Tuesday, December 16, 2008

ข้อเรียกร้องไปแบบน้ำขุ่นๆ

การเรียกร้องให้ฝ่ายแดงหยุดเคลื่อนไหวเพื่อเห็นแก่ความสงบของชาติบ้านเมืองก็ไม่ต่างอะไรไปจากการเรียกร้องให้รับรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร ข้ออ้างที่ว่าให้ยอมรับการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ กล่าวด้วยภาษาชาวบ้านคือ ยอมรับมันไปเถอะ เรื่องราววุ่นวายมันจะได้จบ และอาจจะตามมาด้วยข้ออ้าง (ที่มีน้ำหนักอย่างยิ่ง) ว่าเศรษฐกิจกำลังดิ่งลงเหวแล้ว การเมืองจะเป็นอย่างไรก็เป็นเถิด มีรัฐบาลมาบริหารประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจมันเดินหน้าก่อน จากนั้นค่อยว่ากัน

เป็นข้ออ้างที่น่าเห็นใจครับ

แต่คงจะต้องมาเตือนสติกันนิดหนึ่งว่า หากไอ้ความรู้สึกแบบ ปล่อยๆมันไปเถอะ ยังเกิดขึ้นเช่นนี้อยู่ มันจะกัดกร่อนเสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพราะอาการดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นเสมอๆหากเรายังไม่สามารถรักษากติกากันได้เช่นทุกวันนี้ และแน่นอนว่าไม่ต้องพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเมื่อฝ่ายการเมืองสะดุด ไม่ขยับนโยบายทางเศรษฐกิจต่อแล้ว ฝ่ายเอกชนก็พลอยได้รับผลอย่างไม่ต้องสงสัย วิสัยขายผ้าเอาหน้ารอดไปเช่นนี้ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาเพราะคนมีอำนาจเดิมไม่เล่นตามกติกา และยอมทำทุกวิถีทางในการรักษาเอาไว้ซึ่งอำนาจ

 สื่อมวลชนมีบทบาทตรงนี้มากในการทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบ อย่าลืมว่าเวลานี้คนจำนวนมากรับรู้และรับฟังความ(มีอัน)เป็นไปทางการเมืองผ่านสื่อเท่านั้น บางคนก็ไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์เอาเท่านั้น การให้การศึกษาทางการเมืองเช่นนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เลือก เอาข้อมูลประเภทใดมานำเสนอ

สื่อมวลชนมีบทบาทมาก

หากเสนอข่าวในทำนองว่า การเมืองก็ต้องเป็นเช่นนี้ เราก็ต้องเข้าใจ คุณก็ไปทำข่าวชนิดอื่นดีกว่าไหม? นี่คือการผิดจรรยาบรรณชนิดหนึ่งด้วยซ้ำ หรือคุณได้รับการสนับสนุนจากใครหรือเปล่า? แน่นอนว่าสื่อย่อมจุดยืนทางการเมือง หากแต่หน้าที่ในการชี้ให้เห็นความสำคัญของระบบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ กฏหมาย หรืออาจรวมไปถึงจารีต ควรจะต้องเป็นของสื่อไม่ใช่หรือ?

หรือเวลานี้กำลังอึกอัก น้ำท่วมปากอยู่? 

Wednesday, December 10, 2008

ชัยชนะระยะสั้นที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆของฝ่ายอำมาตย์

ความผกผันทางการเมืองที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เป็นเรื่องน่าแปลกใจอะไรสำหรับผู้ที่สังเกตการณ์การเมืองไทย เพราะหากว่ากันในเชิงการเมืองเรื่องอำนาจแล้ว นี่ก็คือการตะเกียกตะกายเอาตัวรอดของเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มองเห็นการจองล้างจองผลาญของฝ่ายอำมาตย์อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นเรื่อยๆ (และหน้าด้านขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน) ดังนั้นความมีเสถียรภาพจึงเกิดได้ยากยิ่งในยามที่นักการเมืองต้องการเก็บตำแหน่งในฝ่ายบริหารเพื่อผลประโยชน์จะได้ตกถึงเหล่าบริวาร รักษาฐานการสนับสนุนเอาไว้ให้ได้ ผลคือการสลับสับขั้วทางการเมืองอย่างที่เห็น

มีข้อสังเกตตื้นๆบางอย่างที่น่าสนใจ

        ๑) แม้ฝ่ายทหาร (ซึ่งเป็นแขนขาที่แข็งแรงอันหนึ่งของอำมาตยาธิปไตย) จะแทรกแซงทางการเมืองมาโดยตลอด ครั้งนี้เป็นความพยายามแทรกแซงโดยไม่ปฏิวัติรัฐประหารโดยตรง หากแต่ยังใช้การปฏิวัติเป็นข้ออ้างในการกดดันเหล่าสส.ให้เปลี่ยนขั้วด้วย ในแง่หนึ่งอาจเป็นเพราะทหารพบว่าการรัฐประหารจะไม่ได้รับการยอมรับแล้วหรือทหารมีเงินไม่พอ มันเป็นอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากทหารพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าแทรกแซงทางตรงเนื่องจากกระแสสังคมดังเช่นช่วงภายหลัง ตุลาฯ 2516 ถึง ตุลาฯ 2519 มีการต่อต้านสูง อย่างไรก็ตามมีอย่างน้อยประการหนึ่งที่แตกต่างออกไปคือฝ่ายการเมืองวิ่งเข้าหาทหารในยุคหลัง 14 ตุลาฯ เนื่องจากอำนาจแท้จริงยังอยู่ในมือทหาร ซึ่งยังอยู่ในส่วนยอดของโครงสร้างอำนาจการเมืองไทย แต่ยุคทักษิณได้ทำให้บทบาททหาร (รวมทั้งอำมาตย์) อ่อนลง จึงทำให้ครั้งนี้ฝ่ายทหารวิ่งเข้าใส่ฝ่ายการเมือง ต่อรองผลประโยชน์ในการธำรงเอาไว้ซึ่งระบบการเมืองแบบเก่า ในขณะเดียวกัน สภาพเศรษฐกิจของโลกและของไทยที่กำลังตกต่ำอย่างสุดขีดทำให้เหล่าผู้นำอำมาตย์มองว่าการรัฐประหารจะไม่ใช่คำตอบแล้วก็เป็นได้ (เรื่องนี้ซับซ้อน อาจต้องมองกันยาวๆและศึกษากันต่อไป)

ในอีกแง่หนึ่ง ฝ่ายอำมาตย์เองก็ขยับยุทธศาสตร์ด้วยการใช้อีกแขนหนึ่ง (ซึ่งไม่ดีต่อตัวอำมาตย์เองเลย) คือตุลาการ ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อสู้เช่นเดียวกับทหาร ต้องขอย้ำอีกครั้งว่านี่ไม่ใช่กระบวนการตุลาการณ์ภิวัฒน์แต่อย่างใด หากแต่เป็นการดิ้นรนต่อสู้ทุกวิถีทางในการดำรงระบอบการปกครองแบบเก่าเอาไว้ให้ได้ ภายใต้วาทกรรมชุดใหญ่ชุดหนึ่ง ฝ่ายตุลาการจะพบว่าตนเองกำลังรักษาบ้านเมืองเอาไว้ได้ (ทั้งๆที่ตนเองรู้อยู่ว่ามันไม่ถูกต้อง ดังที่มีบางแหล่งข่าวเปิดเผยการพูดคุยกันลับๆของผู้พิพากษา) ดังนั้นเวลานี้กำลังเกิดวาทกรรมชุดใหม่ขึ้นมา ว่าด้วยการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตย VS ฝ่ายอำมาตย์ โดยเฉพาะเจาะจงลงไปที่สถาบันกษัตริย์

๒) นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สถาบันฯออกมามีบทบาทชัดเจน โดยจะไม่เขียนในเชิงลึก (เพราะจะถูกสั่งปิดและผิดกฏหมาย จึงต้องสยบยอมต่ออำนาจ) แต่จะเห็นว่ามันได้เน้นย้ำวาทกรรมปชต. VS อำมาตย์ให้เป็นจริงขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ และชี้นำไปให้คาดเดาต่างๆนานาว่า การต่อสู้ ครั้งนี้มีอยู่จริง และ ให้มันรู้เสียบ้าง ว่าใครเป็นใคร กลายเป็นเรื่องที่คนไทยตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันเอง เพราะหากวาทกรรมดำรงอยู่ต่อไป มันจะฉีกขั้วคนออกเป็นสองขั้ว ซึ่งหากเลวร้ายที่สุดก็จะเกิดการนองเลือดอย่างที่ไม่เคยมาก่อน แล้วสุดท้ายที่ยืนในสังคมก็จะมีเพียงจุดเดียว (เช่นในปัจจุบัน) ท่าทีการไม่ยอมประนีประนอมเช่นนี้จะส่งผลเสียในระยะยาว

๓) จะเห็นได้ว่าภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ที่มีเสรนิยมใหม่เป็นตัวนำนั้น กำลังจะไม่เหลือพื้นที่ให้การปกครองแบบอำมาตยาธิปไตยอีกต่อไป (คนชั้นสูงคุมผลประโยชน์ และคนล่างๆลงไปรับส่วนแบ่ง อยู่ดีกินดีได้ตราบใดที่ไม่ไปคานอำนาจของคนข้างบน) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สังคมจะโหยหา คนอย่างทักษิณ มากขึ้น เพราะมันตอบสนองการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เหล่าอำมาตย์ที่ประณามทุนนิยมสามานย์นั้นก็เป็นนายทุนเสียเอง และเป็นนายทุนใหญ่ (มากถึงมากที่สุด) เสียด้วย ดังนั้นท่าทีปากว่าตาขยิบเช่นนี้จะทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคต

ฝ่ายอำมาตย์กำลังจะกุมชัยชนะในระยะสั้นครั้งนี้ แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้ส่งผลดีในระยะยาว ซึ่งพวกเขาเองก็หวาดหวั่น

 

เพราะมันเป็นอนาคตที่พอจะมองเห็นได้แล้ว

Tuesday, December 2, 2008

ปัญหาคือเราไม่มี Maoist และ Republicanism ก็อ่อนแอเกินไป

บางกอกพันดิืทโพสท์เอาไว้ เป็นบทวิเคราะห์สั้นๆ ว่าสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้ดีต่อสถาบันฯเลยแม้แต่น้อย โปรดเจียดเวลาไปอ่าน (เป็นภาษาอังกฤษ)

น่าสนใจว่าเวลานี้มีคนตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ
 
แต่ก็อย่างว่า, เราไม่มี Maoist และ Republicanism ก็อ่อนแอเกินไป 


Thursday, November 27, 2008

คำถามที่น่าสนใจ (อึกอัก)


อาจารย์แอนดรูว์ วอร์คเกอร์เขียน
โพสต์เอาไว้ในนิวมันดาลา มีทั้งการตั้งข้อสังเกตและการตั้งคำถามที่ผมคิดว่าน่าสนใจล้วนๆ 

รบกวนเวลาคลิกไปดูกันสักนิด

ผมว่าคนไทยมีคำตอบบ้างแล้ว แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนอกจากอึกอัก (ดังเช่นโพสต์นี้) 

Monday, November 24, 2008

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กระท่อนกระแท่น

แน่นอนครับว่า เราหลายๆคนก็อยากให้ึความขัดแย้งกับเขมรยุติลงเสียที มีหลายฝ่ายที่ออกมาเสนอให้คนไทยพยายามทำความเข้าใจเขมรเพื่อสานสัมพันธ์ให้ดียิ่งๆขึ้นไป 

แต่คงมีหลายคน (รวมทั้งผมด้วย) อยากรู้ว่าเขมรคิดกับไทยอย่างไร 

มีโพสต์หนึ่งในบลอกของเคไอ-มีเดีย ซึ่งเป็นบลอกข่าวเกี่ยวกับเขมร ทำใ ห้ผมสะดุดตาครับ (รบกวนอ่านรายละเอียดเอาเองนะครับ) คร่าวๆว่า ตระกูล "อภัยวงศ์" นั้นแท้จริิงแล้วมาจากทางเขมร แ ละเ ขาก็ภูมิใจเป็นอย่างมาก ว่าครั้งหนึ่งตระกูล "อภัยวงศ์" ซึ่งเป็นเจ้าครองพระตะบองกว่าร้อยปี ตลอดศตวรรษที่ 19 ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย (ควง อภัยวงศ์) 

แม้จะเน้นไปในทางการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โทนของบทความก็เหมือนจะจงใจให้มีความรู้สึกบางอย่าง แล้วหากไปอ่านคอมเมนต์ด้วย คนไทยคงรับไม่ได้ 

นี่ละครับ เขมรเขาก็เพาะปลูกความเกลียดชังคนไทยเอาไว้อย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน-ผมไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อก่อให้เกิดความขัดแย้ง แต่หากเราจะแสดงข้อเท็จจริง เราก็ควรจะต้องแสดงให้ทุกด้าน 

อย่างที่อ.นิธิเขียนเอาไว้ว่า นอกจากการให้ร้ายต่อเพื่อนบ้านเพียงอย่างเดียวจะบิดเบือนประวัติศาสตร์แล้ว การให้ดีอย่างเดียวก็บิดเบือนเช่นกัน 

Thursday, October 30, 2008

กระบวนการสร้างความขัดแย้งสองขั้ว

ข้อน่าวิตกของความขัดแย้งสองฝ่าย (เวลานี้วาทกรรมการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกำลังเติบโตจนเกินไป ไม่ว่าอ.เกษียรจะพูดถูกหรือไม่ก็ตาม การฉีกออกเป็นสองขั้วทั้งในความจริงและในเชิงกระบวนการการสร้างความจริงก็น่าเป็นห่วงพอๆกัน) คือความขัดแย้งมันยกระดับขึ้นไปในแง่ของท่าทีการโจมตีกันและกัน 

ปรากฏการณ์การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายก็ได้ลามไปจนถึงพื้นที่สถาบันฯ (ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่) ซึ่งสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะแน่นอนว่าคนไทยยังไม่พร้อมจะถกเถียงกันในเรื่องนี้ และความรุนแรงจะตามมาโดยง่าย โดยเฉพาะเมื่อเราผ่านเรื่องการเกิดความรุนแรงมาแล้วโดยไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ เรื่องสถาบัน VS อีกฝ่าย ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่มันกลายไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ไม่ได้ครองความชอบธรรม(นักแล้ว) ดังนั้นมันจึงส่งกระทบต่อโครงสร้างทางการเมืองไทยเลยทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตคือ ปรากฏการณ์พันธมิตรฯตลอดสองสามปีที่่ผ่านมานั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย กระบวนการของพันธมิตรฯได้เปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองไทยตรงที่ฐานราก และมันจะดำเนินต่อไปไม่หยุด ผมยกตัวอย่างง่ายๆหากพันธมิตรเลิกชุมนุม มีรัฐบาลที่ยอมรับกันพอได้ สมมติต่อไปว่ารัฐบาลใหม่อยู่ครบเทอม คราวนี้ไอ้ความคิดที่ปะทะกันอยู่ในเวลานี้ก็จะไปปะทุึ้ขึ้นใหม่อีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง

คุณและผมตายแล้วเกิดใหม่อีกหลายครั้งมันก็จะยังดำเินินไปในทำนองนี้

Monday, October 27, 2008

เทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ 18 ตุลาฯ-2 พฤศจิกาฯ 2551

จริงๆแล้วผมเสียดายมากที่มาเขียนเอาในวันนี้ (ทั้งๆที่ควรจะเขียนตั้งแต่เดือนที่แล้ว) อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวแบบนี้ หากไม่เขียนก็เห็นว่าตัวเองจะนอนไม่หลับอีกเป็นแน่ 

โดยส่วนตัวผมก็พยายามจะติดตามหาการเคลื่อนไหวทางศิลปะของเมืองไทยอยู่เ สมอ เมื่อมีงานใดๆที่น่าสนใจ ผมก็มักจะแวะเวียนไปชิม ไปชมบรรยากาศให้เส้นสายไขข้อมันไม่ยึดไม่ตึงไปได้บ้าง 

งาน "เทศกาลศิลปะกับสังคม 2551: ศิลปะนานาพันธุ์" ก็ประชาสัมพันธ์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะเริ่มจัดวันแรกเมื่อ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา และงานนี้จะมีเรื่อยไปกระทั่ง 2 พฤศจิกายน ศกนี้ 

เรื่องรายละเอียดงานขอเชิญเข้าเยี่ยมชม เวบไซต์ ได้เลยนะครับ ผมคงจะไม่กล่าวอะไรมาก จะเล่าบรรยากาศและศิลปะที่ผมไปเสพก็แล้วกัน 

ผมจองตั๋วดูละคร "แผ่นดินอื่น" โดยคณะบี-ฟลอร์ ไว้ครับ ด้วยความที่อยากดูเพียงละครที่สร้างมาจากนักเขียนคนโปรด จึงไม่ได้คาดหวังอะไรกับงานครั้งนี้มากนัก

แต่แล้วผมก็ผิดคาด

มีอยู่สองอย่างครับที่ผิดคาด อย่างแรกคือ ผมได้รับอะไรกลับไปจากงานนี้มากกว่าที่คาดเอาไว้ และอย่างที่สองคือ ผิดคาดที่คนมางานนี้ไม่มากนัก (อาจเป็นเฉพาะวันที่ผมไป คือพุธที่ 22 ตุลาฯ) 

อย่างที่ทราบกันว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวายโกลาหลกันทุกวันนี้ ย่อมทำให้ทุกคนอิดหนาระอาใจ ผมก็เลยมานั่งคิดก่อนหน้านี้ว่า แล้วเหล่าศิลปินเขาคิดอย่างไรกันเล่า? เขามีปฏิกิริยาต่อยุคสมัยนี้อย่างไร? 

เทศกาลนี้มีคำตอบครับ 

แม้จะมีความฉุกละหุก และยังขาดความเป็นมืออาชีพบ้าง ผมคิดว่าคนไทย (หากไม่ลำบากจนเกินไปนัก) ควรจะต้องไปงานนี้กัน เพื่อสังเกตการณ์ความเป็นไปของศิลปะหลายแขนง 

เอาสั้นๆไว้ก่อนก็แล้วกันครับ อยากรู้ไปดูกันเอาเอง 

ดีกว่าไปอยู่ทำเนียบฯ และสนามหลวงตั้งเยอะ 


Saturday, October 18, 2008

ส.พลายน้อย-"นักเขียนอมตะ"

สวัสดีวันหยุด-พักเรื่องการเมืองกันบ้างดีกว่าครับ 

วันนี้มาร่วมแสดงความยินดีกับนักเขียนอาวุโสที่ได้สร้างผลงานไว้มากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโบราณคดี ประวัติศาสตร์ นิยาย สารคดี และอีกหลายหลายประเภท 

คุณสมบัติ พลายน้อย (ส.พลายน้อย) ได้รับรางวัล "นักเขียนอมตะ" ประจำปีพ.ศ.2551 โดยมีคำประกาศเกียรติคุณเอาไว้ว่า 

คณะกรรมการพิจารณารางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายสมบัติ พลายน้อย (ส. พลายน้อย)  เป็นผู้สมควรได้รับรางวัลเกียรติยศ “นักเขียนอมตะ”

นายสมบัติ พลายน้อย เป็นนักอ่าน นักค้นคว้า นักเขียน ผู้รอบรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและพื้นฐานวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี ทั้งได้สร้างสรรค์ผลงานด้านต่างๆ เช่น วรรณคดี ประวัติศาสตร์ โบราณคดี อักษรศาสตร์ ชีวประวัติบุคคลสำคัญ วัฒนธรรม และสารคดีทั่วไป มาเป็นเวลาต่อเนื่องนานกว่าหกทศวรรษ นอกจากนั้นยังได้จัดทำสารานุกรมวัฒนธรรมไทย และสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย โดยที่ผลงานดังกล่าวสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลเพื่ออ้างอิงได้ อีกทั้งยังมีผลงานเขียนในรูปแบบนิทานที่ให้ความรู้ทั้งนิทานไทย และนิทานนานาชาติอีกเป็นจำนวนมาก รวมผลงานที่นายสมบัติ พลายน้อย ได้สร้างสรรค์และได้รับการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มจากอดีตตราบจนปัจจุบันกว่า ๑๐๐ เล่ม โดยที่ผลงานเขียนและการค้นคว้าเรียบเรียงของนายสมบัติ พลายน้อย ได้อำนวยประโยชน์และให้ความรู้แก่ผู้อ่านอย่างกว้างขวางทุกระดับ ทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป นอกจากนั้นนายสมบัติ พลายน้อย ยังได้ทำหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ทางวัฒนธรรมไทย เพื่อปลูกฝังรากฐานความภูมิใจในความเป็นชาติให้แก่คนในสังคมอีกเป็นอันมาก เช่น เป็นบรรณาธิการวารสารวัฒนธรรมไทย ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้จัดรายการวิทยุศึกษา เป็นต้น นับได้ว่า นายสมบัติ  พลายน้อย เป็นผู้ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมให้แก่สังคมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

นายสมบัติ พลายน้อย จึงเป็นตัวอย่างอันดีที่พิสูจน์ให้สังคมได้ประจักษ์ว่าการอ่านมีความสำคัญต่อชีวิต เป็นผู้ที่อุทิศตนโดยใช้ความสามารถส่วนตัวที่ได้จากการอ่านค้นคว้า มาสร้างสรรค์ผลงานการเขียนที่ทรงคุณค่าให้แก่สังคมไทย  สมควรได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น “นักเขียนอมตะ”

ประกาศ ณ วันอังคารที่ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑

ขอแสดงความยินดีครับ


Friday, October 17, 2008

ความน่าเป็นห่วงของการเมืองภาคประชาชนสองขั้ว



ด้วยความที่สถานการณ์การเมืองสองขั้ว ณ เวลานี้กำลังยกระดับไปสู่ภาวะที่น่าเป็นห่วง (กว่าเดิม) อย่างมาก เนื่องจากเราจะเห็นถึงการเพิ่มขึ้นของ "สีแดง" ที่กำลังจะแก้ทาง "สีเหลือง" ในทุกๆด้าน (เช่น มีมือตบ ก็จะมีตีนตบ มีการปรักปรำ ก็ปรักปรำกลับ เป็นต้น) 
    
ผมว่า "เล่นตามเกม" กันอย่างนี้ น่าเป็นห่วง 

ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้หรอกครับ แต่ผมคิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ควรไปดำเนินยุทธศาสตร์แบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" แบบนี้ เพราะเราจะเห็นว่าความรุนแรงระหว่างทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นได้ง่ายมาก จากการปะทะกันหลายๆครั้งที่ผ่านมา 

สิ่งที่ควรจะต้องทำ คือการพยายามดึงกระแสสังคมให้กลับไปสู่ระบบระเบียบประชาธิปไตยให้ได้เสียก่อน (และควรจะต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันสักนิด ว่าพวกเขากำลังสู้กับ "ใคร") เพื่อลดอุณหภูมิลง และตั้งหลักเพื่อไปแก้ที่โครงสร้างทางการเมืองดีกว่า 

เพราะไม่แน่ การรุกกลับอาจเหนื่อยเปล่า

Wednesday, October 8, 2008

เมื่อสถาบันทางการเมืองทั้งหลายล้มเหลว (?)


ความวุ่นวายโกลาหลที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ย่อมทำให้คนไทยจำนวนมากตั้งคำถามว่า มันเพราะเหตุใดกันที่ความรุนแรงเกิดบานปลายจนยอดผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงอย่างน่าใจหาย และเป็นยอดที่สูงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรฯเริ่มการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

มีนักวิชาการหลายท่านวิเคราห์ว่า เหตุแห่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะสถาบันทางการเมืองทั้งหมดล้มเหลว ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร รวมทั้งฝ่ายตุลาการ ที่ไม่สามารถดำเนินมาตรการใดๆ ที่จะสร้างความสงบให้เกิดขึ้นได้ 

ผมมีสักสามสี่เรื่่องในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่คิดว่าเ ราน่าจะนำมาขบคิดกันหน่อย

อย่างแรกคือ (ขออนุญาตใ ช้เครื่องหมาย "..." มากหน่อยนะครับ) พันธมิตรฯ ในฐานะ "กลุ่มการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" นั้นมีข้อได้เปรียบอย่างชัดเจนในฐานะการเป็น "ภาคประชาชน" กล่าวคือ ในยุคที่ประเทศไทยกำลังเห่อ "สิทธิมนุษยชน" อย่างไม่ลืมหูลืมตาเช่นนี้ รวมทั้งอิสรภาพของสื่อมวลชนที่มีมากมาย ย่อมทำให้ ภาครัฐ รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือทั้งหมดของภาครัฐ (ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ฯลฯ) เป็นผู้ถูกจับตาอย่างยิ่งยวดในฐานะผู้ที่ถูกมอง (ด้วยสายตาอย่างโบราณ) ว่า "เป็นผู้ผูกขาดความรุนแรง"

การมองเ ช่นนี้ย่อมทำให้กลุ่ม "ภาคประชาชน" อย่างพันธมิตรฯ (บางส่วน) สามารถเล็ดลอดไปจากการถูกสอดส่องว่า พวกเขาเองเป็นผู้จุความรุนแรงขึ้นหรือไม่ เพราะไม่ว่าพวกเขาจะเริ่มหรือภาครัฐเป็นผู้เริ่ม ผู้ที่ได้เปรียบสุดท้ายคือพวกเขาอยู่ดี และภาครัฐก็จะยิ่งเสียความชอบธรรมต่อไปเรื่อยๆ แ ละน่าเป็นห่วงว่า เมื่อความรุนแรงบานปลายไปถึงอีกระดับหนึ่ง, รถถังจะออกมา (ซึ่งก็เป็นไปได้)

อย่างที่สอง เราควรจะมาตั้งคำถามกันถึงบทบาทของสถาบัน "ที่เรารู้กันอยู่ว่าใคร" ว่าอยู่ตรงจุดไหนในสถานการณ์นี้ มีลุงๆป้าๆ ที่ผมคุยด้วยตัดพ้ออกมาว่า ทำไมผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงไม่ออกมาจัดการกับเหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่อำนาจสิทธิ์ขาดบางชนิดจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงไปได้อย่างง่ายดาย 
(ดังที่ได้เคยเกิดมาแล้ว) หรือมีเหตุผลอื่นๆ?

สถาบันการเมืองอาจจะไม่ได้ล้มเหลว แต่อำนาจอาจจะไม่มากพอก็เป็นได้ ทั้งนี้ นักวิชาการที่วิเคราะห์เรื่องการเมืองไทยไม่ควรละเลยบริบทนี้ ในการสร้างคำอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไืทย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือผลิตผลงานทางวิชาการ


ประการที่สาม พรรคการเมืองฝ่ายค้าน แม้ในทางหนึ่งจะพยายามรักษาจุดยืนของตนเอง แต่ในอีกทางหนึ่ง ในฐานะที่เป็นพรรคที่โลกแล่นในการเมืองไทยมาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ควรจะมีท่าทีใ นการรักษาประชาธิปไตยให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ฉวยโอกาสไปเสียในทุกๆเรื่องๆ ซึ่งจะกลับกลายให้เป็นข้อถูกโจมตีของพวกเขาได้ในอนาคต 

พวกเขาเองต้องหาทางพยายามเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯด้วย (ในฐานะที่พันธมิตรฯ น่าจะฟังพวกเขามากกว่าฟังรัฐบาล) และสร้างข้อเจรจาให้เกิดเงื่อนไขให้หาทางออกกัน แทนที่จะใช้สถานการณ์เพื่อปูทางไปสู่อำนาจเพียงอย่างเดียว (ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา)


เรื่องสุดท้าย ถึงเวลานี้ประเทศไทยได้เสียโอกาสและรายได้ไปแล้วเป็นจำนวนหลายหมื่่นล้าน ดังนั้น หลายๆฝ่ายต้องพยายามนำเสนอเรื่องต่างๆเหล่านี้ให้มากขึ้นอีก อย่าพยายามชี้ให้เห็นว่า "เราจะได้อะไรร่วมกัน" หากเกิดความ "สมานฉันท์" ขึ้น แต่จะต้องชี้ให้เห็นว่า "เราจะเสียอะไรร่วมกัน" หากมันดำเนินต่อไปเช่นนี้ 

ดูกันต่อไปแล้วกันครับ




Saturday, September 27, 2008

เมื่อเวลาที่เศรษฐกิจดิ่งลงเหว

เนื่องด้วยไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสามารถส่งผลกระทบได้อย่างมหาศาลในทุกเรื่อง ผมจึงใคร่ขอเชิญชวนให้ทุกท่านมาตระหนักว่า ณ บัดนี้โลกเรากำลังมุ่งไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในครั้งใหญ่อีกครั้งดังเช่นที่ประชากรโลกเคยเดือดร้อนกันมาแล้วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

            เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชได้พูดในเวทีการประชุมสหประชาชาติ เตือนภัยทางเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า และสำทับให้ประเทศต่างๆเตรียมตัวได้เลยว่ามีโอกาสประสบปัญหาอย่างร้ายแรง ทั้งนี้สหรัฐฯในฐานะศูนย์กลางระบบทุนนิยมโลกเกิดอาการทรุดลงอย่างรวดเร็วมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว และมาส่งผลชัดเจนเอาเมื่อหลายบริษัท ทั้งยักษ์ใหญ่ยักษ์น้อยในสหรัฐฯพากันเจ๊ง ปิดกิจการ หรือควบรวมกิจการกันเพื่อเอาตัวรวดจากภาวะนี้

            เปล่าหรอกครับ ผมไม่ได้จะมาพยายามหาสาเหตุว่าทำไมมันจึงเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างร้ายแรงเช่นนี้ได้กับสหรัฐฯ หรือรัฐควรจะมีมาตรการอย่างไรในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือกระทั่งไปถึงการวิเคราะห์ว่ามันจะส่งกระทบเพียงใดต่อประเทศไทย แต่ผมเพียงต้องการเปิดอภิปรายว่า ในฐานะปุถุชนคนธรรมดาทำมาหากิน ที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจทั้งมหภาคและจุลภาคเท่าใดนัก

            เราควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

            เพื่อนฝูงหลายคนที่ผมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย หลายคนมักจะต้องการให้ภาครัฐและเอกชนชะลอการลงทุนเอาไว้ ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมการออม มีการประกันราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ฯลฯ เพื่อนผู้ชายบางคนบ่นอุบว่าเวลาไปรับสาวๆที่บ้านอยู่ไกล พวกเขามักจะต้องเติมน้ำมันรถใหม่เสมอ ส่วนเพื่อนผู้หญิงหลายคนบอกว่าตนเองไม่ได้รับผลกระทบมากน้อยเท่าใดนัก เพราะราคาเสื้อผ้าแบรนด์เนมไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายจนเกินไปนัก หรือบางคนพูดทีเล่นทีจริงว่า หากหาสามีที่มั่งคั่งได้ สิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่ปัญหาของพวกหล่อนเลย

            คราวนี้ผมถามพวกเขาต่อไปว่า มีแผนการอย่างไรในอนาคตหรือไม่ คำตอบที่มักจะได้รับเสมอๆ คือ คงต้องประหยัดมากขึ้น

            แน่นอนครับว่ามาตรการแก้ไขความเดือดร้อนเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำนั้นนอกจากการจะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจ การลงทุน ฯลฯ ที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใดคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละคน

            เวลาพูดก็พูดง่ายอยู่หรอกครับ แต่เวลาทำนี่ยากแสนสาหัสทีเดียว เพราะครั้งนี้มันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ทางการเงินอย่าเดียวเท่านั้น แต่มันต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

            ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติครับ

            ผมมีสามประเด็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเมืองไทยและคิดว่าหลายฝ่ายควรจะนำมาอภิปรายให้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

            ประเด็นแรกคือเราต้องถอยออกห่างจากตัดสินผู้คนเนื่องมาจากฐานะทางเศรษฐกิจกันได้แล้ว พูดง่ายๆคือเลิกดูถูกคนจน(กว่า)กันเสียทีเถอะครับ คำเตือนนี้ผมมุ่งไปที่เหล่าชนชั้นกลางทั้งสูงและล่างที่ขยับเคลื่อนชนชั้นและฐานะได้สำเร็จ ไม่ว่าจะทั้งจากการศึกษาหรือจากการลงทุนทางธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม แทนที่จะเห็นใจคนที่ประสบความยากลำบาก กลับไปดูถูกเขาเสียอย่างนั้น-สิ่งที่สำคัญที่เราจะต้องคำนึงเสมอคือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ครับ ไม่ว่าคนไหนจะยากดีมีจนสูงต่ำดำขาวหรืออะไรก็สุดแล้วแต่ ทุกคนควรจะมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมแม้จะมากจะน้อยแตกต่างกันไป

            ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะต้องการจะชี้ให้เห็นว่า มันเป็นสิ่งที่สำคัญในการบ่มเพาะสังคมปะชาธิปไตยที่ดีให้เกิดขึ้นครับ ไม่ว่าจะใครก็ตามต่างต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองได้โดยไม่ถูกกีดกัน เราจะไปหาว่าคนจน คนที่ไม่ได้รับการศึกษานั้นโง่งมงายและไม่ควรมีสิทธิมีเสียงไม่ได้ ชนชั้นกลางในเมืองมักจะมองว่าคนชนบทเป็นเพียงเครื่องมือของนักการเมือง และพวกเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศได้คณะบริหารที่โกงกิน ผมขอบอกเอาไว้เลยครับว่า การแก้ปัญหาไม่ใช่การลดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องแก้ด้วยการให้ความรู้ทางการเมืองที่มากขึ้นสิครับถึงจะถูก หลายคนบอกว่ามันคงต้องใช้เวลาอีกเป็นชาติ ผมก็บอกเลยครับว่า จะเป็นชาติหรือสองชาติเราก็ต้องรอครับ แต่เราไปทำลายกลไกประชาธิปไตยลงไปไม่ได้

            แม้ในแนวคิดแบบสัจจะนิยมจะชี้ให้เห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ผู้ที่ครอบครองผลประโยชน์อยู่แล้วมาผ่องถ่ายหรือกระจายไปสู่คนระดับล่างลงไป และประวัติศาสตร์ไทยก็ชี้ให้เห็นแล้วอย่างชัดเจนว่าภาพความสัมพันธ์ทางสังคมของเราก็เป็นไปแบบบนลงล่างเสมอ แต่ไม่ได้แปลว่าความเปลี่ยนแปลงจะก่อเกิดขึ้นไม่ได้นี่ครับ หากเพาะเชื้อแห่งความเปลี่ยนแปลงเอาไว้โดยตลอด เมื่อมีประกายไฟเกิดขึ้นแล้ว มันจะได้จุดได้ง่ายยิ่งขึ้น

            ประเด็นที่สองเป็นเรื่องจิตสำนึกของผู้ที่เป็นเจ้าของทุนใหญ่ครับ มีตัวอย่างหลายประการที่ผมพบเห็น แต่ตัวอย่างหนึ่งที่ผมต้องขอยกขึ้นมาเพื่อให้มองเห็นได้ง่ายขึ้นคือค่ายเพลงใหญ่ทั้งหลายครับ หลายท่านคงจะเห็นกระแสฟีเวอร์ดาราเกาหลีอย่างมโหฬารในหมู่เยาวชนไทย (อย่างที่ญี่ปุ่นเคยทำได้เช่นกันเมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อน) การขยายตัวของทุนโดยใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือทำให้เราต้องมาพิจารณากันดีๆครับว่าเยาวชนเหล่านี้เป็น ผู้บริโภค หรือเป็น เหยื่อ กันแน่?

            การออกสินค้ามากมายไม่ว่าจะเป็นซีดีเพลง ของที่ระลึก รูปถ่าย การออกคอนเสิร์ต ฯลฯ เป็นความพยายามในการเพิ่มยอดขาย สิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดาของระบบทุนอยู่แล้วครับ ผมไม่ได้ติดใจอะไร แต่เรื่องที่ผมเพียรตั้งคำถามคือ ยอดขายของอัลบั้มดารานักร้องหน้าตาดีๆ (จะเกาหลีหรือไม่ก็ตาม) ที่พุ่งพรวดนั้น มาจากกระเป๋าสตางค์ของใคร? ก็แน่นอนครับว่ากลุ่มเป้าหมายของการขยายอัตรากำไรไม่ใช่ใครมากไปกว่าเหล่าเยาวชนนั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาก็ไม่ได้มีรายได้ประจำ นั่นก็แปลว่ายอดการเจริญเติบโตของค่ายเพลงใหญ่นั้นส่วนหนึ่งก็มาจากกระเป๋าสตางค์ของพ่อแม่เหล่านี้น่ะสิครับ

            คราวนี้สังคมต้องมาช่วยกันจับตาดูอย่างใกล้ชิดครับ ว่าเหล่าค่ายเพลงยักษ์ใหญ่นั้น คืน อะไรให้แก่สังคมบ้าง? หรือเขามีจิตสำนึกมากน้อยแค่ไหนนั่นเอง หากเราปล่อยให้เหล่านายทุนที่หวังแต่จะฟันกำไรเพียงอย่างเดียวมาเป็นผู้กุมกระบวนการทางวัฒนธรรมแบบนี้แล้ว เมื่อใดละครับ ที่พฤติกรรมการหากินกับเด็กอย่างไร้ยางอายเช่นนี้จะถูกทักท้วงเสียที?

            ประเด็นสุดท้ายวกกลับมาที่ตัวปัจเจกบุคคล ผมคิดว่าหนทางที่ดีในการจะช่วยเราให้มีความทุกข์น้อยลงจากความอัตคัตคือศาสนาครับ ที่กล่าวมาเช่นนี้อาจฟังดูเป็นนามธรรมเกินไป แต่ไม่ว่าศาสนาใดก็ตามย่อมมีจุดประสงค์บรรเทาความทุกข์กันทั้งนั้น สิ่งนี้ผมมุ่งแนะนำแก่เยาวชนไทยทั้งหลายที่ไม่ค่อยได้พยายามทำความเข้าใจศาสนาครับ อย่างที่พระไพศาลฯ ท่านเทศน์ไว้ว่าการบริโภคสัญลักษณ์กลายไปเป็นศาสนาใหม่เสียแล้ว วัดจึงไม่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป ดังนั้นศาสนาไม่ได้ทำให้ปลงตกครับ แต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงคุณค่าในตัวของเราที่มีอยู่แล้วอย่างมากมาย ดังคำกล่าวที่ว่า หากท่านตีราคาตนเองเพียงบาทเดียว ท่านคงต้องไปหาซื้อกระเป๋าราคาหนึ่งแสนบาทมาหิ้ว แต่หากท่านตีราคาตนเองหนึ่งแสนบาท ท่านกลับไม่ต้องหิ้วกระเป๋าใดๆเลย