Saturday, December 12, 2009

เกร็ดเก่าว่าด้วยเรื่องทักอ้วนผอม



ขณะที่ผมไล่เรียงดูเนื้อหาของราชกิจจานุเบกษา บังเอิญไปพบเข้ากับเรื่องน่าสนใจว่าด้วยการใ้ช้สัณฐานเป็นคำเรียก เป็นประกาศในสมัยร.4 จึงอยากแบ่งปันกับท่านสนุกๆครับ

ผมขอยกเนื้อหาทั้งหมดนี้มาลงตามต้นฉบับ (จากราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2417 เล่ม 1 แผ่นที่ 19)

ประกาศแผ่นดินพระบาทสมเดจพระจอมเกล้าฯ ว่าด้วยทักอ้วนผอม

มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศว่า การที่มีผู้ปราไสทักทายเจ้านายผู้มีบันดาศักดิ์สูง ด้วยการในพระกายทักว่าอ้วนผอมนี้ เปนอัปมงคลไม่ควรตามเหตุที่อ้างเปนหลายประการ คือคำว่าอ้วนว่าผอมเปนคำหยาบคำต่ำคำเลวประการหนึ่ง คืออาการที่ควรจะวิตกเปนประมาณว่าดีว่าชั่วในสัตวเดียรฉาน มาพูดมาเจรจาในมนุศย มีศักดิ์สูงไม่มีประโยชนประการหนึ่ง คือทำให้กำเริบมิ่งขวัญของกายผู้มีศิริด้วยการเจรจาขัดแก่การที่โบราณห้ามมาประการหนึ่ง ซึ่งว่าคำว่าอ้วนว่าผอมเปนคำต่ำคำเลวคำหยาบนั้น ฟังเอาเถิดปากผู้ดีๆที่มีอัทธยาไศรย เมื่อเขาจะต้องพูดว่าเจ้านายผอมไปแลอ้วนขึ้น เขาก็ย่อมว่าซูบพระองค์แลทรงพระเจริญ ฤๅพ่วงพีดังนี้ โดยมากเขาไม่ว่าอ้วนว่าผอมมิใช่ฤๅ อนึ่งเปรียบความให้เหนตัวอย่างในถ้อยคำเหมือนเจ้าจอมมารดาศรีในพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าบุพผา คือเจ้าจอมที่เปนบุตรเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช แลเป็นน้องเจ้าพระยาอภัยภูธร แลพระยาอนุชิตชาญไชยขุนทอง แลเปนอาเจ้าพระยายมราช พระยาเสนาภูเบศรบัดนี้ แลพระยาอนุชิตชาญไชยหนูแลอื่นๆนั้น เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเดจพระพุทธเลิศหล้านภาไลย เจ้าจอมมารดาศรีเปนเจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรดให้ว่าราชการฝ่ายในต่างโดยมาก ท่านทั้งหลายทั้งปวงตลอดลงไปจนไพร่เลวยำเยงเกรงกลัวนับถือมาก เมื่อจะเรียกออกชื่อเดิมว่าคุณศรี เจ้าคุณศรีก็กระดากปาก จึงอาไศรยเอาสัณฐานกายเจ้าจอมมารดานั้น ซึ่งแปลกกันกับสัณฐานกายคุณนุ่นพระบรมญาติ ที่เรียกว่าเจ้าคุณวังหลวง ผู้ว่าราชการในพระราชวังโดยมากเหมือนกันนั้น เปนที่อ้างแล้วจึงเรียกนามแปรไปว่าเจ้าคุณพี ชื่อนี้ก็ยังแจ้งอยู่แก่เหล่าหลานแลญาติสืบมาคิดดูเถิด ถ้าคำว่าอ้วนว่าผอมเปนคำดีเขาจะยักว่าเจ้าคุณพีทำไม เขาจะมิเรียกว่าเจ้าคุณอ้วนฤๅ อนึ่งเมื่อเรียกข้างเจ้าจอมมารดาศรีว่าเจ้าคุณพีแล้ว คุณนุ่นพระบรมญาติผู้ว่าราชการตั้งเปนคู่กัน ก็ควรจะเรียกว่าเจ้าคุณผอม เพราะว่าผอมเปนคำต่ำ จึงเรียกว่าเจ้าคุณวังหลวงโดยเทียบกับคุณคุ้มผู้น้องท่านนั้น ซึ่งเปนผู้ใหญ่ว่าราชการในพระบวรราชวัง มีผู้เรียกว่าเจ้าคุณวังน่า แลคุณกระต่ายน้องท่าน ซึ่งในเวลานั้นไ้ด้เปนผู้ใหญ่ในข้าหลวงในเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี ซึ่งเสดจอยู่ที่พระปรัดซ้ายแลพระที่นั่งวิมานรัฐยา ซึ่งนับเนื่องในหมู่พระมหาปราสาทนั้นว่าเจ้าคุณปราสาท ก็ซึ่งข้อว่าเอาการที่ควรจะวิตกเปนประมาณ ว่าดีว่าชั่วในสัตวเดียรฉานมาพูดมาเจรจาว่าในมนุศยมีศักดิ์สูง ไม่มีประโยชนนั้น คือว่าให้เหนด้วยกันว่าการที่จะวิตกแล้วแลติว่าผอมเปนชั่วสรรเสริญว่าอ้วนเปนดีเปนประมาณของประโยชนนั้น ต้องการในสัตวเดียรฉานสองจำพวก คือสัตวที่จะเปนพาหนะจำพวกหนึ่ง สัตวที่จะต้องการเนื้อที่เรียกว่ามังสะ เปนอาหารจำพวกหนึ่ง เมื่อผู้ใดจะซื้อหาช้างม้าโคกระบืออูฐลา ซึ่งเปนพาหนะจะใช้แรง ก็ย่อมสรรเสริญสัตวที่อ้วนติสัตวที่ผอม สัตวที่อ้วนมีราคามากสัตวที่ผอมมีราคาน้อย ถึงสัตวที่เปนอาหาร คือสุกรแพะแกะแลสมันกวางกวางซายตลอดลงไปจนเปดไก่แลปลา บันดาที่จะใช้เนื้อเปนอาหารผู้ซื้อหาต้องการ ก็เลือกหาสัตวที่อ้วนเพราะมีเนื้อมากสัตวที่อ้วนมีราคามาก เพราะสัตวที่ผอมเปนที่สงไสยว่าเปนสัตวมีโรค ก็ความอ้วนความผอมนั้น เมื่อมาพิจารณาในมนุศย แม้นในคนที่จะใช้แรงเปนทาษกรรมกร ฤๅทหารแลคนมวยคนปล้ำต่างๆ มัชฌิมบุรุศคือคนสัณฐานกลางนั้นเปนดี คนอ้วนนักเมื่อเปนทาษวิ่งตามนายไม่ไหว ใช้ปีนป่ายขึ้นร่างร้านหลังคาไม่ได้มักหอบฮ่อแฮ่อยู่ ถ้าเปนมวยเปนปล้ำถูกเตะถูกชกหกล้มลงลุกไม่ขึ้น ถ้าผอมนักใช้แบกใช้หามของใหญ่ของหนักไม่ใคร่ได้โรเรนัก ถ้าเปนมวยเปนปล้ำแรงน้อยไปชกเขาไม่แตกเตะเขาไม่ล้ม แต่ผู้ที่สรรเสริญติคนผอมนั้น ดูเหมือนที่จะว่าคนอ้วนอายุยืนคนผอมอายุสั้น การนั้นก็ไม่เปนจริงไม่เปนประมาณ จีนชื่นที่เปนพระยาพิสาลศุภผล ที่เปนผู้อ้วนอย่างเอก อายุอ่อนกว่าพระมหาคงซึ่งเปนพระราชกระวี ซึ่งเปนผู้ผอมอย่างเอกนั้นถึง ๓๒ ปี ก็เหตุไรเล่าพระยาพิสาลศุภผลจึ่งตายไปก่อนพระราชกระวี ก็ข้อที่ว่าทำให้กำเริบมิ่งขวันของกายผู้มีศิริด้วยการเจรจาขัดแก่การที่โบราณห้ามมานั้น ให้สืบสังเกตเอาเถิดคนที่เลี้ยงเดก ต่อหน้าเดกนั้นเขาไม่ว่าอ้วนว่าหนักว่าน่ารักน่าชม เพราะว่าดีมักกลับเปนร้าย แต่ซึ่งว่าซูบว่าผอมไปนั้นบิดามารดาและญาติพี่เลี้ยงเดกมักวิตก เพราะเหตุที่่ว่าเดกไม่รู้จักรักษาตัว การที่รักษาตัวเดกนั้นเปนธุระของผู้ใหญ่ที่จะหาหมอมาประกอบยาแลขู่เขนขืนใจให้เดกกิน ก็ผู้ใหญ่ทั้งปวงนั้นชีวิตรของเขาๆก็รัก เมื่อจะสบายไม่สบายตัวเขารู้ก่อนผู้อื่น กายของเขาๆก็เหนอยู่เป็นนิตย์ด้วยส่องกระจกอยู่ทุกวัน ถึงที่ไหนจะไม่มีกระจก ก็หาน้ำใส่ขันส่องดูหน้าดูรูปของตัวเปนธรรมดา ไม่ต้องการที่ผู้อื่นจะปราไสล่วงเกินเข้ามา ถ้าทักหยอกว่าสีสะล้านดีกว่า เพราะพูดเปนการเล่น ไม่เอื้อมถึงชีวิตรชีวัง แลผู้พูดไว้ตัวสูงเปนเหมือนดังบิดามารดา สบประมาทเจ้าของกายผู้ที่ต้องทักนั้น ให้เปนเหมือนดังเดกๆไม่รู้จักรักษาตัว ก็ท่านทั้งหลายทั้งปวงบัดนี้ไม่ใคร่จะสังเกตการเรื่องนี้ทักได้ทักเอา จนถึงในพระเจ้าแผ่นดินที่มีพระเดชานุภาพเปนที่ล้นที่พ้น ก็ยังล่วงเกินกราบทูลทักทายเนืองๆ ไม่ระวังว่าเปนการต่ำสูงเกินเลย การทักทายอย่างนี้มักมีมาแต่พระสงฆแลหมอแลท่านผู้ใหญ่ๆข้างในข้างน่า เพราะฉนั้นบัดนี้จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ประกาศห้าม อย่าให้ใครล่วงเกินทักทายอย่างที่ว่าแล้ว ทั้งพระสงฆแลคฤหัฐชาววัดชาววา ถ้าพระสงฆจะเข้ามาในพระราชถานวันใดเวลาใด ให้สังฆการีเชิญพระราชบัญญัตินี้ มาว่ากล่าวเตือนสติให้ระวัง ด้วยพระสงฆมักฟั่นๆเฟือนๆไหลๆเลื่อนๆ ฝ่ายข้าราชการผู้ใหญ่ๆสูงอายุเล่า ก็ให้กรมวังคอยเตือนห้ามปราม อย่าให้กราบทูลทักทายเกินเลยได้ หมอถวายอยู่งานถวายพระโอสถมักใกล้ที่จะกราบทูลอย่างนี้ เมื่อเวลาไรเรียกหมอ ให้ชาวที่คอยกำชับให้ระวัง อย่าให้กราบทูลทักทายได้ ถ้าผู้ใดมิฟังขืนกราบทูลทักทายดังนี้ จะให้ลงพระราชอาญาทวนด้วยไม้หวาย ๕๐ ที สังฆการีแลชาวที่แลกรมวังอยู่ในเวนที่เกิดเหตุขึ้นนั้น จะต้องให้รับพระราชอาญาด้วยคนละ ๓๐ ที ๒๐ ที ตามโทษานุโทษที่ได้ตักเตือนบ้างแลไม่ได้ตักเตือนเลย ตามสฐานที่ผู้กำกับนั้นคือถ้าในพระสงฆจะลงโทษแก่สังฆการี ถ้าในหมอจะลงโทษแก่ชาวที่ ถ้าในข้าราชการจะลงโทษแก่กรมวัง ถ้าท่านผู้ใดที่ไม่ควรจะรับพระราชอาญา คือพระสงฆก็จะให้มีเบี้ยปรับถ่ายโทษคน ถึงในข้าราชการฝ่ายในเล่าเมื่อท้าวนางฤๅท่านอื่นๆจะภาผู้ใดเข้าเฝ้า ก็ให้คอยตักเตือนห้ามปรามกำชับผู้นั้นก่อน ถ้าเกิดเหตุขึ้นเพราะผู้ที่เข้าเฝ้า จะลงโทษแก่ผู้ที่นำเฝ้านั้นด้วยตามโทษานุโทษ ประกาศมา ณ วันเสารเดือนหกขึ้นห้าค่ำ ปีจอ จัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔ เปนวันที่ ๔๐๐๗ ในราชการประจุบันนี้
ยาวหน่อยนะครับ แต่ได้บรรยากาศ ผมอ่านไปยิ้มไปด้วยทีเดียว

Sunday, December 6, 2009

โพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์


เป็นโอกาสอันดีเหลือเกินครับ ที่เมืองเล็กๆอย่างแคนเบอร์ราได้จัดแสดงงานศิลปะระดับโลก โดยเป็นการนำผลงานของศิลปินกลุ่มโพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์ จากพิพิธภัณฑ์ Musée d'Orsay มาแสดงที่ the National Gallery of Australia (เพียงที่เดียวในออสเตรเลียด้วย)

ถือว่าเป็นงานใหญ่ของเมืองทีเดียว ผมจึงถือโอกาสแวะไปชมเสียเลย


เป็นครั้งแรกๆที่ผมเริ่มรู้จักงานกลุ่ม
โพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์และศิลปินที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งจริงๆแล้วหากเราต้องการจะรู้ว่ากลุ่มนี้คืออะไร ก็เพียงค้นหาในสารานุกรมวิกีพีเดียก็จะได้ทำความรู้จักงานของกลุ่มนี้อย่างไม่ยากเย็นนัก (ต้องตรวจสอบกับแหล่งอื่นๆด้วยนะครับ)

แต่ผมได้มีโอกาสฟังผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากฝรั่งเศสพอดี (ขออภัย ผมจำชื่อเขาไม่ได้) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ศิลปะจากช่วงอิมเพรสชั่นนิสม์ต่อเข้าช่วงโพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการได้ดี

เขาต้องการจะบอกว่า แท้จริงแล้ว การเปลี่ยนผ่านจากช่วงอิมฯสู่ช่วงโพสต์อิมฯนั้น ไม่ได้ชัดเจนอย่างที่เข้าใจกัน

ผู้ที่เริ่มใช้คำว่าโพสต์อิมฯ คือโรเจอร์ ฟราย นักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษในปีค.ศ.1910 ซึ่งนักวิจารณ์ศิลปะยุคหลังมาเข้าใจว่า โพสต์อิมฯนั้นเป็นจุดสิ้นสุดของอิทธิพลจากงานมาเนต์ ซึ่งศิลปินยุคหลังมาแหวกข้อจำกัด (ที่เคยเป็นของอิมฯ) ออกไป

เขาเสนอว่าแท้จริงแล้วอิทธิพลของมาเนต์ต่องานโพสต์อิมฯนั้นมีมากกว่าที่หลายๆคนคิด

อันที่จริงเรื่องการแบ่งกลุ่มเช่นนี้ก็มีอยู่ทั่วไปในศาสตร์ทุกแขนงนะครับ มันมีจุดประสงค์เพื่อต้องการแสดงให้เห็นความแตกต่างของสายสกุลคิดในสำนักต่างๆ เพื่อสร้าง "ภาพรวม" เท่าันั้น เพื่อให้ง่ายขึ้นต่อความทำความเข้าใจพัฒนาการของศาสตร์นั้นๆอันมีความสลับซับซ้อน ก็เหมือนการแปะป้ายเอาไว้เพื่อเวลาคนอื่นๆหยิบมาใช้ศึกษาจะได้ง่ายขึ้นในการจัดระบบการทำความเข้าใจ

แต่จะเป็นเรื่องผิดอย่างมากหากมองสำนักต่างๆแยกกัน และวิเคราะห์โดยใช้แนวความคิดใดความคิดหนึ่งไปโดดๆ (ตัวอย่างเช่นการหยิบฟูโกต์มาใช้ดูละครน้ำเน่าไทย หยิบการหยิบอากัมเบนมาใช้ดูชาวเขา เป็นต้น) ควรจะต้องระวังอย่างหนักว่าทฤษฎีไม่ไ้ด้ใช้เพื่อประยุกต์ หากแต่มันใช้เพื่อตั้งคำถามต่างหาก การพยายามสร้างคำอธิบายในการเปลี่ยนแปลงจึงต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้เป็นสำคัญ

เห็นไหมครับ งานศิลปะงานเดียว คิดอะไรไปได้ทั่วทีเดียว