Wednesday, June 24, 2009

สุขสันต์วันชาติ


วันนี้เป็นวันสำคัญของประเทศไทยวันหนึ่งที่ถูกกดทับ ปิดบัง ทำให้ลืม โดยกลุ่มที่ถืออำนาจเอาไว้ ท่าลองคิดดูเถิดว่า มันได้สะท้อนให้เห็นความอัปลักษณ์ของเหล่าชนชั้นนำของประเทศนี้อย่างไร

ผมเอาคอลัมน์ สยามประเทศไทย ของอาจารย์สุจิตต์จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวันในวันนี้มาเต็มๆ (โดยไม่ได้ขออนุญาต) เพราะตรงกับสิงที่ผมอยากจะเขียนเสียจริงครับ ผมขออภัยจริงๆ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อผลประโยชน์แต่อย่างใด

ขอเชิญอ่าน และจงเกิดความสำนึกบ้างเถิด

24 มิถุนายน 2475 ประวัติศาสตร์ถูกทำให้ลืม
สุจิตต์ วงษ์เทศ

24 มิถุนายน 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยแห่งชาติ

แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยมีลักษณะสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ

1. สั่งให้จำ 2. ทำให้ลืม

ประวัติศาสตร์ถูกสั่งให้จำ ล้วนเป็นเรื่องแต่งใหม่อย่าง"นิยาย" ไม่มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี แต่สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องการเรียนการสอนประวัติศาสตร์โบราณคดี ไม่เคยแบ่งปันเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้สาธารณชนรู้ จึงเท่ากับสมคบกับชนชั้นมีอำนาจ ปกปิดความจริงทางประวัติศาสตร์ แล้วแต่งเรื่องเท็จให้เป็นประวัติศาสตร์เท็จๆ
เช่น คนไทยมีแหล่งกำเนิดอยู่เทือกเขาอัลไต, คนไทยเป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้า, คนไทยถูกจีนรุกรานหนีลงทางใต้, คนไทยตกเป็นขี้ข้ามอญและขอมที่เป็นเจ้าของดินแดนอยู่ก่อน, คนไทยปลดแอกจากมอญและขอม, คนไทยสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก, กรุงศรีอยุธยาสร้างขึ้นเมื่อกรุงสุโขทัยล่มสลายแล้ว, ฯลฯ

ประวัติศาสตร์ถูกทำให้ลืม คือ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร(อ่านว่า คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน) เปลี่ยนแปลงการปกครองฯ แล้วรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือเป็น"วันชาติ"

ต่อมาชนชั้นนำมีอำนาจออกประกาศบังคับให้ยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน เพื่อให้ลืมประวัติศาสตร์คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง

24 มิถุนายน 2475 เป็นประวัติศาสตร์ถูกทำให้ลืม แต่เราไม่ลืม เพื่อให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมในอนาคต ใครจะทำไม?

ฉะนั้น ต้องร่วมกันบอกต่อๆไปให้จดจำ และเจ็บจำ"ไปถึงปรโลก"

ประเทศไทยไม่มีมิวเซียมการเมือง ผมเคยเขียนบอกหลายครั้งในหลายปีให้ทำบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จัดแสดงเป็นมิวเซียมการเมืองสยาม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการเมืองการปกครองโบราณ ก่อน 24 มิถุนายน 2475 ส่วนหลัง เป็นการเมืองหลัง 24 มิถุนายน 2475

"มิวเซียมการเมืองสยาม" ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากๆ เพราะจัดแสดงอย่างโล่งๆแจ้งๆเป็น museum without wall คือใช้สถานที่จริงที่เกิดเหตุการณ์จริงเป็นที่จัดแสดง โดยทำคำอธิบายย่อๆสั้นๆ เป็นไทย/อังกฤษ สแกนบนแผ่นโลหะบางๆ หรือวัสดุง่ายๆราคาถูกติดกับอาคารสถานที่สำคัญๆนั้นๆเท่านั้น เช่น

ลานพระรูป, หมุด 24 มิถุนายน 2475, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, อนุสรณ์สถาน, โรงแรมรอยัล, กรมประชาสัมพันธ์(เก่า), สนามหลวง, ธรรมศาสตร์, ฯลฯ

สุนทรภู่ เป็นชาวบางกอก อยู่ในตระกูลพราหมณ์ผู้ดีมีสกุล เกิดในวังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย ดูรายละเอียดใน www.sujitwongthes.com


ท่านผู้มีใจเป็นธรรมลองคิดดูเอาเองเถิดว่า มันเป็นการยุติธรรมแล้วหรือ ว่าแม้แต่ประวัติศาสตร์ของไทยเอง ประชาชนไทยยังถูกปิดตาเลย ประสาอะไรกับเรื่องอื่น?

สุขสันต์วันชาติครับ

Sunday, June 14, 2009

สินค้าสด - มนัส จรรยงค์

เนื่องด้วยที่ผ่านมาอ่านงานของนักประพันธ์ชั้นครู มนัส จรรยงค์ ติดต่อกันหลายเล่ม ก็เลยมีความคิดความเห็นออกมาบ้างเป็นเรื่องธรรมดา 

สินค้าสด เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นที่รวมอยู่ใน ซาเก๊าะและรวมเรื่องสั้นอันเปนที่รัก ของมนัส จรรยงค์ (สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, พ.ศ.2511) 

อันที่จริงมีหลายเรื่องที่อยากเขียนถึง แต่เอาเพียงเรื่องเดียวสั้นๆก่อนก็แล้วกัน 

สินค้าสด เป็นเรื่องราวของชายบ้านนอกผู้หนึ่งนามวิฑูร ซึ่งสามารถหาภรรยาที่เป็นคนกรุงเทพฯได้ เขาจึงพาเจ้าไปอยู่ด้วยที่บ้านนอก และเรื่องราวก็วุ่นวายหลังจากนั้น (ไม่อยากทำลายบรรยากาศ เอาเป็นว่าไปหาอ่านเองก็แล้วกันนะครับ)

สินค้าสด น่าจะพิมพ์ครั้งแรกในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ เพราะไม่มีการบอกว่าพิมพ์มาแล้วในที่อื่นอย่างเรื่องสั้นหลายต่อหลายเรื่องในเล่ม ซึ่งบอกปีที่พิมพ์เอาไว้ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ลองกะดู เรื่องสั้นนี้ก็น่าจะถูกเขียนขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 นั่นเอง  

แม้ว่า สินค้าสด จะไม่เคยถูกพูดถึงที่ไหนมาก่อน ผมกลับคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่สะท้อนรูปแบบการประพันธ์ของมนัส จรรยงค์โดยกว้างๆได้ 

ผมคิดว่า สินค้าสด พอจะทำให้ผมยกได้สามประเด็นกว้างๆ (ผมขอแนะนำให้อ่าน สินค้าสด ก่อนจะอ่านต่อไป เนื่องจากจะมีการยกเนื้อเรื่องหลายตอนขึ้นมาประกอบ หากหาอ่านไม่ได้ขอเชิญชั้น 4 หอกลาง จุฬาฯ บุคคลภายนอกเสีย 20 บาท) 

1) ในบริบทของประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย เรื่องศีลธรรมในงานของมนัส จรรยงค์เคยถูกพูดถึงแล้วในบลอกวรรณกรรมรักชวนหัว ซึ่งแยกงานมนัส จรรยงค์ ผู้เป็นนักเขียนรุ่นก่อน 14 ตุลาฯ ออกจาก วรรณกรรมของกลุ่มนักเขียนหลัง 14 ตุลาฯ 

งานเขียนของกลุ่มนักเขียนหลัง 14 ตุลาฯ จะมีการอ้างอิงศีลธรรมอย่างโจ่งแจ้ง และนำไปสู่การถกเถียงที่ว่า ไอ้สำนักหลัง 14 ตุลาฯ แบบนี้หรือเปล่า ที่มันไปอุดให้งานเขียนจากนั้นเป็นต้นมาคล้ายกับพายเรืออยู่ในอ่าง? (อะไรๆก็ศีลธรรม) 

และทำให้ (ด้วยภาษาของบลอกวรรณกรรมรักชวนหัว) "ทำไมศตวรรษหนึ่งผ่านไป นักเขียน(ผู้มีรสนิยม) ได้แต่อ่านเรื่องสั้นอาจารย์มนัส แล้วกระพริบตาปริบๆ ถามตัวเอง "ทำไมกูเขียนไม่ได้แบบนี้วะ!" 

ไปจนกระทั่ง "และประกาศให้โลกรู้เลยว่า เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ วรรณกรรมไทยได้ตาย (หรืออย่างน้อยก็ถดถอยลงอย่างช้าๆ ) ไปพร้อมกับอาจารย์มนัสแล้ว" 

เพื่อความเป็นธรรม ผมคงต้องยกสิ่งที่อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ได้กล่าวถึงในโอกาสแกไปพูดที่ศูนย์มานุษฯ สิรินธร (ที่จริงเป็นงานวิจารณ์วรรณกรรมของวินทร์ เลียววาริณ) เมื่อ 6 มิ.ย. 52 

อาจารย์พูดถึงงานของวินทร์ด้วยวิธีการจัดกลุ่มงานเขียน โดยพูดในบริบทประวัติศาสตร์ว่า วรรณกรรมยุคหลัง 14 ตุลาฯ เป็นวรรณกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับวรรณกรรมแนว "น้ำ่เน่า" ในยุคก่อน 14 ตุลาฯ ซึ่งทำให้วรรณกรรมหลัง 14 ตุลาฯ ได้ชื่อว่าเป็นวรรณกรรม "แนวทดลอง" ในเวลานั้นเสียเอง 

อาจารย์เสริมว่าวรรณกรรมแนวนี้จึงถูกเรียกว่าเป็นแนว "เพื่อชีวิต" หรือพอจะเลียบๆเคีัยงๆกับสัจนิยม (Realism) ในการจัดประเภทวรรณกรรมตะวันตกได้ 

แต่เมื่อยุคหลัง 6 ตุลาฯ เป็นต้นมาจนมาถึงยุคปลายสงครามเย็น วรรณกรรมเพื่อชีวิตได้อ่อนแรงลง แต่ ยังไม่มีวรรณกรรมใดที่เข้ามาทำหน้าที่ตอบโจทย์ใหม่ของสังคมหรืออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างที่นักวิจารณ์วรรณกรรมพอจะเห็นได้เลย จึงมีคำถามอยู่เสมอๆว่า "วรรณกรรมเพื่อชีวิตตายหรือยัง?" 

จนกระทั่งเมื่องานของวินทร์ เลียววาริณ ปรากฏขึ้นในบรรณพิภพ อาจารย์ใช้คำศัพท์ว่ามันได้ "แหวก" วงล้อมวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ครองพื้นที่อยู่มานานเกินไป และเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันที่แผ้วถางให้งาน "แนวทดลอง" นี้ตามกันมาได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนอย่างปราบดา หยุ่น อนุสรณ์ ติปยานนท์ กิตติพล สรัคคานนท์ ภาณุ ตรัยเวช ฯลฯ 

โดยงานแบบใหม่นี้ก็คือ "แนวทดลอง" ที่จะมาเบียดแนว "เพื่อชีวิต" (แต่ เราหลงลืมอะไรบางอย่าง อาจเป็นสิ่งที่ต้องอธิบายต่อไป) 

เพราะฉะนั้น หากพิจารณากันในแนวนี้ เราอาจจะกล่าวได้ว่ามันมีวรรณกรรม "แนวทดลอง" มาแทนที่วรรณกรรมยุคหลัง 14 ตุลาฯ แล้วก็ได้ ถ้าไม่มองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป เราอาจจะพอมีความหวังอะไรได้บ้าง? 

กลับมาที่งานของมนัส จรรยงค์ต่อ - หากจะว่าไปแล้ว งานเรื่องสั้นของราชาผู้นี้มีความ "น้ำเน่า" ไม่เบาเลย ไม่ว่าจะเป็นรัก พราก จาก ฉุดคร่า หนีตามกัน เสือ นักเลง คนจนกรอบ คนบ้านนอก คนกรุง ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะถูกหยิบใช้สม่ำเสมอ 

แต่ที่สำคัญ งานของมนัส จรรยงค์มีความก้าวหน้ามากกว่างานร่วมสมัยเดียวกันไม่ว่าจะโดยการหักมุมของเรื่อง การหาพลอตที่สามารถสร้างความประหลาดใจแก่คนอ่าน การนำเสนอเรื่องด้วยมุมหลากหลาย (ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินเรื่องปกติ หรือการดำเนินเรื่องด้วยมี "โฆษก" มาเล่าให้ฟัง เป็นต้น) นี่ยังไ ม่นับรวมฝีมือการบรรยายบรรยากาศและความงามของสตรีเพศชนิดหาตัวจับยากทีเดียว 

ใน สินค้าสด เรื่องศีลธรรมถูกท้าทายอย่างโจ่งแจ้ง วิฑูรผู้สวมบทสามี ควรจะต้องเป็นสามีที่่ดี เป็นหลักและที่พึ่งแก่ภรรยาได้ตามแบบอย่างความมีอารยะอย่างที่ได้กำหนดเอาไว้ในประเทศไทยหลายสิบปีก่อนหน้า ตั้งแต่ยุคจอมพลป. พิบูลสงคราม

แต่เขากลับพาภรรยามาเพื่อขายแลกกับเงิน โดยผู้ที่ขายก็ไม่ใช่ใคร คือเถ้าแก่ฮง ชาวจีนซึ่งคนไทยตั้งข้อรังเกียจเดียจฉันท์มาตั้งแต่ช่วง 1930's 

งานนี้เงินสามพันบาทถูกอาจารย์มนัสเอาไปตั้งคำถามกับระบบศีลธรรมของสังคมไทยทั้งสังคมทีเดียว 

2) ผมไม่ได้ีมีความรู้ทางทฤษฎีเรื่องนี้มากนัก แต่ผมคิดว่า สินค้าสด ก้าวหน้าในแง่ของการเป็นสาส์นสำหรับการเรียกร้องสิทธิสตรีในเมืองไทย เป็นเรื่องสั้นแนวสตรีนิยมโดยแท้ 

ลองคิดง่ายๆดีกว่า ท่านผู้อ่านลองนึกถึงเรื่องสั้นที่ผู้หญิงเผยเอาความรู้สึกของตนเองออกมา ว่ารักเพื่อนผัว แล้วยอมจะหนีไปกับเขา ในขณะที่ผู้นำสังคมไทยในต้นพุทธศตวรรษที่ 26 เป็นคนที่มีอนุภรรยาเป็นร้อยคนดูก็แล้วกัน ว่า สินค้าสด ก้าวหน้าขนาดไหน 

ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Jules et Jim (1962) ของผู้กำกับสังกัดกลุ่มคลื่นใหม่ในฝรั่งเศสฟรังซัว ทรูฟโฟ ที่เป็นภาพยนตร์เฟมินิสต์แรกๆในกลุ่มศิลปินรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่สำคัญคือร่วมสมัยกับอาจารย์มนัสเสียด้วย
...บังอรมันฝันว่า เจ้าได้ถูกเจ้ายงมันชมเชยเสียสมใจมัน ในฝันนั้นเจ้ารู้สึกว่า มันช่างเป็นความสุขเสียจริงๆ แต่บังอรก็ยังคิดว่า มันอาจจะไม่ใช่ความฝันก็ได้ ในเมื่อบางสิ่งบางอย่างในร่างกายเจ้ามันบอกเจ้าว่า มันเป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นจริงๆ...(หน้า 269)
...แม้ว่าจะเป็นเป็นเวลาสั้นๆที่ได้พบกัน แต่ก็เหมือนเทวดาดลใจ บังอรก็สุดจะหักใจไม่ให้คิดถึงมันได้ และไหนๆก็ไ้ด้พูดกันอย่างนี้แล้ว บังอรก็คิดว่า พูดให้มันรู้ถึงหัวใจของเจ้าเสียด้วยเถิด...(หน้า 274)
อย่างไรก็ตาม หากมองด้วยพลอตของทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงบังอรจะเกิดความรักอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็เป็นการวางแผนของทั้งผัวตนเอง ทั้งเพื่อนผัวที่ตนเพิ่งหลงรักเพื่อหลอกนำตนไปขายเป็นสินค้าสดทั้งสิ้น จึงมองได้สองมุมว่า ในมุมหนึ่ง ไม่ว่าบังอรเกิดจะต้องการทำตามใจตนเองอย่างไร แต่สุดท้ายก็ยังเป็นรอง/เป็นเครื่องมือให้แก่เพศชายอยู่ดี ในอีกมุมหนึ่งสามารถมองได้ว่าบังอรเป็นตัวแทนแห่งความแหกคอกที่เพศชาย(สังคมไทย)ล้อมกรอบเพศหญิงเอาไว้นั่นเอง 

3) ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า เรื่องสั้นชิ้นนี้น่าจะเขียนขึ้นเมื่อสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 26 เป็นที่เรียบร้อย 

กล่าวในแง่บริบทประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดอะไรขึ้นบ้าง? 

มันเป็นช่วงเวลาอันชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการเมืองและสังคมไทย โดยเฉพาะสงครามเย็นที่ได้ขยายขอบเขตการต่อสู้เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่่ปลายพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา  (จริงๆก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ)

จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ขึ้นปกครองประเทศพร้อมๆกับการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่วงศ์วานของทุนนิยมโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา เงินช่วยเหลือจำนวนมหาศาลหลั่งไหลมาจากวอชิงตันสู่กรุงเทพฯ เป็นยุคที่ประเทศไทยร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกในพ.ศ.2504 มีการสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ สร้างมหาวิทยาลัย การสร้างถนนหนทาง ฯลฯ เป็นยุคแห่ง "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี" โดยแท้ (กรุณาอ่าน การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ของอ.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ) 

ผลก็คือ "การพัฒนา" ดังกล่าวได้ทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นเมืองโตเดี่ยว และความแตกต่างเหลื่อมล้ำของชนบท/กรุง มีมากขึ้นทุกทีๆ 

ผมไม่แน่ใจว่าการใช้แว่น "นักท้องถิ่นแดนไกลนิยม" (exoticism) อย่างที่ใช้ในบลอกรักชวนหัว จะสามารถเอามาใช้มองงานมนัส จรรยงค์ได้มากแค่ไหน เนื่องจากหากไม่พิจารณาบริบทดังที่ผมได้กล่าวมาแล้ว เราก็จะไม่ทราบสาเหตุของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างเมืองและชนบทในประเทศไทย อย่างที่มนัส จรรยงค์หยิบมาใช้บ่อยๆได้เลย

ใน สินค้าสด การที่วิฑูร ผู้ซึ่งมีนามเก่าว่า "ไอ้ทุย" กลับมาบ้านก็เพื่อเสดงให้เห็นว่าตนเองประสบความสำเร็จ สามารถได้เมียคนกรุงเทพฯ มองในแง่นี้ มันเป็นความพยายามปลดแอกชนบทจากการครอบงำของกรุงเทพฯนั่นเอง 

มนัส จรรยงค์พยายามแสดงให้เห็นถึงการปะทะกันของค่านิยมอันแตกต่างระหว่างชนบท/เมือง 
...ปากมันแดงแจ๋ยิ่งกว่าอีพวกสาวๆชาวบ้านที่เคี้ยวหมากกันเสียจนปากเปรอะ คิ้วของมันก็ดำปิ๊ดราวกับเอาอะไรมาติดไว้ไม่ใช่ขนคิ้วแท้...นางแม่สวยคนนั้น ก็วางท่าเสียราวกับว่ามันนั่งคู่มากับคนสำคัญคนหนึ่งทีเดียว ดูตา ท่าทาง มันหยิ่งยะโสโอ้อวดตัวจนน่าหมั่นไส้เมื่อเวลาที่มีคนมองมัน...(หน้า 260) 
ความแตกต่างลักลั่นดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงความ "เหนือกว่า" ของกรุงเทพฯ โดยอาจารย์มนัส (ซึ่งผมว่าแกซาดิสต์นิดหน่อยในเรื่องนี้) จับเอา signifier ของกรุงเทพฯไปขายเป็นสินค้าสดเสียเลย หมดเรื่อง



ป.ล. จะดีมากหากมีใครอ่านแล้วช่วยกันอภิปราย เพราะหากไม่ต้องการให้วรรณกรรมไทยถูกอุดจุก เราต้องอ่านแล้วแสดงความคิดเห็นครับ

Tuesday, June 2, 2009

การต่อสู้ของนักเขียนอียิปต์

ผมแปลบทความเกี่ยวกับอัลลา อัล อัสวานี นักเขียนอียิปต์ มาจากหนังสือพิมพ์ The Observer วันที่ 31 พ.ค. 2009 เป็นข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงวรรณกรรมโลก ขอเชิญอ่านครับ

บุรุษผู้เป็นทันตแพทย์ในยามกลางวันและเป็นนักเขียนในยามกลางคืน เขาใช้เวลาหลายปีต่อสู้กับการถูกเซนเซอร์เพื่อจะได้ตีพิมพ์ผลงานของตนเอง ในวันนี้เขาได้กลายเป็นนักเขียนหนังสือขายดีระดับโลก และยังเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ระบอบที่กดขี่ของประเทศบ้านเกิดตนเองอย่างไม่ไว้หน้าอีกด้วย ราเชล คุกสัมภาษณ์นักเขียนที่ได้รับการยอมรับท่านนี้เกี่ยวกับความรัก การทรมาน และเหตุที่เขายังยึดอาชีพทันตแพทย์อยู่

-------------------------------

อัลลา อัล อัสวานี (Alaa al Aswany) นักเขียนหนังสือขายดีที่สุดในโลกอาหรับเวลานี้ กำลังกลืนกาแฟรอบเช้าอึกสุดท้าย และเงยหัวขึ้นทำกิริยาที่ดูคล้ายกับว่าเขากำลังพึงใจทีเดียว เขากำลังรอจะสูบบุหรี่ด้วย เสียดายที่วันนี้เขาไม่ได้อยู่ที่บ้านในไคโร ที่ซึ่งเขาจะสามารถสูบบุหรี่เมื่อใดก็ได้ที่ต้องการ (คนอียิปต์สูบบุหรี่รวมกัน 19 ล้านมวนต่อวัน) แต่เขาอยู่ในโรงแรมกอร์ ณ เขตเคนซิงตัน นั่นหมายความว่า คงอีกสักพักหนึ่งนั่นละ กว่าเขาจะได้ออกไปสูบบุหรี่ที่ทางเดินด้านนอกโรงแรม

            แต่เขาก็ไม่ได้บ่นแต่อย่างใด-เขามองว่าลอนดอนไม่ได้เลวร้ายไปเสียทีเดียว ผมมักจะมีความรู้สึกถึงเมืองต่างๆ... เขาพูดด้วยภาษาอังกฤษที่ดีเยี่ยมและฟังดูเคร่งขึม เป็นความรู้สึกแบบที่ผู้ชายมีต่อผู้หญิง คือบางคนผมก็รู้สึกรัก แต่บางคนก็ไม่ ลอนดอนเป็นหนึ่งในที่ๆอัสวานีรัก แต่เขาก็บอกว่ามันยังไม่สามารถทำให้เขารู้สึกได้เหมือนที่ไคโร หรือแม้แต่อเล็กซานเดรีย นี่! ผมไม่สามารถแสดงความเป็นวัตถุวิสัยเกี่ยวกับอียิปต์ได้หรอก มันเป็นเพียงความรู้สึกของผมต่ออียิปต์เท่านั้น เมื่อผมอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ผมกลายเป็นคนๆหนึ่งที่มีหลายอย่างเหมือนตัวผมที่แท้จริง แต่ก็ไม่ใช่ตัวผมที่แท้จริงเสียทีเดียว ผมมักเป็นโรคคิดถึงบ้านเสมอ!”

            ในขณะที่เรียนทันตแพทย์ศาสตร์ในชิคาโกสมัยเมื่อสามทศวรรษที่แล้ว เขาเป็นคนที่ชื่นชมความมีประสิทธิภาพของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก แต่ในระยะยาวแล้ว ทุกอย่างมันกลับเป็นระบบและจริงจังมากเกินไป ในอียิปต์กลับเป็นตรงกันข้าม แต่นั่นก็เป็นเสน่ห์ในตัวเอง สำหรับผมแล้ว อียิปต์เป็นที่ๆยอดเยี่ยมที่สุดในโลก

            อัสวานีมาโปรโมทหนังสือสองเล่ม อยู่ในลอนดอน เล่มหนึ่ง The Friendly Fire เป็นงานรวมเรื่องสั้น อีกเล่มหนึ่งเป็นนิยายที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางชื่อ The Islam Abd el-Ati Papers โดยหนังสือเล่มนี้ต้องห้ามในอีกยิปต์มามากกว่าทศวรรษแล้ว แต่บัดนี้มันได้รับอิสรภาพนอกบ้านเป็นที่เรียบร้อย

            อัสวานีทนการปฏิเสธหนังสือของเขาจากองค์กรหนังสืออียิปต์ (General Egyptian Book Organization – GEBO) อยู่หลายปี The Islam Abd el-Ati Papers เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายหนุ่มมีการศึกษาผู้ซึ่งได้รับการยอมรับจากตะวันตก แต่กลับถูกกำจัดโดยทรราชและการคอร์รัปชั่นของรัฐอียิปต์-หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกปฏิเสธการอนุญาตให้พิมพ์ พวกนั้นบอกเขาด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจนนักว่า นิยายเรื่องนี้ดูหมิ่นประเทศอียิปต์ และจะไม่ได้รับการอนุญาตให้ตีพิมพ์ยกเว้นหากเขาตัดสองบทแรกออกไป- ณ เวลานั้นเขารวบต้นฉบับแล้วเดินออกมาทันที และไม่กลับไปอีกเลย

            ในปีค.ศ.2002 นิยายของเขา The Yacoubian Building ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตอันเลวร้ายข้นแค้นของผู้อยู่อาศัยในอพาร์ตเมนต์ศิลปะพ้นสมัยเล็กๆกลางเมืองไคโรนั้น ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทุนต่ำขนาดเล็กแห่งหนึ่งในไคโร หนังสือเล่มนี้ขายหมดเกลี้ยงภายในสี่สัปดาห์ และกลายไปเป็นหนังสือขายดีที่สุดในโลกอาหรับติดต่อกันถึงห้าปี ทำยอดขายได้ 250,000 เล่มในภูมิภาคที่งานวรรณกรรมจะตีพิมพ์แต่ละครั้งอย่างมากก็ 3,000 เล่มเท่านั้น คนที่ได้อ่านแล้วก็บอกต่อ มันโด่งดังกระทั่งมาร์วิน ฮาเหม็ดเอาไปทำภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีการนำไปผลิตเป็นละครชุดทางโทรทัศน์ และจนถึงขณะนี้ก็ได้รับการแปลไปกว่า 27 ภาษาแล้ว ในประเทศอังกฤษเองก็มียอดขายถึง 75,000 เล่ม นิยายเล่มต่อมาของเขาชื่อ Chicago ยิ่งโด่งดังไปกว่าเสียอีก จนกระทั่งเขาเขียนบทนำของรวมเรื่องสั้นชุด The Friendly Fire ว่า “[จู่ๆ] สำนักพิมพ์ก็เริ่มกดดันให้ผมส่งอะไรก็ได้ที่ผมเขียนไปให้พวกเขา

            สำหรับผู้ที่ชื่นชอบ The Yacoubian Building และ Chicago จากการที่มีตัวละครมากมายและบทที่ครอบคลุมประเด็นหลากหลายแล้วล่ะก็ ต้องขอเตือนว่าอย่าได้หวังว่า The Friendly Fire จะให้อะไรแบบเดิมๆอีก-รวมเรื่องสั้นชุดนี้แตกต่างออกไป ทุกเรื่องดูจะหมกมุ่นอยู่กับโทสะและความโมโหโกรธาที่อัสวานีได้สร้างขึ้นมาเป็นของเขาเอง มันเหมือนกับการเปลี่ยนจากเดวิด ลอดจ์มาเป็นเชคอ-ฟอย่างไรอย่างนั้น

            อัสวานียิ้มกว้างเมื่อมีการพูดถึงเรื่องเชคอฟ เรื่องสั้นเป็นชั่วขณะแห่งการรู้แจ้ง เขาบอก ชั่วขณะแห่งการมองเห็น เรื่องมันจะตกลงมาใส่หัวผมเหมือนแอปเปิล แต่นิยาย...ผมเห็นด้วยกับสำนักความคิดหนึ่งที่ว่า เราไม่ได้คิดค้นแต่เราค้นพบนิยาย นิยายมีอยู่แล้วในจิตใจของผมและผมต้องตั้งสมาธิเพื่อดึงมันออกมา แต่สำหรับเรื่องสั้นมันต่างออกไป ผมสามารถได้พลอตของเรื่องสั้นตอนนี้เลย ขณะที่ผมมองหน้าคุณอยู่นี้

            เพราะฉะนั้นเขากำลังทำงานขุดค้นที่ใช้เวลาและสมาธิยาวนานอย่างที่ว่าอยู่หรือเปล่า? แน่นอนครับ! ผมหยุดไม่ได้! ผมนึกถึงนิยายตลอดเวลา ผมรักผู้คน และวรรณกรรมเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการนำเสนอมันออกมา ความทุกข์ของพวกเขาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผม

            อัสวานีมองความสำเร็จของเขาทั้งอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัวในด้านหนึ่ง และก็อดแสดงความภาคภูมิใจในอีกด้านหนึ่งไม่ได้ เขาเอารูปถ่ายหน้าของตนเองบนโปสเตอร์ในสถานีรถไฟใต้ดินของปารีสมาโชว์-สิ่งเหล่านี้เป็นดังของขวัญ ที่ว่าเขาสามารถทำเงินในฐานะนักเขียนได้ในประเทศที่กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ต่างอะไรกับกระดาษชำระ และสำนักพิมพ์มักจะไม่ค่อยจ่ายค่าต้นฉบับ (เขาประมาณว่ารายได้ที่เขาได้รับจากนักอ่านชาวอาหรับนั้นพอจะจ่ายค่ากาแฟและค่าบุหรี่ได้เท่านั้น) แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยังไม่คิดจะเลิกงานทันตแพทย์เช่นกัน

            สังคมเป็นเหมือนอวัยวะส่วนต่างๆมาประกอบกัน คุณต้องติดตามความเป็นไปอยู่เสมอ ดังนั้นผมถึงยังตรวจคนไข้อยู่แม้จะเพียงสองวันต่อสัปดาห์เท่านั้น ผมจะไม่เลิกกิจการคลินิคเป็นอันขาด ผมเปิดร้านเพื่อสังเกตการณ์ชีวิตคนเดินถนน คุณจะลอยตัวอยู่เหนือชีวิตคนธรรมดาไม่ได้ เพราะมันจะเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ในฐานะนักเขียน เมื่อคุณประสบความสำเร็จ คุณจะถูกเชิญโดยคนที่รวยที่สุดหรือมีอิทธิพลที่สุดทุกค่ำคืน แต่นั่นอันตรายมากเพราะมันจะทำให้คุณลืมความสัมพันธ์กับชาวบ้านธรรมดา คุณต้องไม่ลืมความสัมพันธ์เหล่านี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จในเบื้องแรก

            แล้วเขาเป็น เซเลบ ของอียิปต์หรือยัง? ผมขอบคุณสำหรับคำชม...แต่คำว่า โด่งดัง หมายความว่าคนจำคุณได้ แต่คุณจำพวกเขาไม่ได้ ผมว่าความโด่งดังไม่ใช่เรื่องใหญ่ คนที่โด่งดังที่วันๆไม่ได้ทำอะไรเลยก็มีมาก ความชื่นชมคือของขวัญ หากแต่มันหาใช่เกียรติยศไม่ ถ้าให้ผมเลือกระหว่างการมีคนอ่านหมื่นคนที่ชื่นชมในงานผมจริงๆ กับหนึ่งล้านคนที่จำหน้าผมได้ ผมจะเลือกกลุ่มแรก

            อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของเขาก็มีปัญหาตามมา อัสวานีเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ต่อต้านประธานาธิบดีมูบารัค เขาเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครอง และเขายังเป็นสมาชิกของกลุ่ม Kifaya (พอได้แล้ว!) ดังนั้นมุมมองที่รัฐมีต่อเขาเป็นอย่างไร ในขณะที่เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก? ผมไม่ได้หวังให้พวกเขารักผม ผมเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ต้องการให้ระบอบการปกครองปัจจุบันสิ้นสุดลง แต่ผมรู้จักเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนที่ชอบงานของผมเป็นการส่วนตัว แต่พอถึงเวลาพวกงานให้รางวัล บางคนก็มา แต่บางคนก็ไม่ บางครั้งพวกเขาก็โทรมาหาผม บอกว่าชอบงานของผมเป็นการส่วนตัวแต่ไม่สามารถไปร่วมงานมอบรางวัลอย่างเป็นทางการได้

            ชื่อเสียงทำให้เขาปลอดภัยขึ้นไหม? ผมไม่สามารถเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับผม กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสหายที่ถูกทรมานและทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ผมเพียงถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมงานเปิดตัวของหนังสือ The Yacoubian Building เท่านั้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การเขียนและความกลัวเป็นสิ่งขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง การเขียนเป็นการแสดงออกเพื่อต่อต้านความกลัว

            เขายังเชื่อว่าประชาธิปไตยกำลังเกิดขึ้นในอียิปต์ และโลกอาหรับทั้งหมดก็จะใช้รูปแบบนี้ ผมจะบอกคุณให้นะ มันอยู่ไม่ไกลแล้ว ผมบอกวันที่แน่นอนไม่ได้ แต่พวกเราเตรียมพร้อมแล้ว ทนายและหมอของเรามีมากจนเกือบเท่าประชากรทั้งหมดของประเทศอาหรับบางประเทศเสียอีก ในโลกตะวันตกมีคนอียิปต์กว่า 180,000 คนที่จบปริญญาเอก

            แต่เขาจะแน่ใจได้อย่างไร? สำหรับสายตาคนต่างชาติแล้ว มูบารัคดูจะไม่ค่อยสนับสนุนประชาธิปไตยเท่าใด มีจำนวนนักโทษที่ต่อต้านรัฐเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ผมอ่านประวัติศาสตร์ของอียิปต์อย่างถี่ถ้วนแล้ว อย่าไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนอียิปต์มองมากนัก ก่อนการปฏิวัติค.ศ.1919 เราถูกรุกรานโดยอังกฤษ ผู้นำของเราถูกเนรเทศ ผมอ่านรายงานของทางสถานทูตอังกฤษพบว่าเขาไม่ต้องการให้คนอียิปต์ต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เอาเข้าจริงในวันต่อมา การปฏิวัติที่สำคัญที่สุดในตะวันออกกลางได้เกิดขึ้น!

       เวลานี้มีการประท้วงมากขึ้นบนท้องถนน ทุกคนลุกขึ้นเรียกร้องความเป็นธรรมกันหมด มันเป็นแรงกดดันได้จริงๆและคุณสามารถรู้สึกได้ แม้คุณจะอยู่ฝั่งรัฐบาลก็ตาม

            อย่างน้อยส่วนหนึ่งในความสำเร็จระดับนานาชาติของอัสวานีนั้น น่าจะมาจากการที่นิยายของเขา ซึ่งมีทุกชนชั้นของสังคมอียิปต์ ตั้งแต่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์จนกระทั่งคนรับใช้ งานของเขาได้เปิดเผยความลับและความปรารถนาของตัวละครเหล่านี้ออกมา ทำให้เดอะ นิวยอร์ค ไทม์กล่าวว่า เราได้ ลิ้มรสมหัศจรรย์ ของสังคมอียิปต์ที่น้อยคนจะรู้

            แต่อัสวานีไม่อยากถูกเรียกว่าเป็นนักเขียนอาหรับแต่อย่างใด ผมต่อต้านการนำเสนอวรรณกรรมจากพื้นฐานชาติพันธุ์ ผมอาจจะถูกดันให้มีภาพเป็นนักเขียนอาหรับทีละน้อยๆ แต่ผมอยากนึกถึงตัวเองในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของ สาธารณรัฐวรรณกรรม มากกว่า ประเด็นเรื่องเวลาไม่สำคัญนัก แต่ประเด็นเรื่องมนุษย์สิสำคัญ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องอ่านงานของดอสโตเยฟสกี

            ผมขอใช้คำของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ หน่อยว่า ประเด็นดีไม่ได้สร้างนิยายที่ดี หากแต่นิยายที่ดีต่างหาก ที่ทำให้ประเด็นดูน่าสนใจขึ้นมา

 

---------

เหล่านักเขียนไทยอย่าเพิ่งท้อถอย มีตัวอย่างนักเขียนที่สามารถประสบความสำเร็จในขณะที่ทำงานประจำไปด้วย ตัวอย่างเช่น :

Anthony Trollope (ค.ศ.1815-1882) เป็นพนักงานไปรษณีย์ขณะที่เขียนนิยายที่ดีที่สุดของตนเองไปด้วย เช่น Barchester Towers (ค.ศ.1857)

Kenneth Grahame (ค.ศ.1859-1932) ไต่เต้าขึ้นเป็นเลขานุการของธนาคารแห่งสกอตแลนด์ขณะเดียวกับที่ตีพิมพ์งานจำนวนหนึ่ง ก่อนที่จะเกษียณอายุในปีที่งานชื่อ Wind in the Willows ตีพิมพ์ (ค.ศ.1908)

Franz Kafka (ค.ศ.1883-1924) ทำงานในบริษัทประกันขณะที่เขียนงานวรรณกรรม เช่นงานที่โด่งดังอย่าง Metamorphosis (ค.ศ.1912)

John Mortimer (ค.ศ.1923-2009) ทำงานเป็นทนายความและเขียนนิยายไปด้วย

T S Eloit (ค.ศ.1888-1965) เป็นพนักงานธนาคารขณะที่ตีพิมพ์รวมบทกวีสี่ชุดแรกของเขา และลาออกจากงานในปีค.ศ.1925

Bernard Schlink (ค.ศ.1944-ปัจจุบัน) เป็นศาสตราจารย์ทางนิติศาสตร์และผู้พิพากษา เขียนนิยายออกมา 9 ชิ้น รวมถึงงาน The Reader ในปีค.ศ.1995

Vikas Swarup (ค.ศ.1963-ปัจจุบัน) เป็นรองอธิบดีของอินเดียประจำอยู่ที่อาฟริกาใต้ เขียนนิยายสองเล่ม เล่มหนึ่งคือ Q&A ที่ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง Slumdog Millionaire