียวกัน เกือบทุกเช้าเขาจะออกไปเก็บเห็็ดจากตามโคนต้นไม้ในป่า ฟิลิป รอธ เพื่อนของเขาแซวว่า ด้วย "ทรงผมแบบบีเทิลส์" และ "ฟันแบบสัตว์กินเนื้อ" ของเขานั้น เขาดูเหมือน "ริงโก สตาร์ที่มีวิวัฒนาการทางปัญญาแล้ว" - แม้จะดูเหมือนเช่นนั้น แม้ผมเขาจะขาวเสียแล้ว แต่มันยังมีความเป็นโบฮีเมียนอย่างเด็ดเดียวในทุกๆอณูของตัวเขา และยังยืนหยัดอยู่เช่นนั้น แม้เขาจะเป็นคนหัวเราะง่าย ก็นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนผ่อนคลายนัก หนังสือ 30 กว่าเล่มของเขาถูกเขียนขึ้นด้วยจิตใจ ความสัตย์ซื่อ ความกล้าหาญ ความโรแมนติก และบางครั้งด้วยความพยายามค้นหาปรัชญาอะไรบางอย่าง

ผมเจอคลีมาก่อนหน้านี้ครั้งหนึ่งในปีค.ศ.1991 ขณะที่ยังทำงานให้กับสำนักพิมพ์กรันตา ผมเป็นบรรณาธิการหนังสือแปลของเขาสองสามเล่ม เราไปกินข้าวกันในภัตตาคารหรูทางตะวันตกของลอนดอน ผมคิดอย่างไร้เดียงสาว่าหลังค.ศ.1989 เขาจะเปลี่ยนวิถีชีวิต ทำตัวเป็นดารา หากแต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เขายังระมัดระวังที่จะไม่สรุปอะไรอย่างง่ายๆ และไม่แสดงความพึงใจอย่างเกินพอดี เขายืนยันที่จะกินเพียงขนมปังและซุปผัก และพยายามเรียนรู้ผมด้วยอารมณ์ขันอันแหบห้าวในขณะที่ผมพร่ำถามเกี่ยวกับความรู้สึกของเขายามได้รับอิสรภาพ เขาตอบกลับมาด้วยท่าทีอันว่างเปล่าสะท้อนถึงวันเวลาที่คนรุ่นเราได้เสียไป

เวลานี้ที่บ้านของเขา เขาดูอบอุ่นขึ้นมาบ้างแต่ก็ไม่ได้คลายความเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ของตนลงไปเลย "สำหรับคนรุ่นใหม่" เขาพูด "ปีค.ศ.1989 ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ไปแล้ว ตอนที่ผมไปปรากเพื่อไปสัมมนากับนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ผมมักต้องอธิบายก่อนว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร เพราะเด็กพวกนั้นไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย"

สำหรับเขาแล้ว เขายังให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์เสมอ "เมื่อเวลาผ่านไป, แม้ทุกอย่างมันเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วก็ตามในปัจจุบัน แต่ในเวลานั้นความรู้สึกมันไม่ได้เป็นอย่างนี้เลย มันมีเปเรสทรอยกาในรัสเซีย และในประเทศผมก็มีการต่อต้านระบอบและผู้สมรู้ร่วมคิดของมันกันอยู่ทั่วไป ซึ่งการต่อต้านก็เกิดจากพลเมืองชั้นสามนี่ละ - แม้ทุกสิ่งจะต้องเปลี่ยนไปก็ตาม แต่ผมประหลาดใจว่า ทำไมมันจึงเร็วนัก?"

คลีมาในเข้าไปอยู่ในโรงละคร Magic Lantern ในวันที่การปฏิวัติ Velvet ถูกจุดขึ้นโดยแวคลาฟ ฮาเวลและเพื่อนของเขาที่ส่วนใหญ่เป็นนักเขียน ซึ่งต่อต้านรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น เขาถูกเชิญให้พูดบนเวที, เขาบอกว่านั่นเป็นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษที่เขาได้รับอนุญาตให้พูดในที่สาธารณะบนผืนดินเกิดตัวเอง มันเป็นช่วงเวลาที่มากล้นด้วยอารมณ์ทีเดียว

"ผมพูดอะไรบางอย่างง่ายๆเกี่ยวกับสถานการณ์ในเวลานั้น และได้รับเสียงตบมือดังกระหึ่มกลับมา" คลีมาเท้าความถึงเวลานั้น "ที่แปลกคือหลังจากนั้นก็มีคนอีกหลายคนมาบอกกับผมว่า พวกเขาไม่รู้มาก่อนว่าผมอยู่ในปรากในช่วงเวลานั้น นักเขียนที่ถูกขึ้นบัญชีดำจะถูกระบอบทำให้เป็นผู้ไร้ตัวตน คนจึงนึกว่าเราถูกเนรเทศไปแล้ว - ซึ่งจริงๆก็ไม่ผิดหากจะกล่าวเช่นนั้น"

จากเหตุการณ์ในวันนั้นต่อมา ฮาเวลสหายของคลีมาก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และเพื่อนของเขาหลายๆคน ทั้งที่เป็นนักเขียนและนักวิชาการก็ได้เขารับตำแหน่งรัฐมนตรี นั่นคล้ายจะเป็นเหมือนตอนจบอันสุขสันต์ของชีวิตเขาเลยก็ว่าได้ เพราะมันเป็นเหมือนทำให้ความหวังของเขาที่เคยหายไปได้กลับมาเป็นจริง

หากค.ศ.1989 เป็นตอนจบอันสุขสันต์แล้วล่ะก็ คลีมาบอกว่าช่วงเวลาอันเลวร้ายที่สุดก็คือค.ศ.1970 เมื่อรถถังรัสเซียวิ่งเข้าสู่ปรากในปีค.ศ.1968 เวลานั้นคลีมาอยู่ในลอนดอน ระหว่างทางจะไปสอนหนังสือที่มิชิแกน เมื่อได้ข่าวเขาก็แทบจะควบคุมตัวเองไม่ได้ เขายังเดินทางไปสหรัฐฯกับครอบครัว และเมื่อภาระการสอนของเขาจบลง ปีต่อมาเขาก็ต้องพบกับการตัดสินใจที่ยากที่สุดในชีวิตของเขา เขาควรจะลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯเหมือนกลุ่มผู้ต่อต้านคนอื่นๆ หรือเขาควรพาครอบครัวกลับบ้าน?

"ทุกคนเตือนผมว่า อย่ากลับไปนะ เขาจะส่งคุณไปไซบีเรีย" คลีมากล่าวถึงช่วงเวลานั้น "แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ต่างประเทศในฐานะนักเขียน นอกจากภาษาแล้วผมจะไม่ได้ติดต่อกับคนชาติเดียวกันที่เราเข้าใจมากที่สุด ผมรู้สึกชอบอเมริกาอยู่เหมือนกัน แต่ปัญหาของพวกเขาไม่ใช่ปัญหาของผม"

คลีมากลับเมื่อเดือนมีนาคมค.ศ.1970 ขณะที่การกวาดล้างของโซเวียตกำลังดำเนินถึงจุดสูงสุด "มันหนาวมาก" เขาเท้าความ "พวกเขาแบนทุกคนที่ไปเกียวข้องกับเหตุการณ์เมื่อฤดูใบไม้ผลิ คน 400,000 คนตกงาน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานทักษะูสูง ครู อาจารย์ ทุกคนที่ทำงานวิทยุ โทรทัศน์ พวกสหภาพแรงงาน" คลีมาถูกขึ้นบัญชีดำในฐานะนักเขียน และถูกห้ามทำงานยกเว้นก็แต่งานรับใช้ เขาถูกยกเลิกหนังสือเดินทาง ถูกยึดใบขับขี่ ถูกตัดสายโทรศัพท์ เขาถูกขู่ว่าจะถูกขังคุกหากหนังสือของเขาตีพิมพ์ในต่างประเทศ

คลีมาต่อสู้กลับในทันที "ผมจัดกิจกรรมการอ่านขึ้นหลังจากที่เรากลับมาได้สัปดาห์เดียว" เขากล่าว "ผมเชิญแขกประมาณ 45 คน เต็มห้องนั่งเล่นบ้านเราพอดี ผมก็เตรียมมีทบอลให้แขก ซึ่งถูกเรียกติดปากว่า "คลีมาบอล" แล้วก็มีการดื่มไวน์กันนิดหน่อย มีคนอ่านอะไรบางอย่างที่เพิ่งถูกเขียนขึ้น และมันเป็นอย่างนั้นต่อมาในทุกสัปดาห์ ผมจำได้ว่าฮาเวลมาอ่านบทละครใหม่ของเขาสองเรื่อง และ [มิลัน] คุนเดอรา ที่เวลานั้นยังอยู่ในปราก ก็มาอ่านอะไรอยู่บ้างเหมือนกัน"

หลังจากประมาณปีหนึ่งผ่านไป เพื่อนของคลีมาลุดวิค วาคูลิค (ผู้เขียน A cup of coffee with my interrogator) ได้พาชายคนหนึ่งมาจากออสตราวา (Ostrava) ผู้เป็นนักเขียนที่เคยติดคุกมาปีหนึ่ง ชายคนนี้ต่อมาฆ่าตัวตาย เขานี้เองไปร่วมมือกับตำรวจลับเำื่พื่อเปิดเผยชื่อของทุกคนในกิจกรรมการอ่านนี้พร้อมด้วยรูปถ่ายของคนที่เข้าออก "ถึงจุดนั้น พวกเราก็ถูกเปิดเผยแล้ว" เขาบอก

นักเขียนถูกสะกดรอยตาม ถูกค้นบ้าน การนัดพบทำได้ยากขึ้น แ่ต่คลีมาบอกว่า "พวกเรายังพยายามติดต่อกันอย่างใกล้ชิด" มีการแนะนำให้ส่งงานเขียนเวียนกันไปในกลุ่ม รวมทั้งหนังสือ เำื่พื่อให้การกระจายความคิดทำได้ต่อไป เรียกว่า "samizdat" (พิมพ์เอง) นิยาย บทกวีและบทละครจึงถูกเขียนขึ้น โดยเริ่มต้นจากแฟนของวาคูลิค และทำซ้ำและเวียนไปในหมู่เพื่อน ตอนแรกทำออกมา 14 เล่ม และต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 50 ถึง 60 เล่ม จนกระทั่งมันแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางถึงหลักพันในวงการหนังสือใต้ดิน

ขณะที่เขากำลังเล่าเรื่องราวเหล่านี้ คลีมาเดินไปที่ชั้นหนังสือที่เหยียดยาวสุดห้องนั่งเล่นของเขา และดึงหนังสือเล่มบางๆออกมาบางเล่ม ซึ่งพิมพ์สองด้านบนกระดาษแอร์เมล์ "นี่เป็นหนึ่งในบทละครของฮาเวล และนี่คือบทกวีของเยโรสลาฟ ซีเฟอร์ต" - เหล่านี้คือประวัติศาสตร์ของการต่อต้านเย็บเล่มเอาไว้ด้วยกันอย่างประณีต

"สุดท้ายแล้วภายใน 18 ปี เราพิมพ์กันได้ 300 ฉบับ" ตอนแรกตำรวจพยายามยึดหนังสือพิมพ์เองเหล่านี้ตามบ้าน แต่มันแพร่กระจายไปเร็วเกินกว่าจะควบคุมได้ มันเป็นฝันร้ายที่แท้จริงของตำรวจลับ "และมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราไปกันต่อได้" คลีมาบอก

ในช่วงเวลาหลายปีนั้น คลีมาก็เหมือนๆกับปัญญาชนที่ถูกกวาดล้างคนอื่นๆ เขาทำงานไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถพยาบาล นักสำรวจ คนกวาดถนน - ซึ่งเหล่านี้เป็นวัตถุดิบของนิยายของเขาเอง - เขายังมีกิจกรรมอย่างอื่นด้วยในยามกลางคืน คือการเอาต้นฉบับของสำนักพิมพ์ตะวันตกผ่านเพื่อนในสถานทูตหรือไปเยี่ยมเยียนนักเรียนของตัวเอง

นิยายของเขาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตที่ดำเนินมาก่อนหน้านั้น และส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับวิธีการใช้ชีวิตแบบ "ธรรมดา" ในระบอบเผด็จการ เล่มที่ประสบความสำเร็จที่สุดเล่มหนึ่งเป็นกึ่งอัตชีวประวัติเรื่อง Love and Garbage ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตของเขาตอนที่เป็นคนกวาดถนน ที่มีปัญหาขัดแย้งระหว่างความรักที่เขามีให้กับภรรยาและความสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่น

การมีชีวิตอยู่ในความจริงทางการเมืองของเขานั้นง่ายกว่าทางความสัมพันธ์แบบหญิงชายมาก "ความรัก การนอกใจและการประนีประนอมดูจะส่งผลแก่ทุกๆคนในการมีชีวิตอยู่ในความจริง" ความเป็นจริงที่เต็มไปด้วยเรืองราวของชีวิตดูจะทำให้จินตนาการโรแมนติกไปไกลกว่าขอบเขตใดๆ

"สำหรับผม ผมชอบผู้หญิงมาตลอด" เขาบอก "บางครั้งผมรู้สึกว่าตกหลุมรัก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่นะ แม้กระนั้นชีวิตแต่งงานของผมก็มีความสุขมาก ปีที่แล้วเราเพิ่งฉลองครบรอบห้าสิบปีด้วยกัน" ครึ่งหนึ่งของคนรุ่นผมนั้นจะหย่าร้าง สำหรับผมการหย่าร้างคือการเลือกที่จะเข้าไปสู่สถานการณ์เดิมอีกครั้ง แต่ด้วยความเจ็บปวดที่ฝังอยู่แต่เดิมทั่วไปหมด"

บางครั้งคลีมาก็เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ปีค.ศ.1989 ด้วยน้ำเสียงแบบสัมพันธภาพของความรัก โดยเฉพาะในงาน Waiting for the Darkness, Waiting for the Light ซึ่งตัวละครหลักปาเวล ผู้กำกับโทรทัศน์ที่อาชีพการงานพังทลายเพราะระบอบคอมมิวนิสต์ ได้ไปเข้าร่วมเหตุการณ์ปฏิวัติในเดือนพฤศจิกายน

"อากาศฉุนกึกด้วยกลิ่นซากศพของคนตายที่อวลอบ..." ปาเวลรู้สึก "และอารมณ์อันแปลกแปร่ง หรือกระทั่งเรียกได้ความความปรีดานั้นได้เกิดขึ้น และดูเหมือนว่าได้พาทุกคนมารวมกัน ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนี้ได้ทำให้เขาแปลกใจ เพราะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเลย..."

ในฝูงชนปาเวลพบกับสตรีที่ครั้งหนึ่งเขาเคยรัก และเธอก็จูบเขาอย่างทันทีทันใด ในเวลาต่อมาปาเวลพยายามบอกเธอถึงความใกล้ชิดที่ทั้งสองมีในคืนวันรัฐประหาร

"มันเป็นชั่วขณะนั้นที่ทำให้มันเกิดขึ้น ปาเวล มันเป็นเรื่องของเวลา" เธอบอกแก่เขา
"เวลานั้นในอวสานไปหรือไร?"
"เวลาเช่นนั้นอยู่ได้ไม่นานนักหรอก"

เวลาของหลายคืนในเดือนพฤศจิกายน 1989 จะอยู่ยาวนานเท่าใดกันสำหรับคลีมา?

เขายิ้ม "ผมมีความสุขกับมันนานเท่าใดน่ะหรือ? มันน่าสนใจมากที่ผู้คนยอมรับอิสรภาพในฐานะที่มันเป็นเรื่องธรรมดาในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งๆที่เราต่อสู้เพื่อมันมายาวนานเหลือเกิน" เขาบอก "ในสัปดาห์หรือเดือนแรกๆคุณไม่ได้คิดถึงมันหรอก แต่คุณจะต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆที่ทำให้คุณโกรธ คอร์รัปชั่นอะไรอย่างนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การพึ่งพิงตลาดจนเกินพอดี ซึ่งก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของพันธนาการ เพราะฉะนั้นความรู้สึกมันไม่ได้อยู่นาน แต่การเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยนั่นละ ที่ยังคงอยู่"

คลีมาได้รับการทาบทามให้ไปรับตำแหน่งในรัฐบาลของฮาเวล แต่เขาปฏิเสธมันทั้งหมด "สำหรับผม จุดประสงค์ในการต่อสู้ของผมคือทำทุกอยางเท่าที่จะทำได้ในการล้มล้างระบอบอันเลวร้าย เมื่อมันเกิดขึ้นสำเร็จ ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ในเวลานั้นสิ่งเดียวที่ผมอยากทำคือกลับไปเขียนหนังสือต่อ และสามารถพิมพ์มันออกมา"

หลายสัปดาห์หลังเหตุการณ์ค.ศ.1989 หนังสือของคลีมาถูกตีพิมพ์อย่างรวดเร็วในปราก Love and Garbage ขายได้ 100,000 เล่ม เรื่องราวของเขา My Merry Morning ขายได้ 150,000 เล่ม มีคนต่อแถวยาวที่ร้านหนังสือทั่วจัตุรัสเวนเซสลาส เวลานี้หนังสือของเขาทั้งหมดขายได้เรื่องละอย่างน้อย 4,000 เล่ม

เขาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า "นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่แตกต่างคือหากเวลานี้ผมต้องการพูดอะไร ผมสามารถไปที่สถานีวิทยุหรือหนังสือพิมพ์และพูดมัน และก็จะไม่มีใครฟัง คนเดี๋ยวนี้ยุ่งอยู่กับรายการโชว์เท่านั้นเอง เมื่อก่อนผมมีแค่พิมพ์ดีด แต่ทุกคนกระเหี้ยนกระหือรืออยากอ่านงานของผม"

คลีมาใช้ชีวิตอยู่มานานและเห็นความขมขื่นของสถานการณ์เช่นนี้มามาก อาจมากเกินไปด้วยซ้ำ - แต่ก็นั่นละ, มันเป็นเช่นนั้นเอง

"เราไม่ได้หวังว่าสวรรค์จะลงมาอยู่บนดินในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น" เขากล่าวก่อนที่ผมจะจากมา "แต่ในท้ายที่สุด เราได้รับอิสรภาพ"


อีวาน คลีมา

เกิด : 14 กันยายน ค.ศ.1931 ที่ปราก
ครอบครัว : แต่งงานกับเฮเลนา นักจิตบำบัดในปีค.ศ.1958 มีลูกด้วยกันสองคน ไมเคิลเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และฮานาเป็นศิลปิน
งานชิ้นหลัก : My Merry Morning (1985), Love and Garbage (1986), Judge on Trial (1991), My Golden Trade (1992), Waiting for the Dark, Waiting for the Light (1994), No Saints or Angels (2001)


The Observer, 2 สิงหาคม 2009