
ผมแปลบทความเกี่ยวกับอัลลา อัล อัสวานี นักเขียนอียิปต์ มาจากหนังสือพิมพ์ The Observer วันที่ 31 พ.ค. 2009 เป็นข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงวรรณกรรมโลก ขอเชิญอ่านครับ
บุรุษผู้เป็นทันตแพทย์ในยามกลางวันและเป็นนักเขียนในยามกลางคืน – เขาใช้เวลาหลายปีต่อสู้กับการถูกเซนเซอร์เพื่อจะได้ตีพิมพ์ผลงานของตนเอง ในวันนี้เขาได้กลายเป็นนักเขียนหนังสือขายดีระดับโลก และยังเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ระบอบที่กดขี่ของประเทศบ้านเกิดตนเองอย่างไม่ไว้หน้าอีกด้วย ราเชล คุกสัมภาษณ์นักเขียนที่ได้รับการยอมรับท่านนี้เกี่ยวกับความรัก การทรมาน และเหตุที่เขายังยึดอาชีพทันตแพทย์อยู่
อัลลา อัล อัสวานี (Alaa al Aswany) นักเขียนหนังสือขายดีที่สุดในโลกอาหรับเวลานี้ กำลังกลืนกาแฟรอบเช้าอึกสุดท้าย และเงยหัวขึ้นทำกิริยาที่ดูคล้ายกับว่าเขากำลังพึงใจทีเดียว เขากำลังรอจะสูบบุหรี่ด้วย เสียดายที่วันนี้เขาไม่ได้อยู่ที่บ้านในไคโร ที่ซึ่งเขาจะสามารถสูบบุหรี่เมื่อใดก็ได้ที่ต้องการ (คนอียิปต์สูบบุหรี่รวมกัน 19 ล้านมวนต่อวัน) แต่เขาอยู่ในโรงแรมกอร์ ณ เขตเคนซิงตัน นั่นหมายความว่า คงอีกสักพักหนึ่งนั่นละ กว่าเขาจะได้ออกไปสูบบุหรี่ที่ทางเดินด้านนอกโรงแรม
แต่เขาก็ไม่ได้บ่นแต่อย่างใด-เขามองว่าลอนดอนไม่ได้เลวร้ายไปเสียทีเดียว “ผมมักจะมีความรู้สึกถึงเมืองต่างๆ...” เขาพูดด้วยภาษาอังกฤษที่ดีเยี่ยมและฟังดูเคร่งขึม “เป็นความรู้สึกแบบที่ผู้ชายมีต่อผู้หญิง คือบางคนผมก็รู้สึกรัก แต่บางคนก็ไม่” ลอนดอนเป็นหนึ่งในที่ๆอัสวานีรัก แต่เขาก็บอกว่ามันยังไม่สามารถทำให้เขารู้สึกได้เหมือนที่ไคโร หรือแม้แต่อเล็กซานเดรีย “นี่! ผมไม่สามารถแสดงความเป็นวัตถุวิสัยเกี่ยวกับอียิปต์ได้หรอก มันเป็นเพียงความรู้สึกของผมต่ออียิปต์เท่านั้น เมื่อผมอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ผมกลายเป็นคนๆหนึ่งที่มีหลายอย่างเหมือนตัวผมที่แท้จริง แต่ก็ไม่ใช่ตัวผมที่แท้จริงเสียทีเดียว ผมมักเป็นโรคคิดถึงบ้านเสมอ!”
ในขณะที่เรียนทันตแพทย์ศาสตร์ในชิคาโกสมัยเมื่อสามทศวรรษที่แล้ว เขาเป็นคนที่ชื่นชมความมีประสิทธิภาพของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก แต่ในระยะยาวแล้ว “ทุกอย่างมันกลับเป็นระบบและจริงจังมากเกินไป ในอียิปต์กลับเป็นตรงกันข้าม แต่นั่นก็เป็นเสน่ห์ในตัวเอง สำหรับผมแล้ว อียิปต์เป็นที่ๆยอดเยี่ยมที่สุดในโลก”
อัสวานีมาโปรโมทหนังสือสองเล่ม อยู่ในลอนดอน เล่มหนึ่ง The Friendly Fire เป็นงานรวมเรื่องสั้น อีกเล่มหนึ่งเป็นนิยายที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางชื่อ The Islam Abd el-Ati Papers โดยหนังสือเล่มนี้ต้องห้ามในอีกยิปต์มามากกว่าทศวรรษแล้ว แต่บัดนี้มันได้รับอิสรภาพนอกบ้านเป็นที่เรียบร้อย
อัสวานีทนการปฏิเสธหนังสือของเขาจากองค์กรหนังสืออียิปต์ (General Egyptian Book Organization – GEBO) อยู่หลายปี The Islam Abd el-Ati Papers เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายหนุ่มมีการศึกษาผู้ซึ่งได้รับการยอมรับจากตะวันตก แต่กลับถูกกำจัดโดยทรราชและการคอร์รัปชั่นของรัฐอียิปต์-หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกปฏิเสธการอนุญาตให้พิมพ์ พวกนั้นบอกเขาด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจนนักว่า นิยายเรื่องนี้ดูหมิ่นประเทศอียิปต์ และจะไม่ได้รับการอนุญาตให้ตีพิมพ์ยกเว้นหากเขาตัดสองบทแรกออกไป- ณ เวลานั้นเขารวบต้นฉบับแล้วเดินออกมาทันที และไม่กลับไปอีกเลย
ในปีค.ศ.2002 นิยายของเขา The Yacoubian Building ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตอันเลวร้ายข้นแค้นของผู้อยู่อาศัยในอพาร์ตเมนต์ศิลปะพ้นสมัยเล็กๆกลางเมืองไคโรนั้น ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทุนต่ำขนาดเล็กแห่งหนึ่งในไคโร หนังสือเล่มนี้ขายหมดเกลี้ยงภายในสี่สัปดาห์ และกลายไปเป็นหนังสือขายดีที่สุดในโลกอาหรับติดต่อกันถึงห้าปี ทำยอดขายได้ 250,000 เล่มในภูมิภาคที่งานวรรณกรรมจะตีพิมพ์แต่ละครั้งอย่างมากก็ 3,000 เล่มเท่านั้น คนที่ได้อ่านแล้วก็บอกต่อ มันโด่งดังกระทั่งมาร์วิน ฮาเหม็ดเอาไปทำภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีการนำไปผลิตเป็นละครชุดทางโทรทัศน์ และจนถึงขณะนี้ก็ได้รับการแปลไปกว่า 27 ภาษาแล้ว ในประเทศอังกฤษเองก็มียอดขายถึง 75,000 เล่ม นิยายเล่มต่อมาของเขาชื่อ Chicago ยิ่งโด่งดังไปกว่าเสียอีก จนกระทั่งเขาเขียนบทนำของรวมเรื่องสั้นชุด The Friendly Fire ว่า “[จู่ๆ] สำนักพิมพ์ก็เริ่มกดดันให้ผมส่งอะไรก็ได้ที่ผมเขียนไปให้พวกเขา”
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบ The Yacoubian Building และ
อัสวานียิ้มกว้างเมื่อมีการพูดถึงเรื่องเชคอฟ “เรื่องสั้นเป็นชั่วขณะแห่งการรู้แจ้ง” เขาบอก “ชั่วขณะแห่งการมองเห็น เรื่องมันจะตกลงมาใส่หัวผมเหมือนแอปเปิล แต่นิยาย...ผมเห็นด้วยกับสำนักความคิดหนึ่งที่ว่า เราไม่ได้คิดค้นแต่เราค้นพบนิยาย นิยายมีอยู่แล้วในจิตใจของผมและผมต้องตั้งสมาธิเพื่อดึงมันออกมา แต่สำหรับเรื่องสั้นมันต่างออกไป ผมสามารถได้พลอตของเรื่องสั้นตอนนี้เลย ขณะที่ผมมองหน้าคุณอยู่นี้”
เพราะฉะนั้นเขากำลังทำงานขุดค้นที่ใช้เวลาและสมาธิยาวนานอย่างที่ว่าอยู่หรือเปล่า? “แน่นอนครับ! ผมหยุดไม่ได้! ผมนึกถึงนิยายตลอดเวลา ผมรักผู้คน และวรรณกรรมเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการนำเสนอมันออกมา ความทุกข์ของพวกเขาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผม”
อัสวานีมองความสำเร็จของเขาทั้งอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัวในด้านหนึ่ง และก็อดแสดงความภาคภูมิใจในอีกด้านหนึ่งไม่ได้ เขาเอารูปถ่ายหน้าของตนเองบนโปสเตอร์ในสถานีรถไฟใต้ดินของปารีสมาโชว์-สิ่งเหล่านี้เป็นดังของขวัญ ที่ว่าเขาสามารถทำเงินในฐานะนักเขียนได้ในประเทศที่กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ต่างอะไรกับกระดาษชำระ และสำนักพิมพ์มักจะไม่ค่อยจ่ายค่าต้นฉบับ (เขาประมาณว่ารายได้ที่เขาได้รับจากนักอ่านชาวอาหรับนั้นพอจะจ่ายค่ากาแฟและค่าบุหรี่ได้เท่านั้น) แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยังไม่คิดจะเลิกงานทันตแพทย์เช่นกัน
“สังคมเป็นเหมือนอวัยวะส่วนต่างๆมาประกอบกัน คุณต้องติดตามความเป็นไปอยู่เสมอ ดังนั้นผมถึงยังตรวจคนไข้อยู่แม้จะเพียงสองวันต่อสัปดาห์เท่านั้น ผมจะไม่เลิกกิจการคลินิคเป็นอันขาด ผมเปิดร้านเพื่อสังเกตการณ์ชีวิตคนเดินถนน คุณจะลอยตัวอยู่เหนือชีวิตคนธรรมดาไม่ได้ เพราะมันจะเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ในฐานะนักเขียน เมื่อคุณประสบความสำเร็จ คุณจะถูกเชิญโดยคนที่รวยที่สุดหรือมีอิทธิพลที่สุดทุกค่ำคืน แต่นั่นอันตรายมากเพราะมันจะทำให้คุณลืมความสัมพันธ์กับชาวบ้านธรรมดา คุณต้องไม่ลืมความสัมพันธ์เหล่านี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จในเบื้องแรก”
แล้วเขาเป็น “เซเลบ” ของอียิปต์หรือยัง? “ผมขอบคุณสำหรับคำชม...แต่คำว่า “โด่งดัง” หมายความว่าคนจำคุณได้ แต่คุณจำพวกเขาไม่ได้ ผมว่าความโด่งดังไม่ใช่เรื่องใหญ่ คนที่โด่งดังที่วันๆไม่ได้ทำอะไรเลยก็มีมาก ความชื่นชมคือของขวัญ หากแต่มันหาใช่เกียรติยศไม่ ถ้าให้ผมเลือกระหว่างการมีคนอ่านหมื่นคนที่ชื่นชมในงานผมจริงๆ กับหนึ่งล้านคนที่จำหน้าผมได้ ผมจะเลือกกลุ่มแรก”
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของเขาก็มีปัญหาตามมา อัสวานีเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ต่อต้านประธานาธิบดีมูบารัค เขาเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครอง และเขายังเป็นสมาชิกของกลุ่ม Kifaya (พอได้แล้ว!) ดังนั้นมุมมองที่รัฐมีต่อเขาเป็นอย่างไร ในขณะที่เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก? “ผมไม่ได้หวังให้พวกเขารักผม ผมเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ต้องการให้ระบอบการปกครองปัจจุบันสิ้นสุดลง แต่ผมรู้จักเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนที่ชอบงานของผมเป็นการส่วนตัว แต่พอถึงเวลาพวกงานให้รางวัล บางคนก็มา แต่บางคนก็ไม่ บางครั้งพวกเขาก็โทรมาหาผม บอกว่าชอบงานของผมเป็นการส่วนตัวแต่ไม่สามารถไปร่วมงานมอบรางวัลอย่างเป็นทางการได้”
ชื่อเสียงทำให้เขาปลอดภัยขึ้นไหม? “ผมไม่สามารถเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับผม กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสหายที่ถูกทรมานและทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ผมเพียงถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมงานเปิดตัวของหนังสือ The Yacoubian Building เท่านั้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การเขียนและความกลัวเป็นสิ่งขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง การเขียนเป็นการแสดงออกเพื่อต่อต้านความกลัว”
เขายังเชื่อว่าประชาธิปไตยกำลังเกิดขึ้นในอียิปต์ และโลกอาหรับทั้งหมดก็จะใช้รูปแบบนี้ “ผมจะบอกคุณให้นะ มันอยู่ไม่ไกลแล้ว ผมบอกวันที่แน่นอนไม่ได้ แต่พวกเราเตรียมพร้อมแล้ว ทนายและหมอของเรามีมากจนเกือบเท่าประชากรทั้งหมดของประเทศอาหรับบางประเทศเสียอีก ในโลกตะวันตกมีคนอียิปต์กว่า 180,000 คนที่จบปริญญาเอก”
แต่เขาจะแน่ใจได้อย่างไร? สำหรับสายตาคนต่างชาติแล้ว มูบารัคดูจะไม่ค่อยสนับสนุนประชาธิปไตยเท่าใด มีจำนวนนักโทษที่ต่อต้านรัฐเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ “ผมอ่านประวัติศาสตร์ของอียิปต์อย่างถี่ถ้วนแล้ว อย่าไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนอียิปต์มองมากนัก ก่อนการปฏิวัติค.ศ.1919 เราถูกรุกรานโดยอังกฤษ ผู้นำของเราถูกเนรเทศ ผมอ่านรายงานของทางสถานทูตอังกฤษพบว่าเขาไม่ต้องการให้คนอียิปต์ต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เอาเข้าจริงในวันต่อมา การปฏิวัติที่สำคัญที่สุดในตะวันออกกลางได้เกิดขึ้น!
“เวลานี้มีการประท้วงมากขึ้นบนท้องถนน ทุกคนลุกขึ้นเรียกร้องความเป็นธรรมกันหมด มันเป็นแรงกดดันได้จริงๆและคุณสามารถรู้สึกได้ แม้คุณจะอยู่ฝั่งรัฐบาลก็ตาม”
อย่างน้อยส่วนหนึ่งในความสำเร็จระดับนานาชาติของอัสวานีนั้น น่าจะมาจากการที่นิยายของเขา ซึ่งมีทุกชนชั้นของสังคมอียิปต์ ตั้งแต่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์จนกระทั่งคนรับใช้ งานของเขาได้เปิดเผยความลับและความปรารถนาของตัวละครเหล่านี้ออกมา ทำให้เดอะ นิวยอร์ค ไทม์กล่าวว่า เราได้ “ลิ้มรสมหัศจรรย์” ของสังคมอียิปต์ที่น้อยคนจะรู้
แต่อัสวานีไม่อยากถูกเรียกว่าเป็นนักเขียนอาหรับแต่อย่างใด “ผมต่อต้านการนำเสนอวรรณกรรมจากพื้นฐานชาติพันธุ์ ผมอาจจะถูกดันให้มีภาพเป็นนักเขียนอาหรับทีละน้อยๆ แต่ผมอยากนึกถึงตัวเองในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของ “สาธารณรัฐวรรณกรรม” มากกว่า ประเด็นเรื่องเวลาไม่สำคัญนัก แต่ประเด็นเรื่องมนุษย์สิสำคัญ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องอ่านงานของดอสโตเยฟสกี”
“ผมขอใช้คำของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ หน่อยว่า ประเด็นดีไม่ได้สร้างนิยายที่ดี หากแต่นิยายที่ดีต่างหาก ที่ทำให้ประเด็นดูน่าสนใจขึ้นมา”
---------
เหล่านักเขียนไทยอย่าเพิ่งท้อถอย มีตัวอย่างนักเขียนที่สามารถประสบความสำเร็จในขณะที่ทำงานประจำไปด้วย ตัวอย่างเช่น :
Anthony Trollope (ค.ศ.1815-1882) เป็นพนักงานไปรษณีย์ขณะที่เขียนนิยายที่ดีที่สุดของตนเองไปด้วย เช่น
Kenneth Grahame (ค.ศ.1859-1932) ไต่เต้าขึ้นเป็นเลขานุการของธนาคารแห่งสกอตแลนด์ขณะเดียวกับที่ตีพิมพ์งานจำนวนหนึ่ง ก่อนที่จะเกษียณอายุในปีที่งานชื่อ Wind in the Willows ตีพิมพ์ (ค.ศ.1908)
Franz Kafka (ค.ศ.1883-1924) ทำงานในบริษัทประกันขณะที่เขียนงานวรรณกรรม เช่นงานที่โด่งดังอย่าง Metamorphosis (ค.ศ.1912)
John Mortimer (ค.ศ.1923-2009) ทำงานเป็นทนายความและเขียนนิยายไปด้วย
T
Bernard Schlink (ค.ศ.1944-ปัจจุบัน) เป็นศาสตราจารย์ทางนิติศาสตร์และผู้พิพากษา เขียนนิยายออกมา 9 ชิ้น รวมถึงงาน The Reader ในปีค.ศ.1995
Vikas Swarup (ค.ศ.1963-ปัจจุบัน) เป็นรองอธิบดีของอินเดียประจำอยู่ที่อาฟริกาใต้ เขียนนิยายสองเล่ม เล่มหนึ่งคือ Q&A ที่ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง Slumdog Millionaire
1 comment:
ยาวอะ
ง่วง จะไปนอนแล้ว เขียนสั้นๆหน่อยดิ
Post a Comment