Tuesday, March 17, 2009

ข้ออ้างที่ผิด



แน่นอนว่าประเด็นเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำลังเป็นที่สนใจมากขึ้นในพื้นที่ทางการเมืองของไทย และมันกลายเป็นวาระทางการเมืองหนึ่งไปแล้ว 

โดยกว้างๆผมเห็นท่าทีสามแบบออกมาจากฝ่ายต่างๆ

ฝ่ายแรกคือการออกมาเต้นผางๆ เรียกร้องให้มีการเพิ่มโทษของกฎหมายหมิ่นฯให้รัดกุม เพื่อมิให้ใครบังอาจกระทำการใดๆที่ถือเป็นการอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฝ่ายนี้แบ่งย่อยออกเป็นสองกลุ่มคือพวกที่มี "ความจงรักภักดี" ด้วยใจจริง และอีกกลุ่มคืออาศัยกฎหมายหมิ่นฯในการโจมตีศัตรูของตนเอง หรือเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ทางการเมืองของตน ในฝ่ายนี้เราจะเห็นพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรฯ (ซึ่งผมยืนยันว่าไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน) ยืนพื้นอยู่ พร้อมด้วยกลุ่มคนทั่วไปอีกส่วนหนึ่ง

ฝ่ายที่สองอยู่ขั้วตรงข้ามครับ มองกฎหมายหมิ่นฯว่านอกจากจะจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นแล้ว ยังเป็นเครื่องมืออันเหมาะเจาะในการเจาะศัตรู ดังนั้นจึงต้องยกเลิกกฏหมายนี้โดยเด็ดขาดอย่างไม่มีข้อแม้เพราะขัดกับหลักการประชาธิปไตยอย่างโจ่งแจ้ง มีกลุ่มนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งนักเคลื่อนไหว คนเสื้อแดง (นปช.) และประชาชนบางส่วนสนับสนุนแนวทางดังกล่าวอยู่ 

ประเด็นของผมอยู่ที่ฝ่ายสุดท้ายครับ กลุ่มนี้มีจุดยืนกึ่งๆ โดยมองว่ามีความจำเป็นที่กฎหมายฉบับนี้จะต้องได้รับการ "ปฏิรูป" เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือต้องการลดอาการไวต่อความรู้สึก (sensitivity) ของกฎหมายลงไปได้บ้าง 

ฟังแล้วเป็นการหาทางออกที่ดีครับ เพื่อต้องการลดความขัดแย้งในสังคม จำต้องประนีประนอม ปรับเปลี่ยน หากแต่เหตุผลที่กลุ่มนี้ใช้ก็คือ "เพื่อจะได้ไม่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองให้เสื่อมเสียพระเกียรติ" 

ผมไม่แน่ใจนักหรอกนะครับว่า ฝ่ายที่ใช้เหตุผลนี้ในการเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯนั้น เขาใช้เหตุผลด้วยความหมายของมันจริงๆ หรือใช้เพื่อให้ความคิดเห็นของเขาไม่ถูกเซนเซอร์? 

แต่การให้เหตุผลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าคนฝ่ายนี้ไม่เห็นถึงข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลยแม้แต่น้อย (หรือเลือกที่จะหันหลังให้กับข้อเท็จจริงเหล่านั้น เ พราะมีอาจารย์แก่พรรษาหลายท่านทีเดียว) 

เอาแค่หลังพ.ศ.2475 เป็นต้นมา เราจะเห็นว่าสถาบันกษัตริย์เป็นพลังสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ยิ่งพอหลังพ.ศ.2500 ก็ยิ่งชัดเจนอย่างมากว่าความแข็งแกร่งของสถาบันได้เริ่มพัฒนาไปอย่างรวดเร็วกระทั่งปีพ.ศ.2550 

พอผมกล่าวเช่นนี้แล้วก็อย่ามากล่าวหาว่าผมโจมตีสถาบันแล้วฟาดงวงฟาดงา (อย่างเช่นที่ฝ่ายแรกมักทำ) จะเ อาผิดนะครับ ประเด็นของผมคือ ไม่ว่าสถาบันกษัตริย์เองต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ (ซึ่งเป็นไปได้ยากหากต้องรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงเอาไว้) สถาบันก็ไม่มีอำนาจพอที่จะดึงตัวเองขึ้นไปอยู่เหนือการเมืองอยู่ดี กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้ว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วยใจจริง (genuinely!) ก็ไม่มีทางทำได้!

เพราะอะไร? ก็เพราะโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่เอื้อให้เป็นอย่างนั้น การสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ประสบความสำเ ร็จของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแ ล้วเข้าสู่ประชาธิปไตยระดับหนึ่งไม่ได้หมายความว่าการยกกษัตริย์ไปไว้เหนือทุกสิ่งทั้งปวงแล้วจะสามารถทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองจบลง กลุ่มชนชั้นนำ royal family royalist ฯลฯ ก็ต้องอาศัย "พระบรมเดชานุภาพ" ในการรักษาความมั่นคงของกลุ่มตนเองต่อไป และพวกเขาก็พร้อมจะใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ในการบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าวด้วย

การประนีประนอมจึงเกิดขึ้นภายใต้ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" (?) 

ยิ่งเมื่อสถาบันสามารถสร้างความเข็มแข็งได้แล้วหลังพ.ศ.2500 เป็นต้นมาพร้อมทั้งมีกลไกต่างๆเป็นตัวผลักดัน อาทิ กองทัพ สื่อมวลชนบางประเภท กลุ่มที่ถูกจัดตั้ง โครงการหลากหลายประเภท ฯลฯ ยิ่งไม่สามารถแยกสถาบันกษัตริย์ออกจากการเมืองได้เลยหลังจากนั้น นี่ยังไม่ร่วมความเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงอย่างเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 

ในยุคเสรีนิยมใหม่นั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการใช้สถาบันมีมากไปกว่ากลุ่ม royalist ทหาร ฯลฯ แล้ว การเลือกข้างที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจน้อยกว่าเป็นเรื่องปกติของการทำการค้าอยู่แล้ว 

เพราะฉะนั้นการอ้างว่ากฎหมายหมิ่นฯเป็นการดึงสถาบันฯให้มาแปดเปื้อนกับการเมืองจึงเป็นการเอาสีข้างเข้าถูจนเ ลือดออกซิบ ทั้งนี้เพราะว่าปัญหามันอยู่ตรงที่ว่าการยกกษัตริย์ให้พ้นไปจากการเมืองนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่มันเป็นการหันหลังให้แก่ปัญหา สิ่งที่สำคัญที่จะต้องทำก็คือ จุดยืนของสถาบันในพ.ศ.2552 เป็นเช่นไร? และมันเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการพูดคุย (ไม่ว่าใครจะอยู่ฝ่ายใด) 

หากจะกล่าวไปอย่างสุดขั้วเลยก็คือ การมีความคิดแบบคนฝ่ายที่สามนี้เอง ที่ทำให้ปัญหายังคาราคาซัง เกิดวาทกรรม "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" อันเป็นภาระแก่ลูกหลานรุ่นต่อมา  

ปัญหาคือว่า หนทางประนีประนอมอาจน้อยลงทุกขณะ