Saturday, May 9, 2009

ข้อคิดจากสองธเนศ

เนื่องด้วยเริ่มคุ้นเคยกับวันหยุดแล้ว ก่อนอื่นผมแนะนำให้ไปบริหารต่อมหัวเราะที่นี่

เอาละ เข้าเรื่องกันสักหน่อยดีกว่า 

พอดีช่วงนี้ผมได้อ่านงานของอาจารย์ธเนศสองท่าน คืออ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอ.ธเนศวร์ เจริญเมือง แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

จึงมีข้อคิดจากสองธเนศมาฝาก ใ นอันจะสะท้อนสภาวะการเมืองไทยปัจจุบันโดยมองลึกไปในประวัติศาสตร์ :

อาจารย์ธเนศเขียนในหนังสือ ความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สำนักพิมพ์มติชน, 2547) ในบทที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงจาก "มนุษย์" มาสู่การเป็น "พลเมือง" ในวาทกรรมทางการเมืองไทย โดยได้สรุปเอาไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของบทว่า
...หากเทียบกับความคิดสิทธิมนุษยชนที่มีฐานและพัฒนาการจากตะวันตก ที่เรียกว่าลัทธิเสรีนิยม แนวคิดสิทธิมนุษยชนไทยในประวัติศาสตร์มาถึงสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีลักษณะเด่นที่การเน้นในสิทธิของรัฐและกลไกของรัฐมากกว่าการให้อำนาจและเสรีภาพแก่ปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคลนอกรัฐบาล อำนาจสูงสุดยังเป็นของรัฐบาลและศูนย์กลางอยู่เช่นเคย การรวมศูนย์การปกครองและการบริหารจัดการเป็นทิศทางหลักที่ดำเินินต่อมาอีกนาน สิทธิพื้นฐานต่างๆของประชาชนโดยเฉพาะในชนบทท้องถิ่นยังถูกละเลยและถูกกดขี่เอาเปรียบจากรัฐและราชการไปถึงภาคเอกชน สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองถูกจำกัดลิดรอนมาเป็นเวลายาวนาน แม้จะมีการสลับกับการเปิดให้มีเสรีภาพบ้างก็เป็นระยะเวลาสั้นๆ ที่ไม่ีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบและโครงสร้างทางการเมืองที่แท้จริง แนวคิดและการปฏิบัติของสิทธิมนุษยชนไทยที่ผ่านมาจึงอาจเรียกได้ว่า เป็นสิทธิมนุษยชนภายใต้อุดมการณ์ลัทธิ "เสรีนิยมแบบอาญาสิทธิ์" (liberal absolutism)
ผมคงจะไม่ต้องสรุปความอะไรให้เวิ่นเว้อ ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เรากำลังประสบอยู่ ณ เวลานี้ มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมัน มันอาจจะเป็นการผิดมหันต์หากเรามองเพียงปรากฏการณ์ที่อยู่ตรงหน้า (จอทีวี) แล้วก่นด่าอย่างสาดเสียเทเสีย ว่าไอ้พวกคนจัญไรมาทำร้ายบ้านเมือง หรือไปเข้าร่วมกลุ่ม "หยุดทำร้ายประเทศไทย" โดยมองคนทั้งสองสีเป็นพวกนักเลงหัวไม้เท่านั้น 

ผมจะบอก "พวกคนขวัญอ่อน" ให้นะครับ ไม่มีใครเดินเอาไม้เข้าไปตีหัวอีกคนโดยไม่มีเหตุผลหรอกครับ หากคุณจะเริ่มประนามคนอื่น (ในขณะเดียวกันก็ยกสถานะตนเองเป็น "ผู้ไม่ได้ทำร้ายประเทศไทย" ไปโดยปริยาย) อย่างน้อยก็เริ่มต้นทำความเข้าใจเสียหน่อยเถิดครับ ว่าพลเมืองร่วมชาติของคุณเขาต้องการ "สื่อ" อะไรออกมา 

ในขณะเดียวกันอ.ธเนศวร์ ก็ได้เขียนบทความลงเวบประชาไท ที่นี่ ได้อย่างทันเวลา โดยจากบทวิเคราะห์ครอบคลุมช่วงเวลาค่อนข้างยาว ผมจะยกมาบางส่วนในการที่จะสอดคล้องกับประเด็น 
...รัฐรวมศูนย์อำนาจในสมัยรัชกาลที่ พัฒนาขึ้นเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป (Over- centralized state) ในสมัยรัชกาลที่ เนื่องจากนโยบายของผู้นำคือต้องการให้เกิดความเป็นอัน หนึ่งอันเดียวกันในทุกๆด้านทั่วประเทศ ยิ่งทำให้ท้องถิ่นสูญเสียอำนาจมากขึ้น ศาสนาและการศึกษาต้องขึ้นต่อส่วนกลาง ภาษาพูดภาษาเขียนในท้องถิ่นถูกยกเลิก วัฒนธรรมประเพณี ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมท้องถิ่นถูกครอบงำโดยส่วนกลางมากขึ้นๆเป็นลำดับ...
...การสถาปนาระบบราชการแผ่นดิน 3 ส่วนคือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2476 ทำให้ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคสามารถเข้าครอบงำส่วนท้องถิ่นที่อ่อนแอได้อย่างสิ้นเชิง ขณะที่รัฐไทยตั้งแต่สมัย พ.ศ.2475 เป็นต้นมายังคงดำเนินนโยบายการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์อำนาจที่มากเกินไปแบบสมัยรัชกาลที่ ต่อไป...

...ผลพวงของการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ทำให้เกิดการสถาปนาองค์กรปกครองท้องถิ่นคือเทศบาล ในเขตเมือง (พรบ. เทศบาล พ.ศ. 2476) แต่เนื่องจากขาดการส่งเสริมเศรษฐกิจภาคเมืองอย่างจริงจัง ระบบการศึกษายังคงเป็นแบบเก่าคือสอนให้คนเป็นข้าราชการ ไม่ใช่ให้เป็นพลเมือง นักธุรกิจจึงอ่อนแอ ขาดพลังอิสระ วัดถูกอำนาจรัฐครอบงำ ขณะที่ระบบราชการส่วนภูมิภาคควบคุมการบริหารทุกด้านในเขตทั้งจังหวัด เทศบาลจึงอ่อนแอ และไม่สามารถสร้างพลังประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นได้ ส่วนในชนบท ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่เคยมีการส่งเสริมให้เกิดการปกครองตนเอง มีแต่การเลือกตั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่พอได้รับเลือก ก็ครองตำแหน่งแบบข้าราชการไปจนเกษียณ ประชาชนไม่เคยได้เรียนรู้และมีส่วนใดๆในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง...

...สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อปัจจัยภายนอกมีบทบาทอีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2482-2488) เมื่อสหรัฐขยายบทบาทเข้ามาสร้างรัฐไทยให้เป็นรัฐเผด็จการทหารตั้งแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมาเพื่อต่อต้านการขยายตัวของอุดมการณ์สังคมนิยมในจีนและอินโดจีน ทำให้ระบอบเผด็จการทหารของไทยเติบใหญ่อย่างต่อเนื่องนานถึง 26 ปี (พ.ศ. 2490-2516) ระบบราชการทหาร-ตำรวจและพลเรือนได้รับการพัฒนาให้เติบใหญ่เพื่อรับใช้นโยบายปราบคอมมิวนิสต์กลไกรัฐยิ่งเติบใหญ่เพื่อให้รับใช้ระบอบเผด็จการทหาร อันเกิดจากทั้งเงินช่วยเหลืออัดฉีดของสหรัฐและรายได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมแห่งชาติเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายอย่างหนัก ไม่มีการสร้างพรรคการเมือง ประชาชนไม่มีสิทธิชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือจัดตั้งชมรม องค์กร ไม่มีสภาผู้แทนที่เป็นปากเสียงของประชาชน ฯลฯ...

...ในเมื่อรัฐเป็นเผด็จการทหารและรวมศูนย์อำนาจ การปกครองท้องถิ่นจึงอ่อนแอในทุกๆด้าน การปกครองท้องถิ่นเป็นเพียงสถาบันในนามที่มีไว้อวดเวลาต่างชาติมาเยี่ยมดูงาน ในความเป็นจริง นั่นคือแหล่งหารายได้เพิ่มของข้าราชการกระทรวงต่างๆโดยเฉพาะมหาดไทย เทศบาล สภาตำบล และอบจ. ถูกครอบงำโดยข้าราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลางอย่างเกือบสิ้นเชิง เช่น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่ดำรงตำแหน่งจนมีอายุ 60 ปีควบคุมสภาตำบล, นายอำเภอเป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลโดยตำแหน่ง, นายกเทศมนตรีถูกครอบงำโดยนายอำเภอและผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯเป็นนายก อบจ. โดยตำแหน่ง บุคลากรองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวง มหาดไทย แทนที่จะได้รับการสอบคัดเลือกในท้องถิ่นและต้องขึ้นต่อท้องถิ่น ฯลฯ...
...รัฐรวมศูนย์ของไทยนับแต่ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมาจึงพัฒนาขึ้นเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจที่แยกส่วน (Fragmentedly centralized state) หมายความว่าแต่ละกระทรวงต่างมีอำนาจของตนเองควบคุมสายงานของตนทุกระดับตั้งแต่ส่วนกลางถึงระดับหมู่บ้าน-ตำบล อำนาจอยู่ที่กรมซึ่งคุมงบประมาณทั้งหมดและโครงการต่างๆแต่ละปี เนื่องจากข้าราชการจากแต่ละกระทรวงมีฐานะเท่ากันในแต่ละจังหวัด รวมทั้งผู้ว่าฯ แต่ละกรมจึงต่างคนต่างทำ ผู้ว่าฯที่ว่าเป็นพ่อเมือง ที่จริงเป็นเพียงชื่อ แต่ในทางปฏิบัติเป็นเพียงผู้ประสานงาน ไม่อาจแก้ไขปัญหาใหญ่ๆของจังหวัดได้เพราะงานแต่ละสายขึ้นอยู่กับแต่ละกระทรวง ไม่อาจบังคับบัญชาข้าราชการที่สังกัดกรมและกระทรวงอื่นๆ ประกอบกับการโยกย้ายข้าราชการทุกๆ 2-4 ปี การบริหารจังหวัดจึงไม่เคยมีงานต่อเนื่อง ปัญหาต่างๆของแต่ละจังหวัดจึงทับถมขึ้นเรื่อยๆ...
อ.ธเนศวร์มาสรุปรวบยอดเอาไว้สั้นๆครับ 
...ปัญหาใหญ่ ประการของระบบการเมืองการปกครองของประเทศนี้ก็คือความไม่เป็นประชาธิปไตยและการรวมศูนย์อำนาจมากเกินไปซึ่งสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก...
คงจะไม่ต้องเขียนอะไรกันมากหรอกครับ เพียงอยากเตือนสติเหล่า "คนขวัญอ่อน" ทั้งหลาย ว่าถ้าไม่อยากให้ลูกหลานของท่านขวัญอ่อนเหมือนท่าน ช่วยกรุณาใช้เวลาขบคิด ก่อนจะออกมาประกาศว่า 

"เฮ้ย กูไม่ได้เป็นคนทำร้ายประเทศว่ะ ขอโทษ!"