Sunday, November 14, 2010

ผู้คนแห่งมหานครดับลิน - เจมส์ จอยซ์


เมื่อพูดถึงเจมส์ จอยซ์ (นอกจากไม่ได้นึกถึงอะไรเลยแล้ว) ทุกคนจะนึกถึงยูลิสิส (Ulysses)

เพราะอะไร? เพราะมันเป็นงานที่แสดงออกถึงแนวทางการนำเสนอของเขาอย่างชัดเจน และมีทีท่าอลังการที่สุดในกลุ่มงานทั้งหมดของจอยซ์ เป็นวรรณกรรมที่ผู้อ่านเห็นถึงการแผ้วทางหนทางใหม่ในการเขียนวรรณกรรม หรือในขณะเดียวกันมันเป็นการรื้อทำลายวิธีการมองวรรณกรรมเท่าที่เคยเป็นมาในศตวรรษที่ 19

ผมยังไม่ได้อ่านยูลิสิส แต่ลองเริ่มอ่าน The Portrait of the Artist as a Young Man ("ภาพเหมือนในวัยระห่ำของศิลปิน"- ด้วยคำแปลของแดนอรัญ แสงทอง) หากไม่ได้อยู่ในสมาธิ จึงไม่สามารถเข้าใจได้เลย และต้องหยุดอ่านไปในที่สุด

พูดให้ชัดขึ้นอีกก็คือว่า ผมไปอยู่จังหวัดสระบุรี ในทุ่งนา แดดสาดเปรี้ยง เสียงแมลงวันบินหึ่งผ่านหู มองออกไปเห็นวัวควายเดินกินหญ้า เห็นเป็ดไก่เดินหาอาหาร มีหมาพันธุ์ทางขาเป๋สีขาววิ่งไปมา ผมต้องไล่มันไปหลายต่อหลายครั้งเพราะตัวมันเปียกขี้โคลนมาและจะทำให้บ้านสกปรก ในขณะเดียวกันผมก็ก้มลงอ่านหนังสือเป็นระยะๆ พยายามนึกถึงเมืองดับลิน (โดยที่ไม่เคยไป ที่ใกล้ที่สุดก็คือ Aberystwyth ในเวลส์) นึกถึงสำเนียงไอริช ความตลกขบขัน การประชดประชัน และชาตินิยมของคนไอริช

โอโห - เป็นงานที่ยากทีเดียว สุดท้ายผมก็เลยอ่านมันไปพร้อมๆกับนึกว่า สตีเฟน เดดาลัส มาวิ่งเล่นอยู่ที่ตำบลหนองจอกนี่เอง และเพื่อนๆของเขาก็ตามมาจากเสาไห้ จากนาร่อง ฯลฯ

แต่ผมทำได้ไม่นานก็ต้องล้มเลิก

ผู้คนแห่งมหานครดับลิน (หากเป็นผม ผมจะแปลมันตรงๆไปเลยว่า "ชาวดับลิน") เป็นงานแปลรวมเรื่องสั้น Dubliners ที่จอยซ์เขียนขึ้นในปี 1914 แปล/เรียบเรียงโดยวิมล กุณราชา (สำนักพิมพ์นาคร, 2545) แต่เข้าใจว่าไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมีเพียง 8 เรื่องจากทั้งหมด 15 เรื่องในต้นฉบับภาษาอังกฤษ

ในภาคผนวก มีแถมบทความเกี่ยวกับจอยซ์โดยราเชนทร์ ผดุงธรรม โดยได้กล่าวถึง Dubliners ว่า
"ในช่วงกำลังเขียน A Portrait of the Artist as a Young Man นั่นเอง จอร์จ รัสเซล เพื่อนนักเขียนของเขาได้แนะนำให้เขาเขียนเรื่องสั้นง่ายๆ 'แบบลูกทุ่ง' เพื่อลงตีพิมพ์ตามหน้านิตยสาร...นี่นับเป็นจุดกำเนิดของรวมเรื่องสั้นเล่มเดียวของเขา..." (น.264)
"ในจดหมายซึ่งเขียนถึงเพื่อนรักสมัยเรียนที่ชื่อสเตนนิลัส จอยซ์ได้บอกถึงความตั้งใจในการเขียน
Dubliners ไว้ตอนหนึ่งว่า 'เมื่อนายนึกขึ้นมาว่า ดับลินเป็นเมืองหลวงมานับพันๆปี เป็นเมืองที่สองของจักรวรรดิอังกฤษ และใหญ่สามเท่าเวนิส ก็ออกจะแปลกที่ไม่มีศิลปินคนไหนเสนอภาพของมันต่อสายตาชาวโลกเลย'..." (น.264)
วรรณกรรมของจอยซ์มีผู้วิเคราะห์เอาไว้จำนวนมาก (มากกว่างานที่จอยซ์เขียนเองหลายเท่า และผมยังไม่ได้อ่านแม้แต่ชิ้นเดียว) คำถามหนึ่งที่ผมอยากได้ยินคำตอบหรือข้อถกเถียงก็คือความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการนำเสนอแบบจอยซ์กับเหล่างานเขียนฝ่ายซ้ายทั้งหลายซึ่งร่วมสมัยกันเกือบตลอดศตวรรษที่ 20 - เพราะดูเหมือนว่างานของจอยซ์เองจะไม่เชื่อการสร้างวรรณกรรมเพื่อ 'ปลดแอก' หรือ 'เปลี่ยนแปลง' สังคมอย่างที่งานวรรณกรรมฝ่ายซ้ายเชื่อ

"ศิลปะไม่ควรจะต้องมาพะวงว่าต้องสร้างงานของตนให้เป็นแบบศาสนา คุณธรรมความดี ความสวยงาม หรืออุดมคติ แต่ควรที่จะสร้างงานอย่างซื่อสัตย์ต่อกฎพื้นฐานของธรรมชาติ" (น.262)

หากใครจะแนะนำงานที่วิเคราะห์เรื่องนี้ก็จะดีไม่น้อยทีเดียว

สิ่งที่น่าสังเกต คือ ในงานที่พูดถึงจอยซ์หลายๆงานที่ผมได้อ่าน มักจะพูดถึงงานของเขาทั้งกระบิ (oeuvre) ไม่ได้แยกพูดโดยเอกเทศแล้วย้ำความต่าง - ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นสำคัญของชีวิตการเขียนหนังสือของเขาทั้งหมด: จอยซ์เขียนหนังสือเพียงเรื่องเดียวตลอดชีวิต แต่ทั้งหมดถูกนำเสนอในลักษณะที่ต่างกันออกไปเท่านั้นเอง (จริงๆแล้วเขาก็แสดงออกอย่างจงใจ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงอยู่ของตัวละครหลายตัวในงานเขียนต่างๆของเขา การตั้งชื่อเรื่อง ฯลฯ)

และสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึก คือเหมือนกับว่าผมรู้จักจอยซ์มาก่อนอ่านงานของเขา เหมือนกับผมรับจอยซ์มาจากผู้ที่อ่านจอยซ์อีกทีหนึ่ง (ใครวะ) เพราะเมื่ออ่านผู้คนแห่งมหานครดับลินจบ ผมรู้สึกว่ามันเป็นมุมมองเดียวกันกับที่ตนเองใช้ในการมองโลกหลายๆครั้ง

น่าสนใจว่าหากอ่านงานของจอยซ์ซ้ำ เราอาจจะได้พบอะไรเพิ่มขึ้น - หรือทำอะไรหล่นหายไป - ก็ได้