Saturday, January 31, 2009

อัตวินิบาตกรรม


เรื่องนี้ผมเคยเขียนลงในบลอกเก่า ขออนุญาตนำมาลงในที่นี้ครับ เป็นสังเกตการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยคร่าวๆ ใช้เวลาไม่มาก ขอเชิญอ่านครับ 

---------------------------
             
      คงมีหลายๆท่านที่กำลังตั้งคำถามเช่นเดียวกันกับผมว่า เหตุใดในช่วงเวลานี้จึงมีข่าวคนฆ่าตัวตายบ่อยครั้งขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ และที่สำคัญคือเหล่าคนที่ตัดสินใจปลิดชีวิตของตนเองลงมักจะเป็นเยาวชนเสียด้วย เรื่องนี้จึงนับว่าควรจะได้รับความสนใจจากหลายๆฝ่ายของสังคม เพราะปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยกำลัง เป็นโรค บางประการเสียแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นทำนองเดียวกับอาการเจ็บป่วยทางร่างกายนั่นละครับ คือเมื่อมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นแก่ร่างกาย หรือเราเกิดไม่สบายขึ้นมา จะมีสัญญาณบางอย่างบ่งบอก ไม่ว่าจะเป็นเล็บมีดอก ปลายนิ้วเป็นขุย ลิ้นฝ้า มีขี้ตา ฯลฯ ดังนั้นการที่มีเยาวชนกระทำอัติวินิบาตกรรม [อัตตะวินิบาดตะกำ](1) เพิ่มขึ้นทำให้เราควรจะมาคิดกันดูว่า มันเกิดความผิดปกติขึ้นกับโครงสร้างของสังคม-หรือร่างกายของสังคมไทยอย่างไรบ้าง

            ก่อนที่จะเข้าเรื่องสังคมไทย ผมขอกล่าวโดยกว้างถึงพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย (suicide) เสียก่อน เพราะพฤติกรรมนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเพียงสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก  จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) สถิติการฆ่าตัวตายของคนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 ภายในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา และจากข้อมูลของปีค.ศ.2000 จำนวนเฉลี่ยของผู้ที่ตัดสินใจปลิดชีวิตลงทั่วโลกคือ 16 คนจากจำนวนประชากรหนึ่งแสนคน หรือกล่าวอย่างน่าตกใจคือ จะมีคนๆหนึ่งฆ่าตัวตายภายในทุกๆ 40 วินาที (2) จะเห็นได้ว่า โลกในยุคใหม่นี้นำมาซึ่งปัจจัยนานาประการที่เป็นแรงผลักดันให้คนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าตัวเลขจะสูงขึ้นในทุกๆปี

คำว่า “suicide” มาจากภาษาละตินว่า suicidium ซึ่งมาจากคำว่า sui caedere ซึ่งหมายความว่า “to kill oneself” ซึ่งในหลายศาสนาไม่ว่าจะเป็นฮินดู อิสลามหรือพุทธนั้นมองการฆ่าตัวตายว่าเป็นการการะทำที่ขัดต่อหลักศาสนา โดยศาสนาพุทธนั้นมีปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค ตติยปราชิกกัณฑ์ สิกขาบท วิภังค์บัญญัติ และอนุบัญญัติไว้ว่า พุทธศาสนาไม่ยินยอมให้ทำ อัตวินิบาตกรรมเป็นอันขาด เนื่องจากเป็นโทษหนักสามารถทำให้ผู้กระทำไปปฏิสนธิในอบายภูมิได้ ส่วนในศาสนาอิสลามมองว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้นจะไม่มีโอกาสได้ไปสวรรค์ โดยปรากฏในพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน(3)

 นักสังคมวิทยาอย่างเอมิลล์ เดอร์ไคม์ (1858-1917) เป็นคนแรกๆที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็วกระทั่งทำให้สมาชิกไม่สามารถปรับตัวได้ทันนั้นเปรียบได้กับสภาวะไร้ระเบียบ (anomie) และจะนำไปสู่พฤติกรรมการฆ่าตัวตายของสมาชิกได้  เขาได้ทำการศึกษาการฆ่าตัวตายอย่าละเอียดในงาน Le Suicide (1897) โดยได้ทำการแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ โดยผมจะไม่นำมากล่าวเอาไว้ในที่นี้ อย่างไรก็ตาม แม้งานชิ้นนี้ของเขาได้จัดระบบและเปิดพรมแดนการศึกษาสังคมออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น แต่เดอร์ไคม์มิได้เสนอแนะถึงทางออกที่เป็นรูปธรรม(4)

            ในวิวาทะเชิงปรัญชา มีมุมมองเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายหลากหลายแตกต่างกันออกไป ในที่นี้ผมจะยกมาเพียงบางท่านเท่านั้น เช่น Immanuel Kant (1724-1804) มองว่าการฆ่าตัวตายด้วยจุดประสงค์ในการมุ่งหาความสุข (จากความทุกข์ที่มีในขณะยังมีชีวิตอยู่) นั้นเป็นการกระทำที่ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากเขามองว่าเมื่อมนุษย์ตัดสินใจกระทำการฆ่าตัวตาย เขากำลังใช้ ตนเอง เป็น วิธีการ (means) ในการสร้างความสุขแก่ตน ทั้งนี้เพราะ Kant มองว่ามนุษย์ต้องรับผิดชอบการกระทำของเขาทั้งหมด การใช้ ตนเอง เพื่อหาความสุข (โดยการตายจากโลกนี้ไป) โดยไม่รับผิดชอบถึงจุดหมาย (ends) ที่จะเกิดขึ้นนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือนักเขียนในสำนัก Absurdism ที่เชื่อในอิสรภาพของมนุษย์อย่าง Albert Camus (1913-1960) ก็มองเรื่องการฆ่าตัวตายว่าเป็น การปฏิเสธอิสรภาพของตนเอง  ชนิดหนึ่ง โดย Jean-Paul Sartre (1905-1980) ผู้ถูกจัดอยู่ในสำนัก Existentialism ก็ได้เชื่อในทำนองเดียวกัน (5)

            ในอีกด้านหนึ่ง มีกลุ่มนักปรัชญาที่มองการฆ่าตัวตายว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างไร นักปรัชญาในสำนัก Idealism อย่าง Herodotus กล่าวในงานเขียนของเขาว่า เมื่อการดำเนินชีวิตนั้นเป็นภาระอันหนักหนายิ่งนัก ความตายจึงเป็นแหล่งพักพิงที่ดี นอกจากนี้ Arthur Schopenhauer (1788-1860) เขียนในงานชิ้นหลักของเขา The World as Will and Representation ว่าแต่ละคนมีสิทธิเหนือชีวิตของตนเอง และการฆ่าตัวตายนั้นไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใด ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 งานเขียนของ Goethe  เรื่อง Die Leiden des jungen Werthers [ความเศร้าโศกของ Werther] กลายเป็นประเด็นแห่งการวิพากษ์วิจารณ์เพราะเนื้อเรื่องของเด็กหนุ่มที่ฆ่าตัวตายจากความล้มเหลวจากความรัก ได้ก่อให้เกิดการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นในประเทศเยอรมนีในช่วงเวลานั้น (6)

            นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมการฆ่าตัวตายหมู่ (collective suicide) โดยกลุ่มคนมีความเชื่อเดียวกัน  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีทั่วโลก ซึ่งสมาชิกได้ถูกทำให้เชื่อ หรือถูกบังคับให้กระทำอัตวินิบาตกรรม ผมจะไม่กล่าวถึงรายละเอียด แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นในญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นประเทศที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก) คือการใช้อินเตอร์เนตในการหาผู้ที่มีจุดประสงค์ในการฆ่าตัวตายเหมือนกับตน เพื่อจะได้ปลิดชีวิตตนลงพร้อมๆกัน โดยเวบไซต์ต่างๆจึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ (7) จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการฆ่าตัวตายได้เดินทางผ่านเวลามาสู่ศตวรรษที่ 21 และกำลังแพร่กระจายไปอย่างน่าเป็นห่วง

            สำหรับประเทศไทย มีงานศึกษาพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในช่วงปีค.ศ. 1977-1985 เรื่อง Suicidal Behaviour in Thailand โดย Chanpen Choprapawon& Sumana Visalyaputra ซึ่งได้ข้อสรุปทางสถิติบางประการว่า แนวโน้มของการฆ่าตัวตายในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยกลุ่มอายุที่มีจำนวนผู้ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ 15-24 ปี โดยภาคที่มีจำนวนผู้ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือภาคเหนือ และเดือนเมษายนมักจะมีตัวเลขสูงที่สุด และส่วนใหญ่จะตัดสินใจกระทำในวันอาทิตย์ จันทร์และอังคารมากกว่าวันอื่นๆ โดยสาเหตุจูงใจส่วนใหญ่คือความลัมเหลวเรื่องความรัก รองลงมาคือปัญหาครอบครัว ความยากจน และความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ (8)

            สำหรับทางออก หรือแนวทางการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมนั้นมีอยู่หลายด้านด้วยกัน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุขได้เปิดสายด่วนสุขภาพจิต 1667 เพื่อรับปรึกษาและให้คำแนะนำกับผู้ที่มีอาการซึมเศร้า นอกจากนี้มีกลุ่มทางสังคมหลายฝ่ายได้ตั้งขึ้นเพื่อมีจุดประสงค์ให้ผู้ที่เคยตัดสินใจฆ่าตัวตายเปลี่ยนทัศนคติของตนเองได้

            ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ผมมองว่าสำคัญที่สุดคือสถาบันครอบครัวนั่นเอง เพราะมนุษย์เติบโตและได้รับการขัดเกลามาจากหน่วยเล็กที่สุดของสังคมนี้ ดังนั้น สมาชิกในครอบครัวมีหน้าที่เป็นหูเป็นตา และเอาใจใส่ดูแลสมาชิกคนอื่นๆ และสร้างครอบครัวที่แข็งแรงขึ้น เพื่อประกอบให้สังคมใหญ่เข้มแข็งขึ้นได้ รวมทั้งทำให้คนมองเห็นคุณค่าของชีวิตตนเองมากขึ้นด้วย

 

อ้างอิง

(1) พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542

(2) ข้อมูลจากเวบไซต์ WHO

(3) http://www.mahapruettharam.com/webboard/index.php?showtopic=31

(4) http://www.deathreference.com/Da-Em/Durkheim-mile.html

(5) http://en.wikipedia.org/wiki/Philosophical_views_of_suicide

(6) ibid.

(7) http://www.physorg.com/news7046.html

(8) Kok Lee Peng and Wen-Shing Tseng, Suicidal behaviour in the Asia-Pacific region

 

Thursday, January 22, 2009

ชีวิตที่ไม่แน่นอนของเหล่าศิลปินซีเรีย

ผมแปลข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ของเสรภาพในประเทศอื่นมาให้ลองอ่านดู มาจากเวบบีบีซีเดือนที่แล้ว 

จะได้รู้ว่า "เราไม่ได้สู้คนเดียว" เชิญอ่านครับ

---------

ชีวิตที่ไม่แน่นอนของเหล่าศิลปินซีเรีย

มาร์ติน อัสเซอร์ นักข่าวบีบีซีพาเราไปดูวงการศิลปะในรัฐตำรวจ 

ซึ่งได้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว

ผมพยายามจะซื้อหนังสือต้องห้ามที่เขียนโดยนักเขียนใหญ่ของวงวรรณกรรมซีเรียในดามัสกัส ซึ่งผมก็แปลกใจว่าหาได้มีอุปสรรคใดไม่

คนขายโทรสั่งสายส่งแถวๆนั้น เด็กในร้านออกไปและไม่นานก็กลับมาพร้อมกับหนังสือที่ผมต้องการ เขาใส่ในถุงและพับไว้อย่างแอบๆ

จริงๆแล้วผมต้องสารภาพเลยว่าผมผิดหวังจากการพยายามลองของข้าม เส้นแดง อันมีชื่อเสียงของซีเรีย

เส้นแดงที่ว่าเป็นข้อห้ามโดยรัฐบาลเผด็จการของซีเรียเรื่องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสาธารณะเกี่ยวกับการเมือง ระบอบอัซซาดที่กำลังครองอำนาจอยู่ หรือเกี่ยวกับกองกำลังรักษาความมั่นคง

แล้วผมมายืนอยู่ในร้านหนังสือใจกลางเมืองหลวงของซีเรีย และเพิ่งจะซื้อหนังสือประเภทข้ามเส้นแดงเรื่อง In Praise of Hatred ของคาลิด คาลีฟา ได้อย่างไรกันเล่า?

และแล้ว ผมก็ไม่รู้จะมีความสุขหรือทุกข์ดี เมื่อความศักดิ์สิทธิ์ของระบอบเผด็จการซีเรียได้กลับมาทันทีที่ผมขอใบเสร็จ

ผมไม่สามารถให้คุณได้ครับ คนขายบอก มันเป็นหนังสือต้องห้ามน่ะครับ ให้ผมลงชื่อเป็นหนังสืออื่นในราคาเดียวกันแล้วกันนะครับ

       ซึ่งเขาก็ได้ขายนิยายเรื่องนั้นให้กับผม

       ในชื่อ In Praise of Women

 

สถาวะของความไม่แน่นอน   

 แม้หนังสือของคาลีฟาจะต้องห้ามในซีเรีย แต่ตัวเขาเองกลับเข้าถึงได้ง่าย เขายินดีที่จะพบปะและสนทนาท่ามกลางเบียร์บาราดาของท้องถิ่น ในคาเฟ่โปรดของเขาที่ใจกลางเขตเก่าแก่ของดามัสกัส

            มันกลายไปเป็นเหมือนเกมระหว่างพวกเราและเจ้าหน้าที่รัฐ เขาบอกกับผม เราเขียนอะไรก็ได้ที่เราต้องการ และพวกเขาก็จะพูดอะไรที่พวกเขาต้องการเช่นกัน จริงอยู่ที่นิยายของผมถูกแบนที่นี่ แต่คุณรู้ไหม เขาพูดว่าหนังสือมีปีกและสามารถบินข้ามพรมแดนใดๆก็ได้

            In Praise of Hatred เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคลั่งศาสนาหัวรุนแรงในซีเรีย ซึ่งนั่นก็ยากที่จะทำให้มันไม่ได้รับความสนใจ พอมันตีพิมพ์ไปไม่นานในปีนี้ (2008) มันก็เข้าไปอยู่ในชอร์ตลิสต์ของรางวัลนานาชาติสำหรับนิยายอาระบิกที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก และเป็นการประกวดที่มีมูลนิธิบุกเกอร์ ไพรซ์ให้การสนับสนุน

            เวลานี้เราอยู่ในระยะแห่งการเปลี่ยนผ่าน คาลีฟาพูดถึงช่วงระยะเวลาแปดปีครึ่งตั้งแต่ประธานาธิบดีบาชา อัล อัสซาด ขึ้นมาสู่อำนาจต่อจากบิดาของตน

            คาลีฟาบอกว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2000 เสรีภาพได้พัฒนาไปมาก หากแต่กลับมาสู่จุดตกต่ำในปี 2006 เมื่อรัฐจับกุมนักเขียนนามมิเชล กิโล และผู้ต่อต้านคนอื่นๆ ที่เรียกร้องให้ซีเรียยกเลิกการปฏิบัติตนแบบรัฐตำรวจต่อเลบานอน

            มันเป็นภาวะอึมครึมทีเดียว ไม่มีใครรู้ว่าอิสรภาพกำลังมาหรือกำลังหายไป อย่างเช่นว่า แม้รัฐจะเข้มงวดกับอินเตอร์เนต แต่ก็ไม่ได้คุมขังคนที่แสดงความเห็นออกมา

            คาลีฟาเป็นสมาชิกของชุมชนศิลปินซีเรีย เขาสนับสนุนการถกเถียงกับรัฐเพื่อมุ่งหวังว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะเปิดกว้างมากขึ้นในประเทศนี้

 การปลดระวาง

 โรงแรมเฟอร์ดูสในคืนวันจันทร์ได้กลายไปเป็นสถาบันสำหรับชุมชนศิลปินของดาร์มัสกัส มันเป็นค่ำคืนของการอ่านบทกวี ทั้งกวีและศิลปินท้องถิ่นจะมารวมตัวกันในชั้นล่างของบาร์ที่อวลไปด้วยควัน เพื่อชมการอ่านบทกวีที่บางครั้งขึงขัง บางครั้งแสบสันต์จากบทประพันธ์ทั้งใหม่และเก่า

            ช่วงท้ายๆของงาน ฮาลา ไฟซาล ซึ่งเป็นทั้งนักวาดและนักร้อง ขึ้นร้องเพลงบัลลาดยอดนิยม ได้รับเสียงปรบมือดังกระหึ่ม

            ไฟซาลใช้ชีวิตเกือบทั้งหมดของเธอในการถูกเนรเทศ ก่อนหน้านี้เธอไปทำงานในนิวยอร์คและปารีส เวลานี้เธอกลับมาซีเรียได้สองปีครึ่งแล้ว และหวังว่าจะเห็นซีเรียเป็นบ้านได้อีกครั้ง

            หากแต่เมื่อเราพบกันในสองสามวันต่อมา เธอกล่าวด้วยความรู้สึกปวดร้าวว่าถึงเวลาต้องไปอีกแล้ว เธอไม่ได้อยากเล่ารายละเอียดของมันมากนัก แต่จากภาษาอังกฤษอันกระท่อนกระแท่น เธอกล่าวว่า

            อาจเป็นเพราะการเมือง ที่พวกเขาบีบบังคับให้ฉันลี้ภัยอีกครั้ง การที่ต้องยอมรับกฎหายบางอย่างที่เราไม่เห็นด้วยเพื่อที่จะให้อยู่ที่นี่ได้นั้นไม่ใช่ตัวฉันเลย ฉันต้องซื่อสัตย์กับตนเอง ฉันไม่สามารถใช้ชีวิตต่อไปโดยปิดตาข้างหนึ่งได้ อย่างน้อยมันก็ทำให้ฉันมีความสุขก่อนเข้านอนในทุกคืน

            มันดูเหมือนเป็นเป็นโศกนาฏรรมสำหรับซีเรีย ในขณะที่ดามัสกัสเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของโลกอาหรับ กลับต้องมีคนอย่างไฟซาลที่จะต้องตัดสินใจว่า คุณจะเลือกปิดตาข้างหนึ่งหรือคุณจะเลือกเก็บของแล้วจากไป  

            แต่นักทำหนังสารคดีผู้มีประสบการณ์ โอมาร์ อามิราไล ซึ่งหนังของเขาหลายเรื่องถูกแบนทั้งในซีเรียและในโลกอาหรับมาเป็นเวลาหลายสิบปี ได้กล่าวว่านี่คือสิ่งที่ระบบการเมืองของซีเรียต้องก้าวผ่าน

            รัฐ จะรู้ว่าประชาชนไม่ได้เชื่อในอุดมการณ์ของพวกเขา เขาบอกกับผม

            สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อคนไม่ยืนหยัดต่อสู้กับระบอบ ระบบ หรือกับรัฐ เพื่อแสดงถึงความไม่เห็นด้วยแล้วล่ะก็ ความคิดการต่อต้านหรือการประท้วงก็เท่ากับได้หายไปจากความคิดของเขาแล้ว

ซีเรียอาจจะพยายามก้าวหน้าทั้งทางการทูตและการเมือง แต่ในเรื่องศิลปะแล้ว ยังดูเหมือนว่าหนทางยังอีกยาวไกล

 

        

Tuesday, January 13, 2009

อาลัย "ฝรั่งคลั่งสยาม"


ไมเคิล ไรท หนึ่งในผู้รักประวัติศาสตร์ไทยได้เสียชีวิตลง เห็นบทความของคุณพนิดา สงวนเสรีวานิช ในมติชน จึงขอนำมาลง เื่พื่อส่งอาจารย์ไมค์แกหน่อย



ปิดฉาก "ฝรั่งคลั่งสยาม" อาลัย "ไมเคิล ไรท"

ใครๆ รู้จักเขาในสมญา "ฝรั่งคลั่งสยาม" ที่ได้รับการประทับตรารับรองไม่เพียงเพราะเขาเป็นหนึ่งในชาวอังกฤษที่ตกหลุมรักเมืองไทย 
เข้ามาปักหลักอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ รวมทั้งตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าชีวิตนี้จะอยู่เมืองไทย และตายที่เมืองไทย
แต่เพราะเขา- ไมเคิล ไรท (Michael Anthony Stanley Wright-ชื่อตามพาสปอร์ต) หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า "คุณไมค์" จุดประเด็นการศึกษาในแวดวงประวัติศาสตร์-โบราณคดีไว้ไม่น้อย 
โดยเฉพาะเรื่องศิลาจารึกหลักที่ 2 หรือ "จารึกวัดศรีชุม" ที่เมื่อก่อนไม่มีใครให้ความสนใจ มองว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ
ไมเคิล ไรท คนนี้ที่เป็นคนที่ยืนยันว่า จารึกวัดศรีชุมมีความสำคัญมาก พรรณนาเรื่องราวในลังกาถูกต้องหมดทุกอย่าง รวมทั้งยังใช้ภาษาที่งดงาม ทั้งเชื่อว่าจารึกวัดศรีชุมน่าจะมีอายุเก่าแก่กว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหง
เหตุเพราะก่อนหน้าจะมาอยู่เมืองไทย คุณไมค์ไปเที่ยวเล่นอยู่ในศรีลังกาอยู่ 1 ปี ด้วยความหลงใหลในงานศิลปะ วัฒนธรรมอินเดีย 
ไม่แปลกที่คุณไมค์จะอ่านศิลาจารึกได้คล่อง และเข้าใจถึงสิ่งที่จารึกวัดศรีชุมได้จดจารไว้
ไมเคิล ไรท เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2483 ที่เมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ โตขึ้นมาตามโรงเรียนสอนศาสนาคาทอลิก
เป็นลูกคนเดียว ที่มีความผูกพันกับแม่มาก 
เขาเคยเขียนจดหมายถึงสุจิตต์ วงษ์เทศ เล่าถึงแม่หลังจากฌาปนกิจศพที่วัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 ว่า 
"เห็นกวีไทยเขียนมามากเรื่องพระคุณแม่ว่าให้กำเนิดลูกด้วยความเจ็บปวดยิ่งนัก เคยมีใครเขียนเรื่องความร้อนที่แผ่ออกจากเมรุเผาแม่ไหม? ผมประสบมาแล้วแต่เขียนไม่ได้ เพราะไม่เป็นภาษาไทย
แม่ให้เราผุดเป็นคนขึ้นมาด้วยความยากลำบากและเจ็บปวด แล้วในที่สุดเรามีหน้าที่ส่งแม่ดับสูญไปท่ามกลางเปลวเพลิงที่ร้อนยิ่งกว่าเพลิงกัลปาวสานที่ผลาญถึงพรหมโลก ผมรู้สึกมาแล้วเมื่อเทกระจาดดอกไม้จันทน์ใส่เมรุแม่และถูกเผาไปส่วนหนึ่งของวิญญาณ"
ขณะที่กับ พ่อ คุณไมค์บอกว่า เป็นกัปตันเรือ...ไม่รู้จักพ่อเลย ไม่ค่อยได้เจอกัน 
เด็กชายไมค์ เรียนระดับประถม-มัธยมที่ วิทยาลัยเซนต์ไมเคิล คอลเลจ ในเมืองเซาแธมป์ตัน แต่ไม่ทันได้เรียนจบก็เลิกราจากการศึกษาในกรอบ ออกเผชิญโลกด้วยวัยเพียง 19 ปี ไปตามหาเมืองในฝัน
เขาจับเครื่องบินไปประเทศศรีลังกาเพียงเพราะสนใจศิลปะ วัฒนธรรมอินเดีย 
ก่อนจับพลัดจับผลูมาอยู่ในกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร 
เกลอเก่าที่เคยรู้จักคุณไมค์ตั้งแต่สมัยรุ่นๆ เล่าว่า คุณไมค์เมื่อแรกเข้ามาอยู่เมืองไทย ทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กระทั่งได้รู้จักกับ บุญชู โรจนเสถียร กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพในขณะนั้น และได้รับการทาบทามเข้าไปทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ โดยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายแปลเอกสาร รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของบุญชู
ทว่า ความที่คุณไมค์ เป็นผู้คลั่งไคล้ในเรื่องศิลาจารึก เมื่อคุยเปิดประเด็นนี้กับคนรอบข้าง รวมทั้งกับ วิทยากร เชียงกูร และ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ในห้องเดียวกันที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานผ่านฟ้า -คนฟัง ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง พากันส่ายศีรษะและลงความเห็นว่า คุณไมค์เป็นโรคศิลาจารึกสุโขทัยขึ้นสมอง
ที่สุดจึงแนะนำให้รู้จักกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ตอนนั้นกำลังค้นประวัติศาสตร์ยุคสุโขทัยจากเอกสารต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการจัดทำหนังสือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
หลังจากนั้นคนทั้งคู่ คือ ไมเคิล ไรท และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็นั่งถกเถียงเรื่องศิลาจารึกสุโขทัยกันที่ร้านเหล้าริมถนนราชดำเนิน 
และเป็นที่มาของการเปิดประเด็นร้อนๆ เกี่ยวกับจารึกวัดศรีชุม
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2522 เมื่อนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ออกวางตลาด พร้อมกับบทความแรกของ ไมเคิล ไรท เรื่อง "ส้วม ในประวัติศาสตร์สุโขทัย" โดยใช้หลักฐานส้วมจากลังกามาอธิบาย สร้างกระแสความตื่นตัวให้แก่วงการประวัติศาสตร์-โบราณคดีอย่างคึกคัก 
สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนถึง ไมเคิล ไรท ในหน้าคำนำเสนอของหนังสือ "ฝรั่งคลั่งสยาม นามไมเคิล ไรท" ว่า 
"ผมไม่เคยถาม และไม่อยากถามว่าทำไมถึงมาสนใจอ่านศิลาจารึกในสยามประเทศ แต่ผมรู้ว่าคุณไมค์เริ่มสนใจจารึกสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะจารึกวัดศรีชุมที่นักวิชาการไทยมักบอกว่าเป็นจารึกเลอะเทอะ เพราะข้อความไม่ปะติดปะต่อ วกไปวนมาคล้ายคนเขียนสติไม่เต็ม
คุณไมค์บอกว่าจารึกวัดศรีชุมสำคัญมาก พรรณนาเรื่องราวในลังกาถูกต้องหมดทุกอย่าง ภาษาก็งามหมดจด เสียแต่ว่านักวิชาการไทยไม่สนใจศึกษาเรื่องลังกา และอ่านภาษาไทยในจารึกไม่เข้าใจ ทำให้กล่าวโทษจารึกหลักนี้ว่าเลอะเทอะ ความจริงคนอ่านไม่รู้เรื่องนั่นแหละเลอะเทอะ"
หลังจากที่คุณไมค์เขียนบทความเรื่องศิลาจารึกวัดศรีชุมลงใน ศิลปวัฒนธรรม และ เมืองโบราณ ที่สุดก็เป็นที่ยอมรับจากวงวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับเชิญจากหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ให้เป็นกรรมการชำระและตรวจสอบจารึกวัดศรีชุม
ไมเคิล ไรท มีชื่อตามบัตรประชาชนว่า "เมฆ มณีวาจา" ชื่อที่เจ้าตัว-ตั้งขึ้นเองเมื่อครั้งทำการโอนสัญชาติจากอังกฤษเป็นไทย
เคยใช้นามปากกาที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งให้เมื่อแรกเขียนคอลัมน์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมว่า "ไมตรี ไรพระศก"
บุคลิกภายนอกที่สุภาพอ่อนน้อม มีรอยยิ้มระบายบนใบหน้าอยู่เป็นนิจ แต่ในบทบาทของคอลัมนิสต์ คุณไมค์ กลับตรงกันข้าม 
เป็นผู้ที่กล้าวิพากษ์วัฒนธรรม "ไทย" อย่างตรงไปตรงมา ไม่หวั่นแม้จะมีเสียงสะท้อนกลับมาว่า เป็นฝรั่งที่ไม่มีศาสนาด้วยซ้ำ แต่บังอาจวิพากษ์คนไทย วิพากษ์ศาสนาพุทธ 
เขาบอกเพียงว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่มีคนสนใจอ่านบทความที่เขาเขียน ดีกว่าการที่ไม่มีคนสนใจอ่าน
เป็นคนหนึ่งที่ยืนยันว่าไม่มี "ความเป็นไทย" ในโลกนี้ ความเป็นชาติเป็นเพียงสิ่งสมมุติ...เมืองไทยเข้าใจตัวเองไม่ได้ถ้าไม่มองประเทศเพื่อนบ้าน
คุณไมค์เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญการใช้ภาษาไทยอย่างดีเยี่ยม เป็นผู้ที่เริ่มใช้คำว่า "อุษาคเนย์" แทนคำว่าเอเชียอาคเนย์
จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะยกย่องเชิดชู ไมเคิล ไรท ให้เป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี พ.ศ.2550 และมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ยกย่องให้เป็นผู้มีอุปการคุณต่อวงการไทยคดีศึกษา
ในส่วนของการทำงาน ไมเคิล ไรท ทำงานอยู่ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่ พ.ศ.2513-2543 เป็นที่ปรึกษา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ พ.ศ.2543-ปัจจุบัน เป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ.2522-ปัจจุบัน และเป็นนักเขียนในคอลัมน์ "ฝรั่งมองไทย" ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ พ.ศ.2535-ปัจจุบัน
มีผลงานหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มมากมาย อย่าง ฝรั่งคลั่งสยาม (พ.ศ.2541), ฝรั่งอุษาคเนย์ (พ.ศ.2542), ตะวันตกวิกฤต คริสต์ศาสนา (พ.ศ.2542), โองการแช่งน้ำ (พ.ศ.2543), ฝรั่งหลังตะวันตก (พ.ศ.2547), พระพิฆเนศ (พ.ศ.2548), แผนที่แผนทาง (พ.ศ.2548), ไมเคิล ไรท มองโลก (พ.ศ.2549), โลกนี้มีอนาคตหรือ? (พ.ศ.2550), ฝรั่งคลั่งผี (พ.ศ.2550), ฝรั่งหายคลั่งหรือยัง (พ.ศ.2551) 

บ่ายวันพุธที่ 7 มกราคม 2552 "ไมเคิล ไรท" สิ้นใจลงอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งปอด ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ สิริอายุรวม 68 ปี 

Thursday, January 8, 2009

ซูซาน ซอนทัก: 'มันช่างงดงามเมื่อเอชเริ่มร่วมรักกับฉัน'


สวัสดีปีใ หม่ เนื่องด้วยยังไม่อยากคิดมากกับเรื่องราวใดๆ จึงเอาความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับซูซาน ซอนทักมาฝากกันครับ 


ไดอารีสุดส่วนตัวของนักเคลื่อนไหวและนักเขียนนามซูซาน ซอนทัก กำลังจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะโดยลูกชายคนเดียวของเธอเอง

 

ฉันตั้งใจจะทำทุกอย่าง...ฉันจะมุ่งหาความพึงใจและเสาะแสวงหามันในทุกๆที่!...ทุกสิ่งมีความหมาย!” ซูซาน ซอนทักเขียนขึ้นในเวลาที่เธอยังอายุสิบหกในปี 1946 การเป็นหนึ่งในนักเขียน นักคิด นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวอเมริกันชั้นแนวหน้าตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมานั้นทำให้เธอมีชีวิตที่รุ่มรวยและสร้างสรรค์ ความเห็นของเธอจะจุดไฟโทสะและความประทับใจแก่เหล่านักวิจารณ์ได้เท่าๆกันเลยทีเดียว

ถึงเวลานี้เธอก็เสียชีวิตมาได้สี่ปีแล้ว ไดอารีส่วนตัวของเธอกำลังจะถูกตีพิมพ์ ซึ่งจะเปิดเผยเบื้องลึกชีวิตของเธอในช่วงต้นของชีวิต และเรื่องที่ถูกพูดถึงมาก-เรื่องความสัมพันธ์ทางเพศของเธอ

ไดอารีจะออกวางขายในสามงวด เริ่มในเดือนมกราคมปีหน้า (2009) ด้วยรีบอร์น: เออลี ไดอารี, 1947-1964 พิมพ์โดยสำนักเพนกวิน โดยข้อบันทึกเหล่านี้ถูกรวบรวมโดยลูกชายคนเดียวของซอนทัก ซึ่งเป็นนักเขียนและนักวิชาการนามเดวิด รีฟ และไดอารีจะเปิดเผยมุมของเธอที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน

แม้ว่าทุกคนจะรู้ว่าซูซาน ซอนทักเป็นไบโอเซกชวล ชัดเจนที่สุดจากความสัมพันธ์ของเธอกับช่างภาพแอนนี่ ลีโบวิทซ์ แต่เธอก็ไม่เคยพูดตรงๆถึงความเป็นไบโอเซกชวลของเธอในสาธารณะเลย

ไดอารีที่กำลังจะถูกเปิดเผยนี้เริ่มในสมัยที่เธออายุเพียงสิบสี่ มันบอกเรื่องราวการเริ่มมีเพศสัมพันธ์ของเธอกับคนเพศเดียวกันในสองปีถัดมา ในเนื้อความนั้น ซอนทักเขียนเอาไว้ว่า ฉันยังเยาว์มาก และเริ่มจะรู้สึกได้ถึงการเติบโตขึ้นของความรู้สึกอันน่าหวาดหวั่นในตัวฉัน...เวลานี้ฉันรู้สึกว่าตนเองมีแนวโน้มเป็นเลสเบี้ยน (ยากทีเดียวกว่าฉันจะเขียนออกมาได้) 

พออายุสิบหก เธอเขียนถึงรายละเอียดของการมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงครั้งแรกที่เธอเรียกเพียงแค่ เอช  เพื่อรักษาความลับ ฉันอาจจะเมานะ เพราะมันช่างงดงามเมื่อเอชเริ่มร่วมรักกับฉัน...มันล่วงเลยมาถึงตีสี่กว่าเราจะนอน...ฉันเริ่มจะรู้สึกได้อย่างเต็มที่ว่าฉันปรารถนาหล่อน และหล่อนก็รับรู้เช่นเดียวกัน...

 รีฟพูดถึงความยากในการจะตีพิมพ์วัตถุดิบที่แสนตรงไปตรงมาและเป็นส่วนตัวมากชิ้นนี้ที่บ้านในนิวยอร์คของเขา มันเป็นการตัดสินใจที่ยากสำหรับผมและเหตุผลจริงๆก็คือผมไม่มีทางเลือกที่มากนัก เพราะแม่ผมขายงานไปให้มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแล้ว ดังนั้นอย่างไรมันก็จะถูกตีพิมพ์ในท้ายที่สุดอยู่ดี ผมจึงเลือกพิจารณาต้นร่างด้วยตนเองจะดีกว่า...ผมพยายามอย่างมากที่จะคิดอย่างถี่ถ้วนว่าจะตัดหรือไม่ตัดอะไรที่ผมจะรู้สึกไม่สบายใจ หรือสิ่งที่แม่ผมไม่ต้องการเปิดเผยให้โลกรู้น่ะครับ

 ไดอารีแสดงให้เห็นถึงความหลงไหลของซอนทักในวรรณกรรมและการทำรายชื่อ ในสองสามบันทึกแรกของไดอารีแสดงให้เห็นถึงควาหมกมุ่นที่ซอนทักมีต่ออองเดร ชีดและไรเนอร์ ริลเค แม่เป็นอัจฉริยะที่แสวงหาความเป็นอัจริยะอยู่เสมอ สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นอัจฉริยะอย่างเช่นผม มันใช้เวลานานกว่าที่จะอ่านหนังสือเท่าจำนวนที่แม่อ่าน รีฟกล่าว ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจในงานชิ้นนี้คือมันเป็นเรื่องของคนๆหนึ่งสร้างตนเองขึ้นมา นั่นเป็นเหตุผลที่ผมรวมรายชื่อที่แม่ทำเอาไว้มาก...ที่จริงมีมากกว่านี้อีก...

 รีฟยังพูดถึงความเหมือนของบุคคลิกแม่ตนเองในวัยเยาว์กับแม่ที่เขารู้จักต่อมาด้วย ผมไม่คิดว่าแม่เปลี่ยนไปขนาดนั้น นั่นคือสิ่งที่ผมคิดตลอดเมื่อได้อ่านไดอารีของแม่ ความช่างสงสัยและความกระหายความรู้มีอยู่ในตัวแม่อยู่แล้ว ผมไม่คิดว่ามันมีอะไรแตกต่างกับสมัยแม่ยังอายุสิบห้า ที่ผมรู้สึกว่าเหมือนเดิมเลย

 ซอนทักตายในนิวยอร์คเมื่อ 28 ธันวาคม 2004 ขณะอายุได้ 71 จากโรคมะเร็ง ร่างของเธอถูกฝังอยู่ที่สุสานมงท์ปานาสที่ปารีส

 

หนังสือพิมพ์ ดิ อินดีเพนเดนท์ 16 พฤศจิกายน 2008