Saturday, September 27, 2008

เมื่อเวลาที่เศรษฐกิจดิ่งลงเหว

เนื่องด้วยไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสามารถส่งผลกระทบได้อย่างมหาศาลในทุกเรื่อง ผมจึงใคร่ขอเชิญชวนให้ทุกท่านมาตระหนักว่า ณ บัดนี้โลกเรากำลังมุ่งไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในครั้งใหญ่อีกครั้งดังเช่นที่ประชากรโลกเคยเดือดร้อนกันมาแล้วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

            เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชได้พูดในเวทีการประชุมสหประชาชาติ เตือนภัยทางเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า และสำทับให้ประเทศต่างๆเตรียมตัวได้เลยว่ามีโอกาสประสบปัญหาอย่างร้ายแรง ทั้งนี้สหรัฐฯในฐานะศูนย์กลางระบบทุนนิยมโลกเกิดอาการทรุดลงอย่างรวดเร็วมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว และมาส่งผลชัดเจนเอาเมื่อหลายบริษัท ทั้งยักษ์ใหญ่ยักษ์น้อยในสหรัฐฯพากันเจ๊ง ปิดกิจการ หรือควบรวมกิจการกันเพื่อเอาตัวรวดจากภาวะนี้

            เปล่าหรอกครับ ผมไม่ได้จะมาพยายามหาสาเหตุว่าทำไมมันจึงเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างร้ายแรงเช่นนี้ได้กับสหรัฐฯ หรือรัฐควรจะมีมาตรการอย่างไรในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือกระทั่งไปถึงการวิเคราะห์ว่ามันจะส่งกระทบเพียงใดต่อประเทศไทย แต่ผมเพียงต้องการเปิดอภิปรายว่า ในฐานะปุถุชนคนธรรมดาทำมาหากิน ที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจทั้งมหภาคและจุลภาคเท่าใดนัก

            เราควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

            เพื่อนฝูงหลายคนที่ผมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย หลายคนมักจะต้องการให้ภาครัฐและเอกชนชะลอการลงทุนเอาไว้ ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมการออม มีการประกันราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ฯลฯ เพื่อนผู้ชายบางคนบ่นอุบว่าเวลาไปรับสาวๆที่บ้านอยู่ไกล พวกเขามักจะต้องเติมน้ำมันรถใหม่เสมอ ส่วนเพื่อนผู้หญิงหลายคนบอกว่าตนเองไม่ได้รับผลกระทบมากน้อยเท่าใดนัก เพราะราคาเสื้อผ้าแบรนด์เนมไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายจนเกินไปนัก หรือบางคนพูดทีเล่นทีจริงว่า หากหาสามีที่มั่งคั่งได้ สิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่ปัญหาของพวกหล่อนเลย

            คราวนี้ผมถามพวกเขาต่อไปว่า มีแผนการอย่างไรในอนาคตหรือไม่ คำตอบที่มักจะได้รับเสมอๆ คือ คงต้องประหยัดมากขึ้น

            แน่นอนครับว่ามาตรการแก้ไขความเดือดร้อนเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำนั้นนอกจากการจะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจ การลงทุน ฯลฯ ที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใดคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละคน

            เวลาพูดก็พูดง่ายอยู่หรอกครับ แต่เวลาทำนี่ยากแสนสาหัสทีเดียว เพราะครั้งนี้มันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ทางการเงินอย่าเดียวเท่านั้น แต่มันต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

            ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติครับ

            ผมมีสามประเด็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเมืองไทยและคิดว่าหลายฝ่ายควรจะนำมาอภิปรายให้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

            ประเด็นแรกคือเราต้องถอยออกห่างจากตัดสินผู้คนเนื่องมาจากฐานะทางเศรษฐกิจกันได้แล้ว พูดง่ายๆคือเลิกดูถูกคนจน(กว่า)กันเสียทีเถอะครับ คำเตือนนี้ผมมุ่งไปที่เหล่าชนชั้นกลางทั้งสูงและล่างที่ขยับเคลื่อนชนชั้นและฐานะได้สำเร็จ ไม่ว่าจะทั้งจากการศึกษาหรือจากการลงทุนทางธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม แทนที่จะเห็นใจคนที่ประสบความยากลำบาก กลับไปดูถูกเขาเสียอย่างนั้น-สิ่งที่สำคัญที่เราจะต้องคำนึงเสมอคือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ครับ ไม่ว่าคนไหนจะยากดีมีจนสูงต่ำดำขาวหรืออะไรก็สุดแล้วแต่ ทุกคนควรจะมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมแม้จะมากจะน้อยแตกต่างกันไป

            ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะต้องการจะชี้ให้เห็นว่า มันเป็นสิ่งที่สำคัญในการบ่มเพาะสังคมปะชาธิปไตยที่ดีให้เกิดขึ้นครับ ไม่ว่าจะใครก็ตามต่างต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองได้โดยไม่ถูกกีดกัน เราจะไปหาว่าคนจน คนที่ไม่ได้รับการศึกษานั้นโง่งมงายและไม่ควรมีสิทธิมีเสียงไม่ได้ ชนชั้นกลางในเมืองมักจะมองว่าคนชนบทเป็นเพียงเครื่องมือของนักการเมือง และพวกเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศได้คณะบริหารที่โกงกิน ผมขอบอกเอาไว้เลยครับว่า การแก้ปัญหาไม่ใช่การลดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องแก้ด้วยการให้ความรู้ทางการเมืองที่มากขึ้นสิครับถึงจะถูก หลายคนบอกว่ามันคงต้องใช้เวลาอีกเป็นชาติ ผมก็บอกเลยครับว่า จะเป็นชาติหรือสองชาติเราก็ต้องรอครับ แต่เราไปทำลายกลไกประชาธิปไตยลงไปไม่ได้

            แม้ในแนวคิดแบบสัจจะนิยมจะชี้ให้เห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ผู้ที่ครอบครองผลประโยชน์อยู่แล้วมาผ่องถ่ายหรือกระจายไปสู่คนระดับล่างลงไป และประวัติศาสตร์ไทยก็ชี้ให้เห็นแล้วอย่างชัดเจนว่าภาพความสัมพันธ์ทางสังคมของเราก็เป็นไปแบบบนลงล่างเสมอ แต่ไม่ได้แปลว่าความเปลี่ยนแปลงจะก่อเกิดขึ้นไม่ได้นี่ครับ หากเพาะเชื้อแห่งความเปลี่ยนแปลงเอาไว้โดยตลอด เมื่อมีประกายไฟเกิดขึ้นแล้ว มันจะได้จุดได้ง่ายยิ่งขึ้น

            ประเด็นที่สองเป็นเรื่องจิตสำนึกของผู้ที่เป็นเจ้าของทุนใหญ่ครับ มีตัวอย่างหลายประการที่ผมพบเห็น แต่ตัวอย่างหนึ่งที่ผมต้องขอยกขึ้นมาเพื่อให้มองเห็นได้ง่ายขึ้นคือค่ายเพลงใหญ่ทั้งหลายครับ หลายท่านคงจะเห็นกระแสฟีเวอร์ดาราเกาหลีอย่างมโหฬารในหมู่เยาวชนไทย (อย่างที่ญี่ปุ่นเคยทำได้เช่นกันเมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อน) การขยายตัวของทุนโดยใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือทำให้เราต้องมาพิจารณากันดีๆครับว่าเยาวชนเหล่านี้เป็น ผู้บริโภค หรือเป็น เหยื่อ กันแน่?

            การออกสินค้ามากมายไม่ว่าจะเป็นซีดีเพลง ของที่ระลึก รูปถ่าย การออกคอนเสิร์ต ฯลฯ เป็นความพยายามในการเพิ่มยอดขาย สิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดาของระบบทุนอยู่แล้วครับ ผมไม่ได้ติดใจอะไร แต่เรื่องที่ผมเพียรตั้งคำถามคือ ยอดขายของอัลบั้มดารานักร้องหน้าตาดีๆ (จะเกาหลีหรือไม่ก็ตาม) ที่พุ่งพรวดนั้น มาจากกระเป๋าสตางค์ของใคร? ก็แน่นอนครับว่ากลุ่มเป้าหมายของการขยายอัตรากำไรไม่ใช่ใครมากไปกว่าเหล่าเยาวชนนั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาก็ไม่ได้มีรายได้ประจำ นั่นก็แปลว่ายอดการเจริญเติบโตของค่ายเพลงใหญ่นั้นส่วนหนึ่งก็มาจากกระเป๋าสตางค์ของพ่อแม่เหล่านี้น่ะสิครับ

            คราวนี้สังคมต้องมาช่วยกันจับตาดูอย่างใกล้ชิดครับ ว่าเหล่าค่ายเพลงยักษ์ใหญ่นั้น คืน อะไรให้แก่สังคมบ้าง? หรือเขามีจิตสำนึกมากน้อยแค่ไหนนั่นเอง หากเราปล่อยให้เหล่านายทุนที่หวังแต่จะฟันกำไรเพียงอย่างเดียวมาเป็นผู้กุมกระบวนการทางวัฒนธรรมแบบนี้แล้ว เมื่อใดละครับ ที่พฤติกรรมการหากินกับเด็กอย่างไร้ยางอายเช่นนี้จะถูกทักท้วงเสียที?

            ประเด็นสุดท้ายวกกลับมาที่ตัวปัจเจกบุคคล ผมคิดว่าหนทางที่ดีในการจะช่วยเราให้มีความทุกข์น้อยลงจากความอัตคัตคือศาสนาครับ ที่กล่าวมาเช่นนี้อาจฟังดูเป็นนามธรรมเกินไป แต่ไม่ว่าศาสนาใดก็ตามย่อมมีจุดประสงค์บรรเทาความทุกข์กันทั้งนั้น สิ่งนี้ผมมุ่งแนะนำแก่เยาวชนไทยทั้งหลายที่ไม่ค่อยได้พยายามทำความเข้าใจศาสนาครับ อย่างที่พระไพศาลฯ ท่านเทศน์ไว้ว่าการบริโภคสัญลักษณ์กลายไปเป็นศาสนาใหม่เสียแล้ว วัดจึงไม่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป ดังนั้นศาสนาไม่ได้ทำให้ปลงตกครับ แต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงคุณค่าในตัวของเราที่มีอยู่แล้วอย่างมากมาย ดังคำกล่าวที่ว่า หากท่านตีราคาตนเองเพียงบาทเดียว ท่านคงต้องไปหาซื้อกระเป๋าราคาหนึ่งแสนบาทมาหิ้ว แต่หากท่านตีราคาตนเองหนึ่งแสนบาท ท่านกลับไม่ต้องหิ้วกระเป๋าใดๆเลย