Sunday, February 13, 2011

นักพนัน - ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี


ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ทุกครั้งที่ผมอ่านงานของดอสโตเยฟสกี จะมีความรู้สึก "ครั่น" ทางความคิด คือเหมือนทุกอย่างที่ประกอบขึ้นมาเป็นงานของเขาดูจะมีสารัตถะ (essence) อันแตกต่างจากประสบการณ์ที่ผมมีในฐานะสมาชิกของโลกศตวรรษที่ 21 อย่างมาก

ทั้งลีลา ท่าทาง จังหวะ ความเร็ว ฯลฯ นั้นทำให้เหนื่อย คล้ายๆกับจะต้องปีนบันไดอ่าน

แต่พอเวทมนตร์ของเขาทำงานแล้ว ผมกลับไม่สามารถถอนสายตาจากตัวหนังสือของเขาได้อย่างง่ายดายนัก อาจเป็นเพราะว่าด้วยฝีมือในการเสนอลักษณะของพฤติกรรมมนุษย์ในแง่ต่างๆที่หาตัวจับยากก็ได้ (ตัวละครถูกนำเสนออย่างชัดเจนราวกับว่าเขากำลังเดินผ่านหน้าบ้านเราเลยทีเดียว) เหมือนดอสโตเยฟสกีมีชีวิตอยู่เพื่อสังเกตการณ์และทำความเข้าใจมนุษย์จนไปถึงระดับวิญญาณ

ผมอ่าน นักพนัน ฉบับแปลภาษาไทยโดยร.จันเสน (2546)

แปลกดีว่ามีความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้น เป็นความรู้สึกเดียวกับที่ผมอ่านบันทึกจากใต้ถุนสังคม (2530) เลย คือผมรู้สึกครั่นไปกับตัวละครของเขา บางตัวทำให้ผมรำคาญอย่างมากด้วยซ้ำ - แต่ไม่ได้รำคาญแบบอยากจะปิดหนังสือลง แต่รำคาญว่าทำไมตัวละครมัน "ไม่ได้ดั่งใจ" เอาเสียเลยและอ่านตะลุยต่อไปเพื่อ

1) หวังในใจลึกๆว่าตัวละครนี้จะถูกลงโทษอย่างสาสม
2) หรือตัวละครนั้นจะเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจนในที่สุดส่งผลให้เกิดข้อสรุปบางอย่างของเรื่องในตอนท้าย ("ขมวดปมจบ" นั่นละครับ)

แต่เปล่าเลย ไม่มีอะไรแบบนั้น และถึงมีก็ไม่ได้เป็นไปแบบที่ผมคาดหวัง - อย่างที่บอกไปแล้วนั่นละครับ, ก็เพราะว่างานของเขามีสารัตถะอันแตกต่างออกไป

จากคำนำ นักพนันเป็นงานที่ถูกเขียนขึ้นโดยสภาวะกดดันทางด้านการเงินของดอสโตเยฟสกี โดยเกิดจากประสบการณ์การเป็นนักพนันด้วยตัวเอง

อ่านเถอะครับ - สำหรับผู้เชี่ยวชาญการสร้างตัวละครอย่างดอสโตเยฟสกี

เที่ยวนี้เขาสร้างนักพนันขึ้นมาบ้างแล้ว

Sunday, February 6, 2011

จดหมายจากนักเขียนหนุ่ม - กนกพงศ์ สงสมพันธุ์


ผมจำได้สมัยยังเด็ก (กว่านี้) เคยได้มีเพื่อนทางจดหมาย (pen pal) จากหลายๆชาติทั่วโลก โดยคนเหล่านั้นก็ทิ้งที่อยู่ของตนเองเอาไว้ทางอินเตอร์เนต ฝากรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองสนใจ และหากใครสนใจก็เขียนจดหมายไปหาได้เลย

จุดประสงค์สำคัญอย่างหนึ่งของการมีเพื่อนทางจดหมายก็คือการได้ฝึกภาษาอังกฤษ และการได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม (ผมมีเพื่อนทางจดหมายชาวเกาหลีใต้แยะทีเดียวในตอนเด็ก นี่ก่อนกระแสเกาหลีฟีเวอร์ในไทยเสียอีก!)

สนุกดีนะครับ เริ่มตั้งแต่การเลือกกระดาษที่สวยๆ (หรืออย่างน้อยก็ไม่ขี้ริ้วจนเกินไปนัก) เลือกปากกาที่เราจับได้ถนัดมือ หมึกสีที่เราชอบ นั่งลงนึกถึงเรื่องราวที่จะเขียน นึกถึงว่าหากเรากำลังนั่งคุยอยู่กับเพื่อนคนนั้น เราจะเล่าอะไรให้เขาฟัง เราจะแนะนำอะไรเกี่ยวกับเมืองไทยให้เขารู้ แล้วเริ่มจรดปากาเขียน พยายามร้อยเรียงประโยคภาษาอังกฤษอย่างกระท่อนกระแท่น นึกถึงรูปแบบสากลในการเขียนจดหมาย แม้กระทั่งการย่อหน้า (เรื่องเหล่านี้มีสอนในห้องเรียนสมัยประถมต้น) เขียนไปเรื่อยๆพอรู้สึกว่าไม่ค่อยดีก็ขยำทิ้ง เริ่มเขียนใหม่ (นิสัยอย่างนี้ติดตัวมาจนโต ไม่รักษ์สิ่งแวดล้อมเอาเสียเลย) จนกระทั่งเสร็จ ค่อยๆพับกระดาษ กรีดรอยพับให้เรียบ จากนั้นก็เอาซองจดหมายที่เตรียมไว้ ติดแสตมป์สวยที่เพิ่งซื้อมาจากไปรษณีย์ มักจะเป็นลายต่างๆกัน ปิดซองแล้วเตรียมตัวเอาไปส่ง

นั่นก็ก่อนที่อีเมล์ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปหลายต่อหลายอย่าง

เวลานี้ผมยังเขียนจดหมายบ้างแต่ไม่มากเหมือนก่อนแล้ว และเขียนด้วยความรู้สึกโหยหาอดีตมากกว่าที่จะเขียนด้วยต้องการสื่อสารจริงๆ - พอมานั่งอ่านจดหมายจาก "นักเขียนหนุ่ม" กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ (สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ, 2551) ไปถึงเพื่อนนักเขียนจึงรู้สึกแปลกๆ

แปลกด้วยอารมณ์ที่เคยรู้สึกเหมือนจะกลับมาอีกครั้ง

อย่างที่พี่ชมพู - อุรุดา โควินทร์กล่าวเอาไว้ในคำนำ "ฉันชอบตัวหนังสือของเขาเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมันอยู่ในจดหมาย เขามีอิสระในการเขียน ตัวหนังสือจึงเป็นกันเองกว่า ขี้เล่นกว่า โรแมนติกกว่า และยียวนกว่าในเรื่องแต่ง ในจดหมาย นอกจากเขาจะเป็นนักเขียนคนหนึ่ง เขายังเป็นผู้ชายคนหนึ่ง เป็นเพื่อน เป็นพี่หรือเป็น
น้อง..." (น.12)

หนังสือเล่มนี้รวมจดหมายบางส่วนที่กนกพงศ์เขียนถึงไพวรินทร์ ขาวงาม ขจรฤทธิ์ รักษา ขวัญยืน ลูกจันทร์ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ สมชาย บำรุงวงศ์ วันเสาร์ เชิงศรี ดิเรก นนทชิตและนก ปักษานาวิน

ผมแน่ใจว่ากนกพงศ์เขียนจดหมายไม่ใช่เพราะความรู้สึกโหยหาอดีต - แต่เขายังมี "จังหวะ" บางอย่างที่การเขียนจดหมายเท่านั้นจะสามารถส่งสารที่เขาต้องการได้

"จังหวะ" ที่ผมพูดถึงได้ดำเนินไปในทุกๆข้อความที่เขาเขียนถึงมิตรสหาย อยู่ในระบบวิธีคิดของเขาและอยู่รอบๆเขาเสมอ

มันเป็นจังหวะที่เราหลายคนไม่เคยรู้จัก หรืออาจลืมมันไปแล้ว
" พวกเราไม่รู้หรอก ขจรฤทธิ์ ว่าสิ่งที่ตามมากับงานวิจัยคือกระบวนคิดที่เปลี่ยนไป ผมสัมผัสได้มากขึ้นทุกวัน ระบบคิดของพวก[นักวิจัย]เริ่มไปยึดกับเหตุผล ไปยึดกับหลักฐาน ต้องมีข้ออ้างอิงอะไรประมาณนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าข้ออ้างอิงนั้นจะถูกหรือเปล่าไม่สำคัญ ขอให้มีมันเถอะ ขณะที่ผมเองพุ่งไปที่จินตนาการ ปาเสียงของผมจึงยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ ผมไม่ได้ผิดหวังที่เสียงของผมไม่ "ดัง" แต่ผมเกรงว่า จินตนาการของพวกเขาจะหมดไป อาจมีบ้างก็เพียงจินตนาการบนฐานของข้อมูล วรรณกรรมต้องการจินตนาการมากกว่านี้

ผมเกรงว่าจะไม่มีใครเขียนวรรณกรรมกันอีกน่ะ เวรกรรมจริงๆ" (น.64)
จริงๆแล้วจะว่าไปสิ่งที่ผมเห็นได้ชัดเจนจากความคิดเห็นของเขาคือเขารู้สึกแปลกแยกและหนทางของ "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" ที่หริบหรี่ลง หรือไม่มีที่ทางในการตั้งคำถามกับสังคมอย่างที่มันเคยรุ่งเรื่องมาก่อนในยุคของเขาและก่อนหน้าเขา หากแต่เขายังมีความหวังอยู่เต็มเปี่ยม
" ในวงการวรรณกรรมก็เช่นกัน ย่อมมีคนรุ่นใหม่ที่หาได้มาจากกรอบความคิดเช่นผมเช่น[ขจรฤทธิ์] รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่ รุ่นใหม่ที่จะต้องเปลี่ยนอะไรเดิมๆเสีย อะไรที่มันกดทับอยู่ มันมีอิทธิพลครอบ ต้องเปลี่ยนมัน ฉีกออกไปแสวงหาความใหม่ นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ วรรณกรรมเพื่อชีวิตเดินทางมาถึงวันเวลาสุดท้าย ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีอยู่อีก แต่มันจะไม่เป็นกระแสหลักอีกต่อไป
ถูกแล้วที่[คนรุ่นใหม่]ต้องปฏิเสธวรรณกรรมเพื่อชีวิต เพราะเขารู้สึกว่านั่นคือกระแสหลัก เขาต้องสร้างกระแสใหม่ขึ้นมา เขาเกิดขึ้นด้วยความรู้สึกนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Open, A day หรือปราย พันแสง...แต่ภาวะทางสังคมสำหรับพวกเขายังไม่สุกงอม กลุ่มคนอ่านที่เป็นความคิดใหม่ยังไม่โต และเนื้อหาสังคมไม่เอื้อให้ขนาดนี้
น่าเศร้าที่พวกเขาคิดว่าจะต้องเปลี่ยน...จะต้องไม่ใช่เพื่อชีวิต และพวกเขาก็เปลี่ยนแปลงทางเนื้อหาเสียด้วย พวกเขาปฏิเสธมัน มันไปสอดคล้องกับความต้องการของนักอ่านรุ่นใหม่พอดี นักอ่านที่เป็นชนชั้นกลางล้วนๆ ชนชั้นที่สังคมบ่มเพาะให้พวกเขาตัดขาดจากชนชั้นอื่น สังคมทำให้พวกเขาไม่สนใจปัญหา มอมเมาดวงตาพวกเขา ปิดมันเสียจากชนชั้นล่าง เบื้องหลังของวรรณกรรมก็คือคน คนเป็นอย่างไรวรรณกรรมก็เป็นแบบนั้น...
ชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างถูกตัดขาดกันอย่างสิ้นเชิง, ในสังคมจริงเราจึงได้เห็นการต่อสู้ของชาวจะนะที่โดดเดี่ยว เห็นความโดดเดี่ยวของชาวบ่อนอก - หินกรูด, ของชาวปากมูล ปัญหาของชาวบ้านคือปัญหาของชาวบ้าน ไม่เกี่ยวอะไรกับชนชั้นกลาง งานเขียน "อินเทรนด์" ที่กำลังก่อกระแสการตอบรับก็เป็นเช่นนั้น เขาไม่จำเป็นต้องคิดอะไรเกี่ยวกับสังคม เพราะนักอ่านรุ่นใหม่ก็รู้สึกเช่นเขาว่า มันน่าเบื่อ ซ้ำจะเป็นการทำร้ายความรู้สึกเสียด้วยซ้ำ ใช่! งานเขียนในแบบผมทำร้ายความรู้สึกชนชั้นกลางที่ไม่สนใจปัญหา จึงถูกแล้วที่เขาต้องนิยมชมชอบปราบดา เขาสนุกกับอะไรสักอย่างตามแบบของเขา ที่ไม่เกี่ยวกับบ้านเมือง มันเป็นการหลบโลก/หนีจากปัญหาอย่างหนึ่ง เป็น "พาฝัน" ชนิดหนึ่ง พาฝันในยุคสมัยนี้" (น.128-129)

...[คณะกรรมการซีไรต์กับผม]เสมือนอยู่คนละโลกกัน ผมอยู่ในโลกของปัญหาชนบทล่มสลาย อยู่ในโลกที่มีปัญหาเรื่องท่อก๊าซ ขณะที่กรรมการซีไรต์อยู่ในโลกที่มีปัญหากระดุมเสื้อหายตามอย่างปราบดา เลยไม่แน่ใจว่าคำคำเดียวกันจะเข้าใจตรงกันหรือเปล่า... (น.187)
เหล่าชนชั้นกลางครับ - จะชี้แจงกันอย่างไรดีครับ?

จังหวะและความคิดที่นักเขียนหนุ่มแสดงออก คือการตัดพ้อ การรำพึงรำพันกับอะไรที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เป็นโจทย์ที่เขาให้ความสำคัญที่สุดมาโดยตลอดชีวิตการเป็นนักเขียนของเขา

ผมรู้สึกเหมือนกำลังอ่าน "แผ่นดินอื่น" ภาคสอง
" บ้านนอกมีความหมายข้องเกี่ยวอย่างแนบแน่นกับวรรณกรรมเพื่อชีวิต และผมก็ตระหนักดีว่า วันนี้, วรรณกรรมเพื่อชีวิตได้ตายไปเรียบร้อยแล้ว มันตายทั้งด้วยระบบธุรกิจหนังสือ และลักษณะของคนเสพที่เป็นนักอ่านรุ่นใหม่...
ผมรู้ว่า[วรรณกรรมเพื่อชีวิต]ตาย แต่ผมจะเป็น Last man standing ผมจะยืนอยู่ตรงนี้ ด้วยเนื้อหาทำนองนี้ ไม่ใช่ว่าผมดื้อ, แต่ผมเป็นสิ่งนี้ นอกไปจากนี้ผมก็ทำไม่ได้อีก..." (น.148)