Friday, July 31, 2009

ราตรีสวัสดิ์

วันนี้ฉันมีนิทาน อยากเล่าให้เธอฟัง
นิทานเรื่อง ท ทหาร อดทน
เวลาเค้ายืนเค้าแนบปืนกลไว้ข้างกาย
ทั้งที่เค้าไม่เคยใจร้ายและไม่เคยคิดฆ่าคน
แต่เป็นอีกคืนที่เค้าต้องออกลาดตระเวน
เป็นหน้าที่ของกองพันทหารราบผู้รักตัวเอง น้อยกว่าชนในชาติไทย

เพราะรู้ว่าเลือดเนื้อเค้าจะสละไม่ให้เราเป็นทาสใคร
ในขณะนั้น ผู้ก่อการร้ายซุ่มโจมตี
เสียงปืน ดังสนั่นตอนเวลาเลยเที่ยงคืนกว่า
เสียงระเบิดดังก้องกึกไปทั่วทั้งป่า
พร้อมเสียงกระสุนปืนทะลุตัวจ่า
เค้ารีบยกปืนกลข้างกายประทับบ่า
ในขณะที่ยิงสวนไปเค้าคิดแต่ว่า
ถ้าคืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของชีวิต
เค้าก็ยินดีที่จะสละทุกอย่างด้วยยศอันน้อยนิด
ขอเพียงคนในชาติได้หลับสบาย เค้าจะยืนหยัดปกป้องแผ่นดินแม้ชีพมลาย

ในราตรีที่ด้ามขวานลุกเป็นไฟ
ประเทศไทยเจ้าเอ๋ยมีคนฝากเพลงนี้มาให้


หลับตาเถอะนะ ขอให้เธอหลับฝันดี
คืนนี้ไม่ต้องห่วง ตรงนี้ฉันจะดูแลด้วยชีวิตของฉัน

ในคืนที่ผมกินเหล้าอยู่นั่งเล่น
ในคืนที่ป้าข้างห้องยังตั้งวงป๊อกเด้ง
คืนที่เด็กมัธยมนั่งท่องตำราเอนท์จุฬา
คืนที่ใครหลายคนลืมชื่อคนเดือนตุลา
คืนที่คุณนอนหลับอยู่บนเตียง
ทั้งหมดคือคืนเดียวกันกับเสียงปืนที่ดังเปรี้ยง
ของทหารต่อต้าน ข.จ.ก.
ผู้ไม่ยอมให้ใครมาเผาโรงเรียน เผาตำรา ส.ป.ช.
และยังไม่มีตอนจบของนิทาน
มีเพียงแต่ตอนรุ่งสางไม่เป็นศพก็พิการ
เพราะในทุกเช้าที่เราตื่นมาเมาขี้ตา
มันคือเช้าแห่งการสูญเสียที่ 5 องศา 37 ลิปดา
เขาตายเพื่อคนในชาติได้หลับสบาย
เขาจะยืนหยัดปกป้องแผ่นดินแม้ชีพมลาย

ในราตรีที่ด้ามขวานลุกเป็นไฟ
ประเทศไทยเจ้าเอ๋ยมีคนฝากเพลงนี้มาให้

หลับตาเถอะนะ ขอให้เธอหลับฝันดี
คืนนี้ไม่ต้องห่วง ตรงนี้ฉันจะดูแลด้วยชีวิตของฉัน
ฝากดาวบนฟ้า ร้องเพลงนี้ให้เธอฟัง
หากฉันไม่ได้กลับ อย่างน้อยให้เธอหลับสบายก็พอแล้ว

ได้ยินเพลงนี้ทางวิทยุขณะเปิดไล่ฟังไปตามสถานีต่างๆ เสียงคุณธีร์ ไชยเดชสลับกับเสียงร้องแรพของฟักกลิ้ง ฮีไร่ทำให้หูผมสะดุดเข้าอย่างจัง

นั่งฟังไปก็คิดไปว่า ตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงทางภาคใต้ของไทยได้ปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง (ต้องกล่าวว่าอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากมันได้เคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์หากแต่ต่างบริบทออกไปเท่านั้น) เมื่อห้าปีที่แล้ว ทั้งรุนแรงมากรุนแรงน้อยแตกต่างกันไป เมื่อมีเหตุการณ์อุกฉกรรจ์ขึ้นครั้งหนึ่ง ก็จะสามารถดึงดูดความสนใจของสื่อและสาธารณะได้พักหนึ่ง จากนั้นก็จะซาไปเป็นพักๆ - เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยมา

ไปๆมาๆ ในช่วงเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้น เรา (อย่างน้อยก็ตัวผมเอง) รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงทางภาคใต้ของไทยผ่านสื่อสารมวลชนบางแขนง รายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆตามรายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ อย่างทำให้รู้สึกได้ว่า "คุ้นชิน"

กระทั่งทำให้ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า ภาพความรุนแรงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีความเกียวข้องกับภาพความเป็นจริง หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆมากน้อยแค่ไหน?

คือผมไม่แน่ใจว่า สิ่งที่ถูกเรียกว่า "ภัยที่คุกคามต่อความมั่นคงของชาติ" "โจรใต้" "ผู้ก่อการร้าย" ฯลฯ ที่เรานึกถึง วาดภาพถึง (ตามข้อมูลที่้เรามีอยู่ในหัว) มันเป็นเช่นนั้นหรือไม่ในความเป็นจริง?

หรือมันใกล้กับความเป็นจริงสักน้อยไหม?

แต่จะว่าไปแล้ว มันก็อาจจะเป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้เลย หากคนเมืองอย่างผมต้องการรู้ถึงความเป็นจริงที่กำลังดำเนินอยู่ที่ภาคใต้

และควรจะต้องพูดต่อไปอีกว่า แม้เราจะถึงขนาดเดินทางลงไปในพื้นที่ก็ตามที แม้เราจะได้รับรู้ความจริงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะจากคนที่เราเฉพาะเจาะจงจะคุยด้วย จากพื้นที่ๆเราไปอยู่ กระทั่งถึงมุมมองและประสบการณ์ของเราเองต่อสิ่งที่เราพบ หรือปัจจัยอะไรอื่นๆอีกหลายประการ แต่นั่นคงไม่ได้ทำให้เรารู้ถึงความจริงทั้งหมด

ที่กล่าวมาเช่นนี้มิได้มีจุดประสงค์ในการพายเรือในอ่างแต่อย่างใด - แต่เพื่อจะบอกว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา (ไม่ว่าคุณจะเรียก "เพื่อนร่วมชาติ" หรืออะไรก็ตามแต่) อาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าเรารู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆหรือไม่

รัฐบาลและสื่อสารมวลชนหยิบยกเอาประเด็นเรื่องภาคใต้มาใช้อย่างไร คงไม่ต้องพูดถึงกันให้เสียเวลาและมากความ แน่นอนว่ามันได้ส่งผลกระทบทำให้เรารู้สึกบางเป็นครั้งคราว แต่จะมีใครปฏิเสธบ้างหรือไม่ว่า เวลาส่วนใหญ่ของเหล่าเพื่อนร่วมชาติอย่างเรา ไม่ได้คิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย

เพราะมันไม่เกี่ยวกับกู เพราะมันเป็นเรื่องความล้มเหลวของรัฐในการจัดการปัญหาเหล่านี้ เพราะมันเป็นเพียงข่าวที่สื่อสารมวลชนหยิบเอามาใช้ขายได้เป็นครั้งคราว หรือแม้กระทั่งมันเป็นประเด็นที่นายทุนไม่ได้มองว่ามัน "ขาย" หรือถ้ากระนั้นก็ตาม หากการหยิบเอามาใช้เป็นเรื่องการสร้างกระแส สร้างกำไรได้ ก็จะได้รับไฟเขียวอย่างแทบจะัทันทีทันควัน

สิ่งที่สำคัญกลับอยู่ที่ว่า ขณะที่สภาวะอันไม่เอื้ออำนวยเหล่านี้ดำรงอยู่ในสังคม เราได้แสดงความพยายามในการแหวก หรือตะโกนร้องกู่ก้องออกมาว่าเราอยากให้ปัญหานี้หยุดลงหรือไม่

แน่ละ, เส้นแบ่งของเจตนาดีและความโลภมันคงยากจะขีดให้ชัดเจน เพราะสองคนคงยลตามช่อง ดังนั้นทางออกคงจะมีไม่กี่ทาง หนึ่งในนั้นคงเป็นการพร่ำบอกแก่ตนเองว่า "ช่างแม่มันเถอะ กูเชื่อของกูเช่นนี้"

แล้วคนรุ่นใหม่ล่ะ?

จาก "ที่เกิดเหตุ" ของคุณวรพจน์, ผมยังไม่เห็นแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจากคนรุ่นหลัง ในการจะตะโกนกู่ก้องดังกล่าวมากนัก (ผมเชื่อว่ามี ท่านทราบก็ช่วยบอก) แต่พูดก็พูดเถอะ ปัญหาภาคใต้มันกำลังจะส่งต่อไปเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่รุ่นนี้ต้องรับผิดชอบ

ผมเชื่อว่าราตรีสวัสดิ์มีเจตนาที่ดี

แต่ผมกลัวว่ามันก็จะหายไปกับคลื่นลมอย่างที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอน่ะสิ

...ในคืนที่ผมกินเหล้าอยู่นั่งเล่น
ในคืนที่ป้าข้างห้องยังตั้งวงป๊อกเด้ง
คืนที่เด็กมัธยมนั่งท่องตำราเอนท์จุฬา
คืนที่ใครหลายคนลืมชื่อคนเดือนตุลา
คืนที่คุณนอนหลับอยู่บนเตียง
ทั้งหมดคือคืนเดียวกันกับเสียงปืนที่ดังเปรี้ยง...



ราตรีสวัสดิ์