Sunday, January 23, 2011

อีริค ฮอบสบอว์ม: บทสนทนาเรื่องมาร์กซ์


อีริค ฮอบสบอว์ม: บทสนทนาเรื่องมาร์กซ์ การประท้วงของนักศึกษา กลุ่ม New Left และพี่น้องมิลลิแบนด์

ทริสแทรม ฮันท์ สัมภาษณ์

ปรีดี หงษ์สต้น แปลและเรียบเรียง


ในโอกาสที่หนังสือเล่มล่าสุดของเขาเพิ่งตีพิมพ์ นักประวัติศาสตร์อายุ 93 ปีนามอีริค ฮอบสบอว์ม พูดถึงคอมมิวนิสม์ และเรื่องรัฐบาลผสมกับคนหนุ่มอังกฤษรุ่นใหม่ สส.พรรคเลเบอร์ ทริสแทรม ฮันท์

แฮมสเตด ฮีธ เขตใบไม้ปกคลุมทางเหนือของมหานครลอนดอน ภาคภูมิใจกับการเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมาร์กซิสม์ ในทุกวันอาทิตย์คาร์ล มาร์กซ์จะพาครอบครัวของเขาไปเดินเล่นที่พาร์เลียเมนต์ ฮิลล์ และจะท่องบทละครของเชคสเปียร์และชิลเลอร์ไปตลอดทาง เพื่อช่วงบ่ายของการปิคนิคและการอ่านบทกวี ในวันธรรมดาเขาจะไปพบกับสหายเฟดริก เองเกลส์ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ๆกัน เพื่อพากันไปรอบเขต ที่ซึ่ง โอลด์ ลอนดอนเนอร์ อย่างพวกเขาครุ่นคิดเกี่ยวกับปารีสคอมมูน, องค์กรสากลที่สองและธรรมชาติของทุนนิยม

วันนี้ บนถนนที่มุ่งตรงมาจากแฮมสเตด ฮีธ ความมุ่งมั่นของมาร์กซิสม์ยังมีลมหายใจอยู่ในบ้านของอีริค ฮอบสบอว์ม เขาเกิดในปี 1917 (ในอเล็กซานเดรีย อียิปต์ขณะยังอยู่ในเขตการปกครองของอังกฤษ) ซึ่งเป็นเวลามากกว่าสองทศวรรษหลังจากที่มาร์กซ์และเองเกลส์ตายไป แน่นอนว่าเขาก็ไม่รู้จักคนทั้งสองเป็นการส่วนตัว แต่การพูดคุยับอีริคในห้องรับแขกอันปลอดโปร่ง เต็มไปด้วยรูปถ่าย รางวัลจากงานวิชาการ และสิ่งของที่ได้มาในช่วงชีวิต มันดูเหมือนว่ามีการเชื่อมโยงที่ชัดเจนบางอย่างระหว่างคนทั้งสองกับความทรงจำของพวกเขา

ครั้งล่าสุดที่ผมสัมภาษณ์เขาคือในปี 2002 เกี่ยวกับหนังสืออัตชีวประวัติ Interesting Times ซึ่งเล่าเรียงวัยเด็กของเขาในเยอรมนียุคไวมาร์ ความรักดนตรีแจซซ์มาตลอดชีวิต และอิทธิพลของเขาในการเปลี่ยนแปลงการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของเกาะอังกฤษ หนังสือตีพิมพ์แล้วก็ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง เป็นเวลาเดียวกับที่สื่อโจมตีเขาจากกระแสหนังสือแอนตี้สตาลินของมาร์ติน อามี Koba the Dread ต่อการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของอีริค เขาบอกว่าเดลิ เมล์โจมตีเขาว่า “ศาสตราจารย์มาร์กซิสต์” ผู้นี้ไม่ได้หา “ความเห็นร่วมหรือให้ความเห็นใจ” แต่เป็นการพยายามทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ผ่านชีวิตคนที่ถูกกำหนดโดยการต่อสู้กับฟาสซิสม์ในศตวรรษที่ 20

เวลานี้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปแล้ว วิกฤตทุนนิยมทั่วโลกซึ่งได้สร้างความโกลาหลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโลกตั้งแต่ปี 2007 ได้เปลี่ยนกรอบของการถกเถียงไป

ทันใดนั้น ข้อวิพากษ์ของมารกซ์ต่อความไม่มั่นคงของทุนนิยมได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง “เขา [มาร์กซ์] กลับมาแล้ว!” หนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ กู่ตะโกนในฤดูใบไม้ร่วงปี 2008 เมื่อตลาดหุ้นร่วง ธนาคารถูกทำให้เป็นของชาติ และมีรูปประธานาธิบดีซาร์โคซีของฝรั่งเศสกำลังพลิกหน้าหนังสือ Das Kapital (ยอดขายพุ่งพรวดถึงขนาดติดอันดับขายดีในเยอรมนี) กระทั่งสมเด็จพระสันตปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ยังต้องตามกระแสด้วยการยกย่อง “ทักษะการวิเคราะห์” ของเขา มาร์กซ์ ยักษ์ใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 – ได้ตื่นขึ้นอีกครั้งในมหาวิทยาลัย ในการประชุมสาขาของบริษัท และในออฟฟิศของเหล่าบรรณาธิการ

ฉะนั้นคงไม่มีจังหวะไหนที่จะเหมาะกว่านี้อีกแล้ว เมื่ออีริคนำบทความเกี่ยวกับมาร์กซ์ของเขามารวมเล่ม และเพิ่มบทความใหม่เกี่ยวกับมาร์กซิสม์และวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา สำหรับฮอบสบอว์มแล้ว การเขียนเกี่ยวกับมาร์กซ์และความยิ่งใหญ่ในหลายๆด้านของมาร์กซ์ยังทำให้เขาตื่นเต้นอยู่เสมอ

แต่อีริคเองก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เขาได้รับผลกระทบรุนแรงจากการหกล้มเมื่อช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมา และก็ไม่สามารถหลีกหนีอาการทางกายของคนวัย 93 ได้ แต่อารมณ์ขันและการต้อนรับขับสู้ของเขาและมาร์ลีน ภรรยาของเขา รวมทั้งความฉลาดหลักแหลม มุมมองทางการเมืองที่ลุ่มลึก ยังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย ด้วยหนังสือพิมพ์เดอะ ไฟแนนเชียล ไทมส์ที่ถูกพลิกจนยับวางอยู่บนโต๊ะกาแฟ อีริคเปลี่ยนบทสนทนาจากหัวข้อหนึ่งไปอีกหัวข้อหนึ่งอย่างไม่มีขีดจำกัด ตั้งแต่เรื่องประธานาธิดีลูลาของบราซิลที่กำลังจะออกจากตำแหน่งจากการสำรวจโพล [เขาเพิ่งออกจากตำแหน่งไปเมื่อต้นเดือนมกราคม 2011 ที่ผ่านมา] ไปจนถึงความยากทางอุดมการณ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์ในเบงกอลตะวันตกต้องเผชิญ รวมทั้งสภาพยุ่งเหยิงของอินโดนีเซียภายหลังเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 1857 การเน้นปรากฏการณ์ในระดับโลกและการไม่มองอะไรเพียงแคบๆ ซึ่งเป็นจุดแข็งของงานของเขาโดยเสมอมา ยังคงกำหนดวิธีการมองการเมืองและประวัติศาสตร์ของเขา

และหลังจากหนึ่งชั่วโมงของการสนทนาเกี่ยวกับมาร์กซ์ วัตถุนิยม และการต่อสู้อย่างต่อเนื่องเพื่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ท่ามกลางตลาดเสรีที่ถาโถม คุณจะออกจากบ้านของฮอบสบอว์มในแฮมสเตด ฮีธ ใกล้กับทางที่คาร์ลและเฟดริกเคยเดิน ด้วยความรู้สึกที่เหมือนกับเพิ่งผ่านการสั่งสอนจากผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้ซึ่งมุ่งมั่นรักษาความเป็นนักวิพากษ์ต่อไปในศตวรรษที่ 21

ฮันท์ : หัวใจของหนังสือเล่มนี้มีการแก้ตัวไหม? ถึงแม้ทางออกที่มาร์กซ์เสนออาจจะไม่เกี่ยวอีกแล้ว แต่เขาก็ตั้งคำถามที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรมชาติของทุนนิยม และทุนนิยมในแบบที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ก็คือสิ่งที่มาร์กซ์คิดในช่วงปี 1840s?

ฮอบสบอว์ม : ใช่ มีแน่ๆ การค้นพบมาร์กซ์ใหม่ในยุควิกฤตทุนนิยมนี้เกิดขึ้นก็เพราะเขามองเห็นโลกสมัยใหม่ได้ไกลกว่าใครๆในปี 1848 ผมคิดว่านั่นดึงดูดคนให้อ่านงานของเขา ที่ดูขัดแย้งคือ พวกนักธุรกิจและนักวิเคราะห์ธุรกิจหันมาอ่านมากกว่าพวกฝ่ายซ้ายซะอีก ผมยังจำได้ตอนที่ครบรอบ 150 ปีการพิมพ์ครั้งแรกของ The Communist Manifesto ซึ่งตอนนั้นฝ่ายซ้ายยังไม่ได้มีแบบแผนอะไรมากนักในการเฉลิมฉลองโอกาสเหล่านี้ ผมค้นพบด้วยความประหลาดใจว่า บรรณาธิการของนิตยสารบนเครื่องบินของยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ กล่าวว่าเขาต้องการจะมีอะไรสักอย่างเกี่ยวกับ Manifesto แล้วหลังจากนั้นไม่นาน ผมกำลังกินข้าวกับจอร์จ โซรอสที่ถามผมว่า “คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับมาร์กซ์?” แม้ว่าเราจะเห็นไม่เหมือนกัน เขาพูดกับผมว่า “ชายคนนี้ [มาร์กซ์] มีของอย่างแน่นอน”

ฮันท์ : คุณคิดไหมว่าสิ่งที่ทำให้คนอย่างโซรอสชอบเกี่ยวกับมาร์กซ์ ส่วนหนึ่งก็คือการที่มาร์กซ์อธิบายพลัง ภาพพจน์ และศักยภาพของทุนนิยมได้อย่างยอดเยี่ยม และนั่นคือจุดที่ดึงดูดเหล่าซีอีโอบนสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลนส์?

ฮอบสบอว์ม : ผมคิดว่ามันคือเรื่องโลกาภิวัฒน์ จริงๆแล้วมาร์กซ์ได้ทำนายเรื่องโลกาภิวัฒน์อย่างที่บางคนวันนี้เรียกว่าโลกาภิวัฒน์สากล คือกระบวนการโลกาภิวัฒน์ของรสนิยมและสิ่งอื่นๆที่เหลือทั้งหมด นั่นทำให้คนเหล่านั้นประทับใจ แต่ผมคิดว่าในบางรายที่ฉลาดหน่อยสามารถมองเห็นทฤษฎีที่ชี้ว่าวิกฤตเศรษฐิจนั้นจะก่อตัวขึ้นได้ เพราะกรอบทฤษฎีที่เป็นหลักในช่วงนั้น (ปลายทศวรรษ 1990s) ได้ข้ามความเป็นไปได้ของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจไป

ฮันท์ : และนี่คือ “จุดจบของการรุ่งและร่วง” ของเศรษฐกิจ และการข้ามไปให้พ้นวงจรธุรกิจใช่ไหมครับ?

ฮอบสบอว์ม : ใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970s เป็นต้นมา โดยเริ่มในบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆก่อน ที่ชิคาโกและที่อื่นๆ และตั้งแต่ปี 1980 ผมคิดว่าด้วยการร่วมมือของ [มาร์กาแรต] แทชเชอร์และ [โรนัลด์] เรแกนได้นำไปสู่แนวทางอันพิกลพิการของหลักการตลาดเสรีของทุนนิยม: คือการอาศัยพลังของเศรษฐกิจและตลาดล้วนๆ การปฏิเสธรัฐและการกระทำโดยสาธารณะ ซึ่งผมไม่คิดว่าเศรษฐกิจใดๆในศตวรรษที่ 19 ทำอย่างนี้ แม้แต่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเองก็ตาม และนั่นก็ขัดแย้งกับหนทางที่ทุนนิยมได้ทำงานในช่วงที่มันประสบความสำเร็จที่สุด คือระหว่างปี 1945 และช่วงต้น 1970s

ฮันท์ : คำว่า “ประสบความสำเร็จ” คุณหมายถึงในแง่ที่ว่ามันได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในช่วงหลังสงครามนั้นหรือ?

ฮอบสบอว์ม : ประสบความสำเร็จในแง่ที่ว่าสามารถทำกำไร สร้างเสียรภาพทางการเมืองและสังคมที่ทำให้คนพอใจ มันไม่ได้เป็นอุดมคติหรอก แต่เราอาจจะเรียกได้ว่า ทุนนิยมที่มีความเป็นมนุษย์อยู่บ้าง

ฮันท์ : และคุณคิดว่าความสนใจมาร์กซ์ที่เกิดขึ้นใหม่นั้น ส่วนหนึ่งมาจากจุดจบของรัฐมาร์กซิสต์/เลนินนิสต์เองไหม? อิทธิพลของเลนินนิสต์ได้จางหายไป และเราก็สามารถกลับไปสู่จุดดั้งเดิมของงานเขียนมาร์กซิสต์ได้?

ฮอบสบอว์ม : ด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เหล่าทุนนิยมก็เลิกเกรงกลัวอีกต่อไป นั่นทำให้ทั้งพวกเราและพวกเขาสามารถเห็นปัญหาในมุมมองที่สมดุลย์มากขึ้น ถูกบิดเบือนด้วยอารมณ์ความรู้สึกน้อยว่าที่เคย แต่มากกว่านั้นมันเป็นความไร้เสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์แบบเสรีนิยมใหม่นี้ ที่ผมคิดว่าเริ่มปรากฏออกมาให้เห็นตั้งแต่ก่อนสิ้นศตวรรษที่แล้ว ในแง่หนึ่ง เศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์เดินอย่างเต็มกำลังโดยสิ่งที่บางคนอาจจะเรียกว่า “โลกเหนือ-โลกตะวันตก” (ยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ [The global North-West]) โดยพวกเขาผลักดัน market fundamentalism อย่างสุดโต่ง โดยเริ่มแรกดูเหมือนจะไปได้ดี อย่างน้อยก็ในกลุ่มโลกเหนือ-โลกตะวันตกเก่า แม้ว่าตั้งแต่ต้นคุณจะเห็นว่า มันไปก่อให้เกิด “แผ่นดินไหว” ขนาดใหญ่ที่ชายขอบของเศรษฐกิจโลกก็ตาม ในละตินอเมริกามีวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980s ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990s เกิดความโกลาหลทางเศรษฐกิจในรัสเซีย และในช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมานี้มันมีสิ่งที่เกือบจะเป็น “ภาวะล่มสลายในระดับโลก” กระทบไปตั้งแต่รัสเซีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซียและอาร์เจนตินา และผมรู้สึกว่านั่นก็เริ่มทำให้คนคิดว่า มันมีเสียรภาพขั้นพื้นฐานอยู่ในระบบที่พวกเขามองข้ามไปในตอนแรก

ฮันท์ : มีข้อเสนอที่ว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เราประสบตั้งแต่ปี 2008 มาในอเมริกา ยุโรปและอังกฤษนั้น ไม่ใช่วิกฤตของทุนนิยมโดยตัวของมันเอง แต่เป็นวิกฤตของทุนนิยมในตะวันตกสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันบราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน (กลุ่ม “Bric”) ก็มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในโมเดลทุนนิยมไปด้วยอย่างรวดเร็ว หรือนี่เป็นเพียงแค่ตาเรารับกรรมกับวิกฤตที่พวกเขาได้รับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว?

ฮอบสบอว์ม : การเติบโตของกลุ่มประเทศ Bric นั้น เพิ่งแสดงออกจริงๆในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง ในแง่นั้นคุณสามารถกล่าวได้ว่ามันคือวิกฤตทุนนิยม แต่ในขณะเดียวกัน ผมว่ามันเสี่ยงที่จะเหมารวม อย่างที่พวกเสรีนิมใหม่ และพวกที่เชื่อในตลาดเสรีเชื่อ ว่ามันมีทุนนิยมเพียงชนิดเดียว ทุนนิยมคือกลุ่มที่มีความเป็นไปได้หลากหลาย จากทุนนิยมที่รัฐกำหนดอย่างฝรั่งเศสไปจนถึงตลาดเสรีของสหรัฐฯ ดังนั้นมันผิดหากจะเหมารวมว่าการโตของประเทศกลุ่ม Bric เป็นแบบเดียวกับทุนนิยมในตะวันตก มันไม่ใช่หรอก มีเพียงครั้งเดียวที่พวกเขาพยายามจะนำเข้าหลักการตลาดเสรี คือรัสเซีย และนั่นก่อให้เกิดความล้มเหลวอย่างรุนแรง

ฮันท์ : คุณเปิดประเด็นเกี่ยวกับผลทางการเมืองของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ผ่านมา ในหนังสือของคุณ คุณยืนยันว่าเราต้องกลับไปอ่านงานคลาสสิกของมาร์กซ์ในฐานะที่มันจะเสนอทางออกที่เกี่ยวข้องสำหรับปัจจุบัน แต่คุณคิดว่า มาร์กซิสต์ในฐานะการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ที่ไหน ณ เวลานี้?

ฮอบสบอว์ม : ผมไม่เชื่อว่ามาร์กซ์เคยมีโครงการทางการเมืองนะ พูดอย่างเป็นการเมืองก็คือ โครงการจริงๆของเหล่ามาร์กซิสต์คือชนชั้นแรงงานควรก่อตั้งตนเองขึ้นเป็นองค์กรที่มีจิตสำนึกทางการเมือง และดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ นอกเหนือจากนั้นมาร์กซ์ก็จงใจทิ้งเอาไว้ให้มีลักษณะคลุมเครือ นั่นก็เพราะเขาไม่ชอบอะไรที่มันเป็นอุดมคติ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้กลุ่มต่างๆต้อง “ด้น” กันไปเอง ด้นกันไปเท่าที่พอจะทำได้โดยไม่มีข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่มาร์กซ์เขียนยังเป็นเพียงความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับสมบัติสาธารณะ ไม่มีทางเพียงพอที่จะแนะแนวทางโดยละเอียดแก่พรรคการเมืองต่างๆและเหล่ารัฐมนตรี ความเห็นผมคือ โมเดลหลักที่สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 20 คิดเอาไว้ก็คือ เศรษฐกิจที่รัฐกำหนดในช่วงเวลาสงคราม (state-directed war economies) ของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นสังคมนิยมโดยตรง แต่ก็ได้ให้แนวทางบางอย่างถึงวิธีที่สังคมนิยมจะประสบความสำเร็จได้

ฮันท์ : คุณไม่เซอร์ไพรซ์เมื่อเห็นความล้มเหลวของทั้งมาร์กซิสม์และสังคมนิยมประชาธิปไตย (social democratic) ถูกทิ้งให้รับกับวิกฤตทางการเมืองช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วยตนเองหรือ? 20 ปีที่แล้ว มีการล่มสลายของพรรคการเมืองที่คุณชื่นชมที่สุด คือพรรคคอมมิวนิสต์ในอิตาลี คุณเครียดไหมที่เห็นสถานะของฝ่ายซ้ายในปัจจุบันทั้งในยุโรปและที่อื่นๆ?

ฮอบสบอว์ม : ใช่ แน่นอนละ จริงๆแล้วสิ่งหนึ่งที่ผมพยายามจะแสดงในหนังสือก็คือ วิกฤตของมาร์กซิสม์ไม่ได้เป็นเพียงวิกฤตของสายปฏิวัติของมาร์กซิสม์เท่านั้น แต่เป็นวิกฤตในสายสังคมนิยมประชาธิปไตยด้วย สถานการณ์ใหม่ในระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ได้สังหารไม่เพียงแต่มาร์กซิสม์/เลนินนิสม์ แต่รวมไปถึงการปฏิรูปสังคมนิยมประชาธิปไตยด้วย ซึ่งโดยสารัตถะแล้ว ก็คือชนชั้นแรงงานได้กดดันรัฐชาติของตนเอง แต่ด้วยโลกาภิวัฒน์ ความสามารถของรัฐในการตอบสนองต่อแรงกดดันเหล่านี้ได้หมดไป และดังนั้นฝ่ายซ้ายจึงถอยไปกล่าวว่า “เอาละ พวกทุนนิยมก็ทำได้ดีนะ สิ่งที่เราต้องทำคือให้พวกเขาทำกำไรให้ได้มากที่สุดแล้วเราก็จะได้ส่วนแบ่ง”

สิ่งนั้นเป็นไปได้เมื่อ “ส่วนแบ่ง” ได้ช่วยในการสร้างรัฐสวัสดิการ แต่จากทศวรรษ 1970s เป็นต้นมามันเปลี่ยนไป และสิ่งที่ทำกันตอนนั้นก็คือสิ่งที่ [โทนี่] แบลร์และ [กอร์ดอน] บราวน์ทำ : ให้พวกเขาทำเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหวังว่ามันจะพอเหลือให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้

ฮันท์ : เพราะฉะนั้นมันถึงมีการต่อรอง ขายวิญญาณ กันว่า ช่วงที่เศรษฐกิจดี กำไรต่อเนื่องและการลงทุนมั่นคงสำหรับการศึกษาและการสาธารณสุข เราก็จะไม่ถามคำถามมากเกินไปใช่ไหม?

ฮอบสบอว์ม : ใช่ ตราบเท่าที่คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ฮันท์ : แล้วพอมาตอนนี้ เมื่อทำกำไรไม่ได้อย่างเคยแล้ว เรากำลังหาคำตอบกันอย่างยากลำบาก?

ฮอบสบอว์ม : ในขณะที่ตอนนี้สถานการณ์กำลังเป็นไปในอีกทางหนึ่งในประเทศตะวันตก การเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างจะนิ่ง หรือกำลังถดถอยด้วยซ้ำ คำถามเรื่องการปฏิรูปกลายมาเป็นเรื่องเร่งด่วนอีกครั้งหนึ่ง

ฮันท์ : คุณคิดว่า สำหรับฝ่ายซ้ายแล้ว การสิ้นสุดลงของจิตสำนึกทางชนชั้นของแรงงาน ซึ่งโดยดั้งเดิมแล้วเป็นแก่นแกนของการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ด้วยหรือเปล่า?

อีริค ฮอบสบอว์ม : ถ้ามองจากประวัติศาสตร์มันก็ใช่ รัฐบาลและการปฏิรูปสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นมีจุดร่วมอยู่ที่พรรคการเมืองของชนชั้นแรงงาน แต่พรรคการเมืองเหล่านี้ไม่เคยเป็น หรือถ้าเคยก็น้อยมาก แรงงานจริงๆ พวกเขาเป็นแนวร่วมพันธมิตร: เป็นพันธมิตรกับเหล่าปัญญาชนอิสระหรือปัญญาชนปีกซ้าย นักการศาสนาและวัฒนธรรมของคนส่วนน้อย และอีกหลายประเทศที่มีชนชั้นแรงงานยากจนที่มีลักษณะแตกต่างหลากหลาย ถ้าไม่นับรวมสหรัฐฯ ชนชั้นแรงงานเป็นกลุ่มแนวร่วมขนาดใหญ่มาเป็นเวลายาวนาน อย่างน้อยที่สุดก็ถึงทศวรรษที่ 1970s ทีเดียว ผมคิดว่าอัตราการลดการเป็นอุตสาหกรรม (deindustrialization) ที่รวดเร็วของสหรัฐฯ ไม่เพียงลดขนาดของชนชั้นแรงงานลงเท่านั้น แต่มันไปทำให้จิตสำนึกของชนชั้นหายไปด้วย และขณะนี้เองไม่มีประเทศใดที่มีพลังแรงงานอุตสาหกรรมล้วนๆที่จะแข็งแรงพอ

แต่สิ่งที่ยังเป็นไปได้ คือชนชั้นแรงงานก่อตั้งโครงสร้างการเคลื่อนไหวที่กว้างขวางเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ในฝ่ายซ้ายนั้นมีตัวอย่างที่ชัดเจนคือบราซิล ซึ่งมีกรณีคลาสสิกในปลายศตวรรษที่ 19 โดยการเป็นพันธมิตรกันระหว่างสหภาพแรงงาน คนงาน คนยากจน ปัญญาชน นักอุดมคติและฝ่ายซ้ายอื่นอีกหลายๆประเภท ซึ่งได้สร้างลักษณะการร่วมปกครองได้อย่างน่าสนใจ และคุณก็ปฏิเสธความสำเร็จของมันไม่ได้เมื่อหลังจาก 8 ปี ประธานาธิบดีที่กำลังจะหมดวาระมีอัตราการยอมรับจากประชาชนถึง 80% หากพูดถึงในเชิงอุดมการณ์แล้วล่ะก็ วันนี้ผมรู้สึก อบอุ่น ที่สุดกับละตินอเมริกา เพราะมันยังคงเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ยังสนทนาและกระทำการทางการเมืองในภาษาเดิมของสังคมนิยม คอมมิวนิสต์และมาร์กซิสม์ในศตวรรษที่ 19 และ 20

ฮันท์ : ในแง่ของพรรคมาร์กซิสต์ สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนในงานของคุณคือบทบาทของปัญญาชน วันนี้เราเห็นความกระตือรือร้นอย่างมหาศาลในมหาวิทยาลัยอย่างเช่นเบิร์กเบคที่คุณเคยสังกัด ความกระตือรือร้นเห็นได้จากการชุมนุมและการเดินขบวน และหากเราดูที่งานของนาโอมิ ไคลน์และเดวิด ฮาร์วีย์ หรือผลงานของสโลวอจ ซิเซ็ค เราจะเห็นความคึกคักอย่างชัดเจน คุณรู้สึกอย่างไรกับปัญญาชนมาร์กซิสต์วันนี้?

ฮอบสบอว์ม : ผมไม่แน่ใจว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงอะไรขนาดนั้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ต้องสงสัย คือจากการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล[อังกฤษ]ปัจจุบัน ได้ผลักให้นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น นั่นคือด้านบวกนะ แต่ในด้านลบ...หากคุณดูการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ของนักศึกษาในปี 1968 เราจะเห็นว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้วในวันนี้ อย่างไรก็ดีอย่างที่ผมคิดในตอนนั้นจนกระทั่งถึงตอนนี้ มันดีกว่าที่จะมีคนหนุ่มสาวรู้สึกว่าพวกเขาอยู่ฝ่ายซ้ายมากกว่าที่จะมีคนหนุ่มสาวที่คิดถึงแต่ว่าสิ่งที่ต้องทำคือการไปหางานในตลาดหลักทรัพย์

ฮันท์ : แล้วคุณคิดว่าคนอย่างฮาร์วีย์และซิเซ็คมีบทบาทในการช่วยเหลือไหม?

ฮอบสบอว์ม : ผมคิดว่าซิเซ็คถูกเรียกอย่างถูกต้องแล้วว่าเป็นผู้จุดประเด็น เขามีพลังของการจุดข้อถกเถียง ซึ่งนั่นเป็นความสามารถที่ทำให้คนหันมาสนใจได้ แต่ผมไม่ใคร่แน่ใจนักว่า เหล่าคนที่อ่านซิเซ็คจะถูกดึงเข้ามาสู่การคิดใหม่ของปัญหาเกี่ยวกับฝ่ายซ้ายหรือไม่

ฮันท์ : ผมขอเปลี่ยนจากตะวันตกไปตะวันออกบ้างนะครับ คำถามหนึ่งที่เร่งด่วนที่คุณถามในหนังสือคือ พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนสามารถพัฒนาและตอบสนองต่อที่ใหม่ของมันในเวทีโลกได้หรือไม่

ฮอบสบอว์ม : นั่นเป็นปริศนาข้อใหญ่ทีเดียว คอมมิวนิสต์ได้หมดไปแล้ว แต่องค์ประกอบอันสำคัญของคอมมิวนิสต์ยังอยู่ อยู่แน่นอนในเอเชีย ซึ่งเรียกว่า สังคมที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ของรัฐ (The state communist party directing society) สิ่งนี้มันธำรงอยู่ได้อย่างไร? ในจีนนั้น ผมคิดว่ามันมีความคิดว่าระบบกำลังไม่มั่นคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่คงจะเป็นแนวโน้มที่จะต้องให้พื้นที่สำหรับปัญญาชนชั้นกลางและผู้มีการศึกษาซึ่งกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งในท้ายที่สุดจะมีจำนวนเป็นสิบเป็นร้อยล้านคน และมันก็จริงที่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังต้องการผู้นำที่เป็นเทคโนแครตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่คุณจะทำให้มันมาร่วมกันอย่างไรนั้น ผมไม่แน่ใจนัก สิ่งหนึ่งที่เป็นไปได้ท่ามกลางการกลายเป็นอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วนี้ คือการเติบโตของการเคลื่อนไหวของแรงงาน และคำถามอยู่ที่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะให้พื้นที่องค์กรแรงงานขนาดไหน หรือพวกเขาจะไม่ยอมรับมันเลย อย่างที่พวกเขามีท่าทีไม่ชัดเจนเกี่ยวกับกรณีที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ผมไม่แน่ใจ

ฮันท์ :ชื่อหนังสือของคุณคือ How to Change the World คุณเขียนในย่อหน้าสุดท้ายว่า การเข้าแทนที่ของทุนนิยมยังพอฟังได้สำหรับผม นี่คือความหวังที่มีอยู่และเป็นสิ่งที่ทำให้คุณยังทำงานเขียนและคิดใช่ไหม?

ฮอบสบอว์ม : มันไม่มีอะไรที่เรียกว่าความหวังที่ยังมีอยู่ในวันนี้หรอก หนังสือเล่มนี้เป็นการอธิบายสิ่งที่มาร์กซิสต์ได้ทำอย่างถึงรากถึงโคนในศตวรรษที่ 20 ส่วนหนึ่งจากพรรคประชาธิปไตยต่างๆซึ่งไม่ได้มาจากมาร์กซ์และพรรคอื่นๆ พรรคเลเบอร์ พรรคคนงานและอื่นๆซึ่งยังเป็นรัฐบาล และจะเป็นรัฐบาลได้ในทุกที่ และอีกอย่างหนึ่งจากการปฏิวัติรัสเซียและผลของมันทั้งหมด

งานของคาร์ล มาร์กซ์ ศาสดาผู้ไม่มีอาวุธ ได้ให้แรงบันดาลใจต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ นั่นปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว ผมค่อนข้างจงใจที่จะไม่พูดว่ามันมีแนวทางแบบเดียวกันในวันนี้ สิ่งที่ผมกำลังพูดคือปัญหาพื้นฐานของศตวรรษที่ 21 ต้องการหาทางออกที่ไม่ใช่ตลาดล้วนๆ หรือประชาธิปไตยเสรีนิยมอย่างเดียวจะสามารถแก้ได้ และในแง่นั้น การผสมผสานที่แตกต่างของทั้งในสาธารณะและส่วนตัวของการกระทำ การควบและเสรีถาพโดยรัฐจะแก้ได้

คุณจะเรียกมันว่าอะไร ผมไม่รู้ แต่มันคงไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า ทุนนิยม อีกต่อไป ไม่ใช่ในแบบที่เข้าใจกันในประเทศนี้ [อังกฤษ] และสหรัฐอเมริกาแน่

Eric Hobsbawm, How to Change the World: Tales of Marx and Marxism (Little, Brown, 2011)

ดิ ออบเซิร์ฟเวอร์ 16 มกราคม 2011

Sunday, January 16, 2011

แม่มด/พ่อมดของศตวรรษที่ 21


เนื่องด้วยผมไม่ได้มีหนังสือ Discipline and Punish: The Birth of the Prison (1977) ของมิเชล ฟูโกต์ อยู่กับมือจึงขออภัยหากไม่ได้อ้างอย่างตรงเผง แต่จะขอว่าไปตามความทรงจำก็แล้วกัน

หลังจากเปิดหนังสือเล่มนั้นอ่านไปแล้ว ผมว่าเกือบทุกคนที่อ่านหนังสือเล่มนั้นคงเป็นเหมือนกันกับผม คือวางไม่ลง ไม่รู้จะหยุดอ่านอย่างไร - โดยเฉพาะความตะลึงงันจากการโหมโรงด้วยฉากการประหารโดยการฉีกร่างนักโทษออกเป็นชิ้นๆ และอะไรหลายๆอยางที่ตามมา

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจับใจความได้ นั่นก็คือเมื่อสังคมยุโรปเปลี่ยนเข้าสู่ศตวรรษที่ 18 มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงการลงโทษไป จากการลงโทษที่กระทำลงไปที่ร่างกายนั้น ได้เปลี่ยนแปลง - หรือเพิ่ม - โดยการลงโทษด้วยการจองจำ

การลงโทษด้วยการจองจำนั้นแตกต่างออกไปอย่างไร แกได้ยกมาหลายข้อ โดยสำคัญคือมีการเฝ้าดู ('Surveiller' ในภาษาฝรั่งเศสแปลเป็น 'Discipline' ในฉบับภาษาอังกฤษ) ซึ่งเป็นสภาวะที่ "อำนาจ" ได้ย่างกรายเข้าไปถึงในระดับชีวิตประจำวันของคน

แกเสนอว่าสภาวะเช่นนี้หาได้เป็นการก้าวหน้าของมนุษยชาติไปสู่ความมีเสรีภาพมากขึ้นในสังคมสมัยใหม่ไม่ หากแต่การลงโทษด้วยการจองจำนั้น ได้ย้ายการลงโทษของมนุษย์ต่อมนุษย์จาก "ร่างกาย"(Body) ไปสู่ "วิญญาณ" (Soul) ของผู้ที่ถูกลงโทษเลยทีเดียว

"สรรพทัศน์" (แปลจาก 'Panopticon' - ด้วยคำแปลของอ.นพพร ประชากุล) เป็นสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ในอันจะสอดส่อง ตรวจตราพฤติกรรมของผู้ต้องโทษให้อยู่ใต้ "บงการ" ของอำนาจ

และเมื่อนั้นวิญญาณของผู้ถูกลงทัณฑ์ก็จะถูกกัดกินทีละน้อยๆ...


ผมได้ยินเรื่องเกี่ยวกับปฏิบัติการ "ล่าเนื้อมนุษย์" หรือ "ล่าแม่มด" (witch hunting) ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเฟสบุ๊คมาสักพักแล้ว อย่างน้อยก็ปีกว่าๆ โดยเฉพาะในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเสื้อแดง เมื่อมีนาฯ - พฤษภา '53 นั้น ในเฟสบุ๊คนี่มีการแล่เนื้อเถือหนังกันอย่างโจ๋งครึ่มทีเดียว มีการขุดคุ้ยประวัติส่วนตัวขึ้นมา มีการด่าทอ วิพากษ์วิจารณ์ และตั้งกลุ่มขึ้นมาหาสมาชิกเกลียดคนอื่นร่วมกัน ฯลฯ

ผมคิดว่าก่อนและหลังปรากฏการณ์ล่าแม่มด/พ่อมดเสื้อแดงในเครือข่ายออนไลน์ชาวไทยนั้น ก็มีการ "ล่า" กันโดยตลอดอยู่แล้ว แต่ระดับความเข้มข้นคงจะตางกันออกไป (ขึ้นอยู่กับตัวเลขของผู้เข้าร่วม) - และผลกระทบต่อผู้ที่ "ถูกล่า" ก็คงจะแตกต่างกันออกไปด้วย ที่น่าสนใจและผมอยากรู้คือ ความเข้มข้นของปฏิบัติการ "ล่า" มีความสัมพันธ์กับความขัดแย้งทางการเมือง/เศรษฐกิจ/สังคม ของแต่ละประเทศอย่างไร พูดง่ายๆก็คือ ในประเทศอื่นๆที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูงเช่นประเทศไทย มีปฏิบัติการล่าเนื้อมนุษย์เข้มข้นเหมือนกันหรือไม่?

หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์เพิ่งเอา
ข้อวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์มา โดยมีการยกตัวอย่างถึงกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาอายุ 17 ปีและกรณีที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่นจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งมาสู่ข้อสรุปที่ว่าในขณะที่ยุคเครือข่ายทางสังคมออนไลน์กำลังเติบโตสุดขีด มันก็ได้สร้างผลเสียโดยผู้คนได้แสดงพฤติกรรมโดยขาดความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น เพราะพวกเขารู้สึกว่าไม่ต้องรับผิดชอบต่อการด่าทอและใส่ร้ายผู้อื่นแต่อย่างใด - คือตีหัวแล้วเข้าบ้านได้อย่างสบายใจเฉิบนั่นละครับ

ปฏิกิริยาที่ผมได้รับจากสมาชิกของเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็คือ ในสมาชิกหลายร้อยล้านคนก็ย่อมจะต้องมีผู้ใช้ที่ดีบ้างไม่ดีบ้างเป็นเรื่องธรรมดา - เครือข่ายสังคมออนไลน์สร้างเรื่องดีๆได้อีกมากมาย มากกว่าเรื่องที่ไม่ดีแยะ ฯลฯ

ไม่มีใครเถียงเรื่องนั้นครับ และทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็ไม่ได้ถามว่าเราควรใช้เครือข่ายออนไลน์หรือไม่ - ประเด็นที่สำคัญกว่าคือเวลานี้เครือข่ายออนไลน์ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของคนในสังคม (อย่างน้อยก็คนที่มีการศึกษา ชนชั้นกลาง) ไปแล้ว และสิ่งที่มันเปลี่ยนได้อย่างสำคัญคือ เรื่องของการ "ลงทัณฑ์" นี่ละ


จากการที่ฟูโกต์พูดถึงการเปลี่ยนแปลงในการลงโทษของมนุษย์เมื่อโลกเข้าสู่สมัยใหม่ในศตวรรษที่ 18 นั้น บัดนี้ในศตวรรษที่ 21 การ "เฝ้าดูและการลงโทษ" นั้นเปลี่ยนแปลงไปอีกแล้ว

พึงเข้าใจไว้ด้วยนะครับ เมื่อคุณตัดสินใจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ขนาดอภิมโหฬารแล้วล่ะก็ คุณได้ "ให้อนุญาต" ตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกแห่งการลงทัณฑ์แบบใหม่ที่ผมกล่าวมาด้วย

กล่าวคือ ในขณะที่ "การจองจำ" ตามที่ฟูโกต์เสนอนั้นเป็นเรื่องของสถาบันทางสังคมที่จัดการบงการ หรือสร้างความเป็น "ระเบียบเรียบร้อย" โดยในขณะเดียวกันก็ทำการลงโทษผู้ที่ไม่ "เข้าที่เข้าทาง" - เครือข่ายออนไลน์ขนาดใหญ่ได้ขยายสถานที่จองจำออกมาจากความหมายดั้งเดิม ให้การจองจำมาอยู่ในระดับชีวิตประจำวันโดยแท้จริง โดยไม่จำเป็นต้องติดอยู่กับทัณฑสถาน เสมอไป

หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง คือโลกศตวรรษที่ 21 นั้น ในขณะที่ทุกคนพูดว่าเรากำลังเข้าใกล้กันมากขึ้น ในทางกลับกันก็หมายความว่า ทัณฑสถานนั้นได้ขยายขนาดให้เราเข้ามาอยู่เป็นนักโทษในห้องขังเดียวกันนั่นเอง

ในขณะที่ "ผู้พิพาษา" กำลังเปลี่ยนความหมายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไปเป็นทุกๆคน - รวมทั้งตัวคุณด้วย - สามารถทำการ "ตัดสิน" โทษของใครก็ตามที่กำลัง "นอกลู่นอกทาง" (ฮ่า! คราวนี้ไอ้ฟักก็สามารถเอาคืนได้ละ หากมีอินเตอร์เนต!) และ "สรรพทัศน์" ไม่ได้เป็นหอคอยที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางเพื่อเฝ้าดูอีกต่อไป แต่สรรพทัศน์ได้แทรกเข้าไปที่ม่านตาของนักโทษทุกคนให้สอดส่องกันและกันเอง เป็นการเฝ้าดูอย่างสมบูรณ์แบบ (perfect surveillance)

เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจหากจู่ๆจะมีคนเกลียดขี้หน้ากันโดยที่แต่ละคนก็ยังไม่รู้สาเหตุมากขึ้น เพราะกระบวนการลงทัณฑ์ได้ทำงานแล้วอย่างไรละครับ มันจะทำงานไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ไม่ต้องมีลูกขุน ไม่ต้องมีตุลาการ ไม่ต้องมีอัยการสั่งฟ้อง มีเพียงการตัดสิน การคว่ำบาตร การเขม่น การซุบซิบนินทา การก่นด่า ฯลฯ

มันเป็นการเฝ้าดูสมบูรณ์แบบก็เพราะว่า แม่ว่าทุกคนรู้สึกว่าถูกเฝ้าดู (และตรวจสอบ) แต่พวกเขาเต็มใจ และยินยอมจะถูกเฝ้าดู ยินยอมจะเป็นส่วนหนึ่งของมันโดยดุษฎี

โดยที่ผมยังไม่แน่ใจว่ามันต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง

Sunday, January 9, 2011

ผู้คนและเส้นทาง - เซินตุ่ง


Jim Sharpe ได้เขียนปิดเอาไว้ในบทความ History from Below ว่า
History from below helps convince those of us born without silver spoons in our mouths that we have the past, that we come from somewhere. (Peter Burke ed., New Perspectives on Historical Writing, 1991)
'ประวัติศาสตร์จากข้างล่าง' เป็นความพยายามของนักประวัติศาสตร์ (ทั้งอาชีพและสมัครเล่น) ในการให้ความสำคัญต่อเรื่องราวของคนธรรมดา คนที่อยู่ข้างล่าง และมักจะไม่ได้รับความสนใจโดยเสมอมา ไม่เหมือนกับที่เจ้านาย พระผู้ใหญ่ นายพลชั้นสูง พ่อค้าที่ร่ำรวย ฯลฯ ได้รับโดยเสมอมา

เป็นแนวทางที่เชื่อว่า 'ข้างล่าง' นั้นมีประวัติศาสตร์

ผมอ่าน "ผู้คนและเส้นทาง" จบแล้วก็ได้รับรู้ถึงเรื่องราวของหญิงเวียดนามโพ้นทะเลธรรมดาๆคนหนึ่ง เป็นประวัติศาสตร์จากข้างล่าง เป็นชีวประวัติของ "บ่าออ" สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

หนังสือเล่าเรื่องราวของชีวิตบ่าออตั้งแต่ยังเด็กจนกระทั่งชรา เป็นเรื่องราวการต่อสู้ทั้งเรื่องชีวิตและเรื่องทางการเมืองของบ่าออ

ผู้เขียน "เซินตุ่ง" ได้เข้าไปสัมภาษณ์บ่าออด้วยตัวเองหลายต่อหลายครั้งและสร้างเรื่องราวขึ้นมาเหมือนกับว่าบ่าออกำลังเล่าเรื่องราวของตัวเอง

สิ่งหนึ่งที่่เนื้อเรื่องบอกเล่าคือการทำงานอย่างคึกคักของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในภาคอีสานช่วง 1930s - การบรรยายทำให้เห็นว่าไอ้ภาพความน่ากลัวของความเป็น "คอมมิวนิสต์" นั้นมันถูกสร้างขึ้นมาอย่างบรรจงจากสหรัฐฯ (และลูกสมุนทั้งหลายรวมทั้งไทย) เพื่อกล่าวหาและสร้างความชอบธรรมในการปราบปราม ทำร้าย ข่มขืน เข่นฆ่า ฯลฯ

เช่นเดียวกับที่ในปัจจุบันรัฐไทยสร้าง "ผู้ก่อการร้าย" ขึ้นมาเป็นเป้าเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามเข่นฆ่า

เพื่อต้องการลบล้างประวัติศาสตร์ของข้างล่างโดยลืมไปว่า วันนี้คนข้างล่างกำลังสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเองอยู่อย่างขะมักเขม้น