Friday, May 11, 2012

แถลงการณ์แสงสำนึก 'เมื่อชายคนหนึ่งต้องตายในคุก'




แถลงการณ์แสงสำนึก
ฉบับที่ ๑
วันที่  ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕

สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดของมนุษย์คือการเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นการกระทำชั่วเป็นการผดุงความยุติธรรม เพราะหลงคิดว่าตนดีงามกว่าผู้อื่น
ชายคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท โดยไม่ต้องมีหลักฐานพยานชี้ชัด เขาถูกตัดสินด้วยการสันนิษฐานไว้ก่อนว่ากระทำผิด เขาถูกลงโทษด้วยบัญญัติที่ตราขึ้นโดยคณะรัฐประหารปี ๒๕๑๙  จำคุกสามถึงสิบห้าปีกับการกระทำผิดโดยวาจา มากกว่าการพยามฆ่าหรืออนาจารเด็ก
แปดครั้งที่ศาลปฏิเสธคำขอประกันตัว ทั้งอุทธรณ์และฎีกา ทั้งที่เขากำลังป่วย อ้างว่าโทษร้ายแรง ทั้งที่เป็นคดีหมิ่นประมาท ราวกับการให้สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญนี้จะทำให้ประเทศไทยต้องแตกสลายลงในพลันที่ชายคนนี้ถูกปล่อย
นี่คือดุลยพินิจของกระบวนการยุติธรรมที่แอบอิงอุดมการณ์กษัตริย์นิยม
ครั้งแล้วครั้งเล่ากับความไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในการดำเนินคดีจากกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒  อย่าว่าแต่ความยุติธรรม ความเป็นรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมายที่เป็นธรรม ความเคารพในสิทธิ เสรีภาพของคนในระบอบประชาธิปไตย...
แม้แต่ความเมตตาของระบอบที่ป่าเถื่อนก็ยังไม่มี
รัฐธรรมนูญมาตรา ๔ บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา ๒๖ บัญญัติว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๓๐ วรรคแรก บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
มาตรา ๓๙ วรรคสอง บัญญัติว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด
และวรรคสามบัญญัติว่า ก่อนจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
มาตรา ๔๐ วรรค ๒ บัญญัติว่า สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง
และวรรค ๗ บัญญัติว่า  ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
หรือบทบัญญัติเหล่านี้มีไว้ลวงหลอกผู้คนว่าประเทศนี้มีความเจริญ?
ทำไมศาลไทยจึงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้พิพากษาเหล่านี้สมควรเป็นผู้พิพากษาในประเทศนี้ต่อไปไหม?
บัดนี้ ผู้ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ต่างรู้สึกละอายใจในฐานะสมาชิกของประเทศที่ปล่อยให้ความอยุติธรรมล่อนจ้อนอุดจาดอยู่ต่อหน้า
เมื่อชายคนหนึ่งต้องตายในคุกโดยไม่ได้รับสิทธิที่เขาควรจะได้รับ ไม่ใช่แม้สิทธิของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่สิทธิที่จะถูกนับว่าเป็น “คน” ก็ยังมีไม่พอ
แม้ว่าการตายของเขาจะไม่สามารถปลุกความเป็นคนให้เพื่อร่วมชาติสัตว์ร่วมแผ่นดินจำนวนหนึ่ง ที่ยังคงหลับหูหลับตา แต่คณะนักเขียนแสงสำนึกจะมุ่งมั่นผลักดันการแก้ไขกฎหมายนี้และสิ่งที่เกี่ยวข้อง ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
หากแม้นว่าสภาผู้แทนราษฎรจะไม่รับพิจารณาด้วยเหตุใดก็ดี เราจะหาหนทางเพื่อรณรงค์เรื่องนี้เป็นการถาวรต่อไป
จนกว่าวันหนึ่ง เมื่อประเทศมีสภาผู้แทนประชาชนอย่างแท้จริง ความกล้าหาญของผู้แทนปวงชนจะตื่นจากความตาย 

คณะนักเขียนแสงสำนึก
ประเทศไทย

Wednesday, May 9, 2012

Great House - Nicole Krauss



ความที่ภาระหน้าที่การเรียนมีมาก ช่วงปีสองปีที่ผ่านมาผมจึงเปลี่ยนวิธีในการเลือกหานิยายอ่าน

อันที่จริงวิธีเลือกอ่านหนังสือของผมเปลี่ยนมาเรื่อยนะครับ และมีอยู่หลายแบบ ผสมปนเปกันไป ไม่ได้ชัดเจนอะไร  เวลาอ่านงานวิชาการก็จะเป็นแบบหนึ่ง คือค่อนข้างมีเส้นทางที่ชัดเจนว่าจะต้องอ่านอะไรต่อ เช่นอ่านงานอ้างอิงที่อยู่ในบทความวิชาการนั้นๆ ไม่ว่างานชิ้นนั้นจะเห็นด้วยหรือเห็นแย้งก็ตามที แต่เห็นว่างานนั้นเป็นงานที่สำคัญ จำเป็นต้องสืบสาวข้อถกเถียงต่อไป คือหนังสือหรือบทความวิชาการมันจะ "จูง" เราไปตามที่ต่างๆ ไปหาความคิดชุดต่อๆไป ซึ่งมีทิศทางที่ค่อนข้างชัดเจน

แต่กับนิยายนี่จะต่างออกไป หลายครั้งผมอ่านหนังสือจบลง แล้วพอนึกว่าจะอ่านอะไรต่อไปก็นึกไม่ออก (แต่อย่าลืมว่าก็มีนิยายอีกจำนวนมากที่จูงเราไม่แพ้งานเขียนประเภทอื่น หรือก็มีงานวิชาการที่เขียนดีจนอ่านสนุกเหมือนเรื่องเล่าหรือนิยายอยู่แยะ) หลายครั้งทิศทางที่ผมจะไปตามหาก็คือบทวิจารณ์วรรณกรรมต่างๆทั้งไทยและเทศ

นานวันเข้า พอรู้จักผู้คนมากขึ้น ผมก็เริ่มอ่านงานของเพื่อนฝูง และคนที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรม โดยถือว่านั่นก็คือการสนทนากับความคิดของพวกเขาผ่านงานที่เขียนออกมา เป็นการรักษาอุณหภูมิแห่งมิตรภาพเอาไว้ วิธีนี้ีดี เพราะมันเป็นประสบการณ์ทางวรรณกรรมที่อบอุ่นสำหรับผม

ในขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ผมมักจะตามอ่านนิยายที่ได้รับรางวัลต่างๆ ด้วยความคาดหวังว่าจะต้องเป็นงานที่ดี ในแง่ไหนก็แง่หนึ่งละวะ ไม้งั้นเขาจะให้รางวัลได้อย่างไร แต่พออ่านไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีคำถามว่า แล้วไอ้เหล่างานที่ไม่ได้รางวัลทางวรรณกรรมทั้งหลายทั้งแหล่นั่นล่ะ มันเป็นยังไง พอเราลองไปหยิบจับ ลองอ่านดู หลายครั้งเป็นความบังเอิญ ก็ได้พบว่า มีจำนวนมากที่ดีกว่างานรางวัลรางแหวะอะไรซะอีก (แต่สุดท้ายยังไงก็ตามอ่านงานรางวัลอยู่ดี เพราะยิ่งเวลาน้อย ก็ยิ่งอยากอ่านอ่านอะไรที่มีคนคัดมาแล้วโสดหนึ่ง)

แต่ล่าสุดวิธีของผมคืออ่านตามคำแนะนำของคนรู้จัก เพื่อนร่วมงาน คนรัก ฯลฯ ซึ่งเป็นคนที่เรารู้ว่าเขา/เธออ่านหนังสือดี รักวรรณกรรมแบบเดียวกับที่เรารักวรรณกรรม - วิธีนี้ดีที่สุดครับ เวลาฟังคนเหล่านี้เล่าว่าหนังสือเรื่องนี้ดีอย่างนั้น เล่มนู้นดีอย่างโน้น เล่มนั้นห่วยยังไง ก็ทำให้ผมรู้สึกพลุุ่งพล่านอยากอ่านหนังสือเล่มนั้นทุกทีไป

---

ล่าสุดเป็นคิวของ Great House (2010) มีคนแนะนำให้ผมอ่าน  - อันที่จริงเธอให้หนังสือผมมาด้วย คุณน่าจะชอบมัน เธอบอกผมพร้อมกับยื่นหนังสือเล่มนั้นให้หลังจากที่อ่านจบ ผมมองดู มันยับเยินเสียแล้ว เราทั้งสองคนไม่ได้เป็นคนดูแลหนังสือที่ดีนัก ในแง่หนึ่งเธอให้ผมมา ก็อาจเป็นเพราะว่าสภาพของหนังสือเล่มนี้เหมาะกับผมเป็นที่สุด หากหนังสืออยู่ในสภาพดี ผมก็คงทำพัง เพราะฉะนั้นหนังสือยับๆนี่แหละ คงเหมาะกับผม

ผมใช้เวลาอ่านไม่นานนัก ส่วนใหญ่จะอ่านบนรถทัวร์ที่นั่งจากแคนเบอร์ร่าไปซิดนีย์ ซึ่งกินเวลาสามชั่วโมงครึ่ง ระยะเวลาประมาณกรุงเทพฯ-โคราช แต่สภาพในรถต่างกันมากครับ รถทัวร์ไทยเบาะกว้าง มีคนมาเสิร์ฟอาหาร (อานิสงก์ของกลไกตลาด) แต่ของออสเตรเลียนี่ห่วยแตก รถทัวร์ของบริษัทนี้แสนแคบ ไม่มีอะไรอย่างอื่นจะทำได้นอกจากอ่านหนังสือ (บางคนดูหนังจากไอแผดหรือคอมฯ) เพราะฉะนั้นตั้งแต่ล้อเริ่มหมุนผมก็ไม่มีอะไรทำนอกจากอ่านหนังสือ

พออ่านจบในขากลับ (อีกสามชม.ครึ่ง นั่งจนตูดชา) ผมก็รู้สึกว่าต้องเขียนอะไรสักอย่างเกี่ยวกับมัน แต่ปัญหาคือว่า ผมไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรนี่สิ

หลักๆเรื่องนี้เป็นเรื่องของโต๊ะตัวหนึ่งและความทรงจำที่โคจรอยู่รายรอบมัน เนื้อเรื่องแบ่งเป็นสี่ส่วนและพูดถึงชีวิตของคนจำนวนหนึ่งที่มีชีวิตเกี่ยวข้องกับโต๊ะตัวนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เรื่องราวสี่เรื่องเข้ามาเกี่ยวข้องกัน นาเดีย นักเขียนอเมริกันผู้ซึ่งเขียนหนังสือมา 27 ปีบนโต๊ะตัวหนึ่งที่กวีชิลีให้เธอเอาไว้นานมาแล้ว พ่อชาวอิสราเอลและลูกของเขา นักวิชาการอ๊อกซฟอร์ดกับเมียที่เก็บความลับไว้จนตาย และผู้หญิงคนหนึ่งกับการสังเกตชีวิตครอบครัวนักค้าของเก่า

แต่โต๊ะไม่ได้เป็นเพียงวัตถุอย่างเดียวที่นิโคล เคราส์ จัดวางเอาไว้ตรงกลางเนื้อเรื่อง มันเป็นการตั้งคำถามกับสิ่งที่ดำรงผ่านการเวลา

ในแง่หนึ่ง "เครื่องปรุง" เหล่านี้ อาจทำให้หลายคน (รวมทั้งผม) ในตอนแรก คิดว่านี่เป็นนิยายประเภทสืบสวนสอบสวน และค่อยๆเปิดเผยออกมาว่าไอ้โต๊ะตัวนี้มันดึงสี่เรื่องนี้เอาไว้ด้วยกันอย่างไร (ลองนึกถึงนิยายสืบสวนสอบสวนที่เราชอบอ่านสิครับ โต๊ะตัวนั้นอาจจะเป็นโต๊ะที่มีคนถูกฆาตกรรรม! ฯลฯ) เพราะฉะนั้นเราจะนึกถึงนิยายที่มีโครงเรื่องแน่น ชัด ค่อยๆเปิดมาทีละเปลาะๆ และขมวดจบด้วยการเฉลยเรื่องราวอันดำมืดกฤษณา

แต่นิโคลทำสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันเลย และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงชอบมัน

นอกเหนือจากว่าเธอมีฝีมือทางการเขียนแล้ว เธอยังพาคนอ่านเข้าข้างในจิตใจด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ๆท้าทายมาก และพลาดกันได้ง่ายๆ มีบางตอนที่อ่านแล้วเหนื่อย เหมือนกับว่าเธอกำลังหาทางออกจากพื้นที่ภายในของตัวเองอยู่ ร้อยแก้วบางตอนนี่อ่านไปแล้วก็หวิว ตอนที่ผัวหึงเมียนี่ทำได้เยี่ยมมากเลย (คนขี้หึงมักมีภาพเมีย/ผัวเอากับชู้อยู่ในหัวเสมอ) ชายไทยหลายคนคงมีอารมณ์ร่วมได้ไม่มากก็น้อย (ฮา)

แต่ที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด ซึ่งผมมาได้รู้ทีหลัง คือคำถามที่นิโคลใช้ก่อนเริ่มเขียนเรื่องนี้ ซึ่งเธอเขียนเป็น บทความ ชื่อ On Doubt คือ

สิ่งที่ฉันรู้ [ก่อนเขียนเรื่องนี้] มีเพียงว่า 1) ฉันต้องการจะเข้าใจว่า [ตัวละคร] คือใคร และอะไรทำให้พวกเขาเป็นอย่างนั้น 2) เมื่อร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เรื่องของพวกเขาจะสามารถสร้างเรื่องใหญ่ที่มีรายละเอียดและมีความหนักแน่น ที่จะแสดงให้เห็นว่าเมื่อเรื่องราวต่างๆมาวางอยู่ด้วยกัน จะเผยรูปแบบ หรือก่อร้างสร้างขึ้นเป็นบ้านสมบูรณ์ได้ แม้ว่าฉันจะยังมองไม่เห็นบ้านหลังนั้นก็ตาม เพราะฉะนั้นฉันกำลังสร้างบ้าน - หรือจะเป็นเมืองทั้งเมืองเลยก็ได้ - โดยไม่มีแม้แต่พิมพ์เขียวด้วยซ้ำ


และนี่เป็นเส้นการแบ่งคนอ่านที่ชอบ และไม่ชอบงานนี้ คือคนที่ไม่ชอบก็จะตั้งคำถามว่า ทำไมเรื่องถูกทิ้งเป็นปลายเปิดเอาไว้ ไม่ขมวดให้สาใจคนอ่าน นิโคลเดินไปกับเรื่องที่ตัวเองกำลังเขียน ไม่ได้จูงเรื่องราวให้เดินมาทางเธอ

และเมื่อผมได้ฟังสิ่งที่เธอพูดเมื่อปีที่แล้วก็เริ่มเข้าใจ ในยุคอินเตอร์เนต คนมักจะเห็นว่ามันได้เปลี่ยนวิธีคิดของเรา ทำให้เราใช้เวลากับอะไรสั้นลง นิโคลบอกว่ามีอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมกัน และผลกระทบของมันจะยิ่งกระเทือนถึงรากมากกว่า นั่นคือเรากำลังสูญเสีย "tolerance for the unknown" - และ "ความไม่รู้" นี่แหละ เป็นเครื่องมือที่สำคัญของนักเขียน



-----

ระหว่างนี้หากคุณอยากอ่านก็บอกผมได้ ผมจะยื่นหนังสือเล่มนี้ให้คุณ แต่มันคงยับเยินมากขึ้นไปอีก หากคุณไม่ว่าอะไร เมื่ออ่านจบ ก็ขอให้ส่งผ่านไปยังคนรักวรรณกรรมคนอื่นๆต่อด้วยก็แล้วกัน

Tuesday, May 1, 2012

การลุกขึ้นประท้วงของกระฎุมพีเงินเดือน


บทความแสงสำนึก: การลุกขึ้นประท้วงของกระฎุมพีเงินเดือน[1]
สลาวอย ชิเชค
ปรีดี หงษ์สต้น แปล


ความรุนแรงที่ระเบิดขึ้นไม่ใช่เพราะมันมี “ความบังเอิญ” (contingency) มากเกินไปในสังคม
แต่ระเบิดขึ้นเมื่อมีความพยายามจะทำลายความบังเอิญนั้นลงต่างหาก



ในช่วงวิกฤตนั้น ผู้ที่ต้อง “รัดเข็มขัด” ก่อนใครก็คือพวกที่อยู่ในระดับล่างของกระฎุมพีเงินเดือน
การประท้วงทางการเมืองเป็นหนทางเดียวในการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพ
และถึงแม้ว่าการประท้วงของพวกเขานั้น โดยนามแล้วจะเป็นการต่อสู้กับตลาดอันเลวร้าย
แต่อันที่จริง พวกเขาประท้วงเรื่องพื้นที่ทางเศรษฐกิจการเมืองแบบอภิสิทธิ์ของตัวเอง ที่กำลังหดหายไปอย่างรวดเร็ว



การประท้วงปัจจุบันนี้ ไม่ใช่การประท้วงของชนชั้นกรรมาชีพ
แต่เป็นการต่อสู้ไม่ให้ตนเองกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพต่างหาก

------------------

บิล เกตส์กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกาได้อย่างไร? ความมั่งคั่งของเขาไม่ได้เกี่ยวกับว่า บริษัทไมโครซอฟท์ผลิตซอฟท์แวร์ที่ดีในราคาต่ำกว่าคู่แข่ง หรือก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าบริษัท “ขูดรีด” คนงานของตัวเองเก่งกว่าหรอก (อันที่จริงไมโครซอฟท์จ่ายเงินเดือนให้แรงงานทางปัญญาค่อนข้างสูง) คนเป็นล้านซื้อซอฟท์แวร์ของไมโครซอฟท์ เพราะว่ามันทำให้ตัวเองกลายเป็นสิ่งที่เกือบจะทุกคนต้องใช้ ซึ่งเป็นการผูกขาดในทางปฏิบัติ ปรากฏการณ์นี้คือสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่า “ภูมิปัญญาทั่วไป” (general intellect) หมายความถึงองค์รวมความรู้ในทุกรูปแบบ ตั้งแต่วิทยาศาสตร์จนถึงฮาวทู  บิล เกตส์ทำให้ภูมิปัญญาทั่วไปนี้กลายเป็นทรัพย์สินของเอกชน และร่ำรวยด้วยการเก็บค่าเช่าที่ตามมา

การแปรภูมิปัญญาทั่วไปให้กลายเป็นของเอกชนเป็นสิ่งที่มาร์กซ์มองไม่เห็นในงานเขียนเกี่ยวกับทุนนิยมของเขา (เหตุผลหลักก็เพราะเขามองข้ามมิติทางสังคมของมัน) แต่สำหรับในปัจจุบัน นี่คือแก่นใจกลางของการต่อสู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องด้วยบทบาทของภูมิปัญญาทั่วไป (ซึ่งเกิดจากการสั่งสมองค์ความรู้และความร่วมมือทางสังคม) ได้เพิ่มขึ้นในยุคทุนนิยมหลังอุตสาหกรรม ดังนั้นความมั่งคั่งจึงสะสมขึ้นจากแรงงานทั้งหมดที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตภูมิปัญญาทั่วไป และ (ดังที่มาร์กซ์เองก็ดูเหมือนจะเห็น) ผลของมันไม่ใช่การสลายตัวลงของทุนนิยม แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของผลกำไร ที่เปลี่ยนจากการขูดรีดแรงงานไปสู่การขูดรีดค่าลิขสิทธิ์ความรู้แทน

เช่นเดียวกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแสวงหาประโยชน์ เป็นแหล่งรายได้จำนวนมหาศาล สิ่งที่ตามมาก็คือการต่อสู้กันอย่างไม่จบสิ้นว่าใครจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ประชาชนในโลกที่สามหรือบรรษัทข้ามชาติตะวันตก ดูเป็นเรื่องติดตลกที่ในการอธิบายความแตกต่างระหว่างแรงงาน (ซึ่งสร้างมูลค่าส่วนเกิน) และสินค้าอื่น (ซึ่งการใช้สินค้าคือการบริโภคมูลค่านั้น) มาร์กซ์จัดให้น้ำมันเป็นสินค้า “ทั่วไป” ความพยายามจะเชื่อมโยงความผันผวนของราคาน้ำมัน กับความผันผวนของต้นทุนการผลิตหรือมูลค่าของแรงงานที่ถูกขูดรีด คงเป็นความพยายามที่ไร้ความหมาย เพราะต้นทุนการผลิตถือว่าจิ๊บจ๊อยหากเทียบกับราคาที่เราต้องจ่ายเวลาเติมน้ำมัน ซึ่งเป็นราคาค่าเช่าที่เจ้าของทรัพยากรสามารถเรียกเท่าใดก็ได้ เพราะความจำกัดของอุปทานนั่นเอง

กำลังการผลิตที่สูงขึ้นนำมาซึ่งผลกระทบที่มากขึ้นขององค์ความรู้ ทำให้ “การว่างงาน” เปลี่ยนความหมายไป และนี่คือความสำเร็จของทุนนิยม (ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น ฯลฯ) ที่ทำให้การว่างงานมีจำนวนมากขึ้น และทำให้คนงานไร้ประโยชน์ลงเรื่อยๆ จากสิ่งที่ควรจะเป็นเรื่องดีสำหรับพวกเขา เช่นการมีงานหนักน้อยลง ได้กลับกลายเป็นโชคร้ายแทน หรือถ้าจะพูดในอีกแบบหนึ่ง โอกาสที่จะถูกขูดรีดในงานประจำบัดนี้ดูจะกลายเป็นสิทธิพิเศษที่น่าปรารถนาไปเสีย ดังที่เฟรดริก เจมสันกล่าวว่าตลาดโลก “ที่ๆครั้งหนึ่งทุกคนเป็นแรงงานการผลิตกำลังสูง ในที่สุดความสามารถในการผลิตนี้ก็ตอบแทนตัวเองด้วยการอัปเปหิแรงงานออกจากระบบการผลิต” ในกระบวนการอันต่อเนื่องของทุนนิยมโลกาภิวัฒน์นั้น กลุ่มคนว่างงานไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน “กองทัพแรงงานสำรอง” อย่างที่มาร์กซ์ได้จัดประเภทเอาไว้ หากแต่ดังที่เจมสันว่า คนว่างงานนั้น รวมถึง “ประชากรจำนวนมหาศาลทั่วโลกที่ “ตกหล่นจากประวัติศาสตร์” ถูกกีดกัดออกไปจากการพัฒนาสู่ความเป็นสมัยใหม่แบบประเทศโลกที่หนึ่ง และถูกตัดออกไปในฐานะผู้ที่ไร้ประโยชน์ หรือเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ตัวอย่างเช่นในที่ๆเรียกว่า “รัฐที่ล้มเหลว” (อย่างคองโกและโซมาเลีย) หรือเหยื่อของสภาวะความอดอยาก หรือประสบหายนะทางนิเวศวิทยา หรือผู้ที่ถูกกักขังอยู่ในวิธีคิดโบราณจอมปลอมเรื่อง “การเหยียดเชื้อชาติ” หรือผู้รับบริจาคและการช่วยเหลือจากเอ็นจีโอ หรือเป้าโจมตีของสงครามต่อสู้การก่อการร้าย คำจำกัดความของ “การว่างงาน” จึงขยายกว้างออกไปและรวมคนจำนวนมากมายเอาไว้ ตั้งแต่ว่างงานชั่วคราว คนที่อยู่ในชุมชนแออัด (คนเหล่านี้ที่มักถูกมองข้ามจากมาร์กซ์ว่าเป็น lumpen-proletarian) และสุดท้ายรวมไปถึงประชากรและรัฐที่ถูกกันออกจากกระบวนการของทุนนิยมโลก ลองนึกถึงพื้นที่ว่างเปล่าบนแผนที่โบราณเอาก็แล้วกัน

บางคนอาจพูดว่าทุนนิยมรูปแบบใหม่นี้ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆในการปลดปล่อย และนี่เป็นข้อเสนอหลักของงาน Multitude ของไมเคิล ฮาร์ดท์และอันโตนิโอ เนกรี (ผู้ซึ่งพยายามดึงมาร์กซิสต์ไปสุดขั้ว) ที่เชื่อว่าถ้าเราตัดหัวของทุนนิยมออกเสีย เราก็จะได้สังคมนิยม พวกเขามองว่ามาร์กซ์มีข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ และมองแรงงานอุตสาหกรรมในลักษณะรวมศูนย์ เป็นอัติโนมัติ และมีการจัดการอย่างเป็นลำดับชั้น มองภูมิปัญญาทั่วไปว่าเป็นอะไรบางอย่างที่ถูกวางแผนมาจากศูนย์กลาง ทั้งสองมองว่าการเกิดขึ้นของ “แรงงานที่ไม่ได้ผลิตวัตถุ” (immaterial labour) ในปัจจุบันเท่านั้น จึงจะทำให้การปฏิวัติกลายเป็นเรื่อง “เป็นไปได้ในทางภววิสัย” เหล่าแรงงานที่ไม่ได้ผลิตวัตถุนี้แบ่งเป็นสองพวกคือ แรงงงานทางปัญญา (intellectual labour - ผลิตความคิด ผลิตงานเขียน ออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ) ถึง “แรงงานบริการ” (affective labour – เช่น หมอ พี่เลี้ยงเด็ก หรือแอร์โฮสเตส) ในปัจจุบันนี้ แรงงานที่ไม่ได้ผลิตวัตถุมีอำนาจนำ แบบเดียวกับในอดีต ที่มาร์กซ์ประกาศว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีอำนาจนำในทุนนิยมของศตวรรษที่ 19  พลังของแรงงานที่ไม่ได้ผลิตวัตถุนี้ ไม่ใช่มาจากเรื่องจำนวน แต่โดยจากการเล่นบทบาทสำคัญทางสัญลักษณ์ในเชิงโครงสร้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือช่องทางใหม่ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “สิ่งที่ทุกคนต้องใช้” (common) คือความรู้ที่ทุกคนต้องใช้กันทั่วไป และรูปแบบการสื่อสารร่วมมือใหม่ ผลผลิตของแรงงานเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งของ แต่เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ ผลผลิตที่ไม่ใช่วัตถุเหล่านี้คือชีวิตการเมือง  เป็นการผลิตชีวิตทางสังคมเลยทีเดียว

ฮาร์ดและเนกรีอธิบายกระบวนการของทุนนิยม “หลังสมัยใหม่” ที่วันนี้มีผู้สนับสนุนเห็นดีเห็นงามด้วยมากมาย ว่าเป็นการเปลี่ยนจากการผลิตเชิงวัตถุ ไปสู่การผลิตเชิงสัญลักษณ์  เปลี่ยนจากตรรกะรวมศูนย์และมีลำดับชั้น ไปสู่การจัดการตัวเองและมีการร่วมมือจากหลายๆศูนย์ – ที่ต่างออกไปคือฮาร์ดท์และเนกรีศรัทธาในมาร์กซ์ พวกเขาพยายามพิสูจน์ว่ามาร์กซ์ถูก และการเกิดขึ้นของภูมิปัญญาทั่วไปนั้น ในระยะยาวจะไปกันไม่ได้กับทุนนิยม แต่ผู้สนับสนุนระบบทุนนิยมหลังสมัยใหม่กำลังอ้างสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันเลย พวกเขาพยายามเสนอว่าทฤษฎี (และปฏิบัติ) ของมาร์กซิสต์ ยังตกอยู่ในข้อจำกัดของตรรกะลำดับชั้น และการรวมศูนย์อำนาจ เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถใช้อธิบายผลกระทบของการปฏิวัติข้อมูลข่าวสารต่อสังคมได้ อันที่จริงมีเหตุผลเชิงประจักษ์ต่อข้อโจมตีนี้ด้วย นั่นคือ สิ่งที่ทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์พังครืนลง ก็คือการที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับตรรกะทางสังคมแบบใหม่ ที่วางอยู่บนฐานของการปฏิวัติข้อมูลข่าวสารได้ กลับกันพวกเขาไปมุ่งนำการปฏิวัติ ซึ่งก็เป็นแผนการรวมศูนย์ขนาดใหญ่ของรัฐอีกอันหนึ่งเท่านั้น ความจริงที่ย้อนแย้งคือ สิ่งที่ฮาร์ดท์และเนกรีเฉลิมฉลองในฐานะโอกาสครั้งสำคัญในการเอาชนะทุนนิยมนั้น ในขณะเดียวกันก็ถูกเฉลิมฉลองโดยเหล่าผู้สนับสนุนของการปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร ว่าโลกทุนนิยมแบบ “ไร้ความขัดแย้ง” ได้เกิดขึ้นแล้ว

ข้อวิเคราะห์ของฮาร์ดท์และเนกรีมีจุดอ่อนบางอย่าง ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจว่าทุนนิยมนั้น ได้เหลือรอดสิ่งที่ควรจะเป็น (ในคำดั้งเดิมของมาร์กซิสต์) “การจัดการการผลิตแบบใหม่” (a new organisation of production) ที่ทำให้ทุนนิยมเสื่อมลงได้อย่างไร  พวกเขาประเมินความสามารถทุนนิยมปัจจุบันต่ำเกินไป เพราะในวันนี้ ทุนนิยมประสบความสำเร็จในการแปรภูมิปัญญาทั่วไปให้กลายเป็นทรัพย์สินของเอกชน (อย่างน้อยในระยะสั้น) ทำให้แรงงานเองมีความจำเป็นน้อยลงเรื่อยๆ กลายเป็นว่าพวกเขาไม่แค่ว่างงานชั่วคราวเท่านั้น แต่ว่างงานในเชิงโครงสร้างเลยทีเดียว

ถ้าทุนนิยมแบบเก่าจะต้องมีนายทุน เป็นผู้ลงทุน (ด้วยเงินตัวเองหรือยืมมา) ในการผลิตที่เขาจัดการ ดำเนินการและขูดรีดเอากำไรด้วยตัวเองแล้วล่ะก็ ทุนนิยมแบบใหม่นี้ไม่ต้องมีนายทุนที่เป็นเจ้าของบริษัท แต่มีผู้บริหารมืออาชีพ (หรือบอร์ดบริหารที่นำโดยซีอีโอ) ซึ่งบริหารบริษัทที่ธนาคารเป็นเจ้าของ (ธนาคารเองก็บริหารโดยผู้จัดการ ซึ่งก็ไม่ใช่เจ้าของอีกเหมือนกัน) หรือนักลงทุนรายใหญ่อื่นๆ ในทุนนิยมแบบใหม่นี้ “กระฎุมพี” ในความหมายแบบเก่าได้เปลี่ยนไป กระฎุมพีกลายเป็นฝ่ายบริหารที่มีเงินเดือน ได้ค่าจ้างและร่วมเป็นเจ้าของด้วย ได้รับหุ้นเป็นผลตอบแทน (เหมือนเป็น “โบนัส” จาก “ความสำเร็จ”)

กระฎุมพีใหม่ยังขูดรีดเอามูลค่าส่วนเกินอยู่ แต่คราวนี้ซ่อนเร้นมาในรูปแบบของสิ่งที่เรียกว่า “ค่าจ้างส่วนเกิน” (surplus wage) พวกเขาได้รับเงินเดือนมากกว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ของชนชั้นกรรมาชีพอยู่บ้าง (ซึ่งเป็นมายาคติที่อ้างกันบ่อยครั้ง ตัวอย่างจริงๆในเศรษฐกิจโลกวันนี้ก็คงจะเป็นค่าจ้างของคนงานที่ต้องทำงานหนัก ในกิจการร้านขนาดเล็กและกลางที่จีนหรืออินโดนีเซียเท่านั้น) และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ฐานะของพวกเขาต่างจากกรรมาชีพทั่วไป เพราะฉะนั้น “กระฎุมพี” ในความหมายคลาสสิกค่อยๆหายไป นายทุนใหม่ปรากฏขึ้นมาในฐานะส่วนหนึ่งของแรงงานมีเงินเดือน ในฐานะผู้จัดการ ที่มีคุณสมบัติควรจะได้เงินมากกว่า เพราะ “ความสามารถในการแข่งขัน” ของพวกเขา (นี่คือทำไม “การประเมินด้วยหลักวิทยาศาสตร์อันจอมปลอม” จึงจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะมันให้ความชอบธรรมแก่ความเหลื่อมล้ำนี้) คนที่ได้รับค่าจ้างส่วนเกินไม่ได้มีเฉพาะตำแหน่งผู้จัดการเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆด้วย ผู้บริหาร ข้าราชการ หมอ ทนาย นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนและศิลปิน ค่าจ้างส่วนเกินมีสองด้าน ด้านหนึ่งคือเงินมากขึ้น (สำหรับผู้จัดการ เป็นต้น) แต่อีกด้านหนึ่งก็คืองานที่น้อยลง และเวลาว่างมากขึ้น (สำหรับปัญญาชนบางคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ฯลฯ)

เกณฑ์ประเมินที่ใช้ในการพิจารณาว่า แรงงานคนไหนจะได้ค่าจ้างส่วนเกินนั้น เป็นกลไกอันพลการของอำนาจและอุดมการณ์ และไม่ได้มีจุดเชื่อมสำคัญใดๆถึงประสิทธิภาพการทำงานที่แท้จริงเลยแม้แต่น้อย ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเหตุผลทางการเมือง นั่นคือการรักษา “ชนชั้นกลาง” เพื่อดำรงเสถียรภาพของสังคม สภาวะพลการของช่วงชั้นทางสังคมไม่ใช่ความผิดพลาดแต่เป็นความจำเป็น ความพลการของเกณฑ์การประเมินนั้นก็เหมือนกับความพลการของความสำเร็จทางการตลาด เพราะฉะนั้นความรุนแรงที่ระเบิดขึ้นไม่ใช่เพราะมันมี “ความบังเอิญ” (contingency) มากเกินไปในสังคม แต่ระเบิดขึ้นเมื่อมีความพยายามจะทำลายความบังเอิญนั้นลงต่างหาก ในงานเรื่อง La Marque du sacre[2]  นั้นชอง ปิแอร์ ดูปุย อธิบายเรื่อง “ช่วงชั้น” ว่าเป็นหนึ่งในสี่ขั้นตอน (“เครื่องมือทางสัญลักษณ์” – “dispositifs symboliques”) ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้ที่เหนือกว่ากับผู้ที่ต่ำกว่ากลับกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ขั้นตอนเหล่านั้นคือ 1) ช่วงชั้น (ระบบระเบียบจากภายนอกที่ทำให้เราสามารถมีประสบการณ์ของชนชั้นล่างอย่างเป็นอิสระจากคุณค่าที่เรามีแต่กำเนิด 2) การทำให้ความจริงปรากฏ (demystification – ขั้นตอนทางอุดมการณ์ที่จะแสดงให้เห็นว่าสังคมนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่มีคุณธรรม (meritocracy) แต่เป็นผลผลิตของการต่อสู้แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ทำให้ฉันสามารถจะหลีกหนีความเจ็บปวดว่า ชีวิตที่ดีกว่าของคนอื่นคือผลจากคุณธรรมและความสามารถของเขา  3) ความบังเอิญ (contingency - เป็นกลไกแบบเดียวกัน ที่ทำให้เราเข้าใจว่า ตำแหน่งแห่งที่ของเราในสังคมก็เหมือนกับการเล่นหวย คนที่แทงถูกคือคนที่เกิดมามีสุขภาพแข็งแรงและร่ำรวย และ 4) ความซับซ้อน (complexity – พลังที่ควบคุมไม่ได้ส่งผลอันคาดเดาไม่ได้ ตัวอย่างเช่น “มือที่มองไม่เห็น” ของตลาดอาจนำไปสู่ความล้มเหลวของเราและความสำเร็จของเพื่อนบ้านก็ได้ ถึงแม้ว่าเราจะทำงานหนักกว่า และฉลาดกว่ามากก็ตาม) แม้ว่าจะเห็นได้ชัดเจน แต่ขั้นตอนทั้งสี่เหล่านี้ไม่ได้ขัดแย้งกับช่วงชั้นทางสังคม แต่มันทำให้ช่วงชั้นเป็นเรื่องรับได้ ดูปุยกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้คนเกิดความไม่พอใจ อันมาจากความไม่เท่าเทียมในสังคมนั้น ไม่ใช่ความเชื่อที่ว่าคนอื่นไม่ควรได้รับโชคของตน แต่ตรงข้ามกันเลย มันคือความเชื่อที่ว่าคนอื่นควรจะได้รับโชคของตนต่างหาก เพราะเป็นความเชื่อเดียวที่พวกเขาจะแสดงออกได้อย่างเปิดเผย   ด้วยฐานคิดเช่นนี้ ดูปุยสรุปว่า หากคิดว่าสังคมที่เป็นธรรมและมองตัวเองว่าเป็นธรรมนั้น จะปราศจากคนไม่พอใจล่ะก็ ถือว่าเป็นความเข้าใจผิดใหญ่หลวงเลยทีเดียว ในสังคมแบบนี้แหละ คนที่อยู่ในช่วงชั้นต่ำกว่าจะหาทางระบายความไม่พอใจด้วยวิธีการที่รุนแรง

สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีนทุกวันนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พูดมา คือในทางอุดมคตินั้น จุดประสงค์ของการปฏิรูปยุคเติ้งเสี่ยวผิง คือการพยายามสร้างระบบทุนนิยมที่ปราศจากกระฎุมพี (ที่จะกลายเป็นชั้นปกครองใหม่ได้) อย่างไรก็ตามในตอนนี้ ผู้ปกครองจีนค้นพบความจริงอันเจ็บปวดว่า ระบบทุนนิยมอันปราศจากช่วงชั้นที่ชัดเจน จะยิ่งไปทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพเป็นการถาวร แล้วจีนจะไปทางไหนดีล่ะ ในวันนี้เราจะเห็นว่าประเทศคอมมิวนิสต์เก่ามักกลายมาเป็นผู้จัดการทุนนิยมที่มีประสิทธิภาพที่สุด ความเป็นปฏิปักษ์กับกระฎุมพีในประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านี้ ได้สวมเข้าพอดิบพอดีกับทิศทางของทุนนิยมในปัจจุบัน ซึ่งกลายมาเป็น “ทุนนิยมผู้จัดการ” (managerial capitalism) โดยไม่ต้องมีกระฎุมพี ซึ่งในทั้งสองกรณี อดีตและปัจจุบัน (ดังที่สตาลินกล่าวไว้นานแล้ว) “ผู้บริหารตัดสินใจทุกเรื่อง” (ความแตกต่างประการสำคัญระหว่างรัสเซียกับจีนในวันนี้คือ ในรัสเซีย อาจารย์มหาวิทยาลัยเงินเดือนห่วยแตก และพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกรรมาชีพ ในขณะที่จีนนั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับค่าจ้างส่วนเกิน เพื่อเป็นหลักประกันความ “เชื่อง” ของพวกเขา)

เรื่องค่าจ้างส่วนเกิน ทำให้เราเห็นการประท้วง “ต่อต้านนายทุน” ที่กำลังดำเนินไปอยู่เวลานี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในช่วงวิกฤตนั้น ผู้ที่ต้อง “รัดเข็มขัด” ก่อนใครก็คือพวกที่อยู่ในระดับล่างของกระฎุมพีเงินเดือน การประท้วงทางการเมืองเป็นหนทางเดียวในการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพ และถึงแม้ว่าการประท้วงของพวกเขานั้น จะเป็นการต่อสู้ในนามของการสู้กับตลาดอันเลวร้าย แต่อันที่จริงแล้ว พวกเขากำลังประท้วงเรื่องพื้นที่ทางเศรษฐกิจการเมืองแบบอภิสิทธิ์ของตัวเอง ที่กำลังหดหายไปอย่างรวดเร็ว ไอน์ แรนด์แสดงความคิดเพ้อฝันเรื่องการประท้วงเหล่านายทุนผู้สร้างสรรค์ไว้ในงาน Atlas Shrugged[3]   ความเพ้อเจ้อนี้ทำให้เห็นว่า การประท้วงในปัจจุบันเป็นเรื่องวิตถาร ผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นกระฎุมพีเงินเดือนที่ประท้วงเพราะกลัวจะไม่ได้ค่าจ้างส่วนเกิน   นี่ไม่ใช่การประท้วงของชนชั้นกรรมาชีพ แต่เป็นการต่อสู้ไม่ให้ตนเองกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพต่างหาก ดังนั้นใครจะกล้าลุกขึ้นประท้วง เมื่อในสังคมวันนี้นั้น การมีงานมั่นคงถือได้ว่าเป็นอภิสิทธิ์ทีเดียว คนเหล่านี้ไม่ใช่คนงานค่าจ้างต่ำในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ฯลฯ หรอก แต่เป็นคนงานอภิสิทธิ์ที่มีงานมั่นคงแล้ว (ครู คนทำงานในภาคขนส่งสาธารณะ ตำรวจ) และนี่ก็ส่งผลไปถึงคลื่นนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาประท้วงด้วย แรงจูงใจของพวกเขานั้นอาจจะเป็นความกลัวว่า การศึกษาจะไม่ให้หลักประกันค่าจ้างส่วนเกินแก่พวกเขาในอนาคต

ในขณะเดียวกันก็ชัดเจนว่า การลุกขึ้นประท้วงขนาดใหญ่ในปีที่ผ่านมา จากอาหรับ สปริงจนถึงในยุโรปตะวันตก จาก Occupy Wall Street จนถึงจีน จากสเปนถึงกรีซ ไม่ควรถูกมองเพียงแค่ว่า เป็นการลุกฮือของกระฎุมพีเงินเดือนเพียงอย่างเดียว เราต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป   ในประเทศอังกฤษ  การประท้วงของนักศึกษาเรื่องการปฏิรูปการศึกษา กับเหตุการณ์จลาจลในเดือนสิงหาคม[4]   นั้นต่างกันแน่ ในกรณีหลังนี้ดูจะเป็นเทศกาลทำลายล้างของผู้บริโภค เป็นแรงระเบิดต่อการถูกกีดกัน   ในกรณีการลุกฮือที่อียิปต์ เราอาจจะเสนอได้ว่า ส่วนหนึ่งเริ่มจากการประท้วงของกระฎุมพีเงินเดือน (และคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษา ในเรื่องความไม่มั่นคงของอนาคต) แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่อต้านระบอบที่กดขี่โดยรวมทั้งหมด แต่ขณะเดียวกัน ในกลุ่มผู้ประท้วงไม่ค่อยมีคนงานยากจนและชาวนา และชัยชนะการเลือกตั้งของพรรคอิสลามเร็วๆนี้ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าฐานสังคมของการเคลื่อนไหวนั้นเล็ก เป็นการประท้วงที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา – แต่กรีซเป็นกรณีพิเศษ ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา กระฎุมพีเงินเดือนใหม่ (โดยเฉพาะในสังคมที่อำนาจรัฐแผ่ขยายมากจนเกินไปอย่างกรีซ) ได้ถูกสร้างขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากเงินช่วยเหลือของสหภาพยุโรป และการประท้วงเองก็มีแรงผลักอย่างมากจากความกลัวว่าเงินช่วยเหลือนี้จะหยุดลง

การกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพของกระฎุมพีเงินเดือนในระดับล่างๆนั้น เกิดไปพร้อมกับการให้โบนัสแก่พวกผู้บริหารระดับสูงและนักการธนาคารในจำนวนที่สูงอย่างไร้เหตุผล (ไร้เหตุผลเพราะว่าตามที่มีการสอบสวนนั้น สัดส่วนของโบนัสผกผันกับความสำเร็จของบริษัท) แทนที่เราจะมองทิศทางนี้ว่าเป็นการตกต่ำทางศีลธรรม เราควรจะมองว่ามันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ระบบทุนนิยมไม่สามารถดำรงเสถียรภาพได้อีก และกำลังจะไม่มีใครควบคุมมันได้อีกต่อไป




[1] จาก The Revolt of the Salaried Bourgeoisie ใน http://www.lrb.co.uk/v34/n02/slavoj-zizek/the-revolt-of-the-salaried-bourgeoisie

[2] http://www.carnetsnord.fr/titre/la-marque-du-sacre

[3] http://en.wikipedia.org/wiki/Atlas_Shrugged

[4] http://en.wikipedia.org/wiki/2011_England_riots

Saturday, December 24, 2011

คริสโตเฟอร์ ฮิทเช่นส์: นักเขียนผู้รอบด้านและเพื่อนที่ยอดเยี่ยม


คริสโตเฟอร์ ฮิทเช่นส์: นักเขียนผู้รอบด้านและเพื่อนที่ยอดเยี่ยม

เอียน แมคอีแวน เขียน


เอียน แมคอีแวน (1) เขียนรำลึกถึงช่วงไม่กี่สัปดาห์สุดท้ายของชีวิตเพื่อนสนิท เล่าว่าความรักต่อการเขียนและวรรณกรรมทำให้เขามีชีวิตอยู่จนวาระสุดท้ายได้อย่างไร


แม้ว่าสถานที่ๆคริสโตเฟอร์ ฮิทเช่นส์พักอยู่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์สุดท้ายของชีวิตดูจะไม่เหมาะเป็นที่อ่านหนังสือเท่าไหร่ แต่เขาก็ทำให้มันกลายเป็นที่ทำงานของตัวเองได้ สถานที่นั้นอยู่ใกล้กับใจกลางเมืองของฮูสตัน เท็กซัส เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ เป็นส่วนหนึ่งของตึกระฟ้า เหมือนลาเดฟองส์ของปารีส หรือย่านกลางเมืองของมหานครลอนดอน จะว่าไปแล้วมันก็เป็นเขตทางการเงินการธนาคารในโลกที่การมีสกุลเงินเดียวกันถือเป็นความป่วยไข้ ย่านนี้เป็นศูนย์รวมทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตึกที่สูงที่สุดของของย่านนี้ คือพวกชั้น 40-50 ขึ้นไปนั้น ปฏิเสธการช่วยเหลือจากพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยเมตตา – ป้ายนีออนประกาศจากชั้นดาดฟ้าว่าเป็นโรงพยาบาลมะเร็งสำหรับเด็ก เป็น “หุบเขาตัดสะอาดเรียบเรียกตามที่ลาร์กิน (2) เขียนในบทกวีเขา แต่ตึกโรงพยาบาลนี้อยู่อีกด้านหนึ่งของที่ๆฮิทเช่นส์อยู่ ซึ่งไม่ได้สูงเท่า และไว้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น

เขาเป็นคนไข้ที่ไปเยี่ยมได้ง่ายมาก เขาไม่ต้องการดอกไม้และองุ่น หากแต่เขาต้องการบทสนทนาและตัวคุณเท่านั้น นอกจากนี้ความเงียบทุกอย่างก็เป็นประโยชน์สำหรับเขาด้วย เขาชอบที่จะเห็นคุณอยู่ที่นั่นเมื่อตอนที่เขาตื่นหลังจากที่งีบหลับไปด้วยฤทธิ์มอร์ฟีนที่ต้องได้รับบ่อยครั้ง เขาไม่สนใจเกี่ยวกับอาการของตัวเอง ซึ่งก็เหมือนกับที่คนป่วยส่วนใหญ่เป็น – เขาไม่อยากพูดถึงมัน

ครั้งสุดท้ายที่ผมไปหาเขา ผมเดินทางไปจากสนามบิน เขาเห็นหนังสือเล็กๆในกระเป๋าเดินทางของผม และยื่นมือมาเพื่อจะหยิบ – มันคือ London Under ของปีเตอร์ แอครอยด์ (3) ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ “ใต้ดิน” ของมหานครลอนดอน

จากนั้นเราก็เริ่มใช้เวลาสิบนาทีในการยกย่องนักเขียนคนนี้ โดยเราสองคนไม่เคยพูดกันถึงเขามาก่อนเลย คริสโตเฟอร์ดูเหมือน จะได้อ่านทุกอย่างมาหมดแล้ว จากนั้นต่างหากที่เราค่อยกล่าวสวัสดีกัน เขาอยากอ่านงานแบบหนังสือเล่มนี้ เพราะมันเล่มเล็กและเวลาถือเขาจะไม่เจ็บมือ เขาจะจดโน้ตในที่มุมหนังสือด้วยดินสอ และตกเย็นวันนั้นเขาก็จะอ่านจนจบ

เขาอยากเขียนปริทรรศน์หนังสือเล่มนี้ แต่ว่ามีงานที่จะต้องส่งบทความชิ้นยาวเกี่ยวกับเชสเตอร์ตัน (4) เพราฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างนี้ : คือเราจะคุยกันเกี่ยวกับเรื่องหนังสือและการเมือง และเขาก็จะหลับไปด้วยฤทธิ์ยาในขณะที่ผมอ่านหรือเขียน และพอเขาตื่นขึ้นมาเราก็จะสนทนาต่อ และเราก็จะอ่านหนังสือไปด้วยกัน ห้องดูแลคนไข้พิเศษที่เขาอยู่นั้นเต็มไปด้วย เครื่องอะไรมากมายที่มีไฟกระพริบ และสายระโยงระยางเต็มไปหมด แต่ดูไปดูมาก็คล้ายกับเครื่องประดับประดานี่เอง เพราะฉะนั้นในห้องนั้นก็จะอบอุ่นไปด้วยความคิดเกี่ยวกับหนังสือและการเขียน ซึ่งมันทำให้รู้สึกถึงห้องสมุดของมหาวิทยาลัยดีๆ และสิ่งเหล่านี้เองก็ช่วยให้เราไม่ต้องดูทิวทัศน์ตึกระฟ้าอันแสนอ้างว้างผ่านกระจกใสของโลกที่ (ด้วยคำของลาร์กินอีกครั้ง) ความรักและโอกาส “อยู่ไกลกว่ามือจะเอื้อมถึงจากที่นี่!”

ช่วงบ่ายผมช่วยให้เขาลงจากเตียง ช่วยให้เขาเดินไปมาเพื่อขยับแข้งขยับขา ในขณะที่เขาพิงมาที่ผม ทิ้งน้ำหนักมา ผมพูดออกมาเพราะผมรู้ว่าเขาคิดแบบเดียวกัน “จับแขนผมไว้ เพื่อนยาก” เขายิ้มยิงฟันให้ผม เป็นยิ้มแบบเดียวกับที่ผมจำได้จากวันเก่าๆของพวกเรา มันเป็นรอยยิ้มของการรับรู้ ซึ่งก็คือการขอบคุณ หรือคำที่เขาใช้เสมอคือ “มิตรภาพ

เพราะฉะนั้นนี่คงเป็นสาเหตุที่สองชั่วโมงหลังจากนั้น ผมนั่งอ่าน The Whitsun Wedding (5) ให้เขาฟัง คริสโตเฟอร์ขอให้ผมอ่านให้อเล็กซานเดอร์ลูกชายของเขา ซึ่งก็อยู่ที่นั่นหลายสัปดาห์สุดท้าย และสำหรับภรรยาของเขาแครอล บลู ผู้ที่เป็นเสือนักสู้เคียงข้างอาการป่วยของเขา เธอต่อสู้อย่างฉุนเฉียวกับความเชื่องช้าของระบบบริหารจัดการของโรงพยายาล จนกระทั่งเกือบถูกรปภ.ลาออกไปจากตัวอาคาร แต่สุดท้ายเธอก็หยุดพวกเขาได้

ผมเริ่มอ่าน และเมื่ออ่านถึงช่วงสุดท้าย “A sense of falling, like an arrow shower/Sent out of sight, somewhere becoming rain” (6) คริสโตเฟอร์พึมพำขึ้นมาจากบนเตียง “ฟังดูเศร้า เศร้าเหลือเกินนะ” ผมไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ด้วยความต้องการจะให้เขาลดอารมณ์เศร้าลงหรอก แน่นอนว่าการเดินทางโดยรถไฟได้จบลง คู่รักข้าวใหม่ปลามันแยกย้ายกันด้วยประสงค์ของโชคชะตา แต่เขาไม่เชื่อแบบนั้น และแม้สัปดาห์ต่อมาตอนที่ผมกลับมาถึงลอนดอนแล้ว เราก็ยังแลกเปลี่ยนอีเมล์กันในเรื่องนี้ อีเมล์ฉบับหนึ่งเขาเริ่มต้นด้วย “เอียนที่รัก เอาละ แน่นอนว่าเรามองในแง่ดีก็ได้ แต่มันก็ยังขึ้นอยู่กับว่าลาร์กินเอาพฤติกรรมมนุษย์เปรียบเทียบกับสิ่งอื่นอย่างไรในจิตไร้สำนึกของเขา...ผมเดาว่า ‘somewhere becoming rain’ ยังเป็นในแง่ร้ายอยู่ดี

และนี่คือชายผู้ต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดตลอดเวลา ไม่ยอมกินไม่ยอมดื่ม เขากินแต่น้ำแข็งก้อนเล็กๆ ในขณะที่คนอื่นๆอาจจะเข้าหาพระเจ้า (ด้วยคำถามว่าทำไมต้องเป็นลูกด้วย?) และฝันถึงชีวิตหลังความตาย แต่คริสโตเฟอร์มีแต่วรรณกรรมอยู่กับตัว ในช่วงสามวันที่ผมไปเยี่ยมเขาครั้งสุดท้าย ผมเห็นถึงเรื่องที่เขากำลังสนใจอยู่ ไม่นานหลังจากที่เขาขโมยหนังสือแอครอยด์ของผมไป เขาพูดถึงเรื่องนักเขียนสโลวะกียกับผม เรื่องว่าในนิยายเกี่ยวกับการเงินของไดรเซอร์ (7) ชี้ถึงเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจของปัจจุบันหรือเปล่า เรื่องความเป็นแคธอลิกของเชสเตอร์ตัน เรื่องโคลง 14 บรรทัด (sonnets) ชื่อ จากโปรตุเกส ของบราวน์นิ่ง (8) ซึ่งผมเอามาให้เขาตอนมาเยี่ยมครั้งที่แล้ว เขาพูดถึงงาน The Magic Mountain ของโธมัส มานน์ (9) เขาอ่านมันอีกเพื่อครุ่นคิดถึงเรื่องความเป็นจักรวรรดิของเยอรมันต่อตุรกี และเพราะว่าเราเริ่มพูดเกี่ยวกับวันเก่าๆในแมนฮัตตัน เขาอยากจะพูดถึงและยกย่องงาน A German Requiem ของเจมส์ เฟนตัน “How comforting it is, once or twice a year,/To get together and forget the old times” (10)

ตอนที่ผมอยู่กับเขานั้น ขณะเดียวกันมีการจัดงานฉลองกันอยู่ในลอนดอน ที่เฟสทิวัล ฮอลล์ โดยมีสตีเฟน ฟรายเป็นผู้ดำเนินรายการ งานนี้คือ การเฉลิมฉลองชีวิตและงานของคริสโตเฟอร์ ฮิทเช่นส์ เราช่วยเขาลงจากเตียงและนั่งลงบนเก้าอี้ เอาแลปทอปของผมวางตรงหน้าเขา อเล็กซานเดอร์เข้าอินเตอร์เนตและใช้รหัสผ่านพิเศษเพื่อถ่ายทอดสดงานนี้และต่อลำโพงขยายเสียง ในที่สุดเสียงถูกถ่ายถอดมาก่อน และสิ่งที่พวกเราได้ยินนั้นแสนจะน่าประหลาดใจ และสำหรับคริสโตเฟอร์คงเป็นความน่าปลาบปลื้มใจ เสียงนั้นเป็นเสียงพูดคุยจ้อกแจ้กจอแจของคนสองพันคนก่อนงานจะเริ่ม จากนั้นภาพก็ตามมา เป็นภาพของผู้ชม นั่งกันเต็มถวที่นั่ง

พวกเขาดูอายุยังน้อย ผมเดาว่าเกือบทั้งหมดของคนเหล่านี้คงจะไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคริสโตเฟอร์อย่างรุนแรงในประเด็นเรื่องอิรัก แต่พวกเขาก็ไปร่วมงาน และงานนี้ก็ถ่ายทอดสดในโรงหนังทั่วประเทศ คริสโตเฟอร์ยิ้มและยกแขนลีบของตัวขึ้นเพื่อคำนับ แม้ครอบครัวและเพื่อนจะอยู่ในห้องนั้นกับคุณ แต่การตายนั้นโดดเดี่ยวนัก คุณต้องอยู่คนเดียวโดยสมบูรณ์ เขาได้เห็นด้วยตัวเองว่าชีวิตของเขานอกห้องเล็กๆห้องนั้นไม่ได้ถูกลืม และในช่วงเวลานั้น (ด้วยคำของลาร์กิน) โลกอินเตอร์เนตได้ยื่นมือมาถึงเขาแล้ว

เช้าต่อมา ผมและอเล็กซานเดอร์ตั้งโต๊ะทำงานขึ้นใต้หน้าต่างตามที่เขาขอ เราช่วยพาเขาและเสาน้ำเกลือที่ติดกับตัวเขาไปที่โต๊ะนั้น วางหมอนไว้ที่เก้าอี้ ปรับระดับของแลปทอป บทสนทนาและการงีบหลับเป็นไปอย่างปกติ แต่คริสโตเฟอร์มีเวลาไม่กี่วันที่จะเขียนบทความ 3,000 คำเกี่ยวกับหนังสืออัตชีวประวัติเชสเตอร์ตันของเอียน เคอร์ และเมื่อใดใครก็ตามพูดถึงงานเขียนของคริสโตเฟอร์ ผมจะคิดถึงชั่วขณะนี้เสมอ

ลองคิดถึงส่วนผสมเหล่านี้ดูสิ: อาการเจ็บปวดเรื้อรัง ทำให้เขาอ่อนแออย่างลูกแมว มอร์ฟีนทำให้เขางีบหลับ และความยุ่งเหยิงของความคิดอันหลากหลาย ของเทววิทยาการปฏิรูปและการเมือง ความคิดโรแมนติกของเชสเตอร์ตัน การนึกถึงประเทศอังกฤษที่เต็มไปด้วยคาธิลิกประเภทที่เอางานของเขาไปเชื่อมกับฟาสซิต์ และปฏิทรรศน์ของเขา ที่คริสโตเฟอร์ต้องการจะลบล้างมันเสีย ในช่วงพักเขาจะนั่งพักเหนื่อย ตาปิดพริ้ม และด้วยความพยายามอย่างเหนือมนุษย์ เขาจะฝืนตื่นขึ้นมาเพื่อพิมพ์บรรทัดต่อไป ความทรงจำยาวนานที่เขามีช่วยเขาได้มาก โดยเฉพาะในเวลาที่เขาไม่มีหนังสือที่ต้องการอยู่กับตัว เพราะฉะนั้นเมื่อบทความชิ้นนี้ออกไป จงอ่านมัน

ความเชี่ยวชาญของเขาไม่เคยหายไป เขามีความเชื่ออันแรงกล้าและไม่เคยอ่อนข้อกับอะไร เขาเป็นนักเขียนผู้รอบด้านและเป็นเพื่อนที่ยอดเยี่ยม ด้วยคำของวอลเตอร์ พาเตอร์ (11) เขาได้ “เผาไหม้ด้วยไฟประกายเพชร” จนกระทั่งหยดสุดท้าย


เดอะ การ์เดียนออนไลน์ 16 ธันวาคม 2554


อ้างอิง

(1) http://www.ianmcewan.com/

(2) http://en.wikipedia.org/wiki/Philip_Larkin

(3) http://en.wikipedia.org/wiki/Peter_Ackroyd

(4) http://en.wikipedia.org/wiki/Gilbert_K._Chesterton

(5) http://en.wikipedia.org/wiki/The_Whitsun_Weddings_(poem)

(6) http://www.poemhunter.com/best-poems/philip-larkin/the-whitsun-weddings/

(7) http://en.wikipedia.org/wiki/Theodore_Dreiser

(8) http://en.wikipedia.org/wiki/Sonnets_from_the_Portuguese

(9) http://en.wikipedia.org/wiki/The_Magic_Mountain

(10) http://poemhunter.com/poem/a-german-requiem/

(11) http://en.wikipedia.org/wiki/Walter_Pater

Saturday, October 22, 2011

ความตายของหญิงสาว


ผมอ่านบทละครเกี่ยวกับประเทศชิลีในยุคหลังปิโนเช่ชิ้นนี้ในช่วงต้นปี 2553 จำได้ว่าใช้เวลาอ่านไม่กี่ชั่วโมงก่อนนอน แล้วบทละครชิ้นนี้ก็ติดอยู่ในความทรงจำของผมจากนั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะหลังการสังหารหมู่กลางกรุงเทพฯ

ผมพยายามเสนอแปลบทละครสั้นๆชิ้นนี้ตามสำนักพิมพ์ต่างๆ แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผลเท่าใดนัก ด้วยเหตุผลว่าบทละครขายไม่ได้ในประเทศนี้ (ซึ่งแน่นอน, ก็น่าเห็นใจ) ถ้าสำนักพิมพ์ไหนผ่านมาอ่านโดยบังเอิญแล้วเกิดอยากจะอยากขาดทุนเล่นๆก็ติดต่อผมได้นะครับ

บทละครเรื่องนี้ถูกนำมาแสดงนับครั้งไม่ถ้วนทั่วโลก (ไม่แน่ใจว่าเคยมีในเมืองไทยไหม ถ้าไม่เคยก็ไม่น่าแปลกใจ) และครั้งนี้ก็อีกครังหนึ่ง ที่มหานครลอนดอน - ผมอ่านเจอในหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน (ในคินเดิล!) เขียนโดยผู้เขียนเองด้วย

ผมมีบทละครอยู่เป็น pdf ถ้าต้องการก็เขียนอีเมล์มาบอกผม preedee75@yahoo.com

แก่นเรื่องที่ว่า "เราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ลืมอดีตอันเลวร้าย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมให้มันหลอกหลอนเรา?" ใช้ได้ทุกที่ครับ

---


วิญญาณของหญิงสาวที่ยังคงหลอกหลอน

แอเรียล ดอร์ฟแมน


ยังน่าเจ็บปวดที่จะบอกว่า บทละครที่ผมเขียนเมื่อ 20 ปีก่อนเกี่ยวกับการทรมานและอดีตอันขมขื่นของประเทศชิลี ยังคงเป็นจริงเมื่อเราดูสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้

สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ แต่มันก็ไม่ต่างจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้ ผู้หญิงคนหนึ่งรอคอยการกลับมาของสามีในเวลาที่ตะวันกำลังตกดิน ระบอบเผด็จการที่เคยครอบครองแผ่นดินของเธอเพิ่งจะล่มสลายไป ทุกสิ่งทุกอย่างเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผู้หญิงคนนั้นกลัว ด้วยความลับอันน่าประหวั่นพรั่นพรึงที่มีเพียงเธอและผู้ชายที่เธอรักเท่านั้นที่รู้ วันและคืนต่อจากนั้นมาเธอจะต้องเผชิญหน้ากับความกลัวนั้น เธอพิพากษาตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองด้วยการจับเอาหมอคนหนึ่งที่เธอเชื่อว่าเป็นผู้ทำการทรมานและข่มขืนเธอเมื่อหลายปีก่อน สามีของเธอผู้เป็นนักกฏหมายของคณะกรรมการสอบสวนการตายของผู้ต่อต้านจำนวนนับพันในช่วงระบอบการปกครองที่ผ่านมา เขาต้องปกป้องหมอคนนั้น เพราะหากปราศจากกระบวนการที่เป็นนิติรัฐแล้ว การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของประเทศคงจะเป็นไปได้ยากยิ่ง หากภรรยาของเขาฆ่าหมอคนนั้นเสีย สามีของเธอก็คงจะไม่สามารถช่วยสมานรอยแผลของประเทศนี้ได้

ยี่สิบปีก่อน ตอนที่ความตายของหญิงสาวเปิดตัวในลอนดอนที่รอยัล คอร์ต อัปสแตร์ ประเทศที่ผู้หญิที่ชื่อพอลีน่าคนนั้นกำลังรอความยุติธรรมที่มาถึงแสนยากเย็น คือประเทศชิลีของผม หรืออาร์เจนตินาบ้านเกิดของผม หรือจะเป็นอาฟริกาใต้ หรือจะเป็นฮังการี หรือจะเป็นจีน หรืออีกหลายสังคมที่ถูกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายด้วยคำถามที่ว่า คุณจะทำอย่างไรกับอดีตอันเลวร้าย คุณจะอยู่ร่วมกับศัตรูของคุณได้อย่างไร คุณจะตัดสินเหล่าคนผู้ซึ่งลุแก่อำนาจหากโดยไม่ทำลายเส้นใยบางๆของความพยายามในการปรองดองที่จำเป็นต่อการก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร

วันนี้ เมื่อละครเรื่องนี้ถูกนำมาแสดงใหมที่เวสต์ เอนด์ในลอนดอน เรื่องราวของมันได้เกิดขึ้นไปทั่วโลก ในอียิปต์ ตูนิเซีย ซีเรีย อิหร่าน ไนจีเรีย ซูดาน หมู่เกาะไอเวอรี อิรัก ไทย ซิบบับเว และเวลานี้ก็ลิเบีย จริงๆแล้วก็เพราะการทรมานผู้คุมขังกลายเป็นเรื่องแพร่หลายมากขึ้นหลังเหตุการณ์ 9/11 ประเทศมหาอำนาจของโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ให้ความชอบธรรมหรือสมคบคิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อที่จะทำให้ตนเองรู้สึกปลอดภัย ดังนี้แก่นของเรื่องความตายของหญิงสาวยิ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันมากกว่าเคยเสียอีก

ผมไม่ได้คิดว่าจะสร้างงานระดับโลกหรืออะไรตอนที่เขียนบทละครนี้ขึ้นที่ซานดิอาโก จุดประสงค์ของผมตอนนั้นเรียบง่าย ผมต้องการแค่จะให้ของขวัญกับตัวเองในโอกาสที่ได้กลับบ้านเกิดหลังจากที่ต้องลี้ภัยอยู่ 17 ปี แต่แม้ผู้นำเผด็จการจะลงจากอำนาจไปแล้ว อิทธิพลของเขา คนของเขา เงาของระบอบที่คอรัปชั่นของเขา ได้ธำรงอยู่ทุกแห่งหนในการเมืองของประเทศนี้ เช่นเดียวกับประเทศอียิปต์ในปัจจุบัน (หรือในแง่นี้ร่วมกับรัสเซีย) เหล่าคนผู้ซึ่งได้ประโยชน์จากอภิสิทธิ์มาหลายสิบปี เห็นได้จากการกดขี่โดยกว้างขวาง จากที่พวกเขาควบคุมเศรษฐกิจ ศาล กองทัพ และขู่ฮึ่มที่จะกลับมาฆ่าล้างศัตรู

สำหรับผมพันธกิจของนักเขียนคือการชี้ให้ประเทศหันมามองดูตัวเองให้ดูว่าหลายปีที่ผ่านมาการโกหกพกลมและความรู้สึกอันน่าสะพรึงนั้นส่งผลต่อประเทศขนาดไหน ความตายของหญิงสาว เสียดแทงเข้าไปในบาดแผลลึกของประเทศชิลี ด้วยการแสดงให้เห็นว่าเพชรฆาตนั้นอยู่ในหมู่พวกเรานี่เอง เดินยิ้มอยู่ทั่วไปบนท้องถนน และขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสงสัยผู้นำประชาธิปไตยไปด้วย ตั้งคำถามถึงอุดมคติใดที่พวกเขาบังคับให้ตนเองต้องสละมันไป แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้เพิกเฉยต่อเหยื่อของระบอบนั้น พอลีน่าถูกข่มขืน ทรมานและถูกหักหลัง เธอถูกสร้างให้มีความรุนแรงที่สุดในเรื่อง และนั่นทำให้คำถามที่เธอจะต้องตอบไม่ได้ง่ายไปกว่าคนอื่นเลย คือคุณจะธำรงวัฏจักรแห่งความชั่วร้ายนี้ต่อไปหรือ คุณจะให้อภัยได้อย่างไรเมื่อสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้องคือให้คุณลืมสิ่งที่เกิดขึ้นเสีย แต่ผู้ปกครองคงไม่ปล่อยนักเขียนที่เขียนบทละครท้าทายเช่นนั้นในขณะที่ประเทศยังซวนเซจากความเจ็บปวดอันยาวนาน ชนชั้นนำของชิลีเกลียดสิ่งที่ผมทำ และพวกเขาก่นด่ามัน

แต่สิ่งที่เพื่อนร่วมชาติของผมไม่ต้องการ ได้กลายมาเป็นสิ่งที่โลกยกย่อง ตอนนี้ผมกลับมาที่ลอนดอน ตัวละครของผมก็ได้เดินทางกลับถึงมหานครนี้ด้วย ที่ๆต้อนรับพวกเขาเวลาไร้บ้าน เช่นเดียวกับที่ผมเคยประสบ

ผมตื่นเต้นที่ความตายของหญิงสาวไม่ได้เก่าลงเลยใน 20 ปีที่ผ่านมา มันยังมีพลังทำให้คนอ่านเสียน้ำตา นำพวกเขาไปสู่โศกนาฏกรรมที่หาทางออกไม่ได้ง่ายๆ มันส่งเสียงสนทนากับโลกใบนี้ของเราในปัจจุบันด้วยพลังที่ไม่เคยลดลง ผมตื่นเต้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่ผมบรรจงสำรวจของความทรงจำและความโกลาหล ผลพวงของความรุนแรง และความไม่แน่นอนของความจริงและเรื่องเล่า ทั้งหมดนี้ยังคงเร้าจินตรรมของคนจำนวนมากได้อย่างไม่เสื่อมคลาย แต่แม้ผมจะตื่นเต้นก็ตาม มันกลับทำให้ผมต้องตั้งสติเพื่อตระหนักว่ามนุษยชาติมิได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเลย การทรมานเหล่านั้นก็ยังเห็นได้ทั่วไป เห็นได้จากความยุติธรรมที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง การเซนเซอร์ยังมีอยู่เสมอทั่วไป และความหวังของการปฏิวัติประชาธิปไตยถูกทำให้ริบหรี่ ถูกบิดเบือน และถูกทำให้ผิดรูปผิดร่าง

ผมอดไม่ได้ที่จะถามว่า อีก 20 ปีต่อจากนี้ผมจะต้องเขียนข้อความเหล่านี้ใหม่อีกครั้งหรือไม่ เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นวันนี้ ไม่ได้ต่างอะไรออกไปจากวันวานเลย

หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน 15 ตุลาคม 2011

Friday, August 26, 2011

เพลงที่ไม่ได้ยิน





ผมเขียนเก็บตกจากการชมละคร Flu-Fool เชิญอ่าน : http://prachatai3.info/journal/2011/08/36529

Saturday, July 30, 2011

เอมี่ ไวน์เฮาส์ (1983 - 2011)



ผมยังจำได้ว่าตอนที่ใช้เวลาอยู่ที่มหานครลอนดอน ช่วงปี 2007-2008 นั้น คุ้นหน้านักร้องผู้หญิงชาวอังกฤษคนหนึ่งมาก

เวลาเดินไปเดินมาในเมืองช่วงบ่ายๆถึงเย็นก็จะมีคนยืนแจกหนังสือพิมพ์ฟรี จำได้ว่ามีสองหัว ฉบับหนึ่งคือ the london papers และอีกฉบับคือ London Lite โดยทั้งคู่ไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

บนรถไฟใต้ดินเราก็จะเห็นคนยืนอ่านไอ้หนังสือพิมพ์แจกฟรีนี้ และภาพหนังสือพิมพ์อ่านแล้วที่ยับเยินวางกระจัดกระจายไปทั่วตู้โดยสารก็เป็นภาพคุ้นชินตา

ที่สะดุดตาก็คือมีผู้หญิงนักร้องคนหนึ่งลงหน้าปก ส่วนใหญ่ภาพเธอก็จะถูกถ่ายเวลาที่เพิ่งไปปาร์ตี้ หรือถ่ายกลางวัน เป็นภาพเธอเมาหลับบ้างละ หน้าตายับเยินบ้างละ หลายครั้งภาพที่สื่อเอามาลงก็จะเป็นเธอที่มือหนึ่งคีบบุหรี่ อีกมือหนึ่งก็คงจะเตรียมตัวรับบุหรี่จากมืออีกข้างหนึ่งมาคีบ ผู้หญิงคนนั้นจะทำผมทรงจัดขึ้นไปตั้งสูงๆ เขียนตาหนาๆ เป็นเอกลักษณ์ ผมก็คิดว่า เอาละ คนจะดังก็ต้องสร้างกระแส แล้วก็ไม่ได้คิดอะไรมาก

แต่นั่นก็ก่อนหน้าที่ผมจะได้ฟังเพลงของเธออัลบั้ม Back to Black -อย่าเรียกผมว่าเป็นคนเหยียดเพศเลยนะครับ แต่ยากที่เพลงจากนักร้องหญิง (แถมยังเป็นคนอังกฤษ ที่เพลงไม่ค่อยจะได้ยินมากนักในเมืองไทย หากเทียบกับจากอเมริกา) จะทำให้ผมชอบได้ง่ายนัก

แต่ผมตกหลุมรักเพลงของเธอและเสียงของเธอ

ด้วยอะไรบางอย่าง การเดินทางกลับเมืองไทยช่วงปลายปี 2008 ผมเลือกจะเอาเสียงของเอมี่ ไวน์เฮาส์กลับมาด้วย

เธอยังรักษาความคงเส้นคงวาได้อย่างดีเยี่ยม ผมได้ยินชื่อของเธอบ่อยครั้งตามสื่อต่างๆ ทั้งไทยและเทศ

คนสาวผู้ซึ่งไม่อินังขังขอบ กับสิ่งใด



หวังว่าเธอจะห่มผ้าห่มหนาๆ