Thursday, October 30, 2008

กระบวนการสร้างความขัดแย้งสองขั้ว

ข้อน่าวิตกของความขัดแย้งสองฝ่าย (เวลานี้วาทกรรมการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกำลังเติบโตจนเกินไป ไม่ว่าอ.เกษียรจะพูดถูกหรือไม่ก็ตาม การฉีกออกเป็นสองขั้วทั้งในความจริงและในเชิงกระบวนการการสร้างความจริงก็น่าเป็นห่วงพอๆกัน) คือความขัดแย้งมันยกระดับขึ้นไปในแง่ของท่าทีการโจมตีกันและกัน 

ปรากฏการณ์การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายก็ได้ลามไปจนถึงพื้นที่สถาบันฯ (ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่) ซึ่งสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะแน่นอนว่าคนไทยยังไม่พร้อมจะถกเถียงกันในเรื่องนี้ และความรุนแรงจะตามมาโดยง่าย โดยเฉพาะเมื่อเราผ่านเรื่องการเกิดความรุนแรงมาแล้วโดยไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ เรื่องสถาบัน VS อีกฝ่าย ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่มันกลายไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ไม่ได้ครองความชอบธรรม(นักแล้ว) ดังนั้นมันจึงส่งกระทบต่อโครงสร้างทางการเมืองไทยเลยทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตคือ ปรากฏการณ์พันธมิตรฯตลอดสองสามปีที่่ผ่านมานั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย กระบวนการของพันธมิตรฯได้เปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองไทยตรงที่ฐานราก และมันจะดำเนินต่อไปไม่หยุด ผมยกตัวอย่างง่ายๆหากพันธมิตรเลิกชุมนุม มีรัฐบาลที่ยอมรับกันพอได้ สมมติต่อไปว่ารัฐบาลใหม่อยู่ครบเทอม คราวนี้ไอ้ความคิดที่ปะทะกันอยู่ในเวลานี้ก็จะไปปะทุึ้ขึ้นใหม่อีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง

คุณและผมตายแล้วเกิดใหม่อีกหลายครั้งมันก็จะยังดำเินินไปในทำนองนี้

Monday, October 27, 2008

เทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ 18 ตุลาฯ-2 พฤศจิกาฯ 2551

จริงๆแล้วผมเสียดายมากที่มาเขียนเอาในวันนี้ (ทั้งๆที่ควรจะเขียนตั้งแต่เดือนที่แล้ว) อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวแบบนี้ หากไม่เขียนก็เห็นว่าตัวเองจะนอนไม่หลับอีกเป็นแน่ 

โดยส่วนตัวผมก็พยายามจะติดตามหาการเคลื่อนไหวทางศิลปะของเมืองไทยอยู่เ สมอ เมื่อมีงานใดๆที่น่าสนใจ ผมก็มักจะแวะเวียนไปชิม ไปชมบรรยากาศให้เส้นสายไขข้อมันไม่ยึดไม่ตึงไปได้บ้าง 

งาน "เทศกาลศิลปะกับสังคม 2551: ศิลปะนานาพันธุ์" ก็ประชาสัมพันธ์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะเริ่มจัดวันแรกเมื่อ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา และงานนี้จะมีเรื่อยไปกระทั่ง 2 พฤศจิกายน ศกนี้ 

เรื่องรายละเอียดงานขอเชิญเข้าเยี่ยมชม เวบไซต์ ได้เลยนะครับ ผมคงจะไม่กล่าวอะไรมาก จะเล่าบรรยากาศและศิลปะที่ผมไปเสพก็แล้วกัน 

ผมจองตั๋วดูละคร "แผ่นดินอื่น" โดยคณะบี-ฟลอร์ ไว้ครับ ด้วยความที่อยากดูเพียงละครที่สร้างมาจากนักเขียนคนโปรด จึงไม่ได้คาดหวังอะไรกับงานครั้งนี้มากนัก

แต่แล้วผมก็ผิดคาด

มีอยู่สองอย่างครับที่ผิดคาด อย่างแรกคือ ผมได้รับอะไรกลับไปจากงานนี้มากกว่าที่คาดเอาไว้ และอย่างที่สองคือ ผิดคาดที่คนมางานนี้ไม่มากนัก (อาจเป็นเฉพาะวันที่ผมไป คือพุธที่ 22 ตุลาฯ) 

อย่างที่ทราบกันว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวายโกลาหลกันทุกวันนี้ ย่อมทำให้ทุกคนอิดหนาระอาใจ ผมก็เลยมานั่งคิดก่อนหน้านี้ว่า แล้วเหล่าศิลปินเขาคิดอย่างไรกันเล่า? เขามีปฏิกิริยาต่อยุคสมัยนี้อย่างไร? 

เทศกาลนี้มีคำตอบครับ 

แม้จะมีความฉุกละหุก และยังขาดความเป็นมืออาชีพบ้าง ผมคิดว่าคนไทย (หากไม่ลำบากจนเกินไปนัก) ควรจะต้องไปงานนี้กัน เพื่อสังเกตการณ์ความเป็นไปของศิลปะหลายแขนง 

เอาสั้นๆไว้ก่อนก็แล้วกันครับ อยากรู้ไปดูกันเอาเอง 

ดีกว่าไปอยู่ทำเนียบฯ และสนามหลวงตั้งเยอะ 


Saturday, October 18, 2008

ส.พลายน้อย-"นักเขียนอมตะ"

สวัสดีวันหยุด-พักเรื่องการเมืองกันบ้างดีกว่าครับ 

วันนี้มาร่วมแสดงความยินดีกับนักเขียนอาวุโสที่ได้สร้างผลงานไว้มากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโบราณคดี ประวัติศาสตร์ นิยาย สารคดี และอีกหลายหลายประเภท 

คุณสมบัติ พลายน้อย (ส.พลายน้อย) ได้รับรางวัล "นักเขียนอมตะ" ประจำปีพ.ศ.2551 โดยมีคำประกาศเกียรติคุณเอาไว้ว่า 

คณะกรรมการพิจารณารางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายสมบัติ พลายน้อย (ส. พลายน้อย)  เป็นผู้สมควรได้รับรางวัลเกียรติยศ “นักเขียนอมตะ”

นายสมบัติ พลายน้อย เป็นนักอ่าน นักค้นคว้า นักเขียน ผู้รอบรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและพื้นฐานวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี ทั้งได้สร้างสรรค์ผลงานด้านต่างๆ เช่น วรรณคดี ประวัติศาสตร์ โบราณคดี อักษรศาสตร์ ชีวประวัติบุคคลสำคัญ วัฒนธรรม และสารคดีทั่วไป มาเป็นเวลาต่อเนื่องนานกว่าหกทศวรรษ นอกจากนั้นยังได้จัดทำสารานุกรมวัฒนธรรมไทย และสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย โดยที่ผลงานดังกล่าวสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลเพื่ออ้างอิงได้ อีกทั้งยังมีผลงานเขียนในรูปแบบนิทานที่ให้ความรู้ทั้งนิทานไทย และนิทานนานาชาติอีกเป็นจำนวนมาก รวมผลงานที่นายสมบัติ พลายน้อย ได้สร้างสรรค์และได้รับการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มจากอดีตตราบจนปัจจุบันกว่า ๑๐๐ เล่ม โดยที่ผลงานเขียนและการค้นคว้าเรียบเรียงของนายสมบัติ พลายน้อย ได้อำนวยประโยชน์และให้ความรู้แก่ผู้อ่านอย่างกว้างขวางทุกระดับ ทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป นอกจากนั้นนายสมบัติ พลายน้อย ยังได้ทำหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ทางวัฒนธรรมไทย เพื่อปลูกฝังรากฐานความภูมิใจในความเป็นชาติให้แก่คนในสังคมอีกเป็นอันมาก เช่น เป็นบรรณาธิการวารสารวัฒนธรรมไทย ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้จัดรายการวิทยุศึกษา เป็นต้น นับได้ว่า นายสมบัติ  พลายน้อย เป็นผู้ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมให้แก่สังคมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

นายสมบัติ พลายน้อย จึงเป็นตัวอย่างอันดีที่พิสูจน์ให้สังคมได้ประจักษ์ว่าการอ่านมีความสำคัญต่อชีวิต เป็นผู้ที่อุทิศตนโดยใช้ความสามารถส่วนตัวที่ได้จากการอ่านค้นคว้า มาสร้างสรรค์ผลงานการเขียนที่ทรงคุณค่าให้แก่สังคมไทย  สมควรได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น “นักเขียนอมตะ”

ประกาศ ณ วันอังคารที่ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑

ขอแสดงความยินดีครับ


Friday, October 17, 2008

ความน่าเป็นห่วงของการเมืองภาคประชาชนสองขั้ว



ด้วยความที่สถานการณ์การเมืองสองขั้ว ณ เวลานี้กำลังยกระดับไปสู่ภาวะที่น่าเป็นห่วง (กว่าเดิม) อย่างมาก เนื่องจากเราจะเห็นถึงการเพิ่มขึ้นของ "สีแดง" ที่กำลังจะแก้ทาง "สีเหลือง" ในทุกๆด้าน (เช่น มีมือตบ ก็จะมีตีนตบ มีการปรักปรำ ก็ปรักปรำกลับ เป็นต้น) 
    
ผมว่า "เล่นตามเกม" กันอย่างนี้ น่าเป็นห่วง 

ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้หรอกครับ แต่ผมคิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ควรไปดำเนินยุทธศาสตร์แบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" แบบนี้ เพราะเราจะเห็นว่าความรุนแรงระหว่างทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นได้ง่ายมาก จากการปะทะกันหลายๆครั้งที่ผ่านมา 

สิ่งที่ควรจะต้องทำ คือการพยายามดึงกระแสสังคมให้กลับไปสู่ระบบระเบียบประชาธิปไตยให้ได้เสียก่อน (และควรจะต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันสักนิด ว่าพวกเขากำลังสู้กับ "ใคร") เพื่อลดอุณหภูมิลง และตั้งหลักเพื่อไปแก้ที่โครงสร้างทางการเมืองดีกว่า 

เพราะไม่แน่ การรุกกลับอาจเหนื่อยเปล่า

Wednesday, October 8, 2008

เมื่อสถาบันทางการเมืองทั้งหลายล้มเหลว (?)


ความวุ่นวายโกลาหลที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ย่อมทำให้คนไทยจำนวนมากตั้งคำถามว่า มันเพราะเหตุใดกันที่ความรุนแรงเกิดบานปลายจนยอดผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงอย่างน่าใจหาย และเป็นยอดที่สูงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรฯเริ่มการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

มีนักวิชาการหลายท่านวิเคราห์ว่า เหตุแห่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะสถาบันทางการเมืองทั้งหมดล้มเหลว ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร รวมทั้งฝ่ายตุลาการ ที่ไม่สามารถดำเนินมาตรการใดๆ ที่จะสร้างความสงบให้เกิดขึ้นได้ 

ผมมีสักสามสี่เรื่่องในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่คิดว่าเ ราน่าจะนำมาขบคิดกันหน่อย

อย่างแรกคือ (ขออนุญาตใ ช้เครื่องหมาย "..." มากหน่อยนะครับ) พันธมิตรฯ ในฐานะ "กลุ่มการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" นั้นมีข้อได้เปรียบอย่างชัดเจนในฐานะการเป็น "ภาคประชาชน" กล่าวคือ ในยุคที่ประเทศไทยกำลังเห่อ "สิทธิมนุษยชน" อย่างไม่ลืมหูลืมตาเช่นนี้ รวมทั้งอิสรภาพของสื่อมวลชนที่มีมากมาย ย่อมทำให้ ภาครัฐ รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือทั้งหมดของภาครัฐ (ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ฯลฯ) เป็นผู้ถูกจับตาอย่างยิ่งยวดในฐานะผู้ที่ถูกมอง (ด้วยสายตาอย่างโบราณ) ว่า "เป็นผู้ผูกขาดความรุนแรง"

การมองเ ช่นนี้ย่อมทำให้กลุ่ม "ภาคประชาชน" อย่างพันธมิตรฯ (บางส่วน) สามารถเล็ดลอดไปจากการถูกสอดส่องว่า พวกเขาเองเป็นผู้จุความรุนแรงขึ้นหรือไม่ เพราะไม่ว่าพวกเขาจะเริ่มหรือภาครัฐเป็นผู้เริ่ม ผู้ที่ได้เปรียบสุดท้ายคือพวกเขาอยู่ดี และภาครัฐก็จะยิ่งเสียความชอบธรรมต่อไปเรื่อยๆ แ ละน่าเป็นห่วงว่า เมื่อความรุนแรงบานปลายไปถึงอีกระดับหนึ่ง, รถถังจะออกมา (ซึ่งก็เป็นไปได้)

อย่างที่สอง เราควรจะมาตั้งคำถามกันถึงบทบาทของสถาบัน "ที่เรารู้กันอยู่ว่าใคร" ว่าอยู่ตรงจุดไหนในสถานการณ์นี้ มีลุงๆป้าๆ ที่ผมคุยด้วยตัดพ้ออกมาว่า ทำไมผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงไม่ออกมาจัดการกับเหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่อำนาจสิทธิ์ขาดบางชนิดจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงไปได้อย่างง่ายดาย 
(ดังที่ได้เคยเกิดมาแล้ว) หรือมีเหตุผลอื่นๆ?

สถาบันการเมืองอาจจะไม่ได้ล้มเหลว แต่อำนาจอาจจะไม่มากพอก็เป็นได้ ทั้งนี้ นักวิชาการที่วิเคราะห์เรื่องการเมืองไทยไม่ควรละเลยบริบทนี้ ในการสร้างคำอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไืทย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือผลิตผลงานทางวิชาการ


ประการที่สาม พรรคการเมืองฝ่ายค้าน แม้ในทางหนึ่งจะพยายามรักษาจุดยืนของตนเอง แต่ในอีกทางหนึ่ง ในฐานะที่เป็นพรรคที่โลกแล่นในการเมืองไทยมาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ควรจะมีท่าทีใ นการรักษาประชาธิปไตยให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ฉวยโอกาสไปเสียในทุกๆเรื่องๆ ซึ่งจะกลับกลายให้เป็นข้อถูกโจมตีของพวกเขาได้ในอนาคต 

พวกเขาเองต้องหาทางพยายามเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯด้วย (ในฐานะที่พันธมิตรฯ น่าจะฟังพวกเขามากกว่าฟังรัฐบาล) และสร้างข้อเจรจาให้เกิดเงื่อนไขให้หาทางออกกัน แทนที่จะใช้สถานการณ์เพื่อปูทางไปสู่อำนาจเพียงอย่างเดียว (ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา)


เรื่องสุดท้าย ถึงเวลานี้ประเทศไทยได้เสียโอกาสและรายได้ไปแล้วเป็นจำนวนหลายหมื่่นล้าน ดังนั้น หลายๆฝ่ายต้องพยายามนำเสนอเรื่องต่างๆเหล่านี้ให้มากขึ้นอีก อย่าพยายามชี้ให้เห็นว่า "เราจะได้อะไรร่วมกัน" หากเกิดความ "สมานฉันท์" ขึ้น แต่จะต้องชี้ให้เห็นว่า "เราจะเสียอะไรร่วมกัน" หากมันดำเนินต่อไปเช่นนี้ 

ดูกันต่อไปแล้วกันครับ