Tuesday, December 16, 2008

ข้อเรียกร้องไปแบบน้ำขุ่นๆ

การเรียกร้องให้ฝ่ายแดงหยุดเคลื่อนไหวเพื่อเห็นแก่ความสงบของชาติบ้านเมืองก็ไม่ต่างอะไรไปจากการเรียกร้องให้รับรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร ข้ออ้างที่ว่าให้ยอมรับการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ กล่าวด้วยภาษาชาวบ้านคือ ยอมรับมันไปเถอะ เรื่องราววุ่นวายมันจะได้จบ และอาจจะตามมาด้วยข้ออ้าง (ที่มีน้ำหนักอย่างยิ่ง) ว่าเศรษฐกิจกำลังดิ่งลงเหวแล้ว การเมืองจะเป็นอย่างไรก็เป็นเถิด มีรัฐบาลมาบริหารประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจมันเดินหน้าก่อน จากนั้นค่อยว่ากัน

เป็นข้ออ้างที่น่าเห็นใจครับ

แต่คงจะต้องมาเตือนสติกันนิดหนึ่งว่า หากไอ้ความรู้สึกแบบ ปล่อยๆมันไปเถอะ ยังเกิดขึ้นเช่นนี้อยู่ มันจะกัดกร่อนเสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพราะอาการดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นเสมอๆหากเรายังไม่สามารถรักษากติกากันได้เช่นทุกวันนี้ และแน่นอนว่าไม่ต้องพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเมื่อฝ่ายการเมืองสะดุด ไม่ขยับนโยบายทางเศรษฐกิจต่อแล้ว ฝ่ายเอกชนก็พลอยได้รับผลอย่างไม่ต้องสงสัย วิสัยขายผ้าเอาหน้ารอดไปเช่นนี้ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาเพราะคนมีอำนาจเดิมไม่เล่นตามกติกา และยอมทำทุกวิถีทางในการรักษาเอาไว้ซึ่งอำนาจ

 สื่อมวลชนมีบทบาทตรงนี้มากในการทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบ อย่าลืมว่าเวลานี้คนจำนวนมากรับรู้และรับฟังความ(มีอัน)เป็นไปทางการเมืองผ่านสื่อเท่านั้น บางคนก็ไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์เอาเท่านั้น การให้การศึกษาทางการเมืองเช่นนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เลือก เอาข้อมูลประเภทใดมานำเสนอ

สื่อมวลชนมีบทบาทมาก

หากเสนอข่าวในทำนองว่า การเมืองก็ต้องเป็นเช่นนี้ เราก็ต้องเข้าใจ คุณก็ไปทำข่าวชนิดอื่นดีกว่าไหม? นี่คือการผิดจรรยาบรรณชนิดหนึ่งด้วยซ้ำ หรือคุณได้รับการสนับสนุนจากใครหรือเปล่า? แน่นอนว่าสื่อย่อมจุดยืนทางการเมือง หากแต่หน้าที่ในการชี้ให้เห็นความสำคัญของระบบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ กฏหมาย หรืออาจรวมไปถึงจารีต ควรจะต้องเป็นของสื่อไม่ใช่หรือ?

หรือเวลานี้กำลังอึกอัก น้ำท่วมปากอยู่? 

Wednesday, December 10, 2008

ชัยชนะระยะสั้นที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆของฝ่ายอำมาตย์

ความผกผันทางการเมืองที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เป็นเรื่องน่าแปลกใจอะไรสำหรับผู้ที่สังเกตการณ์การเมืองไทย เพราะหากว่ากันในเชิงการเมืองเรื่องอำนาจแล้ว นี่ก็คือการตะเกียกตะกายเอาตัวรอดของเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มองเห็นการจองล้างจองผลาญของฝ่ายอำมาตย์อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นเรื่อยๆ (และหน้าด้านขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน) ดังนั้นความมีเสถียรภาพจึงเกิดได้ยากยิ่งในยามที่นักการเมืองต้องการเก็บตำแหน่งในฝ่ายบริหารเพื่อผลประโยชน์จะได้ตกถึงเหล่าบริวาร รักษาฐานการสนับสนุนเอาไว้ให้ได้ ผลคือการสลับสับขั้วทางการเมืองอย่างที่เห็น

มีข้อสังเกตตื้นๆบางอย่างที่น่าสนใจ

        ๑) แม้ฝ่ายทหาร (ซึ่งเป็นแขนขาที่แข็งแรงอันหนึ่งของอำมาตยาธิปไตย) จะแทรกแซงทางการเมืองมาโดยตลอด ครั้งนี้เป็นความพยายามแทรกแซงโดยไม่ปฏิวัติรัฐประหารโดยตรง หากแต่ยังใช้การปฏิวัติเป็นข้ออ้างในการกดดันเหล่าสส.ให้เปลี่ยนขั้วด้วย ในแง่หนึ่งอาจเป็นเพราะทหารพบว่าการรัฐประหารจะไม่ได้รับการยอมรับแล้วหรือทหารมีเงินไม่พอ มันเป็นอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากทหารพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าแทรกแซงทางตรงเนื่องจากกระแสสังคมดังเช่นช่วงภายหลัง ตุลาฯ 2516 ถึง ตุลาฯ 2519 มีการต่อต้านสูง อย่างไรก็ตามมีอย่างน้อยประการหนึ่งที่แตกต่างออกไปคือฝ่ายการเมืองวิ่งเข้าหาทหารในยุคหลัง 14 ตุลาฯ เนื่องจากอำนาจแท้จริงยังอยู่ในมือทหาร ซึ่งยังอยู่ในส่วนยอดของโครงสร้างอำนาจการเมืองไทย แต่ยุคทักษิณได้ทำให้บทบาททหาร (รวมทั้งอำมาตย์) อ่อนลง จึงทำให้ครั้งนี้ฝ่ายทหารวิ่งเข้าใส่ฝ่ายการเมือง ต่อรองผลประโยชน์ในการธำรงเอาไว้ซึ่งระบบการเมืองแบบเก่า ในขณะเดียวกัน สภาพเศรษฐกิจของโลกและของไทยที่กำลังตกต่ำอย่างสุดขีดทำให้เหล่าผู้นำอำมาตย์มองว่าการรัฐประหารจะไม่ใช่คำตอบแล้วก็เป็นได้ (เรื่องนี้ซับซ้อน อาจต้องมองกันยาวๆและศึกษากันต่อไป)

ในอีกแง่หนึ่ง ฝ่ายอำมาตย์เองก็ขยับยุทธศาสตร์ด้วยการใช้อีกแขนหนึ่ง (ซึ่งไม่ดีต่อตัวอำมาตย์เองเลย) คือตุลาการ ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อสู้เช่นเดียวกับทหาร ต้องขอย้ำอีกครั้งว่านี่ไม่ใช่กระบวนการตุลาการณ์ภิวัฒน์แต่อย่างใด หากแต่เป็นการดิ้นรนต่อสู้ทุกวิถีทางในการดำรงระบอบการปกครองแบบเก่าเอาไว้ให้ได้ ภายใต้วาทกรรมชุดใหญ่ชุดหนึ่ง ฝ่ายตุลาการจะพบว่าตนเองกำลังรักษาบ้านเมืองเอาไว้ได้ (ทั้งๆที่ตนเองรู้อยู่ว่ามันไม่ถูกต้อง ดังที่มีบางแหล่งข่าวเปิดเผยการพูดคุยกันลับๆของผู้พิพากษา) ดังนั้นเวลานี้กำลังเกิดวาทกรรมชุดใหม่ขึ้นมา ว่าด้วยการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตย VS ฝ่ายอำมาตย์ โดยเฉพาะเจาะจงลงไปที่สถาบันกษัตริย์

๒) นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สถาบันฯออกมามีบทบาทชัดเจน โดยจะไม่เขียนในเชิงลึก (เพราะจะถูกสั่งปิดและผิดกฏหมาย จึงต้องสยบยอมต่ออำนาจ) แต่จะเห็นว่ามันได้เน้นย้ำวาทกรรมปชต. VS อำมาตย์ให้เป็นจริงขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ และชี้นำไปให้คาดเดาต่างๆนานาว่า การต่อสู้ ครั้งนี้มีอยู่จริง และ ให้มันรู้เสียบ้าง ว่าใครเป็นใคร กลายเป็นเรื่องที่คนไทยตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันเอง เพราะหากวาทกรรมดำรงอยู่ต่อไป มันจะฉีกขั้วคนออกเป็นสองขั้ว ซึ่งหากเลวร้ายที่สุดก็จะเกิดการนองเลือดอย่างที่ไม่เคยมาก่อน แล้วสุดท้ายที่ยืนในสังคมก็จะมีเพียงจุดเดียว (เช่นในปัจจุบัน) ท่าทีการไม่ยอมประนีประนอมเช่นนี้จะส่งผลเสียในระยะยาว

๓) จะเห็นได้ว่าภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ที่มีเสรนิยมใหม่เป็นตัวนำนั้น กำลังจะไม่เหลือพื้นที่ให้การปกครองแบบอำมาตยาธิปไตยอีกต่อไป (คนชั้นสูงคุมผลประโยชน์ และคนล่างๆลงไปรับส่วนแบ่ง อยู่ดีกินดีได้ตราบใดที่ไม่ไปคานอำนาจของคนข้างบน) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สังคมจะโหยหา คนอย่างทักษิณ มากขึ้น เพราะมันตอบสนองการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เหล่าอำมาตย์ที่ประณามทุนนิยมสามานย์นั้นก็เป็นนายทุนเสียเอง และเป็นนายทุนใหญ่ (มากถึงมากที่สุด) เสียด้วย ดังนั้นท่าทีปากว่าตาขยิบเช่นนี้จะทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคต

ฝ่ายอำมาตย์กำลังจะกุมชัยชนะในระยะสั้นครั้งนี้ แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้ส่งผลดีในระยะยาว ซึ่งพวกเขาเองก็หวาดหวั่น

 

เพราะมันเป็นอนาคตที่พอจะมองเห็นได้แล้ว

Tuesday, December 2, 2008

ปัญหาคือเราไม่มี Maoist และ Republicanism ก็อ่อนแอเกินไป

บางกอกพันดิืทโพสท์เอาไว้ เป็นบทวิเคราะห์สั้นๆ ว่าสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้ดีต่อสถาบันฯเลยแม้แต่น้อย โปรดเจียดเวลาไปอ่าน (เป็นภาษาอังกฤษ)

น่าสนใจว่าเวลานี้มีคนตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ
 
แต่ก็อย่างว่า, เราไม่มี Maoist และ Republicanism ก็อ่อนแอเกินไป