Monday, November 30, 2009

ผู้ีดี - ดอกไม้สด


ผมเพิ่งจะอ่านงานของดอกไม้สดครับ ถึงใครจะหาว่าเชยที่เพิ่งมาเริ่มอ่านก็ตามแต่ ผมบ่สนใจ เอาเป็นว่าใครที่เคยอ่านแล้วจะแลกเปลี่ยนอะไรก็เชิญ หรือท่านจะไปหางานของดอกไม้สดอ่านดูก็จะยิ่งขออนุโมทนา

ต้องขอเกริ่นเอาไว้เบื้องต้นว่า ในเนื้อหาต่อไปนี้จะเปิดเผยเนื้อเรื่องบางตอน ฉะนั้นหากท่านไม่ต้องการเสียอรรถรส (ในภาษาคนดูหนังเรียกถูก spoil) ก็คงจะต้องไปอ่านมาก่อน

ผมใช้ฉบับหอสมุดแห่งชาติ พิมพ์พ.ศ.2516 ครับ (นิยายเขียนเมื่อพ.ศ.2480)



"ผู้ดี" เป็นงานที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในบรรดางานทั้งหลายของดอกไม้สด คงจะเป็นเพราะนิยายเรื่องนี้ได้นำเสนอบรรยากาศของชีวิตเหล่าผู้ดีไทยในช่วงหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 หมาดๆ และเล่าผ่านชีวิตของวิมล ผู้เป็นสมาชิกชนชั้นผู้ดีคนหนึ่ง

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพ.ศ.2475 ได้ส่งผลกระทบอันสำคัญต่อชนชั้นนำไทย วิถีชีวิตที่พวกเขาคุ้นเคยได้เปลี่ยนแปลงไป และพวกเขาก็ได้รับผลกระทบนั้นๆกันอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะในด้านฐานะทางการเงิน อย่างที่พระยาอมรรัตน์ฯได้กล่าวถึงวิพัฒน์ ลูกชายคนโตของตนที่กำลังศึกษาต่ออยู่ที่อังกฤษว่า
"เจ้าคนโตของผมมันกินเงินมากจริง" ท่านเจ้าของบ้านกล่าว "ปีหนึ่งตั้ง ๕-๖ พันบาท"
"ก็เงินหลวงไม่ใช่หรือคะ?" คุณหญิงบริหารธนกิจถาม
"เงินในพระมหากรุณา แต่เมื่อพระองค์ท่านสละราชสมบัติแล้ว ผมก็ต้องส่งของผมเอง เผอิญมันไปชอบวิชาที่ใครๆร้องว่ายากกันทั้งนั้น คือเจ้าวิชาการบัญชีชั้นสูงลิบ...มันจะเล่นงานผมสักกี่หมื่นก็ไม่ทราบ ถ้าเรียนสำเร็จใน ๖ ปี ตามเกณฑ์ก็ไม่กระไรนัก ๒๐,๐๐๐ พอสู้ได้ แต่เขาว่ากันว่าน้อยคนที่จะเรียนสำเร็จใน ๖ ปี อย่างเก่งที่สุดก็ ๗ หรือ ๘ ท่าทางจะแย่ แต่ก็ทนเอาหน่อย... (น.50-51)
ซึ่งมีบรรยากาศเช่นนี้อยูตลอดเรื่อง (แม้จะพอคาดเดาได้ก็ตาม)

จุดหักเหสำคัญของเรื่องก็หนีไม่พ้นเมื่อพระยาอมรรัตน์ฯตาย ก็ได้เกิดความยุ่งยาก วุ่นวาย หรือถึงขั้นโกลาหลกันไปทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งสมบัติจากพินัยกรรมที่ได้ทิ้งเอาไว้

วิมลมารู้สึกตัวว่า ตนเองไม่ได้เป็นผู้มั่งคั่งอย่างที่เคยเป็นอีกแล้วเพราะภาระทางด้านการเงินหลายด้านที่ทำให้รู้ว่าแท้จริงครอบครัวตนไม่ได้ร่ำรวย นั่ง "รถยนต์เก๋งใหญ่ ใหม่ที่สุด งามที่สุดในสมัย" (น.3) เช่นที่เคยเป็น

เธอจึงต้องปฏิวัติชีวิตตนเอง ไม่ว่าจะถูกทัดทานโดยคนจำนวนมาก และถูกมองว่าเป็นคนจองหอง ทั้งนี้ก็เพื่อจะอยู่รอด คอยดูแลน้อง และส่งเสียพี่ชายเรียนเมืองนอกด้วย (วิมลยังรับจ้างเย็บผ้าด้วย)

ผมคิดว่าตัวละครหลักอย่างวิมลน่าสนใจ เพราะเขาเหล่านี้เป็นคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือคนที่ไม่ได้มั่งคั่งจริงๆ หรือไม่ได้อยู่ในกลไกระบบอุปถัมภ์ที่ใกล้ศูนย์อำนาจจริงๆในยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ จากที่พวกเขาเคยมีโอกาสได้รับประโยชน์ ท่อน้ำเลี้ยงนั้นขาดไป ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองอย่างมาก เพื่อจะประทังตัวรอด

เราจะเห็นคนกลุ่มนี้เกิดใหม่เป็นจำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจน ครึ่งทศวรรษหลังของพ.ศ.2470 (จริงๆเข้าใจว่าในงานของท่านอากาศฯก็เสนออะไรแบบนี้ออกมาด้วย)

มีสองประการที่ผมคิดว่า ถ้าไม่ใช่ผู้หญิง และถ้าไม่ใช่ดอกไม้สด เขียนอย่างนี้ไม่ได้แน่ๆ นี่เป็นฉากที่นายจงรักพยายามจะเกี้ยววิมล
"คุณดื่มเหล้าได้ไหม?" นายจงรักถามวิมลเมื่อคนใช้ยกถาด 'ลีเคอร์' เข้ามาตั้งไว้ในห้องรับแขก
แล้วก็
"คุณชอบเหล้าอะไรบ้าง"
"คุณชอบอ่านหนังสือชนิดใด"
"คุณชอบเด็ก ชอบสุนัขหรือไม่"
"คุณสนใจในการบ้านเมืองไหม"
"คุณชอบภาพยนตร์ไหม"
"คุณเข้าใจวิทยาศาสตร์บ้างไหม"
"คุณชอบดนตรีไหม"
"คุณชอบกีฬาชนิดใด"
"คุณชอบดอกไม้ไหม"
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
และเมื่อวิมลตอบ จะเป็นคำปฏิเสธหรือรับรองก็ตาม ผู้ถามจะสรรเสริญไม่ขาดปาก หล่อนดื่มเหล้าได้บ้าง แต่ไม่ค่อยชอบ ก็ดี เพราะผู้หญิงที่เป็นนักดื่มมัก 'เปรี้ยวจัดและเสียง่าย' หล่อนชอบอ่านหนังสือที่มีแง่ให้ตรองก็เหมาะ เพราะนั่นแสดงนิสัยของผู้มีภูมิรู้ หล่อนชอบทั้งเด็กทั้งสุนัขก็ควร เพราะ 'เด็ก คือภาพถ่ายแห่งจิตใจของเราเมื่อยังบริสุทธิ์เพราะความไม่เดียงสา' และ 'สุนัขเป็นสัตว์ที่มีคุณสมบัติดีกว่าบางคนเพราะมันมีความกตัญญู' หล่อนไม่สนใจในการเมืองก็ถูก เพราะผู้หญิงมีหน้าที่ทางบ้านมากพอแล้ว ถ้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากนัก จะทำให้หน้าที่ทางบ้านบกพร่อง เมื่อคำตอบของหล่อนดูช่างถูกและดีไปเสียหมด วิมลก็แสร้งลองตอบให้ไกลจากความจริงใจไปบ้าง หล่อนตอบว่าไม่ชอบดนตรี ก็ถูกอีกเพราะดนตรีทำให้คนซบเซาเหงาง่วง หรือมิฉะนั้นก็ทำให้ฟุ้งซ่าน ไ่ม่มีประโยชน์อันใดเลย วิทยาศาสตร์ วิมลตอบว่าหล่อนเปรียบเหมือนคนตาบอดหรือหูหนวกในเรื่องนี้ ก็ถูกอีก เพราะวิทยาศาสตร์ไม่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ในชีวิตของผู้หญิงแม้แต่สักนิด... (น.47-8)
ผมอ่านไปด้วยหัวเราะไปด้วยครับ ช่างเป็นความ "รู้ทัน" ของสตรีเมื่อผู้ชายเข้ามาจีบ ซึ่งมุม passive เช่นนี้ดอกไม้สดค่อนข้างถนัดทีเดียว

ทั้งเรื่องราวความรักของวิมลกับอุดมก็เช่นกัน เมื่ออุดมทุ่มเทความรักให้อย่างมากมาย เธอกลับรู้สึกผิดเมื่อเธอรักเขาไม่ได้เท่าเทียมกับที่เขารักเธอ

เรื่องนี้เป็นคำถามคลาสสิกนะครับ สำหรับคนในสมัยนี้ "ผู้ชายเริ่มจากร้อยไปศูนย์ ส่วนผู้หญิงเริ่มจากศูนย์ไปร้อย" ท่านว่าิอย่างไร?

อีกเรื่องหนึ่งผมคงจะไม่ยกตัวอย่างต่อความยาวสาวความยืด แต่อารมณ์ความหึงหวง การต่อกรกันระหว่างเพศหญิงด้วยกันนั้น ดอกไม้สดถือว่าเป็นมือหนึ่งทีเดียวครับ ใครที่อ่านแล้วก็คงเห็นด้วยกับผม

สุดท้าย เรื่องการมีมากเมียก็ถูกท้าทาย เพราะดอกไม้สดได้ทิ้งเอาความโกลาหลอันเกิดขึ้นต่อไปหลังจากคนก่อได้ตายไปแล้ว ผ่านข้อคิดทางศีลธรรม ต่อไปนี้เป็นบทสนทนาระหว่างพระยาอมรรัตน์ฯและเมียคนแรกคือคุณแส
"แม่วงเขาหาคนมาช่วยเขาปรนนิบัิิติฉันคนหนึ่งแล้ว อายุ ๑๕ ฉันหวังใจว่าหล่อนคงจะไม่ยอมน้อยหน้าแม่วงได้ที่อ่อนกว่านั้นสักปีหนึ่งละก็ดีทีเดียว" แล้วคุณมงคล [พระยาอมรรัตน์ฯ] ก็หัวเราะอย่างเห็นขำ
คุณแสหัวเราด้วย อย่างเห็นขำเหมือนกัน แล้วย้อนถาม
"๑๕ ไม่แก่ไปหรือคะสัก ๑๑-๑๒ เป็นยังไง"
"ไม่เลว สงสารแต่หล่อนจะต้องอาบน้ำทาขมิ้นหาเหาให้มันเท่านั้น"
ต่อมา ๒-๓ วัน คุณมงคลปรารภซ้ำเรื่องนี้ แล้วเสริมต่อไปว่า "หล่อนจะยอมแพ้แม่วงเทียวหรือ? ก่อนๆไม่เห็นเคยยอมสักที"
คราวนี้ คุณแสมิได้หัวเราะ ตอบอย่างเคร่งขึมและหนักแน่น
"ดิฉันกลัวบาป"
"อะไร!" คุณมงคลค้าน "หาเมียน้่อยให้ผัวบาป? มีอย่างที่ไหน ได้บุญน่ะไม่ว่า"
"ช่างเถอะค่ะ ดิฉันไม่ต้องการหากุศลทางนี้" (น.124-5)
อย่าได้แปลกใจไปเลยครับหากบทสนทนานี้จะเกิดขึ้น เพราะมันเป็นบรรยากาศของสังคมในเวลานั้น เอาเป็นว่าถึงแม้บทสนทนาเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ผู้ชายได้เปลี่ยนพฤติกรรมไปสักน้อยบ้างไหม?

หากจะให้ผมตั้งขอสงสัยหน่อย ก็คงจะเป็นที่ว่าเหตุใดวิมล ผู้ซึ่งเป็นลูกไฮโซ ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างไข่ในหิน ตามอกตามใจทุกอย่างทุกประการ จึงได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบ คิดอะไรอย่างแหลมคมได้หลังจากที่พระยาอมรรัตน์ตายไปไม่นาน มันเหมือนกลายเป็นอีกคนหนึ่งไป ไม่น่าเชื่อถือเท่าไหร่

แต่โดยรวมแล้ว ผู้ดีเป็นนิยายที่อ่านสนุกทีเดียว

จบดื้อๆเลยก็แล้วกัน

Saturday, November 21, 2009

อาลัยครูใหญ่ นภายน


ผมเชื่ออยู่เสมอถึงการดำรงอยู่ของบางสิ่งบางอย่าง ผ่านรุ่นสู่รุ่น ผ่านพ่อแม่สู่ลูก ผ่านคู่ชีวิต ผ่านพี่สู่น้อง และผ่านเพื่อนสู่เพื่อน


การดำรงอยู่ของความเชื่อ คุณค่า ความหมายบางอย่าง ที่สะท้อนโลกทัศน์และมุมมองของคนๆหนึ่งต่อโลกที่เขาใช้ชีวิตผ่านมา และเขาเล่ามันออกมาด้วยหมายจะบันทึกมันเอาไว้


สิ่งเหล่านี้ผมจะสดับตรับฟังด้วยความเคารพอยู่เสมอ - ไม่ใช่เพราะหลับหูหลับตาเชื่อ หรือไม่ใช่เพราะความเป็นผู้ด้อยอาวุโสกว่า จึงมีหน้าที่ต้องฟังและรับคำสั่งแต่ถ่ายเดียวโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ

แต่ผมฟังเพราะเชื่อว่า คงมีเหตุผลบางอย่าง ที่คนเหล่านั้นเลือกเล่าเรื่องราวบางเรื่องผ่านประสบการณ์ของเขาออกมา ผ่านยุคสมัยของเขาออกมา เพราะนั่นทำให้เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของบางสิ่งบางอย่าง การดำรงอยู่ของบางสิ่งบางอย่าง


และที่สำคัญ มันอาจได้สะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น เป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรถูกก้าวทับซ้ำเข้าไปอีก เพราะหากเราเชื่อว่ามนุษย์พร้อมที่จะเรียนรู้ เราก็คงจะต้องพร้อมรับฟังอะไรบางอย่าง และเรียนรู้มัน

อารยธรรมเติบโตไปเช่นนี้เอง

ใครหลายคนรับรู้ถึงการจากไปของศิลปินสำคัญของไทยคนหนึ่ง พวกเขาอาจรับรู้จากผลงาน จากกระแสเสียงดนตรี จากความสัมพันธ์ทางสายเลือด และหนทางในการรับรู้อันหลากหลายแตกต่างกันไป

ผมรับรู้ถึงการจากไปของ
ครูใหญ่ นภายนในฐานะผมเป็นเพื่อนบ้านคนหนึ่ง

อันที่จริงแล้ว "บ้านเขตดุสิต" คือบ้านที่นำผมมารู้จักกับครูใหญ่

ผมรู้จักกับครูใหญ่ นภายน เมื่อราวปีพ.ศ.2549 อันเป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มมีความสัมพันธ์กับบ้านอย่างจริงจัง หลังจากที่ใช้ชีวิตไม่ติดบ้านช่ิอง (ด้วยภารกิจหลายประการ) มาเป็นระยะเวลาสองสามปีหลังจากที่ผมย้ายเข้ามาที่บ้านเขตดุสิตใหม่ๆในปีพ.ศ.2546

มันเป็นช่วงเวลาี่ืืที่ผมใช้เวลาในการครุ่นคิดและเรียนรู้ความสัมพันธ์ของมนุษย์ในเมืองที่ผมอยู่อาศัยอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในชีวิต และแสดงมันออกมาผ่านงานเขียนและการมองโลกต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งต้องอาศัยการขัดเกลา การปลีกวิเวก การเริ่มต้น การสูญเสีย และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมไม่สามารถบรรยายออกมาได้จนหมด


จะว่าไปแล้ว บ้านเขตดุสิตเป็นตัวชี้วัดการเจริญเติบโตของผมในหลายแง่หลายมุม และบ้านแห่งนี้ก็เป็นสถานที่บรรจุความทรงจำในวัยหนุ่มของผมไว้หลายอย่างหลายประการ

ในพ.ศ.2549 ผมรู้แต่เพียงว่ามีศิลปินใหญ่อยู่คนหนึ่งพำนักอาศัยอยู่ในละแวกบ้าน - จนกระทั่งผมได้มีโอกาสไปแนะนำตัวก่อนไปเรียนต่างประเทศนั่นละ ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับครูใหญ่ นภายน


การเป็นศิลปินผู้มีชีวิตคร่ำหวอดอยู่ในวงการ ทำให้ครูใหญ่ถ่ายทอดประสบการณ์ออกมาให้ผมฟังอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ผมรับฟังเรื่องราวเหล่านั้น ซึ่งถูกเล่าออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตครู

ราวกับว่าเรื่องราวเหล่านั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

ผมเล่าให้ครูใหญ่ฟังถึงความฝัน ความมุ่งหมาย และความตั้งใจที่จะทำอะไรหลายสิ่งหลายอย่างดังที่ไฟในตัวจะเผาผลาญความทะเทอทะยานออกมาเป็นควันของการเล่าเรื่อง

ครูให้กำลังใจ และให้ข้อคิดซึ่งผมยังจำได้ว่า "การเขียน ไม่จำเป็นต้องรุนแรง ค่อยๆเล่า ค่อยๆบรรยาย ค่อยๆนำเสนอมันออกมา"


นั่นอย่างไร...ประสบการณ์บางอย่างที่เราควรต้องสดับตรับฟังด้วยความเคารพ

ผมได้พบกับครูใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนผมเดินทางไปเรียนต่างประเทศอีกครั้งหนึ่งเมื่อสี่เดือนที่แล้ว ครูใหญ่ยังดูสดใส ยังเล่าเรื่องราวต่างๆอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเหมือนเคย - ประสบการณ์อีกมากที่ถูกเล่าออกมา

ดนตรีของครูใหญ่ยังบรรเลงอยู่ - มันยังคงดำรงอยู่ ผ่านรุ่นสู่รุ่น ผ่านพ่อแม่สู่ลูก ผ่านคู่ชีวิต ผ่านพี่สู่น้อง และผ่านเพื่อนสู่เพื่อน

บ้านเขตดุสิตมีความทรงจำเพิ่มขึ้นอีกคำรบหนึ่ง