
เป็นโอกาสอันดีเหลือเกินครับ ที่เมืองเล็กๆอย่างแคนเบอร์ราได้จัดแสดงงานศิลปะระดับโลก โดยเป็นการนำผลงานของศิลปินกลุ่มโพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์ จากพิพิธภัณฑ์ Musée d'Orsay มาแสดงที่ the National Gallery of Australia (เพียงที่เดียวในออสเตรเลียด้วย)
ถือว่าเป็นงานใหญ่ของเมืองทีเดียว ผมจึงถือโอกาสแวะไปชมเสียเลย
เป็นครั้งแรกๆที่ผมเริ่มรู้จักงานกลุ่มโพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์และศิลปินที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งจริงๆแล้วหากเราต้องการจะรู้ว่ากลุ่มนี้คืออะไร ก็เพียงค้นหาในสารานุกรมวิกีพีเดียก็จะได้ทำความรู้จักงานของกลุ่มนี้อย่างไม่ยากเย็นนัก (ต้องตรวจสอบกับแหล่งอื่นๆด้วยนะครับ)
แต่ผมได้มีโอกาสฟังผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากฝรั่งเศสพอดี (ขออภัย ผมจำชื่อเขาไม่ได้) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ศิลปะจากช่วงอิมเพรสชั่นนิสม์ต่อเข้าช่วงโพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการได้ดี
เขาต้องการจะบอกว่า แท้จริงแล้ว การเปลี่ยนผ่านจากช่วงอิมฯสู่ช่วงโพสต์อิมฯนั้น ไม่ได้ชัดเจนอย่างที่เข้าใจกัน
ผู้ที่เริ่มใช้คำว่าโพสต์อิมฯ คือโรเจอร์ ฟราย นักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษในปีค.ศ.1910 ซึ่งนักวิจารณ์ศิลปะยุคหลังมาเข้าใจว่า โพสต์อิมฯนั้นเป็นจุดสิ้นสุดของอิทธิพลจากงานมาเนต์ ซึ่งศิลปินยุคหลังมาแหวกข้อจำกัด (ที่เคยเป็นของอิมฯ) ออกไป
เขาเสนอว่าแท้จริงแล้วอิทธิพลของมาเนต์ต่องานโพสต์อิมฯนั้นมีมากกว่าที่หลายๆคนคิด
อันที่จริงเรื่องการแบ่งกลุ่มเช่นนี้ก็มีอยู่ทั่วไปในศาสตร์ทุกแขนงนะครับ มันมีจุดประสงค์เพื่อต้องการแสดงให้เห็นความแตกต่างของสายสกุลคิดในสำนักต่างๆ เพื่อสร้าง "ภาพรวม" เท่าันั้น เพื่อให้ง่ายขึ้นต่อความทำความเข้าใจพัฒนาการของศาสตร์นั้นๆอันมีความสลับซับซ้อน ก็เหมือนการแปะป้ายเอาไว้เพื่อเวลาคนอื่นๆหยิบมาใช้ศึกษาจะได้ง่ายขึ้นในการจัดระบบการทำความเข้าใจ
แต่จะเป็นเรื่องผิดอย่างมากหากมองสำนักต่างๆแยกกัน และวิเคราะห์โดยใช้แนวความคิดใดความคิดหนึ่งไปโดดๆ (ตัวอย่างเช่นการหยิบฟูโกต์มาใช้ดูละครน้ำเน่าไทย หยิบการหยิบอากัมเบนมาใช้ดูชาวเขา เป็นต้น) ควรจะต้องระวังอย่างหนักว่าทฤษฎีไม่ไ้ด้ใช้เพื่อประยุกต์ หากแต่มันใช้เพื่อตั้งคำถามต่างหาก การพยายามสร้างคำอธิบายในการเปลี่ยนแปลงจึงต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้เป็นสำคัญ
เห็นไหมครับ งานศิลปะงานเดียว คิดอะไรไปได้ทั่วทีเดียว
1 comment:
เขียนถึง Manet ทำไมไม่เอางาน Manet ขึ้นหละ
Post a Comment