Sunday, May 30, 2010

กุหลาบ สายประดิษฐ์กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ - สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ


บทความวิจัยชิ้นนี้ของอ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือ "อาจารย์ยิ้ม" แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรฯ จุฬาฯ น่าจะเป็นบทความเกี่ยวกับงานเขียนของกุหลาบ สายประดิษฐ์เบื้องต้นที่ครอบคลุมที่สุดชิ้นหนึ่ง

อาจารย์ยิ้มทำให้นักเรียนประวัติศาสตร์รุ่นหลังสะดวกสบายขึ้นอีกมากหาก ต้องการเริ่มศึกษาเกี่ยวกับกุหลาบ สายประดิษฐ์และหัวข้อที่เกี่ยวข้องกันนี้ นี่คือหน้าที่ของนักวิชาการในการสืบเสาะค้นคว้าอย่างจริงจังและบุกแผ้วถาง ขยายองค์ความรู้ เพื่อเปิดต่อการตั้งคำถาม การตีความและการต่อยอดการศึกษาต่อไป

ผมเข้าใจว่าอาจารย์ยิ้มเสนองานชิ้นนี้ ในงานประชุมวิชาการ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ที่เชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๘

อาจารย์ยิ้มแบ่งการนำเสนอออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ โดยทั้งหมดต้องการอธิบายความคิดของกุหลาบ สายประดิษฐ์ผ่านงานเขียนทั้งเรื่องแต่งและบทความ เริ่มตั้งแต่จากการที่เริ่มเขียนนิยายเพื่อความบันเทิงในสมัยหนุ่มๆจนการ เปลี่ยนแปลงทางความคิดสะท้อนให้เห็นในช่วงห้าปีสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนแปลง การปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕

การรับอุดมการณ์ประชาธิปไตยจึงทำให้กุหลาบ สายประดิษฐ์สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างแข็งขัน ผ่านงานเขียนจำนวนมาก เขียนวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ว่าล้าหลัง และไม่ได้ส่งผลให้เกิดความกินดีอยู่ดีของราษฎร
การสนับสนุนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่มีต่อ "คณะรักชาติ" ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มิได้เป็นเพียงการแสดงท่าทีเห็นด้วยกับการปฏิวัติเท่านั้น แต่ยังนำเสนออย่างชัดเจน ถึงอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติ ดังนั้นกุหลาบ จึงได้เขียนบทความสามตอนครั้งใหม่ โดยบทความแรกนั้นลงในศรีกรุง ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ในชื่อว่า "สมรรถภาพของสยามใหม่อยู่ที่ไหน" เขาได้เสนอว่า ชีวิตของประเทศนั้นควรจะผูกไว้กับความจริง และชี้ให้เห็นว่่า ในอดีตที่ผ่านมานั้นราษฎรสยามถูกอบรบให้เชื่อมั่นในเรื่องชาติกำเนิดของบุคคลมากเกินไป ดังนี้

ตลอดเวลา ๑๕๐ ปีในอายุของกรุงเทพมหานคร เราได้รับการอบรมให้มีึความเชื่อมั่นและเคารพบูชาในชาติกำเหนิดของบุคคล พอเรามีเดียงสาที่จะเข้าใจความหมายของคำพูดได้ ปู่ย่าตายายก็อบรมสั่งสอนให้เราบูชาชาติกำเหนิดของบุคคล ท่านให้บูชาทุกคนที่กำเนิดมาในสกุลของราชวงศ์จักรี ท่านให้เราเรียกผู้เป็นประมุขของชาติไทยว่าเจ้าชีวิต เราถามว่าทำไมต้องเรียกว่าเจ้าชีวิต ท่านตอบว่า เจ้าชีวิตสามารถที่จะสั่งตัดหัวใครๆได้ ตั้งแต่นั้นมาเราก็กลัวเจ้าชีวิต เรากลัวทุกๆคนที่เป็นพี่น้องของเจ้าชีวิต เรากลัวโดยไม่มีเหตุผล เรากลัวเพราะถูกอบรมมาให้กลัว เราเรียกทุกๆคนในครอบครัวอันใหญ่ที่สุดนี้ว่า เจ้านาย เมื่อเราพูดถึงเจ้านาย เราจะต้องพูดว่าเจ้านายที่เคารพทุกครั้งไป กฎหมายไม่ได้บังคับให้เราพูด แต่จารีตประเพณีและการอบรมบังคับให้เราพูดเอง

เราพากันเคารพบูชาเจ้านาย เพราะเจ้านายเป็นผู้บันดาลให้เกิดความสำเร็จแทบทุกชะนิด ทุกๆคนที่หวังความสุข พยายามอยู่ในโอวาท และในความรับใช้ของเจ้านาย เราพากันพิศวงงงงวยในความสามารถของท่าน เราคิดว่าถ้าขาดครอบครัวของท่านเสียครอบครัวเดียว สยามจะต้องล่มจม ไม่มีใครปกครองประเทศได้ดีเท่าพวกท่าน ดังนั้น เราจึงถือความเชื่อมั่นกันมาว่า สิ่งสำคัญในตัวบุคคลคือ ชาติกำเนิด ผู้ที่เกิดมาเปนเจ้านาย จะต้องเป็นที่เคารพทุกคน เจ้านายจะต้องเปนคนดีทั้งนั้น จะเปนคนชั่วไม่ได้เลย นอกจากพวกเจ้านายแล้ว เราไม่เชื่อในความรู้ความสามารถของใคร เราไม่เชื่อว่าบุคคลอื่นจะบันดาลจะให้เกิดความสำเร็จได้

ต่อมาในศรีกรุง ฉบับวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้เสนอบทความตอนที่ ๒ ที่ชัดเจนมากขึ้นในบทความที่ชื่อว่า "ชาติกำเนิดไม่ใช่สมรรถภาพของคน" โดยมีึความขยายว่า -พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดบุคคลเป็นหลัก พระราชวงศ์อาจมีทั้งที่ฉลาดและโง่- ในส่วนนี้ กุหลาบอธิบายเพิ่มเติมว่า

ตามความอบรมที่เราได้รับสืบต่อกันมา ทำให้เราเชื่อกันโดยมากว่า พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายทุกองค์ เปนผู้ทำอะไรไม่ผิด ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทรงกระทำ พวกเรายอมรับกันว่าเปนสิ่งที่ถูกต้องดีงามอยู่เสมอ ครอบครัวของราชวงศ์จักรีเปนปาปมุติ คือ เปนผู้ที่พ้นจากบาป ไม่เคยทำอะไรผิดและจะไม่ทำผิด เรารับรองคติอันนี้โดยการที่เราไม่ตำหนิ หรือทักท้วงการกระทำทุกอย่างของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ เราทำตัวเหมือนลิ่วล้อตามโรงงิ้ว คือร้องฮ้อทุกครั้ง ไม่ว่าตัวงิ้วหัวหน้าจะพูดอะไรออกมา

แท้จริงพวกเจ้านายที่ก็เปนมนุสส์ปุถุชนเหมือนอย่างพวกเราๆนี่เอง ย่อมจะข้องอยู่ในกิเลสอาสวะ มีราคะ โลภะ โทสะ โมหะดุจคนทั้งปวง เมื่อบุคคลในครอบครัวทั้งหลายอื่น ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนในครอบครัวหนึ่ง ก็ยังมีคนดีคนชั่ว คนทำถูกทำผิด คลุกคละปะปนอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นฉะนี้ เหตุใดครอบครัวของเจ้านาย...จึงกลายเปนคนดีทำถูกไปเสียทั้งหมด

กุลหลาบได้วิพากษ์ว่า การนับถือชาติกำเนิดในลักษณะเช่นนี้ เป็นการฝ่าฝืนความเป็นจริง และขัดกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธองค์ไม่ได้สอนสาวกให้ยึดเอาชาติกำเนิดหรือตัวบุคคลเป็นเครื่องวินิจฉัย ดังนั้น การยกเอาชาติกำเนิดมาเป็น "เครื่องชั่งน้ำหนัก" จึงถือว่าเป็นการ "หลงผิดอย่างงมงาย" แต่กระนั้นกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็เสนออย่างชัดเจนว่า ข้อเสนอทั้งหมดนี้ มิได้กระทำโดยมุ่งที่จะละเมิดเดชานุภาพของกษัตริย์ โดยอธิบายว่า

ข้าพเจ้ามิได้ตั้งใจจะลบหลู่พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์ใดๆ ที่ได้มีอยู่กับประเทศสยาม ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์เปนอย่างดี เพียงแต่ข้าพเจ้าตั้งใจจะให้คนทั้งปวงตกหนักในความจริงว่า ชาติกำเนิดมิได้เป็นเครื่องวัดความดีความชั่ว ความสามารถ และไม่สามารถของบุคคล (ศรีกรุง ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๗๕: ๑)

(น.๗-๘)
จะเห็นได้ว่าบรรยากาศของสยามหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นบรรยากาศแห่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรี ซึ่งโลกทัศน์เช่นนี้มิใช่จู่ๆจะเกิดขึ้นทันทีทันใด หากแต่มีการก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่สมัยร.๕ ทรงดำเนินนโยบายการสร้างรัฐรวมศูนย์อำนาจ

ในกระบวนการก่อร่างสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์นี่เอง ที่ได้ไปเพาะเมล็ดแห่งการล่มสลายลงของตัวระบอบเอง กล่าวคือ เมื่อรัฐสมัยใหม่ต้องการคัดเลือกผู้คนเข้าไปสู่ระบบราชการเพื่อไปทำให้รัฐ เดินต่อได้นั้น ก็ต้องคัดผู้คนจากระบบการศึกษา

และระบบการศึกษานี่เอง ที่ไปทำให้ผู้คนที่อยู่ "รอบนอก" ศูนย์กลางอำนาจ สามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจทางการเมืองได้ (รวมทั้งคนจีนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมาก่อนหน้านี้) คืออำนาจส่งต่อกันไม่ไช่เพราะเลือดและวงศ์ตระกูลอย่างเดียวเหมือนที่เคยเป็น มาแล้ว แต่คราวนี้สามารถคัดได้จากความสามารถ (meritocracy) นั่นก็ทำให้คนจำนวนมากเกิดความไม่พอใจต่อระบอบเก่า การท้าทายครั้งสำคัญครั้งแรกต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ก็คือกบฎร.ศ.๑๓๐ (ดูข้อวิเคราะห์โดยละเอียดใน Kullada Kesboonchoo Mead, The Rise and Decline of Thai Absolutism, 2004)

ผมคิดว่่าเมื่อมีภาพดังกล่าวนี้เสริมเข้าไปก็จะทำให้เห็นกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นทั้งผลและแรงผลักดันอันสำคัญอีกแรงหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ

อาจารย์กล่าวต่อไปถึงสภาพการเมืองไทยหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ โดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ยังเป็นแรงอันแข็งขันในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (ยศในขณะนั้น) ที่ขึ้นสู่อำนาจเมื่อพ.ศ.๒๔๘๑ ผ่านหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษที่ เขาเป็นบรรณาธิการ

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ (ที่อย่างน้อยผมเองอยากทราบ) ก็คือกลุ่มปัญญาชนและนักหนังสือพิมพ์ในยุคนี้ ผมยังไม่ค่อยแน่ใจนักว่ามีงานชิ้นใดที่ให้ภาพอย่างชัดเจนบ้างไหม (เท่าที่เคยได้ยินมีอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นงานสารนิพนธ์ของจุฬาฯ ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว) โดยเฉพาะกลุ่มสุภาพ บุรุษโดยเฉพาะ

มีอะไรอีกหลายอย่างที่น่าสนใจในช่วงเวลาดังกล่าวครับ เอาเป็นว่าผมจะไม่พูดถึงเนื้อหาของงานชิ้นนี้ต่อแล้ว หากท่านสนใจเชิญดาวน์โหลดได้เลยตามลิงค์ที่ใส่ไว้ให้

อยากจะทิ้งท้ายตรงนี้เอาไว้สักนิดหนึ่ง อ้างอิงสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนที่เกิดขึ้นกับนักวิชาการอย่างอาจารย์ยิ้ม (อ.เกษียร เตชะพีระเขียนเอา ไว้แล้ว)

ขออ้างการตีความของอาจารย์ยิ้มต่อนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพว่า
นวนิยาย เรื่อง"ข้าง หลังภาพ" นี้ เป็นเรื่องรักสะเทือนใจที่เป็นที่นิยมที่สุดของศรีบูรพา นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนถึงภาพของ หม่อมราชวงศ์กีรติ ซึ่งเป็นสตรีชั้นสูงในสังคมเก่า ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องอยู่เป็นโสดตลอดชีวิต. แต่เนื่องจากปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ที่ทำให้เชื้อพระวงศ์มีโอกาสสมรสกับสามัญชน หม่อมราชวงศ์กีรติ จึงต้องเลือกแต่งงานเมื่ออายุ ๓๕ ปี กับพระยาอธิการบดี ที่เป็นขุนนางอายุ ๕๐ ปี และเดินทางไปฮันนีมูนที่กรุงโตเกียว ปรากฏว่า เธอได้ไปรู้จักกับนพพร นักเรียนไทยอายุ ๒๒ ปี และได้สนิทสนมกันจนกลายเป็นความรัก นพพรได้สารภาพรักกับ หม่อมราชวงศ์กีรติ ขณะที่ทั้งคู่ไปเที่ยวธารน้ำตกที่มิดาเกาะ แต่หม่อมราชวงศ์กีรติ แม้ว่าจะรักนพพรก็ตาม ก็ไม่อาจจะตอบรับความรักได้ ต่อมาเมื่อหม่อมราชวงศ์กีรติกลับมาประเทศไทย และเวลาผ่านไป ความรักของนพพรก็เลือนลางจืดจางลง จนเมื่อจบการศึกษาก็กลับมาแต่งงานกับสตรีคนอื่น ขณะที่หม่อมราชวงศ์กีรติ ยังคงยึดมั่นในความรัก และต่อมาเธอก็ล้มป่วยเป็นวัณโรคและเสียชีวิตพร้อมกับความรักนั้น ความตายของหม่อมราชวงศ์กีรติ จึงถือเป็นการสะท้อนถึงการล่มสลายของชนชั้นสูงหลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ (น.๙-๑๐)
ผมอยากจะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ยิ้มนั้น แสดงให้เห็นว่า ม.ร.ว.กีรติไม่ได้ตายลงแต่อย่างใด...

Saturday, May 1, 2010

วิมานทลาย - ม.จ.อากาศดำเกิงฯ


นานแล้วที่ไม่ได้อ่านหนังสือแล้วรู้สึกคิดถึงบ้าน บางครั้งการอ่านเรื่องราวอะไรที่เป็นส่วนตัวค่อนข้างมากก็ทำให้ผมรู้สึกหวิวๆไปบ้าง ก่อนหน้านี้ใน ละครแห่งชีวิต (2472) และ ผิวเหลืองผิวขาว (2473) ผมยังรู้สึกถึงความหวังได้บ้าง

แต่กับ วิมานทลาย ผมเห็นผู้ชายคนหนึ่งกำลังวิ่งเข้าหาทางตัน...

วิมานทลาย เป็นชื่อของรวมเรื่องสั้น 4 เรื่องของม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ โดยเรื่องสั้นทั้งหมดประกอบไปด้วย 1) ทางโลกีย์ 2) วัยสวาท 3) เจ้าไม่มีศาล และ 4) สมาคมชั้นสูง

ผมอ่านฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง พิมพ์โดยแพร่พิทยา (พฤศจิกายน, 2515) คาดว่าท่านอากาศฯน่าจะเขียนเรื่องทั้งหมดนี้ในวาระใกล้ๆกัน โดยยังไม่พบปีที่พิมพ์ครั้งแรก (แต่อย่างไรก็คงหนีไม่พ้นปี 2473 หรือ 74 เป็นแน่)

ผมคิดว่าผมคงไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลงอะไรมาก เอา "บทนำ" ของท่านอากาศฯมาลงไว้ก็จะรู้ว่าแก่นที่ร้อยเรียงเรื่องทั้งหมดเอาไว้คืออะไร (ตอนแรกตั้งใจวาจะไม่ทำให้เสียบรรยากาศ แต่ผมไม่คิดว่าจะมีคำอรรถาธิบายเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ใดๆจะดีไปว่าบทนำที่ท่านอากาศฯเขียนไว้เอง ฉะนั้นขออภัย)
เหตุใดหนังสือเล่มนี้จึงมีนามว่า 'วิมานทลาย'

ในหมู่คนที่เรารัก - เราชอบ จะมีบ้างสักกี่คนที่จะดีเท่ากับที่เราหวังไว้ว่าเขาควรจะดี มีใครบ้างที่ตั้งใจจะรักษาคำพูด เมื่อได้ให้คำมั่นสัญญากับเราไว้แล้ว เขาจะดีต่อเราได้ก็ต่อเมื่อเขาต้องการจะใช้เรา และในระหว่างนั้น เขาจะยอมให้คำมั่นสัญญากับเราร้อยแปด จะช่วยให้เราเป็นโน่นเป็นนี่-จะช่วยให้พ้นทุกข์ ในเมื่อเราถึงคราวอับจน--ช่วยส่งเสริมให้เราสร้างวิมานบนอากาศไม่เว้นวัน แต่พอถึงเวลาเข้าจริง....เวลาที่เขาจะต้องรักษาคำมั่นสัญญานั้น หรือถึงเวลาที่เราเข้าที่คับขัน-ต้องการความช่วยเหลือจากเขาอย่างที่สุด-เขาลืมเรา กลับเห็นเราเป็นคนรกนัยน์ตา แม้จะหันมามองดูเราสักทีก็ทั้งยาก คำมั่นสัญญาต่างๆที่เคยพูดไว้ก็กลายเป็นอากาศธาตุไปสิ้น วิมานบนอากาศที่เราเคยสร้างไว้ด้วยความเชื่อมั่นของมนุษยธรรมก็พลันพังพินาศลงเป็นผุยผงหาชิ้นดีไม่ได้ นี่คือชีวิตของสามัญชน นิยายต่างๆในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของชีวิต ดังนั้นจึงเรียกนามร่วมกันว่า 'วิมานทลาย'

"อากาศดำเกิง" (น.1-2)
สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือความรู้สึกแปลกแยก (out of place) ที่ตัวละครหลักแต่ละตัวประสบ การดำรงอยู่ของพวกเขานั้นเป็นเหมือนตัวประหลาดในสังคมที่ตนเองสังกัดอยู่ ความคาดหวังในสังคมและหลักศีลธรรมเป็นการตีกรอบชีวิตของคนเหล่านั้นเอาไว้ โดยไม่เหลือพื้นที่ให้เลือกทางเดินชีวิตอย่างใจหวัง สุดท้ายพวกเขาก็พบกับวิกฤตที่ยากจะหาทางออก

และนั่นก็คือชีวิตของท่านอากาศฯเอง

แน่ละ ปัญหาเช่นนี้ได้ถูกแสดงออกในงานวรรณกรรมทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมย่ิิอมทำให้คนกลุ่มหนึ่ง (ส่วนใหญ่จะเป็นเป็นกลุ่มใหญ่) หลุดออกไปจากพื้นที่ๆพวกเขามีอยู่ในสังคม ในบริบทของสยาม โครงสร้างทางสังคมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ย่อมก่อให้เกิดความแปลกแยกอย่างสาหัสสากรรจ์ต่อกลุ่มชนชั้นนำที่ไม่ได้อยู่ใกล้การควบคุมทรัพยากรหลัก จึงได้สะท้อนออกมาในงานร่วมสมัยกันหลายชิ้น (อย่างที่ผมได้เคยกล่าวเอาไว้ในงานของดอกไม้สด)

พอคิดไปคิดมาผมไปนึกถึงเพลงที่ผมชอบมากที่สุดเพลงหนึ่งของวงร็อคอเมริกัน Incubus จึงปิดท้ายด้วยเนื้อร้องที่เป็นดั่งบทกวีของเพลงนี้เอาไว้ก็แล้วกัน
Drive (1999)

Sometimes, I feel the fear of uncertainty stinging clear
And I can't help but ask myself how much I let the fear
Take the wheel and steer
It's driven me before
And it seems to have a vague, haunting mass appeal
But lately I'm beginning to find that I
Should be the one behind the wheel

Whatever tomorrow brings, I'll be there
With open arms and open eyes yeah

Whatever tomorrow brings, I'll be there
I'll be there

So if I decide to waiver my chance to be one of the hive
Will I choose water over wine and hold my own and drive?
It's driven me before
And it seems to be the way that everyone else gets around
But lately I'm beginning to find that
When I drive myself my light is found

Whatever tomorrow brings, I'll be there
With open arms and open eyes yeah

Whatever tomorrow brings, I'll be there
I'll be there

Would you choose water over wine
Hold the wheel and drive

Whatever tomorrow brings, I'll be there
With open arms and open eyes yeah

Whatever tomorrow brings, I'll be there
I'll be there

แม้พรุ่งนี้เกิดอะไรที่ปลายฟ้า
ข้าฯจะอยู่ประจัญหน้าที่ขอบเหว
ด้วยอ้อมแขนด้วยดวงเนตรดั่งไฟเปลว
จะดีเลวขอเลือกตามใจพา

แม้พรุ่งนี้เกิดอะไรที่ปลายน้ำ
ข้าฯจะรุดเร่งล้ำด้วยสองขา
ขอเพียงตนได้กำหนดดวงชะตา
หากแม้นม้วยมรณามิเสียใจฯ