Tuesday, January 13, 2009

อาลัย "ฝรั่งคลั่งสยาม"


ไมเคิล ไรท หนึ่งในผู้รักประวัติศาสตร์ไทยได้เสียชีวิตลง เห็นบทความของคุณพนิดา สงวนเสรีวานิช ในมติชน จึงขอนำมาลง เื่พื่อส่งอาจารย์ไมค์แกหน่อย



ปิดฉาก "ฝรั่งคลั่งสยาม" อาลัย "ไมเคิล ไรท"

ใครๆ รู้จักเขาในสมญา "ฝรั่งคลั่งสยาม" ที่ได้รับการประทับตรารับรองไม่เพียงเพราะเขาเป็นหนึ่งในชาวอังกฤษที่ตกหลุมรักเมืองไทย 
เข้ามาปักหลักอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ รวมทั้งตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าชีวิตนี้จะอยู่เมืองไทย และตายที่เมืองไทย
แต่เพราะเขา- ไมเคิล ไรท (Michael Anthony Stanley Wright-ชื่อตามพาสปอร์ต) หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า "คุณไมค์" จุดประเด็นการศึกษาในแวดวงประวัติศาสตร์-โบราณคดีไว้ไม่น้อย 
โดยเฉพาะเรื่องศิลาจารึกหลักที่ 2 หรือ "จารึกวัดศรีชุม" ที่เมื่อก่อนไม่มีใครให้ความสนใจ มองว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ
ไมเคิล ไรท คนนี้ที่เป็นคนที่ยืนยันว่า จารึกวัดศรีชุมมีความสำคัญมาก พรรณนาเรื่องราวในลังกาถูกต้องหมดทุกอย่าง รวมทั้งยังใช้ภาษาที่งดงาม ทั้งเชื่อว่าจารึกวัดศรีชุมน่าจะมีอายุเก่าแก่กว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหง
เหตุเพราะก่อนหน้าจะมาอยู่เมืองไทย คุณไมค์ไปเที่ยวเล่นอยู่ในศรีลังกาอยู่ 1 ปี ด้วยความหลงใหลในงานศิลปะ วัฒนธรรมอินเดีย 
ไม่แปลกที่คุณไมค์จะอ่านศิลาจารึกได้คล่อง และเข้าใจถึงสิ่งที่จารึกวัดศรีชุมได้จดจารไว้
ไมเคิล ไรท เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2483 ที่เมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ โตขึ้นมาตามโรงเรียนสอนศาสนาคาทอลิก
เป็นลูกคนเดียว ที่มีความผูกพันกับแม่มาก 
เขาเคยเขียนจดหมายถึงสุจิตต์ วงษ์เทศ เล่าถึงแม่หลังจากฌาปนกิจศพที่วัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 ว่า 
"เห็นกวีไทยเขียนมามากเรื่องพระคุณแม่ว่าให้กำเนิดลูกด้วยความเจ็บปวดยิ่งนัก เคยมีใครเขียนเรื่องความร้อนที่แผ่ออกจากเมรุเผาแม่ไหม? ผมประสบมาแล้วแต่เขียนไม่ได้ เพราะไม่เป็นภาษาไทย
แม่ให้เราผุดเป็นคนขึ้นมาด้วยความยากลำบากและเจ็บปวด แล้วในที่สุดเรามีหน้าที่ส่งแม่ดับสูญไปท่ามกลางเปลวเพลิงที่ร้อนยิ่งกว่าเพลิงกัลปาวสานที่ผลาญถึงพรหมโลก ผมรู้สึกมาแล้วเมื่อเทกระจาดดอกไม้จันทน์ใส่เมรุแม่และถูกเผาไปส่วนหนึ่งของวิญญาณ"
ขณะที่กับ พ่อ คุณไมค์บอกว่า เป็นกัปตันเรือ...ไม่รู้จักพ่อเลย ไม่ค่อยได้เจอกัน 
เด็กชายไมค์ เรียนระดับประถม-มัธยมที่ วิทยาลัยเซนต์ไมเคิล คอลเลจ ในเมืองเซาแธมป์ตัน แต่ไม่ทันได้เรียนจบก็เลิกราจากการศึกษาในกรอบ ออกเผชิญโลกด้วยวัยเพียง 19 ปี ไปตามหาเมืองในฝัน
เขาจับเครื่องบินไปประเทศศรีลังกาเพียงเพราะสนใจศิลปะ วัฒนธรรมอินเดีย 
ก่อนจับพลัดจับผลูมาอยู่ในกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร 
เกลอเก่าที่เคยรู้จักคุณไมค์ตั้งแต่สมัยรุ่นๆ เล่าว่า คุณไมค์เมื่อแรกเข้ามาอยู่เมืองไทย ทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กระทั่งได้รู้จักกับ บุญชู โรจนเสถียร กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพในขณะนั้น และได้รับการทาบทามเข้าไปทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ โดยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายแปลเอกสาร รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของบุญชู
ทว่า ความที่คุณไมค์ เป็นผู้คลั่งไคล้ในเรื่องศิลาจารึก เมื่อคุยเปิดประเด็นนี้กับคนรอบข้าง รวมทั้งกับ วิทยากร เชียงกูร และ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ในห้องเดียวกันที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานผ่านฟ้า -คนฟัง ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง พากันส่ายศีรษะและลงความเห็นว่า คุณไมค์เป็นโรคศิลาจารึกสุโขทัยขึ้นสมอง
ที่สุดจึงแนะนำให้รู้จักกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ตอนนั้นกำลังค้นประวัติศาสตร์ยุคสุโขทัยจากเอกสารต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการจัดทำหนังสือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
หลังจากนั้นคนทั้งคู่ คือ ไมเคิล ไรท และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็นั่งถกเถียงเรื่องศิลาจารึกสุโขทัยกันที่ร้านเหล้าริมถนนราชดำเนิน 
และเป็นที่มาของการเปิดประเด็นร้อนๆ เกี่ยวกับจารึกวัดศรีชุม
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2522 เมื่อนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ออกวางตลาด พร้อมกับบทความแรกของ ไมเคิล ไรท เรื่อง "ส้วม ในประวัติศาสตร์สุโขทัย" โดยใช้หลักฐานส้วมจากลังกามาอธิบาย สร้างกระแสความตื่นตัวให้แก่วงการประวัติศาสตร์-โบราณคดีอย่างคึกคัก 
สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนถึง ไมเคิล ไรท ในหน้าคำนำเสนอของหนังสือ "ฝรั่งคลั่งสยาม นามไมเคิล ไรท" ว่า 
"ผมไม่เคยถาม และไม่อยากถามว่าทำไมถึงมาสนใจอ่านศิลาจารึกในสยามประเทศ แต่ผมรู้ว่าคุณไมค์เริ่มสนใจจารึกสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะจารึกวัดศรีชุมที่นักวิชาการไทยมักบอกว่าเป็นจารึกเลอะเทอะ เพราะข้อความไม่ปะติดปะต่อ วกไปวนมาคล้ายคนเขียนสติไม่เต็ม
คุณไมค์บอกว่าจารึกวัดศรีชุมสำคัญมาก พรรณนาเรื่องราวในลังกาถูกต้องหมดทุกอย่าง ภาษาก็งามหมดจด เสียแต่ว่านักวิชาการไทยไม่สนใจศึกษาเรื่องลังกา และอ่านภาษาไทยในจารึกไม่เข้าใจ ทำให้กล่าวโทษจารึกหลักนี้ว่าเลอะเทอะ ความจริงคนอ่านไม่รู้เรื่องนั่นแหละเลอะเทอะ"
หลังจากที่คุณไมค์เขียนบทความเรื่องศิลาจารึกวัดศรีชุมลงใน ศิลปวัฒนธรรม และ เมืองโบราณ ที่สุดก็เป็นที่ยอมรับจากวงวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับเชิญจากหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ให้เป็นกรรมการชำระและตรวจสอบจารึกวัดศรีชุม
ไมเคิล ไรท มีชื่อตามบัตรประชาชนว่า "เมฆ มณีวาจา" ชื่อที่เจ้าตัว-ตั้งขึ้นเองเมื่อครั้งทำการโอนสัญชาติจากอังกฤษเป็นไทย
เคยใช้นามปากกาที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งให้เมื่อแรกเขียนคอลัมน์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมว่า "ไมตรี ไรพระศก"
บุคลิกภายนอกที่สุภาพอ่อนน้อม มีรอยยิ้มระบายบนใบหน้าอยู่เป็นนิจ แต่ในบทบาทของคอลัมนิสต์ คุณไมค์ กลับตรงกันข้าม 
เป็นผู้ที่กล้าวิพากษ์วัฒนธรรม "ไทย" อย่างตรงไปตรงมา ไม่หวั่นแม้จะมีเสียงสะท้อนกลับมาว่า เป็นฝรั่งที่ไม่มีศาสนาด้วยซ้ำ แต่บังอาจวิพากษ์คนไทย วิพากษ์ศาสนาพุทธ 
เขาบอกเพียงว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่มีคนสนใจอ่านบทความที่เขาเขียน ดีกว่าการที่ไม่มีคนสนใจอ่าน
เป็นคนหนึ่งที่ยืนยันว่าไม่มี "ความเป็นไทย" ในโลกนี้ ความเป็นชาติเป็นเพียงสิ่งสมมุติ...เมืองไทยเข้าใจตัวเองไม่ได้ถ้าไม่มองประเทศเพื่อนบ้าน
คุณไมค์เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญการใช้ภาษาไทยอย่างดีเยี่ยม เป็นผู้ที่เริ่มใช้คำว่า "อุษาคเนย์" แทนคำว่าเอเชียอาคเนย์
จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะยกย่องเชิดชู ไมเคิล ไรท ให้เป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี พ.ศ.2550 และมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ยกย่องให้เป็นผู้มีอุปการคุณต่อวงการไทยคดีศึกษา
ในส่วนของการทำงาน ไมเคิล ไรท ทำงานอยู่ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่ พ.ศ.2513-2543 เป็นที่ปรึกษา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ พ.ศ.2543-ปัจจุบัน เป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ.2522-ปัจจุบัน และเป็นนักเขียนในคอลัมน์ "ฝรั่งมองไทย" ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ พ.ศ.2535-ปัจจุบัน
มีผลงานหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มมากมาย อย่าง ฝรั่งคลั่งสยาม (พ.ศ.2541), ฝรั่งอุษาคเนย์ (พ.ศ.2542), ตะวันตกวิกฤต คริสต์ศาสนา (พ.ศ.2542), โองการแช่งน้ำ (พ.ศ.2543), ฝรั่งหลังตะวันตก (พ.ศ.2547), พระพิฆเนศ (พ.ศ.2548), แผนที่แผนทาง (พ.ศ.2548), ไมเคิล ไรท มองโลก (พ.ศ.2549), โลกนี้มีอนาคตหรือ? (พ.ศ.2550), ฝรั่งคลั่งผี (พ.ศ.2550), ฝรั่งหายคลั่งหรือยัง (พ.ศ.2551) 

บ่ายวันพุธที่ 7 มกราคม 2552 "ไมเคิล ไรท" สิ้นใจลงอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งปอด ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ สิริอายุรวม 68 ปี 

3 comments:

Anonymous said...

วันที่คุณกนกพงศ์เสียชีวิต มีรุ่นพี่คนหนึ่งโทรมาบอก พอวันที่คุณไมเคิล ไรท์ เสียชีวิต ก็เป็นรุ่นพี่คนเดียวกันนี้เองที่โทรมาบอก กลัวเหลือเกินว่าคราวหน้าจะได้รับโทรศัพท์ทำนองนี้อีก

Anonymous said...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ

Jeerayus said...

เธอทำให้ฉันอยากนอนอ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืน กลัวว่าจะตายก่อนได้อ่านหนังสือที่อยากอ่านครบทุกเล่ม