Saturday, December 12, 2009

เกร็ดเก่าว่าด้วยเรื่องทักอ้วนผอม



ขณะที่ผมไล่เรียงดูเนื้อหาของราชกิจจานุเบกษา บังเอิญไปพบเข้ากับเรื่องน่าสนใจว่าด้วยการใ้ช้สัณฐานเป็นคำเรียก เป็นประกาศในสมัยร.4 จึงอยากแบ่งปันกับท่านสนุกๆครับ

ผมขอยกเนื้อหาทั้งหมดนี้มาลงตามต้นฉบับ (จากราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2417 เล่ม 1 แผ่นที่ 19)

ประกาศแผ่นดินพระบาทสมเดจพระจอมเกล้าฯ ว่าด้วยทักอ้วนผอม

มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศว่า การที่มีผู้ปราไสทักทายเจ้านายผู้มีบันดาศักดิ์สูง ด้วยการในพระกายทักว่าอ้วนผอมนี้ เปนอัปมงคลไม่ควรตามเหตุที่อ้างเปนหลายประการ คือคำว่าอ้วนว่าผอมเปนคำหยาบคำต่ำคำเลวประการหนึ่ง คืออาการที่ควรจะวิตกเปนประมาณว่าดีว่าชั่วในสัตวเดียรฉาน มาพูดมาเจรจาในมนุศย มีศักดิ์สูงไม่มีประโยชนประการหนึ่ง คือทำให้กำเริบมิ่งขวัญของกายผู้มีศิริด้วยการเจรจาขัดแก่การที่โบราณห้ามมาประการหนึ่ง ซึ่งว่าคำว่าอ้วนว่าผอมเปนคำต่ำคำเลวคำหยาบนั้น ฟังเอาเถิดปากผู้ดีๆที่มีอัทธยาไศรย เมื่อเขาจะต้องพูดว่าเจ้านายผอมไปแลอ้วนขึ้น เขาก็ย่อมว่าซูบพระองค์แลทรงพระเจริญ ฤๅพ่วงพีดังนี้ โดยมากเขาไม่ว่าอ้วนว่าผอมมิใช่ฤๅ อนึ่งเปรียบความให้เหนตัวอย่างในถ้อยคำเหมือนเจ้าจอมมารดาศรีในพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าบุพผา คือเจ้าจอมที่เปนบุตรเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช แลเป็นน้องเจ้าพระยาอภัยภูธร แลพระยาอนุชิตชาญไชยขุนทอง แลเปนอาเจ้าพระยายมราช พระยาเสนาภูเบศรบัดนี้ แลพระยาอนุชิตชาญไชยหนูแลอื่นๆนั้น เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเดจพระพุทธเลิศหล้านภาไลย เจ้าจอมมารดาศรีเปนเจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรดให้ว่าราชการฝ่ายในต่างโดยมาก ท่านทั้งหลายทั้งปวงตลอดลงไปจนไพร่เลวยำเยงเกรงกลัวนับถือมาก เมื่อจะเรียกออกชื่อเดิมว่าคุณศรี เจ้าคุณศรีก็กระดากปาก จึงอาไศรยเอาสัณฐานกายเจ้าจอมมารดานั้น ซึ่งแปลกกันกับสัณฐานกายคุณนุ่นพระบรมญาติ ที่เรียกว่าเจ้าคุณวังหลวง ผู้ว่าราชการในพระราชวังโดยมากเหมือนกันนั้น เปนที่อ้างแล้วจึงเรียกนามแปรไปว่าเจ้าคุณพี ชื่อนี้ก็ยังแจ้งอยู่แก่เหล่าหลานแลญาติสืบมาคิดดูเถิด ถ้าคำว่าอ้วนว่าผอมเปนคำดีเขาจะยักว่าเจ้าคุณพีทำไม เขาจะมิเรียกว่าเจ้าคุณอ้วนฤๅ อนึ่งเมื่อเรียกข้างเจ้าจอมมารดาศรีว่าเจ้าคุณพีแล้ว คุณนุ่นพระบรมญาติผู้ว่าราชการตั้งเปนคู่กัน ก็ควรจะเรียกว่าเจ้าคุณผอม เพราะว่าผอมเปนคำต่ำ จึงเรียกว่าเจ้าคุณวังหลวงโดยเทียบกับคุณคุ้มผู้น้องท่านนั้น ซึ่งเปนผู้ใหญ่ว่าราชการในพระบวรราชวัง มีผู้เรียกว่าเจ้าคุณวังน่า แลคุณกระต่ายน้องท่าน ซึ่งในเวลานั้นไ้ด้เปนผู้ใหญ่ในข้าหลวงในเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี ซึ่งเสดจอยู่ที่พระปรัดซ้ายแลพระที่นั่งวิมานรัฐยา ซึ่งนับเนื่องในหมู่พระมหาปราสาทนั้นว่าเจ้าคุณปราสาท ก็ซึ่งข้อว่าเอาการที่ควรจะวิตกเปนประมาณ ว่าดีว่าชั่วในสัตวเดียรฉานมาพูดมาเจรจาว่าในมนุศยมีศักดิ์สูง ไม่มีประโยชนนั้น คือว่าให้เหนด้วยกันว่าการที่จะวิตกแล้วแลติว่าผอมเปนชั่วสรรเสริญว่าอ้วนเปนดีเปนประมาณของประโยชนนั้น ต้องการในสัตวเดียรฉานสองจำพวก คือสัตวที่จะเปนพาหนะจำพวกหนึ่ง สัตวที่จะต้องการเนื้อที่เรียกว่ามังสะ เปนอาหารจำพวกหนึ่ง เมื่อผู้ใดจะซื้อหาช้างม้าโคกระบืออูฐลา ซึ่งเปนพาหนะจะใช้แรง ก็ย่อมสรรเสริญสัตวที่อ้วนติสัตวที่ผอม สัตวที่อ้วนมีราคามากสัตวที่ผอมมีราคาน้อย ถึงสัตวที่เปนอาหาร คือสุกรแพะแกะแลสมันกวางกวางซายตลอดลงไปจนเปดไก่แลปลา บันดาที่จะใช้เนื้อเปนอาหารผู้ซื้อหาต้องการ ก็เลือกหาสัตวที่อ้วนเพราะมีเนื้อมากสัตวที่อ้วนมีราคามาก เพราะสัตวที่ผอมเปนที่สงไสยว่าเปนสัตวมีโรค ก็ความอ้วนความผอมนั้น เมื่อมาพิจารณาในมนุศย แม้นในคนที่จะใช้แรงเปนทาษกรรมกร ฤๅทหารแลคนมวยคนปล้ำต่างๆ มัชฌิมบุรุศคือคนสัณฐานกลางนั้นเปนดี คนอ้วนนักเมื่อเปนทาษวิ่งตามนายไม่ไหว ใช้ปีนป่ายขึ้นร่างร้านหลังคาไม่ได้มักหอบฮ่อแฮ่อยู่ ถ้าเปนมวยเปนปล้ำถูกเตะถูกชกหกล้มลงลุกไม่ขึ้น ถ้าผอมนักใช้แบกใช้หามของใหญ่ของหนักไม่ใคร่ได้โรเรนัก ถ้าเปนมวยเปนปล้ำแรงน้อยไปชกเขาไม่แตกเตะเขาไม่ล้ม แต่ผู้ที่สรรเสริญติคนผอมนั้น ดูเหมือนที่จะว่าคนอ้วนอายุยืนคนผอมอายุสั้น การนั้นก็ไม่เปนจริงไม่เปนประมาณ จีนชื่นที่เปนพระยาพิสาลศุภผล ที่เปนผู้อ้วนอย่างเอก อายุอ่อนกว่าพระมหาคงซึ่งเปนพระราชกระวี ซึ่งเปนผู้ผอมอย่างเอกนั้นถึง ๓๒ ปี ก็เหตุไรเล่าพระยาพิสาลศุภผลจึ่งตายไปก่อนพระราชกระวี ก็ข้อที่ว่าทำให้กำเริบมิ่งขวันของกายผู้มีศิริด้วยการเจรจาขัดแก่การที่โบราณห้ามมานั้น ให้สืบสังเกตเอาเถิดคนที่เลี้ยงเดก ต่อหน้าเดกนั้นเขาไม่ว่าอ้วนว่าหนักว่าน่ารักน่าชม เพราะว่าดีมักกลับเปนร้าย แต่ซึ่งว่าซูบว่าผอมไปนั้นบิดามารดาและญาติพี่เลี้ยงเดกมักวิตก เพราะเหตุที่่ว่าเดกไม่รู้จักรักษาตัว การที่รักษาตัวเดกนั้นเปนธุระของผู้ใหญ่ที่จะหาหมอมาประกอบยาแลขู่เขนขืนใจให้เดกกิน ก็ผู้ใหญ่ทั้งปวงนั้นชีวิตรของเขาๆก็รัก เมื่อจะสบายไม่สบายตัวเขารู้ก่อนผู้อื่น กายของเขาๆก็เหนอยู่เป็นนิตย์ด้วยส่องกระจกอยู่ทุกวัน ถึงที่ไหนจะไม่มีกระจก ก็หาน้ำใส่ขันส่องดูหน้าดูรูปของตัวเปนธรรมดา ไม่ต้องการที่ผู้อื่นจะปราไสล่วงเกินเข้ามา ถ้าทักหยอกว่าสีสะล้านดีกว่า เพราะพูดเปนการเล่น ไม่เอื้อมถึงชีวิตรชีวัง แลผู้พูดไว้ตัวสูงเปนเหมือนดังบิดามารดา สบประมาทเจ้าของกายผู้ที่ต้องทักนั้น ให้เปนเหมือนดังเดกๆไม่รู้จักรักษาตัว ก็ท่านทั้งหลายทั้งปวงบัดนี้ไม่ใคร่จะสังเกตการเรื่องนี้ทักได้ทักเอา จนถึงในพระเจ้าแผ่นดินที่มีพระเดชานุภาพเปนที่ล้นที่พ้น ก็ยังล่วงเกินกราบทูลทักทายเนืองๆ ไม่ระวังว่าเปนการต่ำสูงเกินเลย การทักทายอย่างนี้มักมีมาแต่พระสงฆแลหมอแลท่านผู้ใหญ่ๆข้างในข้างน่า เพราะฉนั้นบัดนี้จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ประกาศห้าม อย่าให้ใครล่วงเกินทักทายอย่างที่ว่าแล้ว ทั้งพระสงฆแลคฤหัฐชาววัดชาววา ถ้าพระสงฆจะเข้ามาในพระราชถานวันใดเวลาใด ให้สังฆการีเชิญพระราชบัญญัตินี้ มาว่ากล่าวเตือนสติให้ระวัง ด้วยพระสงฆมักฟั่นๆเฟือนๆไหลๆเลื่อนๆ ฝ่ายข้าราชการผู้ใหญ่ๆสูงอายุเล่า ก็ให้กรมวังคอยเตือนห้ามปราม อย่าให้กราบทูลทักทายเกินเลยได้ หมอถวายอยู่งานถวายพระโอสถมักใกล้ที่จะกราบทูลอย่างนี้ เมื่อเวลาไรเรียกหมอ ให้ชาวที่คอยกำชับให้ระวัง อย่าให้กราบทูลทักทายได้ ถ้าผู้ใดมิฟังขืนกราบทูลทักทายดังนี้ จะให้ลงพระราชอาญาทวนด้วยไม้หวาย ๕๐ ที สังฆการีแลชาวที่แลกรมวังอยู่ในเวนที่เกิดเหตุขึ้นนั้น จะต้องให้รับพระราชอาญาด้วยคนละ ๓๐ ที ๒๐ ที ตามโทษานุโทษที่ได้ตักเตือนบ้างแลไม่ได้ตักเตือนเลย ตามสฐานที่ผู้กำกับนั้นคือถ้าในพระสงฆจะลงโทษแก่สังฆการี ถ้าในหมอจะลงโทษแก่ชาวที่ ถ้าในข้าราชการจะลงโทษแก่กรมวัง ถ้าท่านผู้ใดที่ไม่ควรจะรับพระราชอาญา คือพระสงฆก็จะให้มีเบี้ยปรับถ่ายโทษคน ถึงในข้าราชการฝ่ายในเล่าเมื่อท้าวนางฤๅท่านอื่นๆจะภาผู้ใดเข้าเฝ้า ก็ให้คอยตักเตือนห้ามปรามกำชับผู้นั้นก่อน ถ้าเกิดเหตุขึ้นเพราะผู้ที่เข้าเฝ้า จะลงโทษแก่ผู้ที่นำเฝ้านั้นด้วยตามโทษานุโทษ ประกาศมา ณ วันเสารเดือนหกขึ้นห้าค่ำ ปีจอ จัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔ เปนวันที่ ๔๐๐๗ ในราชการประจุบันนี้
ยาวหน่อยนะครับ แต่ได้บรรยากาศ ผมอ่านไปยิ้มไปด้วยทีเดียว

Sunday, December 6, 2009

โพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์


เป็นโอกาสอันดีเหลือเกินครับ ที่เมืองเล็กๆอย่างแคนเบอร์ราได้จัดแสดงงานศิลปะระดับโลก โดยเป็นการนำผลงานของศิลปินกลุ่มโพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์ จากพิพิธภัณฑ์ Musée d'Orsay มาแสดงที่ the National Gallery of Australia (เพียงที่เดียวในออสเตรเลียด้วย)

ถือว่าเป็นงานใหญ่ของเมืองทีเดียว ผมจึงถือโอกาสแวะไปชมเสียเลย


เป็นครั้งแรกๆที่ผมเริ่มรู้จักงานกลุ่ม
โพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์และศิลปินที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งจริงๆแล้วหากเราต้องการจะรู้ว่ากลุ่มนี้คืออะไร ก็เพียงค้นหาในสารานุกรมวิกีพีเดียก็จะได้ทำความรู้จักงานของกลุ่มนี้อย่างไม่ยากเย็นนัก (ต้องตรวจสอบกับแหล่งอื่นๆด้วยนะครับ)

แต่ผมได้มีโอกาสฟังผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากฝรั่งเศสพอดี (ขออภัย ผมจำชื่อเขาไม่ได้) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ศิลปะจากช่วงอิมเพรสชั่นนิสม์ต่อเข้าช่วงโพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการได้ดี

เขาต้องการจะบอกว่า แท้จริงแล้ว การเปลี่ยนผ่านจากช่วงอิมฯสู่ช่วงโพสต์อิมฯนั้น ไม่ได้ชัดเจนอย่างที่เข้าใจกัน

ผู้ที่เริ่มใช้คำว่าโพสต์อิมฯ คือโรเจอร์ ฟราย นักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษในปีค.ศ.1910 ซึ่งนักวิจารณ์ศิลปะยุคหลังมาเข้าใจว่า โพสต์อิมฯนั้นเป็นจุดสิ้นสุดของอิทธิพลจากงานมาเนต์ ซึ่งศิลปินยุคหลังมาแหวกข้อจำกัด (ที่เคยเป็นของอิมฯ) ออกไป

เขาเสนอว่าแท้จริงแล้วอิทธิพลของมาเนต์ต่องานโพสต์อิมฯนั้นมีมากกว่าที่หลายๆคนคิด

อันที่จริงเรื่องการแบ่งกลุ่มเช่นนี้ก็มีอยู่ทั่วไปในศาสตร์ทุกแขนงนะครับ มันมีจุดประสงค์เพื่อต้องการแสดงให้เห็นความแตกต่างของสายสกุลคิดในสำนักต่างๆ เพื่อสร้าง "ภาพรวม" เท่าันั้น เพื่อให้ง่ายขึ้นต่อความทำความเข้าใจพัฒนาการของศาสตร์นั้นๆอันมีความสลับซับซ้อน ก็เหมือนการแปะป้ายเอาไว้เพื่อเวลาคนอื่นๆหยิบมาใช้ศึกษาจะได้ง่ายขึ้นในการจัดระบบการทำความเข้าใจ

แต่จะเป็นเรื่องผิดอย่างมากหากมองสำนักต่างๆแยกกัน และวิเคราะห์โดยใช้แนวความคิดใดความคิดหนึ่งไปโดดๆ (ตัวอย่างเช่นการหยิบฟูโกต์มาใช้ดูละครน้ำเน่าไทย หยิบการหยิบอากัมเบนมาใช้ดูชาวเขา เป็นต้น) ควรจะต้องระวังอย่างหนักว่าทฤษฎีไม่ไ้ด้ใช้เพื่อประยุกต์ หากแต่มันใช้เพื่อตั้งคำถามต่างหาก การพยายามสร้างคำอธิบายในการเปลี่ยนแปลงจึงต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้เป็นสำคัญ

เห็นไหมครับ งานศิลปะงานเดียว คิดอะไรไปได้ทั่วทีเดียว

Monday, November 30, 2009

ผู้ีดี - ดอกไม้สด


ผมเพิ่งจะอ่านงานของดอกไม้สดครับ ถึงใครจะหาว่าเชยที่เพิ่งมาเริ่มอ่านก็ตามแต่ ผมบ่สนใจ เอาเป็นว่าใครที่เคยอ่านแล้วจะแลกเปลี่ยนอะไรก็เชิญ หรือท่านจะไปหางานของดอกไม้สดอ่านดูก็จะยิ่งขออนุโมทนา

ต้องขอเกริ่นเอาไว้เบื้องต้นว่า ในเนื้อหาต่อไปนี้จะเปิดเผยเนื้อเรื่องบางตอน ฉะนั้นหากท่านไม่ต้องการเสียอรรถรส (ในภาษาคนดูหนังเรียกถูก spoil) ก็คงจะต้องไปอ่านมาก่อน

ผมใช้ฉบับหอสมุดแห่งชาติ พิมพ์พ.ศ.2516 ครับ (นิยายเขียนเมื่อพ.ศ.2480)



"ผู้ดี" เป็นงานที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในบรรดางานทั้งหลายของดอกไม้สด คงจะเป็นเพราะนิยายเรื่องนี้ได้นำเสนอบรรยากาศของชีวิตเหล่าผู้ดีไทยในช่วงหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 หมาดๆ และเล่าผ่านชีวิตของวิมล ผู้เป็นสมาชิกชนชั้นผู้ดีคนหนึ่ง

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพ.ศ.2475 ได้ส่งผลกระทบอันสำคัญต่อชนชั้นนำไทย วิถีชีวิตที่พวกเขาคุ้นเคยได้เปลี่ยนแปลงไป และพวกเขาก็ได้รับผลกระทบนั้นๆกันอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะในด้านฐานะทางการเงิน อย่างที่พระยาอมรรัตน์ฯได้กล่าวถึงวิพัฒน์ ลูกชายคนโตของตนที่กำลังศึกษาต่ออยู่ที่อังกฤษว่า
"เจ้าคนโตของผมมันกินเงินมากจริง" ท่านเจ้าของบ้านกล่าว "ปีหนึ่งตั้ง ๕-๖ พันบาท"
"ก็เงินหลวงไม่ใช่หรือคะ?" คุณหญิงบริหารธนกิจถาม
"เงินในพระมหากรุณา แต่เมื่อพระองค์ท่านสละราชสมบัติแล้ว ผมก็ต้องส่งของผมเอง เผอิญมันไปชอบวิชาที่ใครๆร้องว่ายากกันทั้งนั้น คือเจ้าวิชาการบัญชีชั้นสูงลิบ...มันจะเล่นงานผมสักกี่หมื่นก็ไม่ทราบ ถ้าเรียนสำเร็จใน ๖ ปี ตามเกณฑ์ก็ไม่กระไรนัก ๒๐,๐๐๐ พอสู้ได้ แต่เขาว่ากันว่าน้อยคนที่จะเรียนสำเร็จใน ๖ ปี อย่างเก่งที่สุดก็ ๗ หรือ ๘ ท่าทางจะแย่ แต่ก็ทนเอาหน่อย... (น.50-51)
ซึ่งมีบรรยากาศเช่นนี้อยูตลอดเรื่อง (แม้จะพอคาดเดาได้ก็ตาม)

จุดหักเหสำคัญของเรื่องก็หนีไม่พ้นเมื่อพระยาอมรรัตน์ฯตาย ก็ได้เกิดความยุ่งยาก วุ่นวาย หรือถึงขั้นโกลาหลกันไปทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งสมบัติจากพินัยกรรมที่ได้ทิ้งเอาไว้

วิมลมารู้สึกตัวว่า ตนเองไม่ได้เป็นผู้มั่งคั่งอย่างที่เคยเป็นอีกแล้วเพราะภาระทางด้านการเงินหลายด้านที่ทำให้รู้ว่าแท้จริงครอบครัวตนไม่ได้ร่ำรวย นั่ง "รถยนต์เก๋งใหญ่ ใหม่ที่สุด งามที่สุดในสมัย" (น.3) เช่นที่เคยเป็น

เธอจึงต้องปฏิวัติชีวิตตนเอง ไม่ว่าจะถูกทัดทานโดยคนจำนวนมาก และถูกมองว่าเป็นคนจองหอง ทั้งนี้ก็เพื่อจะอยู่รอด คอยดูแลน้อง และส่งเสียพี่ชายเรียนเมืองนอกด้วย (วิมลยังรับจ้างเย็บผ้าด้วย)

ผมคิดว่าตัวละครหลักอย่างวิมลน่าสนใจ เพราะเขาเหล่านี้เป็นคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือคนที่ไม่ได้มั่งคั่งจริงๆ หรือไม่ได้อยู่ในกลไกระบบอุปถัมภ์ที่ใกล้ศูนย์อำนาจจริงๆในยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ จากที่พวกเขาเคยมีโอกาสได้รับประโยชน์ ท่อน้ำเลี้ยงนั้นขาดไป ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองอย่างมาก เพื่อจะประทังตัวรอด

เราจะเห็นคนกลุ่มนี้เกิดใหม่เป็นจำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจน ครึ่งทศวรรษหลังของพ.ศ.2470 (จริงๆเข้าใจว่าในงานของท่านอากาศฯก็เสนออะไรแบบนี้ออกมาด้วย)

มีสองประการที่ผมคิดว่า ถ้าไม่ใช่ผู้หญิง และถ้าไม่ใช่ดอกไม้สด เขียนอย่างนี้ไม่ได้แน่ๆ นี่เป็นฉากที่นายจงรักพยายามจะเกี้ยววิมล
"คุณดื่มเหล้าได้ไหม?" นายจงรักถามวิมลเมื่อคนใช้ยกถาด 'ลีเคอร์' เข้ามาตั้งไว้ในห้องรับแขก
แล้วก็
"คุณชอบเหล้าอะไรบ้าง"
"คุณชอบอ่านหนังสือชนิดใด"
"คุณชอบเด็ก ชอบสุนัขหรือไม่"
"คุณสนใจในการบ้านเมืองไหม"
"คุณชอบภาพยนตร์ไหม"
"คุณเข้าใจวิทยาศาสตร์บ้างไหม"
"คุณชอบดนตรีไหม"
"คุณชอบกีฬาชนิดใด"
"คุณชอบดอกไม้ไหม"
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
และเมื่อวิมลตอบ จะเป็นคำปฏิเสธหรือรับรองก็ตาม ผู้ถามจะสรรเสริญไม่ขาดปาก หล่อนดื่มเหล้าได้บ้าง แต่ไม่ค่อยชอบ ก็ดี เพราะผู้หญิงที่เป็นนักดื่มมัก 'เปรี้ยวจัดและเสียง่าย' หล่อนชอบอ่านหนังสือที่มีแง่ให้ตรองก็เหมาะ เพราะนั่นแสดงนิสัยของผู้มีภูมิรู้ หล่อนชอบทั้งเด็กทั้งสุนัขก็ควร เพราะ 'เด็ก คือภาพถ่ายแห่งจิตใจของเราเมื่อยังบริสุทธิ์เพราะความไม่เดียงสา' และ 'สุนัขเป็นสัตว์ที่มีคุณสมบัติดีกว่าบางคนเพราะมันมีความกตัญญู' หล่อนไม่สนใจในการเมืองก็ถูก เพราะผู้หญิงมีหน้าที่ทางบ้านมากพอแล้ว ถ้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากนัก จะทำให้หน้าที่ทางบ้านบกพร่อง เมื่อคำตอบของหล่อนดูช่างถูกและดีไปเสียหมด วิมลก็แสร้งลองตอบให้ไกลจากความจริงใจไปบ้าง หล่อนตอบว่าไม่ชอบดนตรี ก็ถูกอีกเพราะดนตรีทำให้คนซบเซาเหงาง่วง หรือมิฉะนั้นก็ทำให้ฟุ้งซ่าน ไ่ม่มีประโยชน์อันใดเลย วิทยาศาสตร์ วิมลตอบว่าหล่อนเปรียบเหมือนคนตาบอดหรือหูหนวกในเรื่องนี้ ก็ถูกอีก เพราะวิทยาศาสตร์ไม่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ในชีวิตของผู้หญิงแม้แต่สักนิด... (น.47-8)
ผมอ่านไปด้วยหัวเราะไปด้วยครับ ช่างเป็นความ "รู้ทัน" ของสตรีเมื่อผู้ชายเข้ามาจีบ ซึ่งมุม passive เช่นนี้ดอกไม้สดค่อนข้างถนัดทีเดียว

ทั้งเรื่องราวความรักของวิมลกับอุดมก็เช่นกัน เมื่ออุดมทุ่มเทความรักให้อย่างมากมาย เธอกลับรู้สึกผิดเมื่อเธอรักเขาไม่ได้เท่าเทียมกับที่เขารักเธอ

เรื่องนี้เป็นคำถามคลาสสิกนะครับ สำหรับคนในสมัยนี้ "ผู้ชายเริ่มจากร้อยไปศูนย์ ส่วนผู้หญิงเริ่มจากศูนย์ไปร้อย" ท่านว่าิอย่างไร?

อีกเรื่องหนึ่งผมคงจะไม่ยกตัวอย่างต่อความยาวสาวความยืด แต่อารมณ์ความหึงหวง การต่อกรกันระหว่างเพศหญิงด้วยกันนั้น ดอกไม้สดถือว่าเป็นมือหนึ่งทีเดียวครับ ใครที่อ่านแล้วก็คงเห็นด้วยกับผม

สุดท้าย เรื่องการมีมากเมียก็ถูกท้าทาย เพราะดอกไม้สดได้ทิ้งเอาความโกลาหลอันเกิดขึ้นต่อไปหลังจากคนก่อได้ตายไปแล้ว ผ่านข้อคิดทางศีลธรรม ต่อไปนี้เป็นบทสนทนาระหว่างพระยาอมรรัตน์ฯและเมียคนแรกคือคุณแส
"แม่วงเขาหาคนมาช่วยเขาปรนนิบัิิติฉันคนหนึ่งแล้ว อายุ ๑๕ ฉันหวังใจว่าหล่อนคงจะไม่ยอมน้อยหน้าแม่วงได้ที่อ่อนกว่านั้นสักปีหนึ่งละก็ดีทีเดียว" แล้วคุณมงคล [พระยาอมรรัตน์ฯ] ก็หัวเราะอย่างเห็นขำ
คุณแสหัวเราด้วย อย่างเห็นขำเหมือนกัน แล้วย้อนถาม
"๑๕ ไม่แก่ไปหรือคะสัก ๑๑-๑๒ เป็นยังไง"
"ไม่เลว สงสารแต่หล่อนจะต้องอาบน้ำทาขมิ้นหาเหาให้มันเท่านั้น"
ต่อมา ๒-๓ วัน คุณมงคลปรารภซ้ำเรื่องนี้ แล้วเสริมต่อไปว่า "หล่อนจะยอมแพ้แม่วงเทียวหรือ? ก่อนๆไม่เห็นเคยยอมสักที"
คราวนี้ คุณแสมิได้หัวเราะ ตอบอย่างเคร่งขึมและหนักแน่น
"ดิฉันกลัวบาป"
"อะไร!" คุณมงคลค้าน "หาเมียน้่อยให้ผัวบาป? มีอย่างที่ไหน ได้บุญน่ะไม่ว่า"
"ช่างเถอะค่ะ ดิฉันไม่ต้องการหากุศลทางนี้" (น.124-5)
อย่าได้แปลกใจไปเลยครับหากบทสนทนานี้จะเกิดขึ้น เพราะมันเป็นบรรยากาศของสังคมในเวลานั้น เอาเป็นว่าถึงแม้บทสนทนาเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ผู้ชายได้เปลี่ยนพฤติกรรมไปสักน้อยบ้างไหม?

หากจะให้ผมตั้งขอสงสัยหน่อย ก็คงจะเป็นที่ว่าเหตุใดวิมล ผู้ซึ่งเป็นลูกไฮโซ ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างไข่ในหิน ตามอกตามใจทุกอย่างทุกประการ จึงได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบ คิดอะไรอย่างแหลมคมได้หลังจากที่พระยาอมรรัตน์ตายไปไม่นาน มันเหมือนกลายเป็นอีกคนหนึ่งไป ไม่น่าเชื่อถือเท่าไหร่

แต่โดยรวมแล้ว ผู้ดีเป็นนิยายที่อ่านสนุกทีเดียว

จบดื้อๆเลยก็แล้วกัน

Saturday, November 21, 2009

อาลัยครูใหญ่ นภายน


ผมเชื่ออยู่เสมอถึงการดำรงอยู่ของบางสิ่งบางอย่าง ผ่านรุ่นสู่รุ่น ผ่านพ่อแม่สู่ลูก ผ่านคู่ชีวิต ผ่านพี่สู่น้อง และผ่านเพื่อนสู่เพื่อน


การดำรงอยู่ของความเชื่อ คุณค่า ความหมายบางอย่าง ที่สะท้อนโลกทัศน์และมุมมองของคนๆหนึ่งต่อโลกที่เขาใช้ชีวิตผ่านมา และเขาเล่ามันออกมาด้วยหมายจะบันทึกมันเอาไว้


สิ่งเหล่านี้ผมจะสดับตรับฟังด้วยความเคารพอยู่เสมอ - ไม่ใช่เพราะหลับหูหลับตาเชื่อ หรือไม่ใช่เพราะความเป็นผู้ด้อยอาวุโสกว่า จึงมีหน้าที่ต้องฟังและรับคำสั่งแต่ถ่ายเดียวโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ

แต่ผมฟังเพราะเชื่อว่า คงมีเหตุผลบางอย่าง ที่คนเหล่านั้นเลือกเล่าเรื่องราวบางเรื่องผ่านประสบการณ์ของเขาออกมา ผ่านยุคสมัยของเขาออกมา เพราะนั่นทำให้เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของบางสิ่งบางอย่าง การดำรงอยู่ของบางสิ่งบางอย่าง


และที่สำคัญ มันอาจได้สะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น เป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรถูกก้าวทับซ้ำเข้าไปอีก เพราะหากเราเชื่อว่ามนุษย์พร้อมที่จะเรียนรู้ เราก็คงจะต้องพร้อมรับฟังอะไรบางอย่าง และเรียนรู้มัน

อารยธรรมเติบโตไปเช่นนี้เอง

ใครหลายคนรับรู้ถึงการจากไปของศิลปินสำคัญของไทยคนหนึ่ง พวกเขาอาจรับรู้จากผลงาน จากกระแสเสียงดนตรี จากความสัมพันธ์ทางสายเลือด และหนทางในการรับรู้อันหลากหลายแตกต่างกันไป

ผมรับรู้ถึงการจากไปของ
ครูใหญ่ นภายนในฐานะผมเป็นเพื่อนบ้านคนหนึ่ง

อันที่จริงแล้ว "บ้านเขตดุสิต" คือบ้านที่นำผมมารู้จักกับครูใหญ่

ผมรู้จักกับครูใหญ่ นภายน เมื่อราวปีพ.ศ.2549 อันเป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มมีความสัมพันธ์กับบ้านอย่างจริงจัง หลังจากที่ใช้ชีวิตไม่ติดบ้านช่ิอง (ด้วยภารกิจหลายประการ) มาเป็นระยะเวลาสองสามปีหลังจากที่ผมย้ายเข้ามาที่บ้านเขตดุสิตใหม่ๆในปีพ.ศ.2546

มันเป็นช่วงเวลาี่ืืที่ผมใช้เวลาในการครุ่นคิดและเรียนรู้ความสัมพันธ์ของมนุษย์ในเมืองที่ผมอยู่อาศัยอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในชีวิต และแสดงมันออกมาผ่านงานเขียนและการมองโลกต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งต้องอาศัยการขัดเกลา การปลีกวิเวก การเริ่มต้น การสูญเสีย และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมไม่สามารถบรรยายออกมาได้จนหมด


จะว่าไปแล้ว บ้านเขตดุสิตเป็นตัวชี้วัดการเจริญเติบโตของผมในหลายแง่หลายมุม และบ้านแห่งนี้ก็เป็นสถานที่บรรจุความทรงจำในวัยหนุ่มของผมไว้หลายอย่างหลายประการ

ในพ.ศ.2549 ผมรู้แต่เพียงว่ามีศิลปินใหญ่อยู่คนหนึ่งพำนักอาศัยอยู่ในละแวกบ้าน - จนกระทั่งผมได้มีโอกาสไปแนะนำตัวก่อนไปเรียนต่างประเทศนั่นละ ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับครูใหญ่ นภายน


การเป็นศิลปินผู้มีชีวิตคร่ำหวอดอยู่ในวงการ ทำให้ครูใหญ่ถ่ายทอดประสบการณ์ออกมาให้ผมฟังอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ผมรับฟังเรื่องราวเหล่านั้น ซึ่งถูกเล่าออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตครู

ราวกับว่าเรื่องราวเหล่านั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

ผมเล่าให้ครูใหญ่ฟังถึงความฝัน ความมุ่งหมาย และความตั้งใจที่จะทำอะไรหลายสิ่งหลายอย่างดังที่ไฟในตัวจะเผาผลาญความทะเทอทะยานออกมาเป็นควันของการเล่าเรื่อง

ครูให้กำลังใจ และให้ข้อคิดซึ่งผมยังจำได้ว่า "การเขียน ไม่จำเป็นต้องรุนแรง ค่อยๆเล่า ค่อยๆบรรยาย ค่อยๆนำเสนอมันออกมา"


นั่นอย่างไร...ประสบการณ์บางอย่างที่เราควรต้องสดับตรับฟังด้วยความเคารพ

ผมได้พบกับครูใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนผมเดินทางไปเรียนต่างประเทศอีกครั้งหนึ่งเมื่อสี่เดือนที่แล้ว ครูใหญ่ยังดูสดใส ยังเล่าเรื่องราวต่างๆอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเหมือนเคย - ประสบการณ์อีกมากที่ถูกเล่าออกมา

ดนตรีของครูใหญ่ยังบรรเลงอยู่ - มันยังคงดำรงอยู่ ผ่านรุ่นสู่รุ่น ผ่านพ่อแม่สู่ลูก ผ่านคู่ชีวิต ผ่านพี่สู่น้อง และผ่านเพื่อนสู่เพื่อน

บ้านเขตดุสิตมีความทรงจำเพิ่มขึ้นอีกคำรบหนึ่ง

Thursday, August 6, 2009

สัมภาษณ์ : อีวาน คลีมา


ผมเข้าใจว่านักอ่านไทยไม่ค่อยจะรู้จักนักเขียนชาวเชคมากไปกว่ามิลัน คุนเดอรา แต่หากพิจารณาถึงวงการวรรณกรรมของเชค เราจะเห็นว่ามีนักเขียนอยู่หลายคนที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคม ต่อไปนี้คือเรื่องราวของอีวาน คลีมา นักเขียนเชคอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ขอเชิญอ่านครับ



คนเชกหัวดื้อที่เป็นนักเขียนมีชื่อผู้นี้ใช้ช่วงเวลาแรกของชีวิตในค่ายกักกัน ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องซึ่งอิสรภาพของเขา เมื่อรถถังรัสเซียมุ่งเข้าสู่ปรากในปีค.ศ.1968 นั้น เขากำลังเดินทางไปสหรัฐฯเพื่อสอนหนังสือ แต่ด้วยวิญญาณนักต่อสู้ เขาเดินทางกลับประเทศของตน และใช้ชีวิตแบบ "ผู้ถูกเนรเทศในบ้านเกิดของตนเอง" เขาให้สัมภาษณ์ทิม อดัมส์ถึงการใช้ชีวิต ความรัก และช่วงเวลาอันควรจดจำของตน




เมื่ออีวาน คลีมาเกิด เขาก็รู้ทันทีว่าเสรีภาพนั้นเป็นอย่างไร นั่นก็เพราะเสรีภาพเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับชีวิตในวัยเด็กของเขานั่นเอง ในปีค.ศ.1941 คลีมาอายุสิบขวบ พ่อของเขาถูกส่งไปในการขนส่งของพวกนาซีรอบแรกสุด ไปสู่ "ป้อมแห่งความแออัด" ในเทเรซิน (Terezin) ทางตอนเหนือของปราก และจากนั้นทั้งครอบครัวก็ต้องตามไป คลีมาอยู่ที่เทเรซินตลอดช่วงสงคราม เขาบอกว่าตัวเองไม่เคยรู้มาก่อนว่าพ่อแม่เป็นชาวยิว กระทั่งฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ

เขาเคยเขียนในครั้งหนึ่งว่า "ใครก็ตามที่เคยผ่านค่ายกักกันสมัยยังเด็ก ใครก็ตามผู้ซึ่งมีชีวิตแขวนอยู่กับอำนาจที่จะสามารถเข้ามาทำร้ายเข่นฆ่าเขา หรือคนรอบตัวเขาเมื่อใดก็ได้นั้น คงย่อมจะมีบทเรียนชีวิตแตกต่างจากคนที่โตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์และได้รับการศึกษาไปบ้าง เพราะชีวิตแบบนั้นเป็นดั่งเชือกเส้นบางๆ ที่สามารถขาดได้ทุกเมื่อ และนั่นเกิดกับผมทุกวันในยามเด็ก"

แต่มันก็ยังมีบทเรียนอื่นอีก - บทเรียนแห่งการเอาตัวรอด และบทเีรียนแห่งการหลบหนี - ขณะที่อยู่ในเทเรซิน คลีมามีหนังสือเล่มเดียวคือ The Pickwick Papers เขาอ่านมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเดินเข้าำไปในโลกแห่งถ้อยคำของแซม เวลเลอร์และนาธาเนียล วิงเกิล ขณะนั้น, เสรีภาพได้สถาปนาขึ้นในจิตใจของเขาดั่งเรื่องเล่า

แล้วเขาก็เริ่มเขียนขณะยังอยู่ในค่าย เขียนโดยรู้ตัวว่าแต่ละหน้าที่จบไปอาจเป็นหน้าสุดท้าย ในขณะเดียวกันก็พบว่าการเขียนเป็นกลวิธีในการหลบหนีที่ดีเยี่ยม เขาเขียนบทละครและทำหุ่นเพื่อแสดงเอง เขียนเรื่องเกี่ยวกับเด็กหญิงที่เขาหลงใหล ฝันกลางวันไปกับรักแรกของตนเอง ผัสสะแห่งการปลดปล่อยที่เขาค้นพบในแต่ละประโยคๆไม่เคยหนีจากเขาไปไหน "ผมติดตามอิสรภาพที่ร่ำร้องอยู่ภายในเสมอ" คลีมาบอกที่บ้านในปรากของเขา "นั่นทำให้ผมไม่เคยถูกเซนเซอร์"

ประสบการณ์ที่เขาเรียกว่า "วัยเยาว์" ของตนเองนั้น ถึงเวลานี้มันปรากฏเด่นชัดอยู่ในใจภายใต้ฐานะนักเขียน กระทั่งเมื่อเขาโตแล้ว เขาก็ยังนอนโดยเอาผ้าพันคอปิดหน้าเอาไว้ เป็นนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่สมัยอยู่ที่เทเรซิน เพราะที่นั่นไม่เคยปิดไฟ ผ้าพันคอเป็นเหมือนผ้าห่มอันอุ่นไอ และขณะเดียวกันก็เป็นกลไกในการป้องกันตนเอง เขามักฝันซ้ำๆเสมอมา ฝันว่าถูกจับตัว ถูกคุมขัง ฝันร้ายเหล่านี้มาทุเลาลงในหลังๆมานี้เท่านั้นเอง เวลานี้คลีมาอายุ 77 ปีและกำลังเขียนบันทึก My Crazy Century อยู่อย่างขะมักเขม้น

"ประมาณสักเจ็ดสิบเปอร์เซนต์ของชีวิตผมนั้นปราศจากซึ่งเสรีภาพ" คลีมาบอก หากแต่จริงๆแล้วเขาถ่อมตัวเกินไปที่จะไม่พูดถึงการอุทิศตนเพื่อการต่อสู้ของเขา หลังจากเทเรซิน, โซเวียตได้เข้ารุกรานเชคโกสโลวาเกีย มันเป็นช่วงเวลาแห่งความหวังสั้นๆในฤดูใบไม้ผลิของปีค.ศ.1968 คลีมาเองก็เป็นหนึ่งในหัวหมู่ในเวลานั้นซึ่งยืนหยัดต่อต้านระบอบเผด็จการที่ยาวนานถึง 21 ปี ก่อนจะเกิดการปฏิวัติในค.ศ.1989 (Velvet Revolution) ตลอดเวลาเหล่านี้ ไม่มีสักเวลาที่เขาจะไม่คิดเกี่ยวกับเสรีภาพ และยังเชื่อว่าเราจะได้รับอิสรภาพผ่านการเขียนความจริงออกมา

ปัจจุบันคลีมาอาศัยอยู่ที่ชายป่าทางตอนใต้ของปราก ลูกสองคนและครอบครัวของพวกเขาต่างก็อยู่บนถนนเส้นเดียวกัน เกือบทุกเช้าเขาจะออกไปเก็บเห็็ดจากตามโคนต้นไม้ในป่า ฟิลิป รอธ เพื่อนของเขาแซวว่า ด้วย "ทรงผมแบบบีเทิลส์" และ "ฟันแบบสัตว์กินเนื้อ" ของเขานั้น เขาดูเหมือน "ริงโก สตาร์ที่มีวิวัฒนาการทางปัญญาแล้ว" - แม้จะดูเหมือนเช่นนั้น แม้ผมเขาจะขาวเสียแล้ว แต่มันยังมีความเป็นโบฮีเมียนอย่างเด็ดเดียวในทุกๆอณูของตัวเขา และยังยืนหยัดอยู่เช่นนั้น แม้เขาจะเป็นคนหัวเราะง่าย ก็นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนผ่อนคลายนัก หนังสือ 30 กว่าเล่มของเขาถูกเขียนขึ้นด้วยจิตใจ ความสัตย์ซื่อ ความกล้าหาญ ความโรแมนติก และบางครั้งด้วยความพยายามค้นหาปรัชญาอะไรบางอย่าง

ผมเจอคลีมาก่อนหน้านี้ครั้งหนึ่งในปีค.ศ.1991 ขณะที่ยังทำงานให้กับสำนักพิมพ์กรันตา ผมเป็นบรรณาธิการหนังสือแปลของเขาสองสามเล่ม เราไปกินข้าวกันในภัตตาคารหรูทางตะวันตกของลอนดอน ผมคิดอย่างไร้เดียงสาว่าหลังค.ศ.1989 เขาจะเปลี่ยนวิถีชีวิต ทำตัวเป็นดารา หากแต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เขายังระมัดระวังที่จะไม่สรุปอะไรอย่างง่ายๆ และไม่แสดงความพึงใจอย่างเกินพอดี เขายืนยันที่จะกินเพียงขนมปังและซุปผัก และพยายามเรียนรู้ผมด้วยอารมณ์ขันอันแหบห้าวในขณะที่ผมพร่ำถามเกี่ยวกับความรู้สึกของเขายามได้รับอิสรภาพ เขาตอบกลับมาด้วยท่าทีอันว่างเปล่าสะท้อนถึงวันเวลาที่คนรุ่นเราได้เสียไป

เวลานี้ที่บ้านของเขา เขาดูอบอุ่นขึ้นมาบ้างแต่ก็ไม่ได้คลายความเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ของตนลงไปเลย "สำหรับคนรุ่นใหม่" เขาพูด "ปีค.ศ.1989 ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ไปแล้ว ตอนที่ผมไปปรากเพื่อไปสัมมนากับนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ผมมักต้องอธิบายก่อนว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร เพราะเด็กพวกนั้นไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย"

สำหรับเขาแล้ว เขายังให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์เสมอ "เมื่อเวลาผ่านไป, แม้ทุกอย่างมันเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วก็ตามในปัจจุบัน แต่ในเวลานั้นความรู้สึกมันไม่ได้เป็นอย่างนี้เลย มันมีเปเรสทรอยกาในรัสเซีย และในประเทศผมก็มีการต่อต้านระบอบและผู้สมรู้ร่วมคิดของมันกันอยู่ทั่วไป ซึ่งการต่อต้านก็เกิดจากพลเมืองชั้นสามนี่ละ - แม้ทุกสิ่งจะต้องเปลี่ยนไปก็ตาม แต่ผมประหลาดใจว่า ทำไมมันจึงเร็วนัก?"

คลีมาในเข้าไปอยู่ในโรงละคร Magic Lantern ในวันที่การปฏิวัติ Velvet ถูกจุดขึ้นโดยแวคลาฟ ฮาเวลและเพื่อนของเขาที่ส่วนใหญ่เป็นนักเขียน ซึ่งต่อต้านรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น เขาถูกเชิญให้พูดบนเวที, เขาบอกว่านั่นเป็นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษที่เขาได้รับอนุญาตให้พูดในที่สาธารณะบนผืนดินเกิดตัวเอง มันเป็นช่วงเวลาที่มากล้นด้วยอารมณ์ทีเดียว

"ผมพูดอะไรบางอย่างง่ายๆเกี่ยวกับสถานการณ์ในเวลานั้น และได้รับเสียงตบมือดังกระหึ่มกลับมา" คลีมาเท้าความถึงเวลานั้น "ที่แปลกคือหลังจากนั้นก็มีคนอีกหลายคนมาบอกกับผมว่า พวกเขาไม่รู้มาก่อนว่าผมอยู่ในปรากในช่วงเวลานั้น นักเขียนที่ถูกขึ้นบัญชีดำจะถูกระบอบทำให้เป็นผู้ไร้ตัวตน คนจึงนึกว่าเราถูกเนรเทศไปแล้ว - ซึ่งจริงๆก็ไม่ผิดหากจะกล่าวเช่นนั้น"

จากเหตุการณ์ในวันนั้นต่อมา ฮาเวลสหายของคลีมาก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และเพื่อนของเขาหลายๆคน ทั้งที่เป็นนักเขียนและนักวิชาการก็ได้เขารับตำแหน่งรัฐมนตรี นั่นคล้ายจะเป็นเหมือนตอนจบอันสุขสันต์ของชีวิตเขาเลยก็ว่าได้ เพราะมันเป็นเหมือนทำให้ความหวังของเขาที่เคยหายไปได้กลับมาเป็นจริง

หากค.ศ.1989 เป็นตอนจบอันสุขสันต์แล้วล่ะก็ คลีมาบอกว่าช่วงเวลาอันเลวร้ายที่สุดก็คือค.ศ.1970 เมื่อรถถังรัสเซียวิ่งเข้าสู่ปรากในปีค.ศ.1968 เวลานั้นคลีมาอยู่ในลอนดอน ระหว่างทางจะไปสอนหนังสือที่มิชิแกน เมื่อได้ข่าวเขาก็แทบจะควบคุมตัวเองไม่ได้ เขายังเดินทางไปสหรัฐฯกับครอบครัว และเมื่อภาระการสอนของเขาจบลง ปีต่อมาเขาก็ต้องพบกับการตัดสินใจที่ยากที่สุดในชีวิตของเขา เขาควรจะลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯเหมือนกลุ่มผู้ต่อต้านคนอื่นๆ หรือเขาควรพาครอบครัวกลับบ้าน?

"ทุกคนเตือนผมว่า อย่ากลับไปนะ เขาจะส่งคุณไปไซบีเรีย" คลีมากล่าวถึงช่วงเวลานั้น "แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ต่างประเทศในฐานะนักเขียน นอกจากภาษาแล้วผมจะไม่ได้ติดต่อกับคนชาติเดียวกันที่เราเข้าใจมากที่สุด ผมรู้สึกชอบอเมริกาอยู่เหมือนกัน แต่ปัญหาของพวกเขาไม่ใช่ปัญหาของผม"

คลีมากลับเมื่อเดือนมีนาคมค.ศ.1970 ขณะที่การกวาดล้างของโซเวียตกำลังดำเนินถึงจุดสูงสุด "มันหนาวมาก" เขาเท้าความ "พวกเขาแบนทุกคนที่ไปเกียวข้องกับเหตุการณ์เมื่อฤดูใบไม้ผลิ คน 400,000 คนตกงาน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานทักษะูสูง ครู อาจารย์ ทุกคนที่ทำงานวิทยุ โทรทัศน์ พวกสหภาพแรงงาน" คลีมาถูกขึ้นบัญชีดำในฐานะนักเขียน และถูกห้ามทำงานยกเว้นก็แต่งานรับใช้ เขาถูกยกเลิกหนังสือเดินทาง ถูกยึดใบขับขี่ ถูกตัดสายโทรศัพท์ เขาถูกขู่ว่าจะถูกขังคุกหากหนังสือของเขาตีพิมพ์ในต่างประเทศ

คลีมาต่อสู้กลับในทันที "ผมจัดกิจกรรมการอ่านขึ้นหลังจากที่เรากลับมาได้สัปดาห์เดียว" เขากล่าว "ผมเชิญแขกประมาณ 45 คน เต็มห้องนั่งเล่นบ้านเราพอดี ผมก็เตรียมมีทบอลให้แขก ซึ่งถูกเรียกติดปากว่า "คลีมาบอล" แล้วก็มีการดื่มไวน์กันนิดหน่อย มีคนอ่านอะไรบางอย่างที่เพิ่งถูกเขียนขึ้น และมันเป็นอย่างนั้นต่อมาในทุกสัปดาห์ ผมจำได้ว่าฮาเวลมาอ่านบทละครใหม่ของเขาสองเรื่อง และ [มิลัน] คุนเดอรา ที่เวลานั้นยังอยู่ในปราก ก็มาอ่านอะไรอยู่บ้างเหมือนกัน"

หลังจากประมาณปีหนึ่งผ่านไป เพื่อนของคลีมาลุดวิค วาคูลิค (ผู้เขียน A cup of coffee with my interrogator) ได้พาชายคนหนึ่งมาจากออสตราวา (Ostrava) ผู้เป็นนักเขียนที่เคยติดคุกมาปีหนึ่ง ชายคนนี้ต่อมาฆ่าตัวตาย เขานี้เองไปร่วมมือกับตำรวจลับเำื่พื่อเปิดเผยชื่อของทุกคนในกิจกรรมการอ่านนี้พร้อมด้วยรูปถ่ายของคนที่เข้าออก "ถึงจุดนั้น พวกเราก็ถูกเปิดเผยแล้ว" เขาบอก

นักเขียนถูกสะกดรอยตาม ถูกค้นบ้าน การนัดพบทำได้ยากขึ้น แ่ต่คลีมาบอกว่า "พวกเรายังพยายามติดต่อกันอย่างใกล้ชิด" มีการแนะนำให้ส่งงานเขียนเวียนกันไปในกลุ่ม รวมทั้งหนังสือ เำื่พื่อให้การกระจายความคิดทำได้ต่อไป เรียกว่า "samizdat" (พิมพ์เอง) นิยาย บทกวีและบทละครจึงถูกเขียนขึ้น โดยเริ่มต้นจากแฟนของวาคูลิค และทำซ้ำและเวียนไปในหมู่เพื่อน ตอนแรกทำออกมา 14 เล่ม และต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 50 ถึง 60 เล่ม จนกระทั่งมันแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางถึงหลักพันในวงการหนังสือใต้ดิน

ขณะที่เขากำลังเล่าเรื่องราวเหล่านี้ คลีมาเดินไปที่ชั้นหนังสือที่เหยียดยาวสุดห้องนั่งเล่นของเขา และดึงหนังสือเล่มบางๆออกมาบางเล่ม ซึ่งพิมพ์สองด้านบนกระดาษแอร์เมล์ "นี่เป็นหนึ่งในบทละครของฮาเวล และนี่คือบทกวีของเยโรสลาฟ ซีเฟอร์ต" - เหล่านี้คือประวัติศาสตร์ของการต่อต้านเย็บเล่มเอาไว้ด้วยกันอย่างประณีต

"สุดท้ายแล้วภายใน 18 ปี เราพิมพ์กันได้ 300 ฉบับ" ตอนแรกตำรวจพยายามยึดหนังสือพิมพ์เองเหล่านี้ตามบ้าน แต่มันแพร่กระจายไปเร็วเกินกว่าจะควบคุมได้ มันเป็นฝันร้ายที่แท้จริงของตำรวจลับ "และมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราไปกันต่อได้" คลีมาบอก

ในช่วงเวลาหลายปีนั้น คลีมาก็เหมือนๆกับปัญญาชนที่ถูกกวาดล้างคนอื่นๆ เขาทำงานไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถพยาบาล นักสำรวจ คนกวาดถนน - ซึ่งเหล่านี้เป็นวัตถุดิบของนิยายของเขาเอง - เขายังมีกิจกรรมอย่างอื่นด้วยในยามกลางคืน คือการเอาต้นฉบับของสำนักพิมพ์ตะวันตกผ่านเพื่อนในสถานทูตหรือไปเยี่ยมเยียนนักเรียนของตัวเอง

นิยายของเขาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตที่ดำเนินมาก่อนหน้านั้น และส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับวิธีการใช้ชีวิตแบบ "ธรรมดา" ในระบอบเผด็จการ เล่มที่ประสบความสำเร็จที่สุดเล่มหนึ่งเป็นกึ่งอัตชีวประวัติเรื่อง Love and Garbage ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตของเขาตอนที่เป็นคนกวาดถนน ที่มีปัญหาขัดแย้งระหว่างความรักที่เขามีให้กับภรรยาและความสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่น

การมีชีวิตอยู่ในความจริงทางการเมืองของเขานั้นง่ายกว่าทางความสัมพันธ์แบบหญิงชายมาก "ความรัก การนอกใจและการประนีประนอมดูจะส่งผลแก่ทุกๆคนในการมีชีวิตอยู่ในความจริง" ความเป็นจริงที่เต็มไปด้วยเรืองราวของชีวิตดูจะทำให้จินตนาการโรแมนติกไปไกลกว่าขอบเขตใดๆ

"สำหรับผม ผมชอบผู้หญิงมาตลอด" เขาบอก "บางครั้งผมรู้สึกว่าตกหลุมรัก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่นะ แม้กระนั้นชีวิตแต่งงานของผมก็มีความสุขมาก ปีที่แล้วเราเพิ่งฉลองครบรอบห้าสิบปีด้วยกัน" ครึ่งหนึ่งของคนรุ่นผมนั้นจะหย่าร้าง สำหรับผมการหย่าร้างคือการเลือกที่จะเข้าไปสู่สถานการณ์เดิมอีกครั้ง แต่ด้วยความเจ็บปวดที่ฝังอยู่แต่เดิมทั่วไปหมด"

บางครั้งคลีมาก็เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ปีค.ศ.1989 ด้วยน้ำเสียงแบบสัมพันธภาพของความรัก โดยเฉพาะในงาน Waiting for the Darkness, Waiting for the Light ซึ่งตัวละครหลักปาเวล ผู้กำกับโทรทัศน์ที่อาชีพการงานพังทลายเพราะระบอบคอมมิวนิสต์ ได้ไปเข้าร่วมเหตุการณ์ปฏิวัติในเดือนพฤศจิกายน

"อากาศฉุนกึกด้วยกลิ่นซากศพของคนตายที่อวลอบ..." ปาเวลรู้สึก "และอารมณ์อันแปลกแปร่ง หรือกระทั่งเรียกได้ความความปรีดานั้นได้เกิดขึ้น และดูเหมือนว่าได้พาทุกคนมารวมกัน ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนี้ได้ทำให้เขาแปลกใจ เพราะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเลย..."

ในฝูงชนปาเวลพบกับสตรีที่ครั้งหนึ่งเขาเคยรัก และเธอก็จูบเขาอย่างทันทีทันใด ในเวลาต่อมาปาเวลพยายามบอกเธอถึงความใกล้ชิดที่ทั้งสองมีในคืนวันรัฐประหาร

"มันเป็นชั่วขณะนั้นที่ทำให้มันเกิดขึ้น ปาเวล มันเป็นเรื่องของเวลา" เธอบอกแก่เขา
"เวลานั้นในอวสานไปหรือไร?"
"เวลาเช่นนั้นอยู่ได้ไม่นานนักหรอก"

เวลาของหลายคืนในเดือนพฤศจิกายน 1989 จะอยู่ยาวนานเท่าใดกันสำหรับคลีมา?

เขายิ้ม "ผมมีความสุขกับมันนานเท่าใดน่ะหรือ? มันน่าสนใจมากที่ผู้คนยอมรับอิสรภาพในฐานะที่มันเป็นเรื่องธรรมดาในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งๆที่เราต่อสู้เพื่อมันมายาวนานเหลือเกิน" เขาบอก "ในสัปดาห์หรือเดือนแรกๆคุณไม่ได้คิดถึงมันหรอก แต่คุณจะต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆที่ทำให้คุณโกรธ คอร์รัปชั่นอะไรอย่างนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การพึ่งพิงตลาดจนเกินพอดี ซึ่งก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของพันธนาการ เพราะฉะนั้นความรู้สึกมันไม่ได้อยู่นาน แต่การเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยนั่นละ ที่ยังคงอยู่"

คลีมาได้รับการทาบทามให้ไปรับตำแหน่งในรัฐบาลของฮาเวล แต่เขาปฏิเสธมันทั้งหมด "สำหรับผม จุดประสงค์ในการต่อสู้ของผมคือทำทุกอยางเท่าที่จะทำได้ในการล้มล้างระบอบอันเลวร้าย เมื่อมันเกิดขึ้นสำเร็จ ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ในเวลานั้นสิ่งเดียวที่ผมอยากทำคือกลับไปเขียนหนังสือต่อ และสามารถพิมพ์มันออกมา"

หลายสัปดาห์หลังเหตุการณ์ค.ศ.1989 หนังสือของคลีมาถูกตีพิมพ์อย่างรวดเร็วในปราก Love and Garbage ขายได้ 100,000 เล่ม เรื่องราวของเขา My Merry Morning ขายได้ 150,000 เล่ม มีคนต่อแถวยาวที่ร้านหนังสือทั่วจัตุรัสเวนเซสลาส เวลานี้หนังสือของเขาทั้งหมดขายได้เรื่องละอย่างน้อย 4,000 เล่ม

เขาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า "นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่แตกต่างคือหากเวลานี้ผมต้องการพูดอะไร ผมสามารถไปที่สถานีวิทยุหรือหนังสือพิมพ์และพูดมัน และก็จะไม่มีใครฟัง คนเดี๋ยวนี้ยุ่งอยู่กับรายการโชว์เท่านั้นเอง เมื่อก่อนผมมีแค่พิมพ์ดีด แต่ทุกคนกระเหี้ยนกระหือรืออยากอ่านงานของผม"

คลีมาใช้ชีวิตอยู่มานานและเห็นความขมขื่นของสถานการณ์เช่นนี้มามาก อาจมากเกินไปด้วยซ้ำ - แต่ก็นั่นละ, มันเป็นเช่นนั้นเอง

"เราไม่ได้หวังว่าสวรรค์จะลงมาอยู่บนดินในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น" เขากล่าวก่อนที่ผมจะจากมา "แต่ในท้ายที่สุด เราได้รับอิสรภาพ"


อีวาน คลีมา

เกิด : 14 กันยายน ค.ศ.1931 ที่ปราก
ครอบครัว : แต่งงานกับเฮเลนา นักจิตบำบัดในปีค.ศ.1958 มีลูกด้วยกันสองคน ไมเคิลเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และฮานาเป็นศิลปิน
งานชิ้นหลัก : My Merry Morning (1985), Love and Garbage (1986), Judge on Trial (1991), My Golden Trade (1992), Waiting for the Dark, Waiting for the Light (1994), No Saints or Angels (2001)


The Observer, 2 สิงหาคม 2009


Friday, July 31, 2009

ราตรีสวัสดิ์

วันนี้ฉันมีนิทาน อยากเล่าให้เธอฟัง
นิทานเรื่อง ท ทหาร อดทน
เวลาเค้ายืนเค้าแนบปืนกลไว้ข้างกาย
ทั้งที่เค้าไม่เคยใจร้ายและไม่เคยคิดฆ่าคน
แต่เป็นอีกคืนที่เค้าต้องออกลาดตระเวน
เป็นหน้าที่ของกองพันทหารราบผู้รักตัวเอง น้อยกว่าชนในชาติไทย

เพราะรู้ว่าเลือดเนื้อเค้าจะสละไม่ให้เราเป็นทาสใคร
ในขณะนั้น ผู้ก่อการร้ายซุ่มโจมตี
เสียงปืน ดังสนั่นตอนเวลาเลยเที่ยงคืนกว่า
เสียงระเบิดดังก้องกึกไปทั่วทั้งป่า
พร้อมเสียงกระสุนปืนทะลุตัวจ่า
เค้ารีบยกปืนกลข้างกายประทับบ่า
ในขณะที่ยิงสวนไปเค้าคิดแต่ว่า
ถ้าคืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของชีวิต
เค้าก็ยินดีที่จะสละทุกอย่างด้วยยศอันน้อยนิด
ขอเพียงคนในชาติได้หลับสบาย เค้าจะยืนหยัดปกป้องแผ่นดินแม้ชีพมลาย

ในราตรีที่ด้ามขวานลุกเป็นไฟ
ประเทศไทยเจ้าเอ๋ยมีคนฝากเพลงนี้มาให้


หลับตาเถอะนะ ขอให้เธอหลับฝันดี
คืนนี้ไม่ต้องห่วง ตรงนี้ฉันจะดูแลด้วยชีวิตของฉัน

ในคืนที่ผมกินเหล้าอยู่นั่งเล่น
ในคืนที่ป้าข้างห้องยังตั้งวงป๊อกเด้ง
คืนที่เด็กมัธยมนั่งท่องตำราเอนท์จุฬา
คืนที่ใครหลายคนลืมชื่อคนเดือนตุลา
คืนที่คุณนอนหลับอยู่บนเตียง
ทั้งหมดคือคืนเดียวกันกับเสียงปืนที่ดังเปรี้ยง
ของทหารต่อต้าน ข.จ.ก.
ผู้ไม่ยอมให้ใครมาเผาโรงเรียน เผาตำรา ส.ป.ช.
และยังไม่มีตอนจบของนิทาน
มีเพียงแต่ตอนรุ่งสางไม่เป็นศพก็พิการ
เพราะในทุกเช้าที่เราตื่นมาเมาขี้ตา
มันคือเช้าแห่งการสูญเสียที่ 5 องศา 37 ลิปดา
เขาตายเพื่อคนในชาติได้หลับสบาย
เขาจะยืนหยัดปกป้องแผ่นดินแม้ชีพมลาย

ในราตรีที่ด้ามขวานลุกเป็นไฟ
ประเทศไทยเจ้าเอ๋ยมีคนฝากเพลงนี้มาให้

หลับตาเถอะนะ ขอให้เธอหลับฝันดี
คืนนี้ไม่ต้องห่วง ตรงนี้ฉันจะดูแลด้วยชีวิตของฉัน
ฝากดาวบนฟ้า ร้องเพลงนี้ให้เธอฟัง
หากฉันไม่ได้กลับ อย่างน้อยให้เธอหลับสบายก็พอแล้ว

ได้ยินเพลงนี้ทางวิทยุขณะเปิดไล่ฟังไปตามสถานีต่างๆ เสียงคุณธีร์ ไชยเดชสลับกับเสียงร้องแรพของฟักกลิ้ง ฮีไร่ทำให้หูผมสะดุดเข้าอย่างจัง

นั่งฟังไปก็คิดไปว่า ตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงทางภาคใต้ของไทยได้ปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง (ต้องกล่าวว่าอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากมันได้เคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์หากแต่ต่างบริบทออกไปเท่านั้น) เมื่อห้าปีที่แล้ว ทั้งรุนแรงมากรุนแรงน้อยแตกต่างกันไป เมื่อมีเหตุการณ์อุกฉกรรจ์ขึ้นครั้งหนึ่ง ก็จะสามารถดึงดูดความสนใจของสื่อและสาธารณะได้พักหนึ่ง จากนั้นก็จะซาไปเป็นพักๆ - เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยมา

ไปๆมาๆ ในช่วงเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้น เรา (อย่างน้อยก็ตัวผมเอง) รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงทางภาคใต้ของไทยผ่านสื่อสารมวลชนบางแขนง รายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆตามรายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ อย่างทำให้รู้สึกได้ว่า "คุ้นชิน"

กระทั่งทำให้ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า ภาพความรุนแรงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีความเกียวข้องกับภาพความเป็นจริง หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆมากน้อยแค่ไหน?

คือผมไม่แน่ใจว่า สิ่งที่ถูกเรียกว่า "ภัยที่คุกคามต่อความมั่นคงของชาติ" "โจรใต้" "ผู้ก่อการร้าย" ฯลฯ ที่เรานึกถึง วาดภาพถึง (ตามข้อมูลที่้เรามีอยู่ในหัว) มันเป็นเช่นนั้นหรือไม่ในความเป็นจริง?

หรือมันใกล้กับความเป็นจริงสักน้อยไหม?

แต่จะว่าไปแล้ว มันก็อาจจะเป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้เลย หากคนเมืองอย่างผมต้องการรู้ถึงความเป็นจริงที่กำลังดำเนินอยู่ที่ภาคใต้

และควรจะต้องพูดต่อไปอีกว่า แม้เราจะถึงขนาดเดินทางลงไปในพื้นที่ก็ตามที แม้เราจะได้รับรู้ความจริงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะจากคนที่เราเฉพาะเจาะจงจะคุยด้วย จากพื้นที่ๆเราไปอยู่ กระทั่งถึงมุมมองและประสบการณ์ของเราเองต่อสิ่งที่เราพบ หรือปัจจัยอะไรอื่นๆอีกหลายประการ แต่นั่นคงไม่ได้ทำให้เรารู้ถึงความจริงทั้งหมด

ที่กล่าวมาเช่นนี้มิได้มีจุดประสงค์ในการพายเรือในอ่างแต่อย่างใด - แต่เพื่อจะบอกว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา (ไม่ว่าคุณจะเรียก "เพื่อนร่วมชาติ" หรืออะไรก็ตามแต่) อาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าเรารู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆหรือไม่

รัฐบาลและสื่อสารมวลชนหยิบยกเอาประเด็นเรื่องภาคใต้มาใช้อย่างไร คงไม่ต้องพูดถึงกันให้เสียเวลาและมากความ แน่นอนว่ามันได้ส่งผลกระทบทำให้เรารู้สึกบางเป็นครั้งคราว แต่จะมีใครปฏิเสธบ้างหรือไม่ว่า เวลาส่วนใหญ่ของเหล่าเพื่อนร่วมชาติอย่างเรา ไม่ได้คิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย

เพราะมันไม่เกี่ยวกับกู เพราะมันเป็นเรื่องความล้มเหลวของรัฐในการจัดการปัญหาเหล่านี้ เพราะมันเป็นเพียงข่าวที่สื่อสารมวลชนหยิบเอามาใช้ขายได้เป็นครั้งคราว หรือแม้กระทั่งมันเป็นประเด็นที่นายทุนไม่ได้มองว่ามัน "ขาย" หรือถ้ากระนั้นก็ตาม หากการหยิบเอามาใช้เป็นเรื่องการสร้างกระแส สร้างกำไรได้ ก็จะได้รับไฟเขียวอย่างแทบจะัทันทีทันควัน

สิ่งที่สำคัญกลับอยู่ที่ว่า ขณะที่สภาวะอันไม่เอื้ออำนวยเหล่านี้ดำรงอยู่ในสังคม เราได้แสดงความพยายามในการแหวก หรือตะโกนร้องกู่ก้องออกมาว่าเราอยากให้ปัญหานี้หยุดลงหรือไม่

แน่ละ, เส้นแบ่งของเจตนาดีและความโลภมันคงยากจะขีดให้ชัดเจน เพราะสองคนคงยลตามช่อง ดังนั้นทางออกคงจะมีไม่กี่ทาง หนึ่งในนั้นคงเป็นการพร่ำบอกแก่ตนเองว่า "ช่างแม่มันเถอะ กูเชื่อของกูเช่นนี้"

แล้วคนรุ่นใหม่ล่ะ?

จาก "ที่เกิดเหตุ" ของคุณวรพจน์, ผมยังไม่เห็นแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจากคนรุ่นหลัง ในการจะตะโกนกู่ก้องดังกล่าวมากนัก (ผมเชื่อว่ามี ท่านทราบก็ช่วยบอก) แต่พูดก็พูดเถอะ ปัญหาภาคใต้มันกำลังจะส่งต่อไปเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่รุ่นนี้ต้องรับผิดชอบ

ผมเชื่อว่าราตรีสวัสดิ์มีเจตนาที่ดี

แต่ผมกลัวว่ามันก็จะหายไปกับคลื่นลมอย่างที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอน่ะสิ

...ในคืนที่ผมกินเหล้าอยู่นั่งเล่น
ในคืนที่ป้าข้างห้องยังตั้งวงป๊อกเด้ง
คืนที่เด็กมัธยมนั่งท่องตำราเอนท์จุฬา
คืนที่ใครหลายคนลืมชื่อคนเดือนตุลา
คืนที่คุณนอนหลับอยู่บนเตียง
ทั้งหมดคือคืนเดียวกันกับเสียงปืนที่ดังเปรี้ยง...



ราตรีสวัสดิ์

Wednesday, June 24, 2009

สุขสันต์วันชาติ


วันนี้เป็นวันสำคัญของประเทศไทยวันหนึ่งที่ถูกกดทับ ปิดบัง ทำให้ลืม โดยกลุ่มที่ถืออำนาจเอาไว้ ท่าลองคิดดูเถิดว่า มันได้สะท้อนให้เห็นความอัปลักษณ์ของเหล่าชนชั้นนำของประเทศนี้อย่างไร

ผมเอาคอลัมน์ สยามประเทศไทย ของอาจารย์สุจิตต์จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวันในวันนี้มาเต็มๆ (โดยไม่ได้ขออนุญาต) เพราะตรงกับสิงที่ผมอยากจะเขียนเสียจริงครับ ผมขออภัยจริงๆ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อผลประโยชน์แต่อย่างใด

ขอเชิญอ่าน และจงเกิดความสำนึกบ้างเถิด

24 มิถุนายน 2475 ประวัติศาสตร์ถูกทำให้ลืม
สุจิตต์ วงษ์เทศ

24 มิถุนายน 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยแห่งชาติ

แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยมีลักษณะสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ

1. สั่งให้จำ 2. ทำให้ลืม

ประวัติศาสตร์ถูกสั่งให้จำ ล้วนเป็นเรื่องแต่งใหม่อย่าง"นิยาย" ไม่มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี แต่สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องการเรียนการสอนประวัติศาสตร์โบราณคดี ไม่เคยแบ่งปันเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้สาธารณชนรู้ จึงเท่ากับสมคบกับชนชั้นมีอำนาจ ปกปิดความจริงทางประวัติศาสตร์ แล้วแต่งเรื่องเท็จให้เป็นประวัติศาสตร์เท็จๆ
เช่น คนไทยมีแหล่งกำเนิดอยู่เทือกเขาอัลไต, คนไทยเป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้า, คนไทยถูกจีนรุกรานหนีลงทางใต้, คนไทยตกเป็นขี้ข้ามอญและขอมที่เป็นเจ้าของดินแดนอยู่ก่อน, คนไทยปลดแอกจากมอญและขอม, คนไทยสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก, กรุงศรีอยุธยาสร้างขึ้นเมื่อกรุงสุโขทัยล่มสลายแล้ว, ฯลฯ

ประวัติศาสตร์ถูกทำให้ลืม คือ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร(อ่านว่า คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน) เปลี่ยนแปลงการปกครองฯ แล้วรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือเป็น"วันชาติ"

ต่อมาชนชั้นนำมีอำนาจออกประกาศบังคับให้ยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน เพื่อให้ลืมประวัติศาสตร์คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง

24 มิถุนายน 2475 เป็นประวัติศาสตร์ถูกทำให้ลืม แต่เราไม่ลืม เพื่อให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมในอนาคต ใครจะทำไม?

ฉะนั้น ต้องร่วมกันบอกต่อๆไปให้จดจำ และเจ็บจำ"ไปถึงปรโลก"

ประเทศไทยไม่มีมิวเซียมการเมือง ผมเคยเขียนบอกหลายครั้งในหลายปีให้ทำบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จัดแสดงเป็นมิวเซียมการเมืองสยาม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการเมืองการปกครองโบราณ ก่อน 24 มิถุนายน 2475 ส่วนหลัง เป็นการเมืองหลัง 24 มิถุนายน 2475

"มิวเซียมการเมืองสยาม" ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากๆ เพราะจัดแสดงอย่างโล่งๆแจ้งๆเป็น museum without wall คือใช้สถานที่จริงที่เกิดเหตุการณ์จริงเป็นที่จัดแสดง โดยทำคำอธิบายย่อๆสั้นๆ เป็นไทย/อังกฤษ สแกนบนแผ่นโลหะบางๆ หรือวัสดุง่ายๆราคาถูกติดกับอาคารสถานที่สำคัญๆนั้นๆเท่านั้น เช่น

ลานพระรูป, หมุด 24 มิถุนายน 2475, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, อนุสรณ์สถาน, โรงแรมรอยัล, กรมประชาสัมพันธ์(เก่า), สนามหลวง, ธรรมศาสตร์, ฯลฯ

สุนทรภู่ เป็นชาวบางกอก อยู่ในตระกูลพราหมณ์ผู้ดีมีสกุล เกิดในวังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย ดูรายละเอียดใน www.sujitwongthes.com


ท่านผู้มีใจเป็นธรรมลองคิดดูเอาเองเถิดว่า มันเป็นการยุติธรรมแล้วหรือ ว่าแม้แต่ประวัติศาสตร์ของไทยเอง ประชาชนไทยยังถูกปิดตาเลย ประสาอะไรกับเรื่องอื่น?

สุขสันต์วันชาติครับ

Sunday, June 14, 2009

สินค้าสด - มนัส จรรยงค์

เนื่องด้วยที่ผ่านมาอ่านงานของนักประพันธ์ชั้นครู มนัส จรรยงค์ ติดต่อกันหลายเล่ม ก็เลยมีความคิดความเห็นออกมาบ้างเป็นเรื่องธรรมดา 

สินค้าสด เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นที่รวมอยู่ใน ซาเก๊าะและรวมเรื่องสั้นอันเปนที่รัก ของมนัส จรรยงค์ (สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, พ.ศ.2511) 

อันที่จริงมีหลายเรื่องที่อยากเขียนถึง แต่เอาเพียงเรื่องเดียวสั้นๆก่อนก็แล้วกัน 

สินค้าสด เป็นเรื่องราวของชายบ้านนอกผู้หนึ่งนามวิฑูร ซึ่งสามารถหาภรรยาที่เป็นคนกรุงเทพฯได้ เขาจึงพาเจ้าไปอยู่ด้วยที่บ้านนอก และเรื่องราวก็วุ่นวายหลังจากนั้น (ไม่อยากทำลายบรรยากาศ เอาเป็นว่าไปหาอ่านเองก็แล้วกันนะครับ)

สินค้าสด น่าจะพิมพ์ครั้งแรกในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ เพราะไม่มีการบอกว่าพิมพ์มาแล้วในที่อื่นอย่างเรื่องสั้นหลายต่อหลายเรื่องในเล่ม ซึ่งบอกปีที่พิมพ์เอาไว้ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ลองกะดู เรื่องสั้นนี้ก็น่าจะถูกเขียนขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 นั่นเอง  

แม้ว่า สินค้าสด จะไม่เคยถูกพูดถึงที่ไหนมาก่อน ผมกลับคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่สะท้อนรูปแบบการประพันธ์ของมนัส จรรยงค์โดยกว้างๆได้ 

ผมคิดว่า สินค้าสด พอจะทำให้ผมยกได้สามประเด็นกว้างๆ (ผมขอแนะนำให้อ่าน สินค้าสด ก่อนจะอ่านต่อไป เนื่องจากจะมีการยกเนื้อเรื่องหลายตอนขึ้นมาประกอบ หากหาอ่านไม่ได้ขอเชิญชั้น 4 หอกลาง จุฬาฯ บุคคลภายนอกเสีย 20 บาท) 

1) ในบริบทของประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย เรื่องศีลธรรมในงานของมนัส จรรยงค์เคยถูกพูดถึงแล้วในบลอกวรรณกรรมรักชวนหัว ซึ่งแยกงานมนัส จรรยงค์ ผู้เป็นนักเขียนรุ่นก่อน 14 ตุลาฯ ออกจาก วรรณกรรมของกลุ่มนักเขียนหลัง 14 ตุลาฯ 

งานเขียนของกลุ่มนักเขียนหลัง 14 ตุลาฯ จะมีการอ้างอิงศีลธรรมอย่างโจ่งแจ้ง และนำไปสู่การถกเถียงที่ว่า ไอ้สำนักหลัง 14 ตุลาฯ แบบนี้หรือเปล่า ที่มันไปอุดให้งานเขียนจากนั้นเป็นต้นมาคล้ายกับพายเรืออยู่ในอ่าง? (อะไรๆก็ศีลธรรม) 

และทำให้ (ด้วยภาษาของบลอกวรรณกรรมรักชวนหัว) "ทำไมศตวรรษหนึ่งผ่านไป นักเขียน(ผู้มีรสนิยม) ได้แต่อ่านเรื่องสั้นอาจารย์มนัส แล้วกระพริบตาปริบๆ ถามตัวเอง "ทำไมกูเขียนไม่ได้แบบนี้วะ!" 

ไปจนกระทั่ง "และประกาศให้โลกรู้เลยว่า เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ วรรณกรรมไทยได้ตาย (หรืออย่างน้อยก็ถดถอยลงอย่างช้าๆ ) ไปพร้อมกับอาจารย์มนัสแล้ว" 

เพื่อความเป็นธรรม ผมคงต้องยกสิ่งที่อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ได้กล่าวถึงในโอกาสแกไปพูดที่ศูนย์มานุษฯ สิรินธร (ที่จริงเป็นงานวิจารณ์วรรณกรรมของวินทร์ เลียววาริณ) เมื่อ 6 มิ.ย. 52 

อาจารย์พูดถึงงานของวินทร์ด้วยวิธีการจัดกลุ่มงานเขียน โดยพูดในบริบทประวัติศาสตร์ว่า วรรณกรรมยุคหลัง 14 ตุลาฯ เป็นวรรณกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับวรรณกรรมแนว "น้ำ่เน่า" ในยุคก่อน 14 ตุลาฯ ซึ่งทำให้วรรณกรรมหลัง 14 ตุลาฯ ได้ชื่อว่าเป็นวรรณกรรม "แนวทดลอง" ในเวลานั้นเสียเอง 

อาจารย์เสริมว่าวรรณกรรมแนวนี้จึงถูกเรียกว่าเป็นแนว "เพื่อชีวิต" หรือพอจะเลียบๆเคีัยงๆกับสัจนิยม (Realism) ในการจัดประเภทวรรณกรรมตะวันตกได้ 

แต่เมื่อยุคหลัง 6 ตุลาฯ เป็นต้นมาจนมาถึงยุคปลายสงครามเย็น วรรณกรรมเพื่อชีวิตได้อ่อนแรงลง แต่ ยังไม่มีวรรณกรรมใดที่เข้ามาทำหน้าที่ตอบโจทย์ใหม่ของสังคมหรืออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างที่นักวิจารณ์วรรณกรรมพอจะเห็นได้เลย จึงมีคำถามอยู่เสมอๆว่า "วรรณกรรมเพื่อชีวิตตายหรือยัง?" 

จนกระทั่งเมื่องานของวินทร์ เลียววาริณ ปรากฏขึ้นในบรรณพิภพ อาจารย์ใช้คำศัพท์ว่ามันได้ "แหวก" วงล้อมวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ครองพื้นที่อยู่มานานเกินไป และเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันที่แผ้วถางให้งาน "แนวทดลอง" นี้ตามกันมาได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนอย่างปราบดา หยุ่น อนุสรณ์ ติปยานนท์ กิตติพล สรัคคานนท์ ภาณุ ตรัยเวช ฯลฯ 

โดยงานแบบใหม่นี้ก็คือ "แนวทดลอง" ที่จะมาเบียดแนว "เพื่อชีวิต" (แต่ เราหลงลืมอะไรบางอย่าง อาจเป็นสิ่งที่ต้องอธิบายต่อไป) 

เพราะฉะนั้น หากพิจารณากันในแนวนี้ เราอาจจะกล่าวได้ว่ามันมีวรรณกรรม "แนวทดลอง" มาแทนที่วรรณกรรมยุคหลัง 14 ตุลาฯ แล้วก็ได้ ถ้าไม่มองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป เราอาจจะพอมีความหวังอะไรได้บ้าง? 

กลับมาที่งานของมนัส จรรยงค์ต่อ - หากจะว่าไปแล้ว งานเรื่องสั้นของราชาผู้นี้มีความ "น้ำเน่า" ไม่เบาเลย ไม่ว่าจะเป็นรัก พราก จาก ฉุดคร่า หนีตามกัน เสือ นักเลง คนจนกรอบ คนบ้านนอก คนกรุง ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะถูกหยิบใช้สม่ำเสมอ 

แต่ที่สำคัญ งานของมนัส จรรยงค์มีความก้าวหน้ามากกว่างานร่วมสมัยเดียวกันไม่ว่าจะโดยการหักมุมของเรื่อง การหาพลอตที่สามารถสร้างความประหลาดใจแก่คนอ่าน การนำเสนอเรื่องด้วยมุมหลากหลาย (ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินเรื่องปกติ หรือการดำเนินเรื่องด้วยมี "โฆษก" มาเล่าให้ฟัง เป็นต้น) นี่ยังไ ม่นับรวมฝีมือการบรรยายบรรยากาศและความงามของสตรีเพศชนิดหาตัวจับยากทีเดียว 

ใน สินค้าสด เรื่องศีลธรรมถูกท้าทายอย่างโจ่งแจ้ง วิฑูรผู้สวมบทสามี ควรจะต้องเป็นสามีที่่ดี เป็นหลักและที่พึ่งแก่ภรรยาได้ตามแบบอย่างความมีอารยะอย่างที่ได้กำหนดเอาไว้ในประเทศไทยหลายสิบปีก่อนหน้า ตั้งแต่ยุคจอมพลป. พิบูลสงคราม

แต่เขากลับพาภรรยามาเพื่อขายแลกกับเงิน โดยผู้ที่ขายก็ไม่ใช่ใคร คือเถ้าแก่ฮง ชาวจีนซึ่งคนไทยตั้งข้อรังเกียจเดียจฉันท์มาตั้งแต่ช่วง 1930's 

งานนี้เงินสามพันบาทถูกอาจารย์มนัสเอาไปตั้งคำถามกับระบบศีลธรรมของสังคมไทยทั้งสังคมทีเดียว 

2) ผมไม่ได้ีมีความรู้ทางทฤษฎีเรื่องนี้มากนัก แต่ผมคิดว่า สินค้าสด ก้าวหน้าในแง่ของการเป็นสาส์นสำหรับการเรียกร้องสิทธิสตรีในเมืองไทย เป็นเรื่องสั้นแนวสตรีนิยมโดยแท้ 

ลองคิดง่ายๆดีกว่า ท่านผู้อ่านลองนึกถึงเรื่องสั้นที่ผู้หญิงเผยเอาความรู้สึกของตนเองออกมา ว่ารักเพื่อนผัว แล้วยอมจะหนีไปกับเขา ในขณะที่ผู้นำสังคมไทยในต้นพุทธศตวรรษที่ 26 เป็นคนที่มีอนุภรรยาเป็นร้อยคนดูก็แล้วกัน ว่า สินค้าสด ก้าวหน้าขนาดไหน 

ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Jules et Jim (1962) ของผู้กำกับสังกัดกลุ่มคลื่นใหม่ในฝรั่งเศสฟรังซัว ทรูฟโฟ ที่เป็นภาพยนตร์เฟมินิสต์แรกๆในกลุ่มศิลปินรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่สำคัญคือร่วมสมัยกับอาจารย์มนัสเสียด้วย
...บังอรมันฝันว่า เจ้าได้ถูกเจ้ายงมันชมเชยเสียสมใจมัน ในฝันนั้นเจ้ารู้สึกว่า มันช่างเป็นความสุขเสียจริงๆ แต่บังอรก็ยังคิดว่า มันอาจจะไม่ใช่ความฝันก็ได้ ในเมื่อบางสิ่งบางอย่างในร่างกายเจ้ามันบอกเจ้าว่า มันเป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นจริงๆ...(หน้า 269)
...แม้ว่าจะเป็นเป็นเวลาสั้นๆที่ได้พบกัน แต่ก็เหมือนเทวดาดลใจ บังอรก็สุดจะหักใจไม่ให้คิดถึงมันได้ และไหนๆก็ไ้ด้พูดกันอย่างนี้แล้ว บังอรก็คิดว่า พูดให้มันรู้ถึงหัวใจของเจ้าเสียด้วยเถิด...(หน้า 274)
อย่างไรก็ตาม หากมองด้วยพลอตของทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงบังอรจะเกิดความรักอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็เป็นการวางแผนของทั้งผัวตนเอง ทั้งเพื่อนผัวที่ตนเพิ่งหลงรักเพื่อหลอกนำตนไปขายเป็นสินค้าสดทั้งสิ้น จึงมองได้สองมุมว่า ในมุมหนึ่ง ไม่ว่าบังอรเกิดจะต้องการทำตามใจตนเองอย่างไร แต่สุดท้ายก็ยังเป็นรอง/เป็นเครื่องมือให้แก่เพศชายอยู่ดี ในอีกมุมหนึ่งสามารถมองได้ว่าบังอรเป็นตัวแทนแห่งความแหกคอกที่เพศชาย(สังคมไทย)ล้อมกรอบเพศหญิงเอาไว้นั่นเอง 

3) ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า เรื่องสั้นชิ้นนี้น่าจะเขียนขึ้นเมื่อสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 26 เป็นที่เรียบร้อย 

กล่าวในแง่บริบทประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดอะไรขึ้นบ้าง? 

มันเป็นช่วงเวลาอันชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการเมืองและสังคมไทย โดยเฉพาะสงครามเย็นที่ได้ขยายขอบเขตการต่อสู้เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่่ปลายพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา  (จริงๆก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ)

จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ขึ้นปกครองประเทศพร้อมๆกับการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่วงศ์วานของทุนนิยมโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา เงินช่วยเหลือจำนวนมหาศาลหลั่งไหลมาจากวอชิงตันสู่กรุงเทพฯ เป็นยุคที่ประเทศไทยร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกในพ.ศ.2504 มีการสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ สร้างมหาวิทยาลัย การสร้างถนนหนทาง ฯลฯ เป็นยุคแห่ง "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี" โดยแท้ (กรุณาอ่าน การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ของอ.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ) 

ผลก็คือ "การพัฒนา" ดังกล่าวได้ทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นเมืองโตเดี่ยว และความแตกต่างเหลื่อมล้ำของชนบท/กรุง มีมากขึ้นทุกทีๆ 

ผมไม่แน่ใจว่าการใช้แว่น "นักท้องถิ่นแดนไกลนิยม" (exoticism) อย่างที่ใช้ในบลอกรักชวนหัว จะสามารถเอามาใช้มองงานมนัส จรรยงค์ได้มากแค่ไหน เนื่องจากหากไม่พิจารณาบริบทดังที่ผมได้กล่าวมาแล้ว เราก็จะไม่ทราบสาเหตุของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างเมืองและชนบทในประเทศไทย อย่างที่มนัส จรรยงค์หยิบมาใช้บ่อยๆได้เลย

ใน สินค้าสด การที่วิฑูร ผู้ซึ่งมีนามเก่าว่า "ไอ้ทุย" กลับมาบ้านก็เพื่อเสดงให้เห็นว่าตนเองประสบความสำเร็จ สามารถได้เมียคนกรุงเทพฯ มองในแง่นี้ มันเป็นความพยายามปลดแอกชนบทจากการครอบงำของกรุงเทพฯนั่นเอง 

มนัส จรรยงค์พยายามแสดงให้เห็นถึงการปะทะกันของค่านิยมอันแตกต่างระหว่างชนบท/เมือง 
...ปากมันแดงแจ๋ยิ่งกว่าอีพวกสาวๆชาวบ้านที่เคี้ยวหมากกันเสียจนปากเปรอะ คิ้วของมันก็ดำปิ๊ดราวกับเอาอะไรมาติดไว้ไม่ใช่ขนคิ้วแท้...นางแม่สวยคนนั้น ก็วางท่าเสียราวกับว่ามันนั่งคู่มากับคนสำคัญคนหนึ่งทีเดียว ดูตา ท่าทาง มันหยิ่งยะโสโอ้อวดตัวจนน่าหมั่นไส้เมื่อเวลาที่มีคนมองมัน...(หน้า 260) 
ความแตกต่างลักลั่นดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงความ "เหนือกว่า" ของกรุงเทพฯ โดยอาจารย์มนัส (ซึ่งผมว่าแกซาดิสต์นิดหน่อยในเรื่องนี้) จับเอา signifier ของกรุงเทพฯไปขายเป็นสินค้าสดเสียเลย หมดเรื่อง



ป.ล. จะดีมากหากมีใครอ่านแล้วช่วยกันอภิปราย เพราะหากไม่ต้องการให้วรรณกรรมไทยถูกอุดจุก เราต้องอ่านแล้วแสดงความคิดเห็นครับ