Sunday, November 14, 2010

ผู้คนแห่งมหานครดับลิน - เจมส์ จอยซ์


เมื่อพูดถึงเจมส์ จอยซ์ (นอกจากไม่ได้นึกถึงอะไรเลยแล้ว) ทุกคนจะนึกถึงยูลิสิส (Ulysses)

เพราะอะไร? เพราะมันเป็นงานที่แสดงออกถึงแนวทางการนำเสนอของเขาอย่างชัดเจน และมีทีท่าอลังการที่สุดในกลุ่มงานทั้งหมดของจอยซ์ เป็นวรรณกรรมที่ผู้อ่านเห็นถึงการแผ้วทางหนทางใหม่ในการเขียนวรรณกรรม หรือในขณะเดียวกันมันเป็นการรื้อทำลายวิธีการมองวรรณกรรมเท่าที่เคยเป็นมาในศตวรรษที่ 19

ผมยังไม่ได้อ่านยูลิสิส แต่ลองเริ่มอ่าน The Portrait of the Artist as a Young Man ("ภาพเหมือนในวัยระห่ำของศิลปิน"- ด้วยคำแปลของแดนอรัญ แสงทอง) หากไม่ได้อยู่ในสมาธิ จึงไม่สามารถเข้าใจได้เลย และต้องหยุดอ่านไปในที่สุด

พูดให้ชัดขึ้นอีกก็คือว่า ผมไปอยู่จังหวัดสระบุรี ในทุ่งนา แดดสาดเปรี้ยง เสียงแมลงวันบินหึ่งผ่านหู มองออกไปเห็นวัวควายเดินกินหญ้า เห็นเป็ดไก่เดินหาอาหาร มีหมาพันธุ์ทางขาเป๋สีขาววิ่งไปมา ผมต้องไล่มันไปหลายต่อหลายครั้งเพราะตัวมันเปียกขี้โคลนมาและจะทำให้บ้านสกปรก ในขณะเดียวกันผมก็ก้มลงอ่านหนังสือเป็นระยะๆ พยายามนึกถึงเมืองดับลิน (โดยที่ไม่เคยไป ที่ใกล้ที่สุดก็คือ Aberystwyth ในเวลส์) นึกถึงสำเนียงไอริช ความตลกขบขัน การประชดประชัน และชาตินิยมของคนไอริช

โอโห - เป็นงานที่ยากทีเดียว สุดท้ายผมก็เลยอ่านมันไปพร้อมๆกับนึกว่า สตีเฟน เดดาลัส มาวิ่งเล่นอยู่ที่ตำบลหนองจอกนี่เอง และเพื่อนๆของเขาก็ตามมาจากเสาไห้ จากนาร่อง ฯลฯ

แต่ผมทำได้ไม่นานก็ต้องล้มเลิก

ผู้คนแห่งมหานครดับลิน (หากเป็นผม ผมจะแปลมันตรงๆไปเลยว่า "ชาวดับลิน") เป็นงานแปลรวมเรื่องสั้น Dubliners ที่จอยซ์เขียนขึ้นในปี 1914 แปล/เรียบเรียงโดยวิมล กุณราชา (สำนักพิมพ์นาคร, 2545) แต่เข้าใจว่าไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมีเพียง 8 เรื่องจากทั้งหมด 15 เรื่องในต้นฉบับภาษาอังกฤษ

ในภาคผนวก มีแถมบทความเกี่ยวกับจอยซ์โดยราเชนทร์ ผดุงธรรม โดยได้กล่าวถึง Dubliners ว่า
"ในช่วงกำลังเขียน A Portrait of the Artist as a Young Man นั่นเอง จอร์จ รัสเซล เพื่อนนักเขียนของเขาได้แนะนำให้เขาเขียนเรื่องสั้นง่ายๆ 'แบบลูกทุ่ง' เพื่อลงตีพิมพ์ตามหน้านิตยสาร...นี่นับเป็นจุดกำเนิดของรวมเรื่องสั้นเล่มเดียวของเขา..." (น.264)
"ในจดหมายซึ่งเขียนถึงเพื่อนรักสมัยเรียนที่ชื่อสเตนนิลัส จอยซ์ได้บอกถึงความตั้งใจในการเขียน
Dubliners ไว้ตอนหนึ่งว่า 'เมื่อนายนึกขึ้นมาว่า ดับลินเป็นเมืองหลวงมานับพันๆปี เป็นเมืองที่สองของจักรวรรดิอังกฤษ และใหญ่สามเท่าเวนิส ก็ออกจะแปลกที่ไม่มีศิลปินคนไหนเสนอภาพของมันต่อสายตาชาวโลกเลย'..." (น.264)
วรรณกรรมของจอยซ์มีผู้วิเคราะห์เอาไว้จำนวนมาก (มากกว่างานที่จอยซ์เขียนเองหลายเท่า และผมยังไม่ได้อ่านแม้แต่ชิ้นเดียว) คำถามหนึ่งที่ผมอยากได้ยินคำตอบหรือข้อถกเถียงก็คือความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการนำเสนอแบบจอยซ์กับเหล่างานเขียนฝ่ายซ้ายทั้งหลายซึ่งร่วมสมัยกันเกือบตลอดศตวรรษที่ 20 - เพราะดูเหมือนว่างานของจอยซ์เองจะไม่เชื่อการสร้างวรรณกรรมเพื่อ 'ปลดแอก' หรือ 'เปลี่ยนแปลง' สังคมอย่างที่งานวรรณกรรมฝ่ายซ้ายเชื่อ

"ศิลปะไม่ควรจะต้องมาพะวงว่าต้องสร้างงานของตนให้เป็นแบบศาสนา คุณธรรมความดี ความสวยงาม หรืออุดมคติ แต่ควรที่จะสร้างงานอย่างซื่อสัตย์ต่อกฎพื้นฐานของธรรมชาติ" (น.262)

หากใครจะแนะนำงานที่วิเคราะห์เรื่องนี้ก็จะดีไม่น้อยทีเดียว

สิ่งที่น่าสังเกต คือ ในงานที่พูดถึงจอยซ์หลายๆงานที่ผมได้อ่าน มักจะพูดถึงงานของเขาทั้งกระบิ (oeuvre) ไม่ได้แยกพูดโดยเอกเทศแล้วย้ำความต่าง - ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นสำคัญของชีวิตการเขียนหนังสือของเขาทั้งหมด: จอยซ์เขียนหนังสือเพียงเรื่องเดียวตลอดชีวิต แต่ทั้งหมดถูกนำเสนอในลักษณะที่ต่างกันออกไปเท่านั้นเอง (จริงๆแล้วเขาก็แสดงออกอย่างจงใจ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงอยู่ของตัวละครหลายตัวในงานเขียนต่างๆของเขา การตั้งชื่อเรื่อง ฯลฯ)

และสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึก คือเหมือนกับว่าผมรู้จักจอยซ์มาก่อนอ่านงานของเขา เหมือนกับผมรับจอยซ์มาจากผู้ที่อ่านจอยซ์อีกทีหนึ่ง (ใครวะ) เพราะเมื่ออ่านผู้คนแห่งมหานครดับลินจบ ผมรู้สึกว่ามันเป็นมุมมองเดียวกันกับที่ตนเองใช้ในการมองโลกหลายๆครั้ง

น่าสนใจว่าหากอ่านงานของจอยซ์ซ้ำ เราอาจจะได้พบอะไรเพิ่มขึ้น - หรือทำอะไรหล่นหายไป - ก็ได้

Friday, October 29, 2010

สงครามหนังสือต้องห้าม


เห็นข่าวสั้นๆ ในหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดี้ยน แปลมาแลกเปลี่ยนกันครับ
------

สงครามหนังสือต้องห้าม: อลัน ทราวิสเล่าเรื่องคดี Lady Chatterley's Lover

ระหว่างปี 1950 ถึง 1953 มีหนังสือมากกว่า 4,000 เล่มขึ้นบัญชีหนังสือต้องห้ามโดย Home Office และห้ามตีพิมพ์ อลัน ทราวิสจะมาเล่าเรื่องราวว่าอิสรภาพของวรรณกรรมในอังกฤษธำรงอยู่มาได้อย่างไร


ลูกบุญธรรมของ ดี เอช ลอว์เรนซ์ - บาร์บารา บาร์ มีอารมณ์เหมือนกับนักอ่านทั่วอังกฤษ เมื่อได้รู้ว่าคณะลูกขุนโอลด์ เบลี่ย์ ปฏิเสธที่จะให้หนังสือ Lady Chatterley's Lover เป็นหนังสือต้องห้าม "ฉันรู้สึกเหมือนหน้าต่างถูกเปิดออก และลมอันสดชื่นก็ได้พัดผ่านอังกฤษทีเดียว" เธอกล่าว

หนังสือ Lady Chatterley ต้องห้ามมาตั้งแต่ปี 1929 เมื่อศุลกากรเริ่มยึดชุดพิมพ์ครั้งแรกที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์อิตาเลียน หลังจากที่สำนักพิมพ์ในอังกฤษถูกสั่งห้ามพิมพ์หนังสือเล่มนี้

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เล่มแรกของลอว์เรนซ์ที่ถูกสิ่งที่เขาเรียกว่า "ความโง่เง่าอย่างแพะแก่ๆที่ใส่กระโปรงชั้นใน" (nanny-goat-in-a-white-petticoat silliness of it all) ต้องห้ามเท่านั้น งานต่อต้านสงครามที่ออกมาในปี 1915 ของเขา The Rainbow ก็ถูกแบนโดยผู้พิพากษาของ Bow Street จากการที่มันพูดถึงเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเปิดเผย

ไม่ได้มีแต่ลอว์เรนซ์คนเดียว ผู้คนไม่พอใจกันอย่างกว้างขวางเมื่อเห็นอังกฤษกลายเป็นประเทศที่เข้มงวดเรื่องการต้องห้ามหนังสือในช่วงเวลาของศตวรรษที่ 20

จุดสูงสุดคือระหว่างปี 1950 ถึง 1953 มีหนังสือมากกว่า 4,000 เล่ม และในนั้นเป็นนิยาย 1,500 เล่ม อยู่ในบัญชีหนังสือต้องห้ามที่ทำขึ้นอย่างลับๆ โดย Home Office และศุลกากร ในรายชื่อเหล่านั้นก็เป็นหนังสือที่ตัวหน่วยงานเองขึ้นอีกบัญชีหนึ่งว่าเป็นหนังสือคลาสสิก อาทิ Madame Bovary ของโฟลแบล์ Moll Flanders ของดาเนียล เดโฟ และ Decameron ของโบคัชชิโอ

การเซนเซอร์ทำกันอย่างจริงจังจริงๆ ในปี 1955 คนขายหนังสือในโซโหติดคุกสองเดือนจากการขายหนังสือ Lady Chatterley's Lover ปีก่อนนั้นมีคดีที่ตัดสินลงโทษไปภายใต้พ.ร.บ.การพิมพ์ปี 1867 และมีหนังสือ 167,000 เล่มถูกเผาทำลายโดยสกอตแลนด์ยาร์ด สำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษติดคดีถึงห้าคดี ทำให้ส.ส.หนุ่มของพรรคเลเบอร์ รอย เจนกินส์ลุกขึ้นมาเรียกร้องการปฏิรูปกฎหมายการเซนเซอร์ และผลของมัน - พ.ร.บ.การพิมพ์ปี 1959 - กับ "สมบัติสาธารณะ" ได้ปกป้องงานจำนวนมากไม่วาจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปะ หรือการเรียนรู้ ได้ทำให้การตัดสิน Lady Chatterley มีผลใหม่ และเป็นผลให้วรรณกรรมของอังกฤษได้ธำรงอิสรภาพกว่าครึ่งศตวรรษจากนั้นเป็นต้นมา


อลันทราวิส
เดอะ การ์เีดี้ยน [http://www.guardian.co.uk/books/2010/oct/28/lady-chatterley-trial-war-on-obscenity]

Saturday, June 19, 2010

เล่าเรื่องในไตรภูมิ - เสฐียรโกเศศ


คงยากพิลึกหากมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ อย่างผมจะพยายามจินตนาการว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรท่ามกลางโลกทัศน์ของคนสยามเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว

จักรวาลวิทยา (cosmology) แบบไตรภูมิเป็นโลกทัศน์ของคนอุษาคเนย์บนแผ่นดินใหญ่ โดยนักประวัติศาสตร์พอจะเห็นร่วมกันว่าเป็นโลกทัศน์ดั้งเดิมก่อนการเข้ามาของตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ ๑๙

เล่าเรื่องในไตรภูมิ ของเสฐียรโกเศศ เป็นการพยายามเล่าความเชื่อเช่นนี้ออกมาด้วยท่วงทีเป็นกันเอง เหมือนผู้ใหญ่เล่านิทานให้ลูกๆหลานๆฟัง

ผมคิดว่า สิ่งที่สำคัญจากการได้รับรู้ถึงโลกทัศน์ของผู้คนในภูมิภาคนี้เมื่อหลายร้อยปีก่อนไม่ใช่อยู่เพียงว่าความเชื่อเหล่านั้นคืออะไร

หากแต่เป็นการทำให้เรามองเห็นว่า เวลาเราจะคิดเกี่ยวกับสิ่งใดๆก็ตาม จงอย่าใช้มาตรฐานของปัจจุบันไปตัดสินและตีความสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต (เช่นการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่เป็น "ประชาธิปไตย" ตามความเข้าใจของเราวันนี้) ไม่เช่นนั้นจะทำให้เราพลาดอะไรไปอีกมาก

ผมขอชี้ชวนให้คิดไปในอนาคตบ้าง - ลองคิดว่าอีกสักสองร้อยปีข้างหน้า มีคนขุดพบเอกสารการสืบสวนสอบสวนกรณี ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ แล้วมีข้อสรุปบางอย่างที่เขียนขึ้นโดยคณะกรรมการฯเฉพาะที่ถูกตั้งขึ้นมา

เราในปัจจุบันนี้ อยากเรียกร้องให้พวกเขา (คนสองร้อยปีข้างหน้า) นั้นตระหนักถึงอะไรบ้าง

ก็ไม่ต่างไปจากการย้อนไปดูประวัติศาสตร์เมื่อสองร้อยปีที่แล้วหรอกครับ

Sunday, May 30, 2010

กุหลาบ สายประดิษฐ์กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ - สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ


บทความวิจัยชิ้นนี้ของอ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือ "อาจารย์ยิ้ม" แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรฯ จุฬาฯ น่าจะเป็นบทความเกี่ยวกับงานเขียนของกุหลาบ สายประดิษฐ์เบื้องต้นที่ครอบคลุมที่สุดชิ้นหนึ่ง

อาจารย์ยิ้มทำให้นักเรียนประวัติศาสตร์รุ่นหลังสะดวกสบายขึ้นอีกมากหาก ต้องการเริ่มศึกษาเกี่ยวกับกุหลาบ สายประดิษฐ์และหัวข้อที่เกี่ยวข้องกันนี้ นี่คือหน้าที่ของนักวิชาการในการสืบเสาะค้นคว้าอย่างจริงจังและบุกแผ้วถาง ขยายองค์ความรู้ เพื่อเปิดต่อการตั้งคำถาม การตีความและการต่อยอดการศึกษาต่อไป

ผมเข้าใจว่าอาจารย์ยิ้มเสนองานชิ้นนี้ ในงานประชุมวิชาการ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ที่เชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๘

อาจารย์ยิ้มแบ่งการนำเสนอออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ โดยทั้งหมดต้องการอธิบายความคิดของกุหลาบ สายประดิษฐ์ผ่านงานเขียนทั้งเรื่องแต่งและบทความ เริ่มตั้งแต่จากการที่เริ่มเขียนนิยายเพื่อความบันเทิงในสมัยหนุ่มๆจนการ เปลี่ยนแปลงทางความคิดสะท้อนให้เห็นในช่วงห้าปีสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนแปลง การปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕

การรับอุดมการณ์ประชาธิปไตยจึงทำให้กุหลาบ สายประดิษฐ์สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างแข็งขัน ผ่านงานเขียนจำนวนมาก เขียนวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ว่าล้าหลัง และไม่ได้ส่งผลให้เกิดความกินดีอยู่ดีของราษฎร
การสนับสนุนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่มีต่อ "คณะรักชาติ" ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มิได้เป็นเพียงการแสดงท่าทีเห็นด้วยกับการปฏิวัติเท่านั้น แต่ยังนำเสนออย่างชัดเจน ถึงอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติ ดังนั้นกุหลาบ จึงได้เขียนบทความสามตอนครั้งใหม่ โดยบทความแรกนั้นลงในศรีกรุง ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ในชื่อว่า "สมรรถภาพของสยามใหม่อยู่ที่ไหน" เขาได้เสนอว่า ชีวิตของประเทศนั้นควรจะผูกไว้กับความจริง และชี้ให้เห็นว่่า ในอดีตที่ผ่านมานั้นราษฎรสยามถูกอบรบให้เชื่อมั่นในเรื่องชาติกำเนิดของบุคคลมากเกินไป ดังนี้

ตลอดเวลา ๑๕๐ ปีในอายุของกรุงเทพมหานคร เราได้รับการอบรมให้มีึความเชื่อมั่นและเคารพบูชาในชาติกำเหนิดของบุคคล พอเรามีเดียงสาที่จะเข้าใจความหมายของคำพูดได้ ปู่ย่าตายายก็อบรมสั่งสอนให้เราบูชาชาติกำเหนิดของบุคคล ท่านให้บูชาทุกคนที่กำเนิดมาในสกุลของราชวงศ์จักรี ท่านให้เราเรียกผู้เป็นประมุขของชาติไทยว่าเจ้าชีวิต เราถามว่าทำไมต้องเรียกว่าเจ้าชีวิต ท่านตอบว่า เจ้าชีวิตสามารถที่จะสั่งตัดหัวใครๆได้ ตั้งแต่นั้นมาเราก็กลัวเจ้าชีวิต เรากลัวทุกๆคนที่เป็นพี่น้องของเจ้าชีวิต เรากลัวโดยไม่มีเหตุผล เรากลัวเพราะถูกอบรมมาให้กลัว เราเรียกทุกๆคนในครอบครัวอันใหญ่ที่สุดนี้ว่า เจ้านาย เมื่อเราพูดถึงเจ้านาย เราจะต้องพูดว่าเจ้านายที่เคารพทุกครั้งไป กฎหมายไม่ได้บังคับให้เราพูด แต่จารีตประเพณีและการอบรมบังคับให้เราพูดเอง

เราพากันเคารพบูชาเจ้านาย เพราะเจ้านายเป็นผู้บันดาลให้เกิดความสำเร็จแทบทุกชะนิด ทุกๆคนที่หวังความสุข พยายามอยู่ในโอวาท และในความรับใช้ของเจ้านาย เราพากันพิศวงงงงวยในความสามารถของท่าน เราคิดว่าถ้าขาดครอบครัวของท่านเสียครอบครัวเดียว สยามจะต้องล่มจม ไม่มีใครปกครองประเทศได้ดีเท่าพวกท่าน ดังนั้น เราจึงถือความเชื่อมั่นกันมาว่า สิ่งสำคัญในตัวบุคคลคือ ชาติกำเนิด ผู้ที่เกิดมาเปนเจ้านาย จะต้องเป็นที่เคารพทุกคน เจ้านายจะต้องเปนคนดีทั้งนั้น จะเปนคนชั่วไม่ได้เลย นอกจากพวกเจ้านายแล้ว เราไม่เชื่อในความรู้ความสามารถของใคร เราไม่เชื่อว่าบุคคลอื่นจะบันดาลจะให้เกิดความสำเร็จได้

ต่อมาในศรีกรุง ฉบับวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้เสนอบทความตอนที่ ๒ ที่ชัดเจนมากขึ้นในบทความที่ชื่อว่า "ชาติกำเนิดไม่ใช่สมรรถภาพของคน" โดยมีึความขยายว่า -พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดบุคคลเป็นหลัก พระราชวงศ์อาจมีทั้งที่ฉลาดและโง่- ในส่วนนี้ กุหลาบอธิบายเพิ่มเติมว่า

ตามความอบรมที่เราได้รับสืบต่อกันมา ทำให้เราเชื่อกันโดยมากว่า พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายทุกองค์ เปนผู้ทำอะไรไม่ผิด ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทรงกระทำ พวกเรายอมรับกันว่าเปนสิ่งที่ถูกต้องดีงามอยู่เสมอ ครอบครัวของราชวงศ์จักรีเปนปาปมุติ คือ เปนผู้ที่พ้นจากบาป ไม่เคยทำอะไรผิดและจะไม่ทำผิด เรารับรองคติอันนี้โดยการที่เราไม่ตำหนิ หรือทักท้วงการกระทำทุกอย่างของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ เราทำตัวเหมือนลิ่วล้อตามโรงงิ้ว คือร้องฮ้อทุกครั้ง ไม่ว่าตัวงิ้วหัวหน้าจะพูดอะไรออกมา

แท้จริงพวกเจ้านายที่ก็เปนมนุสส์ปุถุชนเหมือนอย่างพวกเราๆนี่เอง ย่อมจะข้องอยู่ในกิเลสอาสวะ มีราคะ โลภะ โทสะ โมหะดุจคนทั้งปวง เมื่อบุคคลในครอบครัวทั้งหลายอื่น ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนในครอบครัวหนึ่ง ก็ยังมีคนดีคนชั่ว คนทำถูกทำผิด คลุกคละปะปนอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นฉะนี้ เหตุใดครอบครัวของเจ้านาย...จึงกลายเปนคนดีทำถูกไปเสียทั้งหมด

กุลหลาบได้วิพากษ์ว่า การนับถือชาติกำเนิดในลักษณะเช่นนี้ เป็นการฝ่าฝืนความเป็นจริง และขัดกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธองค์ไม่ได้สอนสาวกให้ยึดเอาชาติกำเนิดหรือตัวบุคคลเป็นเครื่องวินิจฉัย ดังนั้น การยกเอาชาติกำเนิดมาเป็น "เครื่องชั่งน้ำหนัก" จึงถือว่าเป็นการ "หลงผิดอย่างงมงาย" แต่กระนั้นกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็เสนออย่างชัดเจนว่า ข้อเสนอทั้งหมดนี้ มิได้กระทำโดยมุ่งที่จะละเมิดเดชานุภาพของกษัตริย์ โดยอธิบายว่า

ข้าพเจ้ามิได้ตั้งใจจะลบหลู่พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์ใดๆ ที่ได้มีอยู่กับประเทศสยาม ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์เปนอย่างดี เพียงแต่ข้าพเจ้าตั้งใจจะให้คนทั้งปวงตกหนักในความจริงว่า ชาติกำเนิดมิได้เป็นเครื่องวัดความดีความชั่ว ความสามารถ และไม่สามารถของบุคคล (ศรีกรุง ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๗๕: ๑)

(น.๗-๘)
จะเห็นได้ว่าบรรยากาศของสยามหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นบรรยากาศแห่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรี ซึ่งโลกทัศน์เช่นนี้มิใช่จู่ๆจะเกิดขึ้นทันทีทันใด หากแต่มีการก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่สมัยร.๕ ทรงดำเนินนโยบายการสร้างรัฐรวมศูนย์อำนาจ

ในกระบวนการก่อร่างสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์นี่เอง ที่ได้ไปเพาะเมล็ดแห่งการล่มสลายลงของตัวระบอบเอง กล่าวคือ เมื่อรัฐสมัยใหม่ต้องการคัดเลือกผู้คนเข้าไปสู่ระบบราชการเพื่อไปทำให้รัฐ เดินต่อได้นั้น ก็ต้องคัดผู้คนจากระบบการศึกษา

และระบบการศึกษานี่เอง ที่ไปทำให้ผู้คนที่อยู่ "รอบนอก" ศูนย์กลางอำนาจ สามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจทางการเมืองได้ (รวมทั้งคนจีนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมาก่อนหน้านี้) คืออำนาจส่งต่อกันไม่ไช่เพราะเลือดและวงศ์ตระกูลอย่างเดียวเหมือนที่เคยเป็น มาแล้ว แต่คราวนี้สามารถคัดได้จากความสามารถ (meritocracy) นั่นก็ทำให้คนจำนวนมากเกิดความไม่พอใจต่อระบอบเก่า การท้าทายครั้งสำคัญครั้งแรกต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ก็คือกบฎร.ศ.๑๓๐ (ดูข้อวิเคราะห์โดยละเอียดใน Kullada Kesboonchoo Mead, The Rise and Decline of Thai Absolutism, 2004)

ผมคิดว่่าเมื่อมีภาพดังกล่าวนี้เสริมเข้าไปก็จะทำให้เห็นกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นทั้งผลและแรงผลักดันอันสำคัญอีกแรงหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ

อาจารย์กล่าวต่อไปถึงสภาพการเมืองไทยหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ โดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ยังเป็นแรงอันแข็งขันในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (ยศในขณะนั้น) ที่ขึ้นสู่อำนาจเมื่อพ.ศ.๒๔๘๑ ผ่านหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษที่ เขาเป็นบรรณาธิการ

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ (ที่อย่างน้อยผมเองอยากทราบ) ก็คือกลุ่มปัญญาชนและนักหนังสือพิมพ์ในยุคนี้ ผมยังไม่ค่อยแน่ใจนักว่ามีงานชิ้นใดที่ให้ภาพอย่างชัดเจนบ้างไหม (เท่าที่เคยได้ยินมีอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นงานสารนิพนธ์ของจุฬาฯ ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว) โดยเฉพาะกลุ่มสุภาพ บุรุษโดยเฉพาะ

มีอะไรอีกหลายอย่างที่น่าสนใจในช่วงเวลาดังกล่าวครับ เอาเป็นว่าผมจะไม่พูดถึงเนื้อหาของงานชิ้นนี้ต่อแล้ว หากท่านสนใจเชิญดาวน์โหลดได้เลยตามลิงค์ที่ใส่ไว้ให้

อยากจะทิ้งท้ายตรงนี้เอาไว้สักนิดหนึ่ง อ้างอิงสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนที่เกิดขึ้นกับนักวิชาการอย่างอาจารย์ยิ้ม (อ.เกษียร เตชะพีระเขียนเอา ไว้แล้ว)

ขออ้างการตีความของอาจารย์ยิ้มต่อนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพว่า
นวนิยาย เรื่อง"ข้าง หลังภาพ" นี้ เป็นเรื่องรักสะเทือนใจที่เป็นที่นิยมที่สุดของศรีบูรพา นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนถึงภาพของ หม่อมราชวงศ์กีรติ ซึ่งเป็นสตรีชั้นสูงในสังคมเก่า ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องอยู่เป็นโสดตลอดชีวิต. แต่เนื่องจากปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ที่ทำให้เชื้อพระวงศ์มีโอกาสสมรสกับสามัญชน หม่อมราชวงศ์กีรติ จึงต้องเลือกแต่งงานเมื่ออายุ ๓๕ ปี กับพระยาอธิการบดี ที่เป็นขุนนางอายุ ๕๐ ปี และเดินทางไปฮันนีมูนที่กรุงโตเกียว ปรากฏว่า เธอได้ไปรู้จักกับนพพร นักเรียนไทยอายุ ๒๒ ปี และได้สนิทสนมกันจนกลายเป็นความรัก นพพรได้สารภาพรักกับ หม่อมราชวงศ์กีรติ ขณะที่ทั้งคู่ไปเที่ยวธารน้ำตกที่มิดาเกาะ แต่หม่อมราชวงศ์กีรติ แม้ว่าจะรักนพพรก็ตาม ก็ไม่อาจจะตอบรับความรักได้ ต่อมาเมื่อหม่อมราชวงศ์กีรติกลับมาประเทศไทย และเวลาผ่านไป ความรักของนพพรก็เลือนลางจืดจางลง จนเมื่อจบการศึกษาก็กลับมาแต่งงานกับสตรีคนอื่น ขณะที่หม่อมราชวงศ์กีรติ ยังคงยึดมั่นในความรัก และต่อมาเธอก็ล้มป่วยเป็นวัณโรคและเสียชีวิตพร้อมกับความรักนั้น ความตายของหม่อมราชวงศ์กีรติ จึงถือเป็นการสะท้อนถึงการล่มสลายของชนชั้นสูงหลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ (น.๙-๑๐)
ผมอยากจะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ยิ้มนั้น แสดงให้เห็นว่า ม.ร.ว.กีรติไม่ได้ตายลงแต่อย่างใด...

Saturday, May 1, 2010

วิมานทลาย - ม.จ.อากาศดำเกิงฯ


นานแล้วที่ไม่ได้อ่านหนังสือแล้วรู้สึกคิดถึงบ้าน บางครั้งการอ่านเรื่องราวอะไรที่เป็นส่วนตัวค่อนข้างมากก็ทำให้ผมรู้สึกหวิวๆไปบ้าง ก่อนหน้านี้ใน ละครแห่งชีวิต (2472) และ ผิวเหลืองผิวขาว (2473) ผมยังรู้สึกถึงความหวังได้บ้าง

แต่กับ วิมานทลาย ผมเห็นผู้ชายคนหนึ่งกำลังวิ่งเข้าหาทางตัน...

วิมานทลาย เป็นชื่อของรวมเรื่องสั้น 4 เรื่องของม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ โดยเรื่องสั้นทั้งหมดประกอบไปด้วย 1) ทางโลกีย์ 2) วัยสวาท 3) เจ้าไม่มีศาล และ 4) สมาคมชั้นสูง

ผมอ่านฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง พิมพ์โดยแพร่พิทยา (พฤศจิกายน, 2515) คาดว่าท่านอากาศฯน่าจะเขียนเรื่องทั้งหมดนี้ในวาระใกล้ๆกัน โดยยังไม่พบปีที่พิมพ์ครั้งแรก (แต่อย่างไรก็คงหนีไม่พ้นปี 2473 หรือ 74 เป็นแน่)

ผมคิดว่าผมคงไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลงอะไรมาก เอา "บทนำ" ของท่านอากาศฯมาลงไว้ก็จะรู้ว่าแก่นที่ร้อยเรียงเรื่องทั้งหมดเอาไว้คืออะไร (ตอนแรกตั้งใจวาจะไม่ทำให้เสียบรรยากาศ แต่ผมไม่คิดว่าจะมีคำอรรถาธิบายเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ใดๆจะดีไปว่าบทนำที่ท่านอากาศฯเขียนไว้เอง ฉะนั้นขออภัย)
เหตุใดหนังสือเล่มนี้จึงมีนามว่า 'วิมานทลาย'

ในหมู่คนที่เรารัก - เราชอบ จะมีบ้างสักกี่คนที่จะดีเท่ากับที่เราหวังไว้ว่าเขาควรจะดี มีใครบ้างที่ตั้งใจจะรักษาคำพูด เมื่อได้ให้คำมั่นสัญญากับเราไว้แล้ว เขาจะดีต่อเราได้ก็ต่อเมื่อเขาต้องการจะใช้เรา และในระหว่างนั้น เขาจะยอมให้คำมั่นสัญญากับเราร้อยแปด จะช่วยให้เราเป็นโน่นเป็นนี่-จะช่วยให้พ้นทุกข์ ในเมื่อเราถึงคราวอับจน--ช่วยส่งเสริมให้เราสร้างวิมานบนอากาศไม่เว้นวัน แต่พอถึงเวลาเข้าจริง....เวลาที่เขาจะต้องรักษาคำมั่นสัญญานั้น หรือถึงเวลาที่เราเข้าที่คับขัน-ต้องการความช่วยเหลือจากเขาอย่างที่สุด-เขาลืมเรา กลับเห็นเราเป็นคนรกนัยน์ตา แม้จะหันมามองดูเราสักทีก็ทั้งยาก คำมั่นสัญญาต่างๆที่เคยพูดไว้ก็กลายเป็นอากาศธาตุไปสิ้น วิมานบนอากาศที่เราเคยสร้างไว้ด้วยความเชื่อมั่นของมนุษยธรรมก็พลันพังพินาศลงเป็นผุยผงหาชิ้นดีไม่ได้ นี่คือชีวิตของสามัญชน นิยายต่างๆในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของชีวิต ดังนั้นจึงเรียกนามร่วมกันว่า 'วิมานทลาย'

"อากาศดำเกิง" (น.1-2)
สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือความรู้สึกแปลกแยก (out of place) ที่ตัวละครหลักแต่ละตัวประสบ การดำรงอยู่ของพวกเขานั้นเป็นเหมือนตัวประหลาดในสังคมที่ตนเองสังกัดอยู่ ความคาดหวังในสังคมและหลักศีลธรรมเป็นการตีกรอบชีวิตของคนเหล่านั้นเอาไว้ โดยไม่เหลือพื้นที่ให้เลือกทางเดินชีวิตอย่างใจหวัง สุดท้ายพวกเขาก็พบกับวิกฤตที่ยากจะหาทางออก

และนั่นก็คือชีวิตของท่านอากาศฯเอง

แน่ละ ปัญหาเช่นนี้ได้ถูกแสดงออกในงานวรรณกรรมทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมย่ิิอมทำให้คนกลุ่มหนึ่ง (ส่วนใหญ่จะเป็นเป็นกลุ่มใหญ่) หลุดออกไปจากพื้นที่ๆพวกเขามีอยู่ในสังคม ในบริบทของสยาม โครงสร้างทางสังคมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ย่อมก่อให้เกิดความแปลกแยกอย่างสาหัสสากรรจ์ต่อกลุ่มชนชั้นนำที่ไม่ได้อยู่ใกล้การควบคุมทรัพยากรหลัก จึงได้สะท้อนออกมาในงานร่วมสมัยกันหลายชิ้น (อย่างที่ผมได้เคยกล่าวเอาไว้ในงานของดอกไม้สด)

พอคิดไปคิดมาผมไปนึกถึงเพลงที่ผมชอบมากที่สุดเพลงหนึ่งของวงร็อคอเมริกัน Incubus จึงปิดท้ายด้วยเนื้อร้องที่เป็นดั่งบทกวีของเพลงนี้เอาไว้ก็แล้วกัน
Drive (1999)

Sometimes, I feel the fear of uncertainty stinging clear
And I can't help but ask myself how much I let the fear
Take the wheel and steer
It's driven me before
And it seems to have a vague, haunting mass appeal
But lately I'm beginning to find that I
Should be the one behind the wheel

Whatever tomorrow brings, I'll be there
With open arms and open eyes yeah

Whatever tomorrow brings, I'll be there
I'll be there

So if I decide to waiver my chance to be one of the hive
Will I choose water over wine and hold my own and drive?
It's driven me before
And it seems to be the way that everyone else gets around
But lately I'm beginning to find that
When I drive myself my light is found

Whatever tomorrow brings, I'll be there
With open arms and open eyes yeah

Whatever tomorrow brings, I'll be there
I'll be there

Would you choose water over wine
Hold the wheel and drive

Whatever tomorrow brings, I'll be there
With open arms and open eyes yeah

Whatever tomorrow brings, I'll be there
I'll be there

แม้พรุ่งนี้เกิดอะไรที่ปลายฟ้า
ข้าฯจะอยู่ประจัญหน้าที่ขอบเหว
ด้วยอ้อมแขนด้วยดวงเนตรดั่งไฟเปลว
จะดีเลวขอเลือกตามใจพา

แม้พรุ่งนี้เกิดอะไรที่ปลายน้ำ
ข้าฯจะรุดเร่งล้ำด้วยสองขา
ขอเพียงตนได้กำหนดดวงชะตา
หากแม้นม้วยมรณามิเสียใจฯ

Saturday, April 10, 2010

50 ปี "To Kill a Mockingbird"



มีบทความจากหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับครึ่งศตวรรษของงานวรรณกรรมชิ้นโด่งดัง To Kill a Mockingbird ของ Harper Lee จึงแปลหยาบๆมาให้อ่านกันอย่างเคยครับ



เกียรติยศของสเกาต์ :ทำความเคารพงานวรรณกรรมชั้นครู
วอร์วิค แมคแฟดเยน


"ที่รัก ฉันขอโทษ ฉันคงปลุกคุณตั้งแต่เช้ามืด ตอนนี้หิมะตกหนักมากและวันนี้ก็เป็นวันสุดท้ายก่อนที่ฉันจะไป ฉันจึงอยากจะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย ฉันขุดหิมะมาสองวันแล้วล่ะ เจ็บเข่าและเจ็บไหล่ไปหมด แต่ยังไงก็ตาม..."

เสียงนั้นฟังเหมือนขอโทษขอโพย ที่ผิดนัดสัมภาษณ์ไปสี่ชั่วโมง เสียงนั้นมาจากริชมอนด์ เวอร์จิเนีย ลึกเข้าไปในพื้นที่ของหิมะและน้ำแข็ง ซึ่งแข็งจากพายุฤดูหนาว เสียงนั้นเป็นของแมรี แบดแฮม ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักและเป็นที่รักจากคนมากมาย ในบทของชอง หลุยส์ ฟินช์ หรือสเกาต์ เป็นที่จดจำในบทของเธอในภาพยนตร์ To Kill a Mockingbird

แบดแฮมโตในเบอร์มิงแฮม อะลาบามา ย้อนไปเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว เมืองนี้เป็นดินแดนแห่งความไม่เท่าเทียมระหว่างเชื้อชาติ ถนนหนทางในเมืองถือเป็นสมรภูมิรบทีเดียว ภาพของสุนัขตำรวจโจมตีคนผิวดำ ได้เผยแพร่ไปทั่วโลกและเป็นเหมือนภาพที่เผยให้เห็นข้อเท็จจริงของเมือง

แบดแฮมในวัยเด็ก เล่นบทบาทที่ต้องประสบกับการเหยียดผิวในภาพยนต์ To Killฯ บทบาทที่เธอเล่นสะท้อนก้องไปสู่คนเป็นล้าน

และวันนี้มันก็ยังสะท้อนก้องอยู่ เธอเองก็ยังรู้สึกกับมันเหมือนกับที่เธอยังเป็นเด็กหญิงอายุสิบขวบ ในปี 1962 ซึ่งเธอทำงานอยู่สามเดือน รับบทบาทเป็นชอง หลุยส์ เฟนช์ ลูกสาวของแอททิคัส

ปีนี้ครบรอบ 50 ปีการตีพิมพ์ To Killฯ ของฮาร์เปอร์ ลี นิยายเล่มนี้เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ระดับนานาชาติของสำนักพิมพ์ ซึ่งขายได้กว่า 30 ล้านเล่ม ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ และเป็นหนังสือที่ได้รับการชื่นชมสูงที่สุดเรื่องหนึ่งของโลกวรรณกรรม

ลีพูดในปี 1964 ว่า "ฉันไม่เคยคาดหวังความสำเร็จขนาดนี้จาก To Killฯ ฉันไม่คิดว่ามันจะขายได้ด้วยซ้ำ ฉันเพียงหวังว่ามันจะตายอย่างไม่ทรมานภายในมือของนักวิจารณ์"

แม้ด้วยความสำเร็จเช่นนั้น ลี, เช่นเดียวกับเจ ดี ซาลิงเจอร์, เป็นนักเขียนมีชื่อเสียงที่เก็บตัวมากที่สุดคนหนึ่ง

ถ้าลีเป็นผู้จุดไฟ แบดแฮมก็เป็นผู้รับคบเพลิงมาถือ แม้ว่าจะในรูปแบบภาพยนตร์ก็ตาม To Killฯ เข้าชิงรางวัลออสการ์แปดสาขา และได้ไปสาม คือดารานำชายยอดเยี่ยมเกรกอรี เป๊กแสดงเป็นแอททิคัส บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมโดยฮอร์ตัน ฟุต และถ่ายภาพกำกับภาพยอดเยี่ยมอีกสาขาหนึ่ง แบดแฮมเองก็เข้าชิงสาขาดาราสนับสนุนหญิงยอดเยี่ยม แต่พลาดไปให้กับแพตตี้ ดุ๊ก หากก็ไม่ได้ทำให้เธอผิดหวังแต่อย่างใด เธอไม่ได้สนใจในรางวัลเท่าๆกับที่เธอคือสเกาต์ด้วยชีวิตจริง "เราอ่านหนังสือในวันที่ฝนตก และเราออกไปเล่นข้างนอกในวันที่อากาศดี"

หนังสือที่เธอไม่ได้อ่านคือ To Killฯ ซึ่งเธอมาอ่านหลายปีให้หลัง ในห้องเรียนวิชาวรรณกรรมภาษาอังกฤษ "ฉันไม่ได้ต้องการอ่านเพื่อไปถึงมัน ฉันอยากให้มันมาอยู่ในความทรงจำของฉันมากกวา ซึ่งก็ดี" เธอพูด

แต่เมื่อเธอเปิดอ่าน โลกเล็กๆของเมคอมบ์ที่เธอประสบจากการแสดงภาพยนต์ก็โตขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครก็ลึกลงและกว้างขึ้น "หนังสือเล่มนั้นน่าสนใจมาก" เธอกล่าว "มันขยายความรู้ของเรามากมาย มันน่าประทับใจจริงๆ มีตัวละครอีกหลายตัวที่ฉันไม่รู้เลย ความสัมพันธ์ทั้งหมดกับคัลเปอร์เนีย (แม่บ้านผิวดำ) และการไปโบสถ์กับเธอ"

แบดแฮมมีประสบการณ์ร่วมกับเรื่องเหล่านี้ บ้านของเธอมีคนรับใช้ผิวดำมาตลอดหกชั่วอายุคน ในบทหนึ่งของหนังสือที่ต้องมีการไปโบสถ์ที่คนผิวดำไปนั้น "ใช่ ที่บ้านฉัน เราไปเมื่อสมัยเรายังเด็กๆ"

และสิ่งที่พวกเขาถูกห้ามคือการนั่งบนที่นั่งในรถประจำทางร่วมกับคนผิวดำ "ตอนที่ฉันอยู่ที่เบอร์มิงแฮม" เธอบอก "คนผิวดำยังต้องนั่งอยู่เบาะหลังในรถประจำทาง พวกเขายังต้องดื่มน้ำและเข้าห้องน้ำเฉพาะสำหรับคนผิวดำเท่านั้น"

แบดแฮมบอกว่า "ทีมทำหนังพยายามหาคนไปทั่วทั้งทางใต้" และต้องการ "เด็กใต้ที่สามารถพูดสำเนียงใต้ได้" เด็กพวกหนึ่งก็ต้องถูกพาไปฮอลลีวูด และเมคอมบ์ก็ถูกสร้างขึ้นในสตูดิโอ

ฝั่งตะวันตกเป็นเหมือนโลกใหม่ของเด็กหญิงจากอะลาบามาคนนี้ ผู้คนหลายเชื้อชาติอยู่อาศัยร่วมกัน และแบดแฮมเรียนรู้ว่า "มันเหมือนเป็นอีกโลกหนึ่ง และคนที่นั่นก็ไม่ได้คิดเหมือนกับคนที่อยู่ทางใต้เลย" และเมื่อเธอกลับสู่เบอร์มิงแฮม เธอก็กลับรู้สึกแปลกแยก

"ตระกูลแบดแฮมเป็นเหมือนผู้ก่อตั้งเบอร์มิงแฮม พ่อของฉันเป็นนายพลในกองทัพอากาศ และได้รับความนับถือมาก ฉันได้รับการต้อนรับจากบ้านที่ดีที่สุดในเบอ์มิงแฮมเสมอ แต่แล้ว เมื่อฉันกลับไป ฉันก็รู้สึกว่า โอ้ พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่าเด็กคนนั้นเรียนรู้อะไรบ้างจากฮอลลีวูด"

สิ่งที่เธอพบในฮอลลีวูดคือมิตรภาพอันยืนยาว โดยเฉพาะกับดาราใหญ่อย่างเกรกอรี เป๊ก "เขาเป็นคนยอดเยี่ยมมากๆเลยล่ะ" เธอนึกย้อน สิ่งที่คนเห็นในหนังคือเมื่อมันออกไปนอกจอหนังแล้ว

เธอสนิทกับเขาเกินกว่าจะเรียกว่า "คุณเป๊ก" และยังเด็กเกินกว่าที่จะเรียกเขาว่า "เกรก" แบดแฮมบอก "ฉันจึงเรียกเขาว่าแอททิคัส และเขาเรียกฉันว่าสเกาต์ เราสนิทกันมาก"

ในช่วงเวลานั้น "มันเหมือนเป็นครอบครัว" เธอบอก "และฉันก็ไม่รู้ว่าหนังเรื่องอื่นจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เราพบเจอกันเสมอและจะติดต่อหากันหากรู้ว่าอีกฝ่ายอยู่ในเมืองเดียวกัน"

"ฉันรับโทรศัพท์และที่ปลายสายคือแอททิคัส พูดว่า 'ทำอะไรอยู่ สาวน้อย'? นั่นมีความหมายมากสำหรับฉัน"

การจำบทภาพยนตร์ของฮอร์ตัน ฟุต ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับแบดแฮม กระทั่งการเดินทางกำลังจะจบลง เหลือเพียงฉากเดียวที่จะต้องถาย เป็นฉากสำคัญที่คุก ที่แอททิคัสคุ้มครองลูกความของเขาทอม รอบินสันจากกลุ่มคน สเกาต์และพี่ของเธอในเรื่อง (ฟิลิป อัลฟอร์ด) อยู่ที่นั่นสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้น และสเกาต์เองก็เป็นผู้ที่ทำให้ผู้คนที่มุงหันมาสนใจด้วยสายตาอันไร้เดียงสาของเธอและพูดกับคนหนึ่งในนั้น พอถึงตรงนั้นแบดแฮมก็เกิดจะทำไม่ได้ขึ้นมา

"ฉันไม่มีปัญหาอะไรเลยจนกระทั่งถึงจุดนั้น จู่ๆฉันก็พูดไม่ออก และคุณมัลลิแกน (ผู้กำกับ) ก็สั่งคัท แม่พาฉันไปนั่งคุย 'ลูก ลูกจะต้องจำบทตอนนี้ให้ได้ ต้องทำให้ได้ตอนนี้เพราะลูกรู้ว่าการจราจรห้าโมงเย็นเป็นอยางไร และทุกคนอยากกลับบ้าน' และฉันก็ 'โอเค' และไปถ่ายใหม่จนได้"

ในขณะที่เวลาไม่ได้ทำให้เธอหยุดรัก To Killฯ แต่มันก็มีผล "ฉันดูหนังเรื่องนี้ไม่ได้อีกแล้วล่ะ ฉันใจหายเมื่อมาคิดว่าหลายคนในหนังเรื่องนี้ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว" เธอบอก

ซิดนีย์ มอร์นิง เฮอรัลด์ 3 เมษายน 2010

Sunday, March 28, 2010

คัลเชอรัล พิลกริเมจ


สุดสัปดาห์นี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการแสวงบุญทางวัฒนธรรมก็ว่าได้ ช่วงหลังๆมานี้ผมไม่ค่อยบอกปัดโอกาสการลิ้มลองประสบการณ์ทางวัฒนธรรมใหม่ๆ (ที่จริงแล้วการอยู่เมืองเล็กอย่างแคนเบอร์ราก็ใช่ว่าจะมีตัวเลือกอะไรมากนัก)

วันเสาร์ที่ผ่านมาไปดูการขับร้องประสานเสียงในโบสถ์ ซึ่งเป็นการนำเอาผลงานของนักประพันธ์ชาวอังกฤษในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16-17 อย่าง Thomas Tallis (1505-1585) William Byrd(1543-1623) และ Orlando Gibbons (1583-1625) มาขับร้อง

จริงๆแล้วในเชิงบริบท ดนตรีในโบสถ์อังกฤษยุคนี้น่าสนใจทีเดียว ผมเองค่อนข้างใหม่จึงไม่อยากเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เอาเป็นว่าใครมีอะไรแลกเปลี่ยนก็เชิญได้นะครับ

วันอาทิตย์ (วันนี้) เมื่อครู่นี่เองไปดูภาพยนตร์ของคุโรซาว่ามา คือ Judo Saga (1943) ซึ่งสะท้อนแนวการทำหนังของครูผู้นี้ได้มากทีเดียว

เป็นงานชิ้นที่ทำให้ร้องอ๋อ ว่าอิทธิพลของคุโรซาว่าต่อหนังทั่วโลกนั่นมีมากอย่างไร (ฉากการดวลสุดท้ายนี่ต้องบอกว่าอมตะจริงๆครับ)

นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ผมจะลิ้มลองหนังของคุโรซาว่าเรื่องอื่นๆ ด้วย จริงๆอยากรู้ว่านักศึกษาภาพยนตร์ไทยพูดถึงคุโรซาว่า ว่าอย่างไรด้วย (อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือชินโต)

การแสวงบุญอาจไม่ต้องออกไปข้างนอกเพียงอย่างเดียว แต่การกลับเข้าไปข้างในจิตใจ เราก็จะพบว่ามีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกมาก

Saturday, March 20, 2010

สัมภาษณ์ปีเตอร์ แครี่


พอดีช่วงนี้อ่านหนังสือของปีเตอร์ แครี่อยู่ พอดีเห็นบทสัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์ดิ เอจ ก็เลยแปลมาแบ่งกันอ่าน เชิญครับ

--------------------
Q&A กับปีเตอร์ แครี่
โรซานนา กรีนสตรีท

ปีเตอร์ แครี่เกิดปีค.ศ.1943 ในรัฐวิคตอเรีย ออสเตรเลีย โดยพ่อแม่ของเขาเป็นตัวแทนขายรถยนต์ เริ่มแรกเขาทำงานในบริษัทโฆษณาและเขียนนิยายในเวลาว่าง เขาถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธนิยายสี่เรื่องแรกทั้งหมด จนกระทั่งรวมเรื่องสั้นของเขา The Fat Man in History ได้รับการตีพิมพ์ในปีค.ศ.1974 และทำให้เขาประสบความสำเร็จในชั่วข้ามคืน

เขาเขียนต่อไปจนกระทั่งได้รับรางวัล Man Booker Prize ถึงสองครั้งจาก Oscar and Lucinda (1988) และ True History of the Kelly Gang (2000) หนังสือเล่มใหม่ของเขาเพิ่งออกชื่อ Parrot and Olivier in America ออกมาปีที่แล้ว ขณะนี้เขาแต่งงานเป็นครั้งที่สาม มีลูกชายสองคนและพำนักอยู่ที่นิวยอร์ค

คุณมีความสุขที่สุดเมื่อไหร่?
ขณะนี้

กลัวอะไรที่สุด?
กลัวจะต้องขับรถข้ามสะพานซีเวอร์น

คนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คุณชื่นชมใครมากที่สุด เพราะอะไร?
พี่สาวของผม เพราะขนมเมอร์แรงของเธอ

ช่วงเวลาที่น่าอับอายที่สุดของคุณคือ?
การได้รับการยกย่องอย่างสูงจากนักวิจารณ์ชาวนิวยอร์คดาฟเน เมอร์กิน หากแต่เธอกลับคิดว่าผมคือเอียน แมคอีวาน

นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์ อะไรคือของราคาแพงที่สุดที่คุณเคยซื้อ?
เก้าอี้นวมตัวสวย Jorgen Kastholm Grasshopper เป็นสแตนเลส สตีล หนังฟอกสีดำ

ของมีค่าที่สุดที่คุณมี
ภาพวาดสีน้ำมันโดยเพื่อนของผมเจมส์ ดูลิน ซึ่งเสียชีวิตในปี 2002 เขาสอนผมมากพอๆกับที่งานเขียนของนักเขียนคนอื่นๆสอนผม จากบนผนังนั้น เขาก็ยังสอนผมอยู่จนทุกวันนี้

พลังสุดยอดของคุณคืออะไร?
น่าจะเป็นอะไรเกี่ยวกับเรื่องเพศ

อยากให้ใครเล่นเป็นคุณ หากจะมีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับตัวคุณ?
เลียม นีสัน

นิสัยไม่ดีที่สุดของคุณคือ?
มีคำตอบให้กับทุกสิ่ง

คำโปรดของคุณ?
Silky

การให้หรือการรับดีกว่ากัน?
ผมว่าน่าจะอย่างหลัง

ความสุขที่คุณรู้สึกผิดคืออะไร?
Poire William เย็นๆ

คุณติดหนี้อะไรพ่อแม่คุณ?
อารมณ์ขัน พลัง ความมุ่งมั่น ไม่กลัวเกรงอะไร

ใครหรืออะไรที่คุณรักที่สุด?
เธอคงทราบ

ความรู้สึกของความรักเป็นอย่างไร?
ทะเลที่เค็ม

งานอะไรที่เลวร้ายที่สุดที่เคยทำ?
ตรวจการสะกดคำของตัวเอง

หากคุณสามารถเปลี่ยนอดีตได้ คุณจะเปลี่ยนอะไร?
ผมจะเอาคอมม่าออกให้หมด

คุณพักผ่อนอย่างไร?
Lorazepam

คุณมีเซ็กซ์บ่อยครั้งแค่ไหน?
ทุกๆ 100 กว่าหน้า

อะไรคือสิ่งที่คุณทำแล้วเห็นว่าประสบความสำเร็จที่สุด?
การสร้าง มาคาโด เฟอร์นานเดซ ผู้ประพันธ์ One Man เขายังปรากฏใน Theft: A Love Story ผมหวังว่าเขาจะไม่ตื่นเต้นหากนักวิจารณ์จะขอดูงานของเขา

อะไรทำให้คุณนอนไม่หลับ?
ลูกๆที่กำลังโตของผม

คุณอยากให้มีเพลงอะไรเล่นในงานศพของคุณ?
ให้บอบ ดีแลนมา เขาจะเล่นเพลงอะไรก็ได้

คุณอยากถูกจดจำอย่างไร?
อย่างคนที่ผิดพลาดน้อยมากในชีวิต

อะไรเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดที่ชีวิตสอนคุณ?
ว่าชีวิตเป็นครูที่น่ากลัว

คุณอยากอยู่ที่ไหนมากที่สุดเวลานี้?
ที่ๆอยู่นี่ละ แต่อยากมีผมมากกว่านี้

เล่าเรื่องตลกให้ฟังหน่อย
รัฐสองรัฐของออสเตรเลียได้พิจารณาเรื่องการกำจัดกฎหมายลิขสิทธิ์เขตแดนระหว่างรัฐสำหรับนักเขียนออสเตรเลีย

บอกความลับของคุณหน่อย
เราจะต้องตาย




หนังสือพิมพ์ดิ เอจ 13 มีนาคม 2010

Saturday, March 13, 2010

การปฏิวัติเพศสภาวะ!


มีเหตุการณ์น่าสนใจเกิดขึ้นในรัฐนิว เซาท์ เวล์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นปรากฏการณ์ของโลกสมัยใหม่ที่น่าสนใจ บทความนี้ลงในหนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิง เฮอรัลด์ ผมแปลอย่างคร่าวๆมาให้อ่านครับ





ไร้เพศในเขตเมือง: การปฏิวัติเพศสภาวะ
โจเอล กิบสัน

เทศกาลมาร์ดี กราปีนี้ นอร์รีได้รับของขวัญที่ชาวไร้เพศ (ขออภัย ภาษาอังกฤษคือ androgynous แต่ผมไม่สามารถหาคำแปลที่ดีกว่านี้ได้ภายในเวลาอันจำกัด ผู้ที่ศึกษาเรื่องเพศสภาวะกรุณาแนะนำ) ในรัฐนิว เซาท์ เวลส์ไม่เคยได้มาก่อน

คืนก่อนที่จะมีการเดินขบวนพาเหรด บุรุษไปรษณีย์นำใบรับรองจากแผนกสำมะโนครัวมาให้เธอ และเพศที่ปรากฏอยู่ในใบนั้นไม่ใช่ทั้ง M และ F

หากแต่มันเขียนว่า "เพศไม่ได้ระบุ" ซึี่งทำให้ชาวซิดนีย์อายุ 48 ปีผู้นี้เป็นผู้ไร้เพศคนแรกที่ได้รับการรับรองจากรัฐนิว เซาท์ เวลส์

เพราะนอร์รีเกิดในสกอตแลนด์ (และใช้นามสกุล เมย์-เวลบี้) ใบที่ไ้ด้รับจึงไม่ใช้ใบเกิด แต่เป็น "ใบรับรองรายละเอียดของบุคคล" (Recognised Details Certificate) ที่จะให้กับผู้ย้ายถิ่นที่ต้องการแจ้งเปลี่ยนเพศ

กฎหมายยังไม่ได้รับรองผู้ที่ไม่ต้องการถูกบันทึกเพศ แต่สามารถรับรองคำขอจากนอร์รี ผู้ที่มีใบรับรองแพทย์จากหมอสองคนว่าเธอมีความไร้เพศทั้งทางจิตและทางกายภาพ

จากนั้นนอร์รีจึงเริ่มไปติดต่อหน่วยงานต่างๆที่มีบันทึกเกี่ยวกับเธอให้เปลี่ยนเพศของเธอ

"ฉันไปธนาคารเมื่อวาน และผู้หญิงคนนั้นก็ทำตาโตเมื่อเห็นใบรับรอง แล้วเธอก็บอกว่า "เป็นทางเลือกที่ดีนะ" นอร์รีบอกเมื่อวานนี้

เซนเตอร์ลิงค์ [หน่วยงานรัฐบาลที่ดูแลเรื่องสวัสดิการของชาวออสเตรเลีย] เกิดสับสน และต้องเรียกโปรแกรมเมอร์มาช่วย แต่ก็ยินดีจะช่วยเหลือ

นอร์รีจดทะเบียนเป็นเพศชายเมื่อแรกเกิด และเริ่มใช้ฮอร์โมนเมื่ออายุ 23 จากนั้นก็ผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง และก็เริ่มเลิกใช้ฮอร์โมน ใช้ชีวิตอย่างปฏิเสธการมีทั้งสองเพศจากนั้นมา

"รายละเอียดพวกนี้ไม่เห็นจะต้องอยู่ในอัตลักษณ์ของฉัน" ไม่ใช่ทั้งเขาและเธอกล่าว (นอร์รีอยากให้เรียกว่า"เขอ" หรือ "เธา" [Zie])

"ฉันคิดว่ายังมีคนอีกมากที่อยากได้ใบรับรองนี้ และก็ไม่ใช่เพียงผู้คนที่มีลักษณะทางกายภาพพิเศษ ผู้หญิงหลายคนคงอยากได้ เพราะการระบุเพศนำไปสู่การกีดกัน"

โฆษกของสำนักงานอัยการสูงสุดออกมากล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐออกใบรับรองดังกล่าว และแม้แต่เด็กที่คลอดออกมาแล้วมีสองเพศ ก็ต้องถูกระบุเพศให้ได้ไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด

เทรซี่ โอคิฟฟี จากกลุ่มเพศที่สามและการให้ความรู้เรื่องเพศสภาวะ เรียกว่ามันเป็นการทำลายการปฏิบัติแบบเดิมที่อันตรายลง สำหรับเด็กที่เกิดมาแล้วพ่อแม่และหมอสับสน จนสุดท้ายก็ต้องผ่าตัด

ชาวคาธอลิก โทนี ฟิลิปปินี จากสถาบันจอห์น ปอลที่สอง ออกมากล่าวว่าใบเกิดควรระบุว่าไม่มีเพศ

เขายังกล่าวต่อว่า มีแนวโน้มการต่อต้านการเลือกเพศใดเพศหนึ่งสำหรับเด็กที่เกิดมามีสองเพศ ซึ่งอาจหมายความว่าเด็กไร้เพศจะเกิดมากขึ้นในอนาคต


ซิดนีย์ มอร์นิง เฮอรัลด์ 12 มีนาคม 2010

Tuesday, February 2, 2010

ซาลินเจอร์ สงครามชีวิตและไฟไหม้น้ำ


ตั้งชื่อโพสต์ผสมปนเปกันอย่างนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์อย่างอื่น นอกเสียจากจะเล่าถึงประสบการณ์การอ่านเท่านั้นละครับ

ผมไม่มีเวลาจะได้นั่งละเลียดงานวรรณกรรมเท่าไหร่เลยในช่วงนี้ เอาเป็นว่าจะแค่เล่า้สู่กันฟังก็แล้วกัน


ผมเคยอ่านงานของเจ ดี ซาลินเจอร์เพียงงานเดียวเท่านั้นละครับ หนีไม่พ้น The Catcher in the Rye (1951) ซึ่งก็คงเหมือนใครๆที่อยากจะเริ่มอ่านงานของเขา

แต่ที่สำคัญกว่านั้น ในความทรงจำของผม นั่นคือหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกที่ผมอ่านจนจบตั้งแต่ตัวอักษรแรกยันตัวสุดท้าย

ผมจำได้ว่าซื้อหนังสือเล่มนี้จากศูนย์หนังสือจุฬาฯ สยามฯ (ชั้นลอยจะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ) ด้วยเงินเก็บของตัวเิอง ไม่แน่ใจว่าสำนักพิมพ์อะำไร ปกขาวล้วน

เหตุผลหนึ่งที่เลือกก็เพราะเล่มมันบางดี เปิดอ่านไปหน้าสองหน้าแล้วก็พอเข้าใจ

ผมใช้เวลาไม่นานนักนั่งอ่านจนจบ แล้วก็รู้สึกว่าหนังสืออ่านง่ายดี ไม่ได้ใช้ศัพท์แสงอะไรยากเย็นนัก

ไม่รู้มาก่อนเลยว่างานชิ้นนี้ำโด่งดังแค่ไหน และไม่รู้ว่ามันไปเป็นแรงบันดาลใจในการสังหารศิลปินใหญ่ (ขอเสริมตรงนี้นิดหนึ่ง : คือผมคิดว่าการโปรยคำขายหนังสือประเภทว่า "หนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจของฆาตกรที่ฆ่าจอห์น เลนนอน" หรืออะไรเทือกนี้ เป็นวิธีทางการขายที่งี่เง่า ไร้ความรับผิดชอบ การพยายามเพิ่มยอดขายโดยสร้างภาพหนังสือเล่มนี้ให้เป็นเช่นนั้น ยิ่งจะปิดโอกาสให้เกิดการตีความใหม่ๆ [อันที่จริงงานของทรูแมน คาโพทีเองก็ถูกอ่านโดยฆาตกรเช่นกัน] ถ้าอย่างนั้นเราโฆษณาหนังสือที่นายพลบางคนชอบอ่านแล้วโฆษณาว่า "หนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจของการสังหารหมู่" อะไรแบบนี้ดีไหม?)

เมื่อรู้ข่าวการตายของซาลินเจอร์ ผมจึงนึกถึงเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา ก็เท่านั้น...


เรื่องต่อมาผมเพิ่งอ่าน สงครามชีวิต งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของศรีบูรพาจบไป (พิมพ์ครั้งที่แปด กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กอไผ่, 2522 พิมพ์ครั้ืงแรกปีีัพ.ศ.2475) ซึ่งว่ากันว่างานชินนี้ได้ีรับอิทธิำพลมาจากงาน Poor Folk ของดอสโตเยฟสกี

ฉบับพิมพ์ครั้งที่แปดมีแุถมบทวิจารณ์ของรุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชนด้วย ก็ทำให้ได้รู้บริบทอยู่บ้างพอสมควร

ถ้าจะให้พูดอะไรบ้างก็อยากบอกแค่ว่า อยากรู้เหลือเกิน หากเรื่องดำเนินต่อไป ระพินทร์จะทำอย่างไร และเพลินจะกลับมาหาเขาหรือไม่

แต่จบเท่านั้นก็ได้ประเด็นครบถ้วนแล้วละครับ


เรื่องสุดท้ายเพิ่งอ่านจบไปเมื่อครู่นี้เอง รวมเีีิรื่องสั้น ไฟไหม้น้ำ ของราชามนัส จรรยงค์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, 2518 ราคาสิบบาทในสมัยนั้น)

ยิ่งอ่านงานแก ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าแกนำสมัย ส่วนเรื่องประสบการณ์ รายละเอียดก็เป็นจุดแข็งของแกอยู่แล้ว

เรื่องส่วนในชุดนี้เป็นชีวิตของคนต่างจังหวัดล้วนๆ ไำ้ด้อารมณ์มาก ภาษาเดี๋ยวนี้ก็ต้องบอกว่้า "บ้านๆ" มาก ผมว่าเ้ด่นกว่างานรวมเรื่องสั้นบางชุด (ไม่รวมชุด "จับตาย") ด้วยซ้ำไป

เพิ่งรู้ว่า "นั่งตูบ" หมายความว่าอะไรวันนี้เอง

Saturday, January 16, 2010

ส.ค.ส.ปีใหม่


"ปีใหม่ฝรั่ง" หรือ "ปีใหม่สากล" เวียนมาถึงอีกครั้ง เห็นตามธรรมเันียมจะมีการส่งความสุขกันด้วยข้อคิดดีๆ (?) โดยเฉพาะจากบุคคลสำคัญทั้งหลาย


โดยการให้ข้อคิดในช่วงปีใหม่ ได้กลายไปเป็นหน้าที่สำหรับกลุ่มคนที่มีทุนทางสังคมมหาศาลช่วยชี้แนะชาวไทยให้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตาม "ศีลธรรม" ชุดหนึ่งที่เป็นหลักควบคุมสังคมไทยเอาไว้


"บ้านเขตดุสิต" จึงขอตามกระิแสไปด้วยคนหนึ่้ง แม้จะตระหนักว่าไม่มีทุนทางสังคมใดๆเทียบเหล่าท่านผู้ซึ่งมากด้วยบารมี แต่จะขอเสือกส.ค.ส นี้ไปถึงคนธรรมดาๆ ที่เชื่อว่าเรามีความเท่าเทียมกันตามปรัชญาพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย (แม้จะมีคนไม่เชื่อก็ตาม)


พอดีัช่วงเวลานี้อ่านนิตยสารเป็นนิตย์ แต่ไม่ได้เป็นนิตยสารของปัจจุบัน เป็นสิ่งพิมพ์ที่อ่านแล้วสนุกมาก และหาอ่านได้ยากด้วย นั่นก็คือ จดหมายเหตุสยามไสมย ของหมอสมิธ นั่นเอง (สำนักพิมพ์ต้นฉบับนำมาพิมพ์เพื่อรักษาเอาไว้ หน้าปกหนังสวยงาม นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่ดีเยี่ยม โดยมีทั้งหมดสามเล่ม เล่มแรกเป็นต้นฉบับเล่ม ๑ และ ๒ รวมกัน ซึ่งเป็นจดหมายเหตุฯที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๕-๖ เล่มสองเป็นต้นฉบับเล่ม ๓ (พ.ศ.๒๔๒๗) และเล่มสุดท้ายเป็นต้นฉบับเล่ม ๔ (พ.ศ.๒๔๒๘) โดยแรกเริ่มพิมพ์เป็นรายเดือนในปีแรก ปีต่อมาเป็นรายปักษ์ และรายสัปดาห์ตามลำดับ)

พอดีในฉบับหนึ่งมีลงนิทาน "คำเปรียบด้วยตัวฬา" ลงในเล่มที่ ๑ แผ่นที่ ๑๑ หน้า ๑๑ (ตัวเลขเป็นมงคลอย่างนี้ ซื้อหวยได้เลย อ้อ! ต้องรีบๆนะครับ เขาจะให้เลิกมีหวยแล้ว)

ก็ขอลักมาเป็นส.ค.สเสียเลย (สะกดตามต้นฉบับ)
มีคนช่างทำแป้งเข้าสาลีคนหนึ่ง กับบุตรชายคนหนึ่ง ได้ไล่ฬ่าตัวหนึ่งไปขายที่ตลาด ครั้นเมื่อไปได้่หน่อยหนึ่ง จึ่งได้ภบพวกหญิงสาวหลายคน แล้วพวกหญิงนั้นครั้นเห็นชายเจ้าของฬาสองคนพ่อลูกนั้น เดิรตามฬาไป จึ่งหัวเราะเยาะแล้วพูดกันว่า เรายังไม่้เคยเหนคนโง่เขลาเหมือนเช่นนี้เลย ครั้นพอได้ยินดังนั้น จึ่งให้ลูกขึ้นขี่ฬาไป แต่ตัวพ่อนั้นเิดิรตามฬาไป ครั้นไปอีกหน่อยหนึ่งจึ่งภบคนแก่เถีัยงกันอยู่ ครั้นคนแก่นั้นได้เหนลูกชายนั่งไปบนหลังฬา แต่พ่อนั้นเดิรไปจึ่งพูดกันว่าท่านได้เหนคนโฉดนั้นนั่งไปบนหลังฬาฤๅไม่ การนี้เปนความดูหมิ่นคนแก่หนักหนา อ้ายเดกซุกซนเอ๋ย จงลงเสียจากหลังฬาเถิด ครั้นเด็กนั้นได้ยินแล้วจึ่งโจนลงเสียจากหลังฬา แล้วจึ่งให้บิดาขึ้นไปนั่งบนหลังฬา ครั้นไปได้ประมาณครู่หนึ่ง ตามหาดทราย จึ่งไปภบหญิงทำการอยู่้หลายคน เขาร้องว่าชายคนนี้ไม่มีใจเอนดูลูกบ้างเลย ให้ลูกลงเดิรไปตามหาดทรายที่ลุ่มฦกนัก ส่วนตัวนั้นขึ้นนั่งไปบนหลังฬาสบายแต่ตัวผู้เดียว ครั้นเมื่อคนช่างทำแป้งเข้าสาลีนั้นได้ยิน จึ่งเรียกให้ลูกขึ้นไปนั่งบนหลังลาด้วยกันทั้งสองคน มาตามทางโดยลำดับจวนใกล้ถึงตลาด จึ่งปะคนเลี้ยงแกะ เขาจึ่งถามว่านี่เปนฬาของท่านดอกฤๅ เขาตอบว่าเปนของเราเอง ฝ่ายคนข้างอื่นนั้นตอบว่า เีราคิดว่าฬานี้มิใช่เปนของท่าน เพราะการที่ท่านไำด้บันทุกตัวหนักนัก ที่ท่านกับลูกได้ขึ้นนั่งไปบนหลังฬานั้น ควรที่ท่านทั้งสองจะยกสัตวนั้นไป ฝ่ายคนทั้งสองครั้นได้ยินดั่งนั้นก็ลงเสียจากหลังฬา แล้วเอาเชือกมาผูกท้าวฬ่่าเข้า แล้วก็หามไปตามทาง ถึงที่แห่งหนึ่งก็มีคนแตกตื่นกันมาดู เพราะเปนการชอบกล ครั้นพ่ิอลูกหามลาไปถึงตพาน ลาก็ดิ้นเชือกลุดตกน้ำตาย ฝ่ายเจ้าของฬาก็ภากันกลับไปบ้านของตน จึ่งคิดเสียใจ ด้วยเสียดายฬาเปนกำลัง แล้วว่าทีหลังเราจะไม่คิดกระทำตามถ้อยคำท่านทุกๆคนอีกเลย...
ผมขอหยุดเอาไว้เท่านี้ ส่วนที่้เป็นข้อคิดนั้นคงจะต้องให้ท่านนำไปคิดต่อเอง เพราะสังคมที่แข็งแรงต้องเปิดให้มีความคิดอันแตกต่างหลากหลาย แล้วมาถกเุถียงกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่ชี้นำให้คิดอยู่แบบเดียว ใครคิดต่างถือว่าผิด เหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

คงไม่มีของขวัญปีใหม่อะไรดีไปกว่าการสิ้นสุดลงของความจิตใจคับแคบในสังคมไทย