Sunday, April 26, 2009

อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อวานนี้?

มีบทแปลจากหนังสือพิมพ์ the guardian ของผมมาฝากกัน เป็นบทปริทรรศน์หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โดยจอห์น เกรย์ ขอเชิญอ่านครับ

------------

มีตลกสมัยโซเวียตว่า รัสเซียเป็นประเทศเดียวที่อดีตนั้นคาดเดาไม่ได้ เมื่อหัวหน้าตำรวจลับนามลาฟเรนติ เบอเรียถูกยิงในปีค.ศ.1953 มีคำสั่งไปยังห้องสมุดต่างๆให้ตัดหน้าที่เกี่ยวข้องกับเขาในสารานุกรมโซเวียตออกให้หมด และให้ขยายข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้องกับช่องแคบแบริ่งให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นสำหรับประวัติศาสตร์ฉบับทางการของโซเวียต คนชื่อเบอเรียไม่มีอยู่ และประวัติศาสตร์เหตุการณ์ที่เขามีส่วนร่วมก็ต้องถูกเขียนใหม่ทั้งหมด

อดีตของสหภาพโซเวียตถูกแก้ไขอยู่บ่อยๆ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอำนาจและการผลัดเปลี่ยนของพรรคการเมืองที่ขึ้นสู่อำนาจ อย่างไรก็ตามการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ไม่ได้จำกัดอยู่กับรัฐเผด็จการเท่านั้น หากแต่มันเกิดได้ในการปกครองทุกรูปแบบ ไม่เว้นประชาธิปไตยเสรีนิยม มาร์กาเร็ต แมคมิลเลียน ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองของเชอร์ชิลที่ว่า เป็นงานชั้นครูที่ครอบคลุมเนื้อหากว้างขวาง แต่ก็มิวายข้ามประเด็นที่อิหลักอิเหลื่อ ไม่มีการพูดถึงการอภิปรายของคณะรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคมค.ศ.1940 เมื่อประเด็นเรื่องการแสวงหาสันติภาพด้วยการไกล่เกลี่ยของมุสโสลินีได้รับการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อน โชคยังดีสำหรับอนาคตของอารยธรรมเมื่อความคิดเรื่องการสมานสันติภาพกับนาซีถูกปฏิเสธไปและเชอร์ชิลยังอยู่ในตำแหน่ง แต่ที่เขาอ้างว่าเรื่องดังกล่าวไม่เคยถูกนำมาถกเถียงอย่างจริงจังนั้นตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง เพราะหากการตัดสินใจเรื่องการทำสงครามเป็นไปในอีกทางหนึ่ง ประวัติศาสตร์โลกหลังจากนั้นคงดำเนินไปคนละทาง

ประวัติศาสตร์ทางการที่เสนอภาพเกินจริงของความสมานฉันท์ในอังกฤษในปีค.ศ.1940 เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายๆตัวอย่างที่แมคมิลเลียนพูดถึง แต่มันก็จับเอาแก่นของข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากหนังสือที่ดีและจุดประกายความคิดเล่มนี้ ในขณะที่มีมุมมองต่ออดีตแตกต่างกันอยู่เสมอ เราไม่ได้ลอยอยู่ในทะเลแห่งความสัมพัทธ์ เพราะมันมีข้อเท็จจริงที่นักประวัติศาสตร์สามารถสถาปนามันขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวได้ อย่างที่แมคมิลเลียนได้เขียนเอาไว้ว่า ความทรงจำไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับการเลือกเท่านั้น แต่มันสามารถถูกปรับแต่งได้  ยกตัวอย่างเช่นเมื่อดีน อัชชีสันเขียนบันทึกความทรงจำถึงคราวที่นั่งอยู่ในห้องทำงานของประธานาธิบดีรูสเวลท์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคอร์เดล ฮัล ในวันหนึ่งของปีค.ศ.1941 เมื่อสหรัฐฯเริ่มหยุดการเคลื่อนไหวทรัพย์สินของญี่ปุ่นและขยับเข้าใกล้การประกาศสงครามมากยิ่งขึ้น เมื่อเลขานุการของอัชชีสันตรวจสอบบันทึกดูก็พบว่า ฮัลไม่ได้อยู่ในวอชิงตันในวันดังกล่าว แน่นอนว่าความทรงจำเชื่อถือไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะรู้ความจริงไม่ได้

การนำเสนอข้อมูลผิดทั้งด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจนั้น ไม่ได้เป็นเพียงวิธีการเดียวที่ประวัติศาสตร์จะถูกบิดเบือน การเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่แตกต่างว่าเหมือนกันอย่างเข้าใจผิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีความต้องการสร้างความชอบธรรมในการเข้าร่วมความขัดแย้งที่สุ่มเสี่ยง แอนโธนี อีเดนทำผิดพลาดเมื่อไปบอกว่าการป้องกันคลองสุเอซจากการที่อียิปต์จะเข้าเป็นเจ้าของในปีค.ศ.1956 เหมือนการต่อต้านฮิตเลอร์ที่มิวนิค ในขณะที่ผู้สนับสนุนสงครามอิรักพร้อมที่จะมองซัดดัม ฮุสเซนว่าเป็นภัยต่อสันติภาพโลกเท่ากับฮิตเลอร์ ไม่ว่าผู้นำทั้งสองจะทำบาปไปมากเท่าใด พวกเขาไม่ได้มีทรัพยากรทางอุตสาหกรรมและทางการทหารมากเท่าที่ฮิตเลอร์มี หรือไม่ได้มีอุดมการณ์ถึงในระดับโลก การเปรียบเทียบความเหมือนที่ผิดเช่นนี้เกิดขึ้นในรัฐประชาธิปไตยเสรีนิยมได้เท่าๆกับรัฐเผด็จการ

แมคมิลเลียนเป็นนักประวัติศาสตร์ชั้นยอดที่ทำงานอย่างหนักในหัวข้อที่หลากหลายตั้งแต่การประชุมสันติภาพที่ปารีสในปีค.ศ.1919 ไปจนกระทั่งถึงนิกสันกับประเทศจีน เธอเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีพรสวรรค์ และเรื่องราวที่เธอเขียนก็สามารถเข้าถึงได้อย่างไม่ยากเย็น ข้อฝากของเธอที่ว่า เราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปรับแต่งอดีตในขณะที่เรากำลังสร้างอนาคตได้ แต่จงกระทำอย่างระมัดระวังและอย่างมีมนุษยธรรม นั้นเหมาะสมสำหรับนักการเมืองมากทีเดียว แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เพียงนักการเมืองเท่านั้นที่บิดเบือนอดีต มันรวมถึงนักประวัติศาสตร์ด้วย แมคมิลเลียนได้กล่าวว่า วลาดิเมียร์ ปูตินให้การสนับสนุนการเขียนประวัติศาสตร์ฉบับ รักชาติ ในหนังสือที่จะใช้ในสอนห้องเรียน โดยลดเรื่องราวอาชญากรรมของสตาลินและเน้นเรื่องบทบาทของเขาในการทำหน้าที่ป้องกันประเทศแทน พูดอีกอย่างก็คือ ปูตินบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่ออำนาจนั่นเอง จากอีกมุมหนึ่ง นักประวัติศาสตร์รัสเซียก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านักประวัติศาสตร์ตะวันตกทำผ่านมารุ่นแล้วรุ่นเล่า นั่นก็คือการให้ความสำคัญกับจำนวนคนที่ตายในช่วงสตาลินน้อยอย่างน่าใจหาย

เมื่อโรเบิร์ต คอนเควสต์ พิมพ์หนังสือของเขาที่เกี่ยวกับเกรท เทอร์เรอ (the great terror) ในปีค.ศ.1968 จำนวนตัวเลขคนตายที่เขานำเสนอถูกโจมตีว่ามากเกินไป จริงๆแล้ว เขากล่าวต่อไปอีกว่า ตัวเลขดังกล่าวถือว่าอาจน้อยกว่าความจริงด้วยซ้ำ จากการที่ถือว่าสหถาพโซเวียตในท้ายที่สุดแล้วเป็นระบอบที่ก้าวหน้า นักประวัติศาสตร์ตะวันตกหลายคนลังเลที่จะกล่าวถึงจำนวนชีวิตที่ต้องจ่ายเพื่อคอมมิวนิสต์ การหลีกเลี่ยงหรือลังเลที่จะไม่พูดถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์เช่นกัน เพราะมันคือการปล่อยปะละเลยความเข้าใจผิดอย่างไร้ความรับผิดชอบ     

           

จากหนังสือพิมพ์ the guardian 19 เม.ย. 2009 

Thursday, April 23, 2009

ข่าวฝาก

มีเพื่อนฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ

---------------

วัดขนอนหนังใหญ่

ผมมีได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับเทศกาลนี้มานานพอสมควรแล้วล่ะครับเกี่ยวกับหนังใหญ่ของวัดขนอน
จนมากระทั่งวันนี้ได้หาเวลาว่างที่จะปลีกตัวไปเยี่ยมชม เทศกาลนี้ได้สักทีในสุดสัปดาห์นี้ แต่ก่อนอื่นเลย
ผมอยากจะแนะนำเกี่ยวกับ หนังใหญ่วัดขนอนให้ผ้อ่านได้ทราบก่อนครับ

หนังใหญ่ 
หนัง ใหญ่ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมไทย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงชั้นสุง เป็นการแสดงที่รวมศิลปะที่ทรงคุณค่าหลายแขนง ได้แก่ ด้านศิลปะการออกแบบลวดลายไทยเชิงจิตกรรมที่มีความวิจิตรบรรจง ผสมกับฝีมือช่างแกะสลักที่ประณีต เมื่อแสดงก็จะมีการนำศิลปะทางนาฏศิลป์การละคร ที่เคลื่อนไหวได้อารมณ์ตามเนื้อเรื่อง ประกอบกับบทพากย์ บทเจรจา บทขับร้อง ดนตรีปี่พาทย์ ทำให้เกิดความเข้าใจในเเรื่องราว และให้อถรรถรสทางศิลปะแก่ผู้ชมได้อย่างสมบูรณ์ การแสดงหนังใหญ่จึงมีคุณค่าทางศิลปะสูง และแสดงถึงอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทยได้เป็นอย่างดี

ประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่
มหรสพ ที่เก่าแก่ของไทยนี้ กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่หลักฐานการแสดงหนังใหญ่เริ่มมี สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) นับเป็นมหารสพที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ปรากฏหลักฐานในการแสดงหนังใหญ่ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1) ว่าทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา เพื่อใช้แสดงเพิ่มขึ้นจากเรื่องรามเกียรติ์ สมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2) มีหลักฐานการสร้างตัวหนังใหญ่และบทวรรณคดีที่ใช้ในเรื่องรามเกียรติ์ ใช้แสดงหนังใหญ่ชุดพระนครไหว ซึ่งต่อมาได้มีการนำมาเก็บไว้ ณ โรงละครแห่งชาติหลังเก่า แต่ถูกไฟไหม้เกือบหมด สมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) พบการทำหนังใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จ.สิงห์บุรี และหนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี
ประวัติหนังใหญ่วัดขนอน
หนังใหญ่วัดขนอน ได้มีการสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ผู้ริเริ่มในการแกะสลักตัวหนังคือ ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) เกิดปีวอก พ.ศ.2391 มรณภาพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2485 รวมอายุได้ 95 ปี ท่านมีความคิดที่จะสร้างหนังใหญ่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม จึงได้ชักชวนครูอั๋ง ช่างจาด ช่างจ๊ะ และช่างพ่วง มาร่วมกันสร้าง ชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด ปัจจุบันมีตัวหนัง 313 ตัว นับเป็นสมบัติวัดที่ได้ร่วมรักษาสืบทอดกันมาเป็นเพียงวัดเดียวที่มีมหรสพ เป็นของวัด มีตัวหนัง และคณะหนังใหญ่ที่สมบูรณ์อยุ่ในความอุปถัมป์ของวัดสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

การอนุรักษ์
วัดขนอน มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการอนุรักษ์หนังใหญ่ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทางวัได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในการนำหนังใหญ่วัดขนอนนี้ไปแสดงเผยแพร่ยังที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง ในปีพ.ศ.2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภกมรดกไทย ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะหนังใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยอนุรักษ์หนังใหญ่ทั้ง 313 ตัว และจัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ขึ้นแสดงแทน โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรรับผิดชอบงานช่างจัดทำหนังใหญ่ทั้งหมด ได้นำหนังใหญ่ชุดใหม่ที่สร้างนี้ทูลเกล้าถวาย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2538 ณ โรงละครแห่งชาติ และทรงพระราชทานให้ทางวัดขนอนนำมาใช้ในการแสดงต่อไป
ปัจจุบัน ทางวัดได้จัดพิพิธภัณฑ์สถานแสดงนิทรรศการหนังใหญ่ เปิดให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าร่วมชมศึกษา พร้อมทั้งการสาธิตการแสดงหนังใหญ่ ตลอดจนการฝึกเยาวชนให้เรียนรู้และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ครบ ทุกกระบวนการ เพื่อสนองโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สืบต่อไป 

หนังใหญ่วัดขนอดได้รับรางวัลจากยูเนสโก
คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมของยูเนสโกประกาศให้ "การสืบทอดและฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน" ได้รับรางวัลจาองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) และได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม โดยเมือวันที่ 8-11 มิถุนายน 2550 องค์กร ACCU (Asia - Pacific Cultural Centre for UNESCO) ได้จัดมอบเหรียญรางวัล เกียรติบัตรและการสัมนาและกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ระหว่างผู้แทนชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัล และบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมและคณะกรรมการของยูเนสโก ณ โรงแรมโตเกียวไดอิชิ เมืองซึรุโอกะ จังหวัดยามากาตะ ประเทศญี่ปุ่น
พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน เปิดบริการให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น. - 17.30 น. 
เปิดให้ชมการแสดงหนังใหญ่ ณ โรงแสดงหนังใหญ่วัดขนอน ทุกวันเสาร์ เวลา 10.00 น. -11.00 น.
งานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน จัดในวันที่ 13.14 เมษายน ของทุกปี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.032-233386 มือถือ 081-7531230 โทรสาร. 032-354272

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่าน จ.นครปฐม ขับตรงไปทางจ.ราชบุรี จะลอดใต้สะพานลอยที่จะไป จ.กาญจนบุรี จะผ่านสหกรโคนมหนองโพธิ์ จะพบสะพานลอยข้ามสี่แยกบางแพไปยัง จ.ราชบุรี (ไม่ต้องขึ้นสะพานลอย) ให้ชิดซ้าย จากนั้นจะพบไฟแดง ให้เลี้ยวขวาเพื่อไปยัง อ.โพธาราม ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3080 ขับมาประมาณ 5.4 กม. จะข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลอง จากนั้นจะพบสามแยก (แยกซ้ายไปทางวัดเขาช่องพราน แยกขวาไปวัดขนอน) ให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3089 ขับเข้าไปอีกประมาณ 2.5 กม. จะพบวัดขนอน ติดถนนทางด้านขวามือ
รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัทโพธารามทัวร์ จำกัด ออกเดินทางจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 6.30-19.30 น. อัตราค่าโดยสารคนละ 55 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-4355036

Wednesday, April 8, 2009

ของฝากจากสิงคโปร์


ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนประเทศสิงคโปร์หลังจากครั้งสุดท้ายเมื่อสองปีที่แล้ว 

ครั้งนั้นผมไปสิงคโปร์ด้วยเหตุผลเหมือนหลายๆคน นั่นคือไปชอปปิ้ง

ครั้งนี้ด้วยความที่อยู่ตัวคนเดียว ก็เลยถือโอกาสไปดูพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของเขาสักหน่อย นัยว่ามันน่าจะสะท้อนอะไรในประเทศนี้ได้ 

ผมไปถึงที่นั่นบ่ายสามโมง ตั้งใจว่าสักชั่วโมงสองชั่วโมงคงกลับ

แต่ปรากฏว่าผมเดินออกตอนสองทุ่ม เวลาที่เขาปิด!

นี่ผมไปดูแค่การจัดแสดงถาวร มีสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นนิทรรศการประวัติศาสตร์ของประเทศเขา (Singapore History Gallery) และอีกส่วนมีสี่นิทรรศการ เป็นการแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนสิงคโปร์ (Singapore Living Galleries) แบ่งออกเป็นสี่ห้อง คือ ห้องแฟชั่น ห้องภาพยนตร์และ Wayang (งิ้ว) ห้องภาพถ่ายในอดีต และห้องอาหาร (แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ของความหลากหลายของอาหาร)!

วันนี้เอาแค่นิทรรศการประวัติศาสตร์ประเทศสิงคโปร์สั้นๆแล้วกันนะครับ  

ในฐานะคนสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผมก็อยากจะรู้อยู่เหมือนกันว่าเขาจะนำเสนออย่างไร 

หลังจากเสียเงินสิบดอลล่าร์ (ประมาณสองร้อยห้าสิบบาท) ก็ลุยขึ้นไปบนชั้นสอง มีเจ้าหน้าที่สุภาพเรียบร้อยนำทางผมไปถึงบริเวณการจัดแสดง เจ้าหน้าที่ก็เอาเครื่องมาห้อยคอ เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปตามพิพิธภัณฑ์ - แต่เครื่องใหญ่ทีเดียวครับ คล้ายๆไอพอดขนาดใหญ่ แล้วก็เสียบหูฟัง 

้เขาก็พยายามทำให้เหมือนว่าเครื่องที่ห้อยคอเราอยู่นั้นเป็นไกด์ส่วนตัวนำทางเราเดินไปตามทางที่เขาจัดให้ เมื่อถึงตรงไหน เขาก็จะมีตัวเลขให้เรากดตาม แล้วเราก็ฟังไปด้วยเดินดูไปด้วย 

แหม ฟังดูแล้วธรรมดาๆ แต่มันสนุกดีนะครับ เขาเริ่มด้วยสิงค์โปร์ในศตวรรษที่ 15 ที่มีหลักฐานตัวอักษรบางอย่างที่ถูกขุดพบบนหิน แ ล้วก็มีบันทึกภาษามลายูที่เขียนถึงดินแดนที่เรียกว่า "เทมาเส็ก" ในเวลานั้น เขาไปเอาหลักฐานจริงๆบางส่วน และไปทำเหมือนอีกบางส่วนมาวางแสดงเอาไว้ โดยแต่ละสิ่งของที่นำมาแสดงทุกๆอัน (ย้ำว่าทุกๆอัน) จะมีตัวเลขกำกับ เพื่อให้เรากดดูรายละเอียดได้หมด ขณะที่ผู้เล่าก็เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ไปเรื่อยๆ 

บางครั้งบางตัวเลข พอกดไปเขาก็ทำจำลองสถานการณ์ เป็นภาพยนตร์บ้าง เป็นจำลองบทสนทนาบ้าง ยกตัวอย่าง เขาเล่าเรื่องในต้นศตวรรษที่ 19 ผ่านคนพื้นเมือง ด้วยอารมณ์เสียดสีว่า ความขัดแย้งระหว่างอังกฤษและดัชต์ในการครอบครองสิงคโปร์นั้น กลับไปถูกตกลงกันในยุโรป (อังกฤษยอมให้สุมาตราแก่ดัชต์และดัชต์ยอมยกสิงค์โปร์และมะละกาแก่อังกฤษ แบ่งพื้นที่อิทธิพลการค้ากัน) ภายใต้ชื่อสนธิสัญญาลอนดอนในปี 1824 

ทั้งหมดนี้ผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินกลับไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆเลย เขาทิ้งท้ายอีกว่า แม้ยุคอาณานิคมจบไปแล้ว แต่ดินแดนที่เขาแยกไปนั้น ก็แยกกัน ไม่มีวันกลับมารวมกันได้อีก  (เป็นประเด็นคล้ายๆเรื่องมาเลเซียกับอินโดนีเซีย ว่าในที่สุดเหตุใดจึงแยกออกจากกัน ส่วนหนึ่งก็มาจากเจ้าอาณานิคมนี่เอง) 

อาจจะฟังดูน่าเบื่อ แต่เราลองถามตัวเราดูสักนิดเถิดว่า เรารู้จักประวัติศาสตร์ของแผ่นดินเกิดเรา (ในเวอร์ชั่นต่างๆ) มากน้อยเท่าใด? หรือเรายังภูมิใจกันอยู่อีกว่า เราเป็นเอกราช ไม่ต้องไปสนใจใคร? 

นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เอานักวิชาการที่เชี่ยวชาญมาเล่าถึงยุคต่างๆ รวมทั้ง debate เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อย่าลืมว่ารัฐ-ชาตินั้นเพิ่งเกิดไม่นานมานี้ ประมาณปลายศ.19 ถึงต้นศ.20 เป็นต้นมาเ่ท่านั้น) เพราะมันมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน การค้าขายทางไกลที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ มีเมืองต่างๆเข้าร่วมจำนวนมาก และมันสำคัญต่อพัฒนาการการก่อตัวของศูนย์กลางอำนาจในแต่ละจุดในอุษาคเนย์ 

เพราะฉะนั้นอย่าไปล้าหลัง-คลั่งชาติกันเลยครับคนไทย เพราะพัฒนาการประวัติศาสตร์มันบอกว่า เราก็ผลัดกันไปอยู่ตรงนั้นที ตรงนี้ที เป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติกันทั้งนั้นแหละครับ

แต่ที่ประทับใจผมสุดๆ อยู่ตรงนี้ครับ

พอผมเดินไปถึงจุดการเข้าสู่สิงคโปร์ในศตวรรษที่ 19 เป็นต้นไป เขาให้ผู้ชมเลือกเดินชมสองทาง

ทางแรกเป็น events คือหากเดินทางนี้เราก็จะเห็นลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างที่เราอ่านตำราประวัติศาสตร์

ทางที่สอง คือ personal คือเขาไปเอาบันทึก รูปถ่าย หรือสิ่งของ ของผู้ที่เข้ามาอยู่ หรือมาเกี่ยวข้องในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ เช่นนักปราชญ์มุสลิมที่ไปทำงานให้กับ เซอร์ แสตมฟอร์ด แรฟเฟิล (Sir Thomas Stamford Raffle - ตำราประวัติศาสตร์หลายเล่มบอกว่าเป็นผู้ "ค้นพบ" สิงคโปร์ในปี 1819 จากก่อนหน้านี้ที่เป็นเพียง "หมู่บ้านชาวประมงที่เงียบเหงา" - โดยในนิทรรศการนี้ก็บอก debate เอาไว้ว่า จริงๆแล้วสิงคโปร์มีความสำคัญกว่านั้น โดยมันคึกคักในฐานะที่หลังจากโปรตุเกสมารุกมะละกาในปี 1511 แล้วนั้น หลายประเทศในยุโรปมองสิงคโปร์สำคัญหลังจากนั้นเป็นต้นมา ในการไปตั้งป้อมปราการรบเอาไว้ เพื่อแย่งรักษาเส้นทางการค้า ดังนั้นการกล่าวว่าแรฟเฟิลค้นพบอาจจะเกินไปหน่อย) 

หรือเป็นจดหมายของสตรีชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาอยู่ที่นี่ เขียนไปถึงญาติที่ญี่ปุ่น หรือบ้องฝิ่นที่เคยเป็นของกรรมกรที่เข้ามาเป็นแรงงานในสิงคโปร์!

โอโฮ วงการประวัติศาสตร์เขาไปไกลทีเดียวครับ เขาไปถึงการพยายามให้เสียงกับผู้ที่เราอาจไม่เคยให้ความสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติเลย ทั้งๆที่เขาก็มีส่วน มีบทบาทในเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ด้วย 

ลองมานึกถึงประวัติศาสตร์ "ชาติไทย" บ้างสิครับ? นอกจากกษัตริย์ ขุนนาง แม่ทัพนายกอง พระผู้ใหญ่ พ่อค้าผู้ใหญ่ ฯลฯ แล้ว เราอาจจะนึกถึงขรัวอินโข่ง เทียนวรรณ ก.ศ.ร.กุหลาบ เ สม สุมานันท์ ถวัติ ฤทธิเดช  นายมี อำแดงเหมือน ฯลฯ น้อยกว่าที่เราคิดก็ได้ 

นี่คือข้อสะท้อนที่ดีทีเดียว

แล้วเขาก็ให้เดินสลับกันไปมาได้ระหว่างแนวทางประวัติศาสตร์สิงคโปร์ทั้งสอง 

ผมเดินจนลืมเมื่อยเลยครับ เหมือนดูหนังยาวๆสักเรื่อง 

เล่ามาถึงขนาดนี้ ก็อยากชวนหลายๆท่านที่คิดอยากไปเที่ยวสิงคโปร์ เจียดเวลาไปเดินพิพิธภัณฑ์ของเขาบ้าง 

อย่าไปเดินชอปปิ้งอย่างเดียว 

เพราะมันมีของฝากที่มากกว่าแค่สิ่งของ 
 
ป.ล. เชิญดูในเวบ www.nationalmusuem.sg เรียกน้ำย่อย