
เนื่องด้วยที่ผ่านมาอ่านงานของนักประพันธ์ชั้นครู มนัส จรรยงค์ ติดต่อกันหลายเล่ม ก็เลยมีความคิดความเห็นออกมาบ้างเป็นเรื่องธรรมดา
สินค้าสด เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นที่รวมอยู่ใน ซาเก๊าะและรวมเรื่องสั้นอันเปนที่รัก ของมนัส จรรยงค์ (สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, พ.ศ.2511)
อันที่จริงมีหลายเรื่องที่อยากเขียนถึง แต่เอาเพียงเรื่องเดียวสั้นๆก่อนก็แล้วกัน
สินค้าสด เป็นเรื่องราวของชายบ้านนอกผู้หนึ่งนามวิฑูร ซึ่งสามารถหาภรรยาที่เป็นคนกรุงเทพฯได้ เขาจึงพาเจ้าไปอยู่ด้วยที่บ้านนอก และเรื่องราวก็วุ่นวายหลังจากนั้น (ไม่อยากทำลายบรรยากาศ เอาเป็นว่าไปหาอ่านเองก็แล้วกันนะครับ)
สินค้าสด น่าจะพิมพ์ครั้งแรกในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ เพราะไม่มีการบอกว่าพิมพ์มาแล้วในที่อื่นอย่างเรื่องสั้นหลายต่อหลายเรื่องในเล่ม ซึ่งบอกปีที่พิมพ์เอาไว้ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ลองกะดู เรื่องสั้นนี้ก็น่าจะถูกเขียนขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 นั่นเอง
แม้ว่า สินค้าสด จะไม่เคยถูกพูดถึงที่ไหนมาก่อน ผมกลับคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่สะท้อนรูปแบบการประพันธ์ของมนัส จรรยงค์โดยกว้างๆได้
ผมคิดว่า สินค้าสด พอจะทำให้ผมยกได้สามประเด็นกว้างๆ (ผมขอแนะนำให้อ่าน สินค้าสด ก่อนจะอ่านต่อไป เนื่องจากจะมีการยกเนื้อเรื่องหลายตอนขึ้นมาประกอบ หากหาอ่านไม่ได้ขอเชิญชั้น 4 หอกลาง จุฬาฯ บุคคลภายนอกเสีย 20 บาท)
1) ในบริบทของประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย เรื่องศีลธรรมในงานของมนัส จรรยงค์เคยถูกพูดถึงแล้วในบลอกวรรณกรรมรักชวนหัว ซึ่งแยกงานมนัส จรรยงค์ ผู้เป็นนักเขียนรุ่นก่อน 14 ตุลาฯ ออกจาก วรรณกรรมของกลุ่มนักเขียนหลัง 14 ตุลาฯ
งานเขียนของกลุ่มนักเขียนหลัง 14 ตุลาฯ จะมีการอ้างอิงศีลธรรมอย่างโจ่งแจ้ง และนำไปสู่การถกเถียงที่ว่า ไอ้สำนักหลัง 14 ตุลาฯ แบบนี้หรือเปล่า ที่มันไปอุดให้งานเขียนจากนั้นเป็นต้นมาคล้ายกับพายเรืออยู่ในอ่าง? (อะไรๆก็ศีลธรรม)
และทำให้ (ด้วยภาษาของบลอกวรรณกรรมรักชวนหัว) "ทำไมศตวรรษหนึ่งผ่านไป นักเขียน(ผู้มีรสนิยม) ได้แต่อ่านเรื่องสั้นอาจารย์มนัส แล้วกระพริบตาปริบๆ ถามตัวเอง "ทำไมกูเขียนไม่ได้แบบนี้วะ!"
ไปจนกระทั่ง "และประกาศให้โลกรู้เลยว่า เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ วรรณกรรมไทยได้ตาย (หรืออย่างน้อยก็ถดถอยลงอย่างช้าๆ ) ไปพร้อมกับอาจารย์มนัสแล้ว"
เพื่อความเป็นธรรม ผมคงต้องยกสิ่งที่อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ได้กล่าวถึงในโอกาสแกไปพูดที่ศูนย์มานุษฯ สิรินธร (ที่จริงเป็นงานวิจารณ์วรรณกรรมของวินทร์ เลียววาริณ) เมื่อ 6 มิ.ย. 52
อาจารย์พูดถึงงานของวินทร์ด้วยวิธีการจัดกลุ่มงานเขียน โดยพูดในบริบทประวัติศาสตร์ว่า วรรณกรรมยุคหลัง 14 ตุลาฯ เป็นวรรณกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับวรรณกรรมแนว "น้ำ่เน่า" ในยุคก่อน 14 ตุลาฯ ซึ่งทำให้วรรณกรรมหลัง 14 ตุลาฯ ได้ชื่อว่าเป็นวรรณกรรม "แนวทดลอง" ในเวลานั้นเสียเอง
อาจารย์เสริมว่าวรรณกรรมแนวนี้จึงถูกเรียกว่าเป็นแนว "เพื่อชีวิต" หรือพอจะเลียบๆเคีัยงๆกับสัจนิยม (Realism) ในการจัดประเภทวรรณกรรมตะวันตกได้
แต่เมื่อยุคหลัง 6 ตุลาฯ เป็นต้นมาจนมาถึงยุคปลายสงครามเย็น วรรณกรรมเพื่อชีวิตได้อ่อนแรงลง แต่ ยังไม่มีวรรณกรรมใดที่เข้ามาทำหน้าที่ตอบโจทย์ใหม่ของสังคมหรืออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างที่นักวิจารณ์วรรณกรรมพอจะเห็นได้เลย จึงมีคำถามอยู่เสมอๆว่า "วรรณกรรมเพื่อชีวิตตายหรือยัง?"
จนกระทั่งเมื่องานของวินทร์ เลียววาริณ ปรากฏขึ้นในบรรณพิภพ อาจารย์ใช้คำศัพท์ว่ามันได้ "แหวก" วงล้อมวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ครองพื้นที่อยู่มานานเกินไป และเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันที่แผ้วถางให้งาน "แนวทดลอง" นี้ตามกันมาได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนอย่างปราบดา หยุ่น อนุสรณ์ ติปยานนท์ กิตติพล สรัคคานนท์ ภาณุ ตรัยเวช ฯลฯ
โดยงานแบบใหม่นี้ก็คือ "แนวทดลอง" ที่จะมาเบียดแนว "เพื่อชีวิต" (แต่ เราหลงลืมอะไรบางอย่าง อาจเป็นสิ่งที่ต้องอธิบายต่อไป)
เพราะฉะนั้น หากพิจารณากันในแนวนี้ เราอาจจะกล่าวได้ว่ามันมีวรรณกรรม "แนวทดลอง" มาแทนที่วรรณกรรมยุคหลัง 14 ตุลาฯ แล้วก็ได้ ถ้าไม่มองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป เราอาจจะพอมีความหวังอะไรได้บ้าง?
กลับมาที่งานของมนัส จรรยงค์ต่อ - หากจะว่าไปแล้ว งานเรื่องสั้นของราชาผู้นี้มีความ "น้ำเน่า" ไม่เบาเลย ไม่ว่าจะเป็นรัก พราก จาก ฉุดคร่า หนีตามกัน เสือ นักเลง คนจนกรอบ คนบ้านนอก คนกรุง ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะถูกหยิบใช้สม่ำเสมอ
แต่ที่สำคัญ งานของมนัส จรรยงค์มีความก้าวหน้ามากกว่างานร่วมสมัยเดียวกันไม่ว่าจะโดยการหักมุมของเรื่อง การหาพลอตที่สามารถสร้างความประหลาดใจแก่คนอ่าน การนำเสนอเรื่องด้วยมุมหลากหลาย (ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินเรื่องปกติ หรือการดำเนินเรื่องด้วยมี "โฆษก" มาเล่าให้ฟัง เป็นต้น) นี่ยังไ ม่นับรวมฝีมือการบรรยายบรรยากาศและความงามของสตรีเพศชนิดหาตัวจับยากทีเดียว
ใน สินค้าสด เรื่องศีลธรรมถูกท้าทายอย่างโจ่งแจ้ง วิฑูรผู้สวมบทสามี ควรจะต้องเป็นสามีที่่ดี เป็นหลักและที่พึ่งแก่ภรรยาได้ตามแบบอย่างความมีอารยะอย่างที่ได้กำหนดเอาไว้ในประเทศไทยหลายสิบปีก่อนหน้า ตั้งแต่ยุคจอมพลป. พิบูลสงคราม
แต่เขากลับพาภรรยามาเพื่อขายแลกกับเงิน โดยผู้ที่ขายก็ไม่ใช่ใคร คือเถ้าแก่ฮง ชาวจีนซึ่งคนไทยตั้งข้อรังเกียจเดียจฉันท์มาตั้งแต่ช่วง 1930's
งานนี้เงินสามพันบาทถูกอาจารย์มนัสเอาไปตั้งคำถามกับระบบศีลธรรมของสังคมไทยทั้งสังคมทีเดียว
2) ผมไม่ได้ีมีความรู้ทางทฤษฎีเรื่องนี้มากนัก แต่ผมคิดว่า สินค้าสด ก้าวหน้าในแง่ของการเป็นสาส์นสำหรับการเรียกร้องสิทธิสตรีในเมืองไทย เป็นเรื่องสั้นแนวสตรีนิยมโดยแท้
ลองคิดง่ายๆดีกว่า ท่านผู้อ่านลองนึกถึงเรื่องสั้นที่ผู้หญิงเผยเอาความรู้สึกของตนเองออกมา ว่ารักเพื่อนผัว แล้วยอมจะหนีไปกับเขา ในขณะที่ผู้นำสังคมไทยในต้นพุทธศตวรรษที่ 26 เป็นคนที่มีอนุภรรยาเป็นร้อยคนดูก็แล้วกัน ว่า สินค้าสด ก้าวหน้าขนาดไหน
ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Jules et Jim (1962) ของผู้กำกับสังกัดกลุ่มคลื่นใหม่ในฝรั่งเศสฟรังซัว ทรูฟโฟ ที่เป็นภาพยนตร์เฟมินิสต์แรกๆในกลุ่มศิลปินรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่สำคัญคือร่วมสมัยกับอาจารย์มนัสเสียด้วย
...บังอรมันฝันว่า เจ้าได้ถูกเจ้ายงมันชมเชยเสียสมใจมัน ในฝันนั้นเจ้ารู้สึกว่า มันช่างเป็นความสุขเสียจริงๆ แต่บังอรก็ยังคิดว่า มันอาจจะไม่ใช่ความฝันก็ได้ ในเมื่อบางสิ่งบางอย่างในร่างกายเจ้ามันบอกเจ้าว่า มันเป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นจริงๆ...(หน้า 269)
...แม้ว่าจะเป็นเป็นเวลาสั้นๆที่ได้พบกัน แต่ก็เหมือนเทวดาดลใจ บังอรก็สุดจะหักใจไม่ให้คิดถึงมันได้ และไหนๆก็ไ้ด้พูดกันอย่างนี้แล้ว บังอรก็คิดว่า พูดให้มันรู้ถึงหัวใจของเจ้าเสียด้วยเถิด...(หน้า 274)
อย่างไรก็ตาม หากมองด้วยพลอตของทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงบังอรจะเกิดความรักอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็เป็นการวางแผนของทั้งผัวตนเอง ทั้งเพื่อนผัวที่ตนเพิ่งหลงรักเพื่อหลอกนำตนไปขายเป็นสินค้าสดทั้งสิ้น จึงมองได้สองมุมว่า ในมุมหนึ่ง ไม่ว่าบังอรเกิดจะต้องการทำตามใจตนเองอย่างไร แต่สุดท้ายก็ยังเป็นรอง/เป็นเครื่องมือให้แก่เพศชายอยู่ดี ในอีกมุมหนึ่งสามารถมองได้ว่าบังอรเป็นตัวแทนแห่งความแหกคอกที่เพศชาย(สังคมไทย)ล้อมกรอบเพศหญิงเอาไว้นั่นเอง
3) ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า เรื่องสั้นชิ้นนี้น่าจะเขียนขึ้นเมื่อสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 26 เป็นที่เรียบร้อย
กล่าวในแง่บริบทประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
มันเป็นช่วงเวลาอันชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการเมืองและสังคมไทย โดยเฉพาะสงครามเย็นที่ได้ขยายขอบเขตการต่อสู้เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่่ปลายพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา (จริงๆก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ)
จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ขึ้นปกครองประเทศพร้อมๆกับการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่วงศ์วานของทุนนิยมโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา เงินช่วยเหลือจำนวนมหาศาลหลั่งไหลมาจากวอชิงตันสู่กรุงเทพฯ เป็นยุคที่ประเทศไทยร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกในพ.ศ.2504 มีการสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ สร้างมหาวิทยาลัย การสร้างถนนหนทาง ฯลฯ เป็นยุคแห่ง "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี" โดยแท้ (กรุณาอ่าน การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ของอ.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ)
ผลก็คือ "การพัฒนา" ดังกล่าวได้ทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นเมืองโตเดี่ยว และความแตกต่างเหลื่อมล้ำของชนบท/กรุง มีมากขึ้นทุกทีๆ
ผมไม่แน่ใจว่าการใช้แว่น "นักท้องถิ่นแดนไกลนิยม" (exoticism) อย่างที่ใช้ในบลอกรักชวนหัว จะสามารถเอามาใช้มองงานมนัส จรรยงค์ได้มากแค่ไหน เนื่องจากหากไม่พิจารณาบริบทดังที่ผมได้กล่าวมาแล้ว เราก็จะไม่ทราบสาเหตุของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างเมืองและชนบทในประเทศไทย อย่างที่มนัส จรรยงค์หยิบมาใช้บ่อยๆได้เลย
ใน สินค้าสด การที่วิฑูร ผู้ซึ่งมีนามเก่าว่า "ไอ้ทุย" กลับมาบ้านก็เพื่อเสดงให้เห็นว่าตนเองประสบความสำเร็จ สามารถได้เมียคนกรุงเทพฯ มองในแง่นี้ มันเป็นความพยายามปลดแอกชนบทจากการครอบงำของกรุงเทพฯนั่นเอง
มนัส จรรยงค์พยายามแสดงให้เห็นถึงการปะทะกันของค่านิยมอันแตกต่างระหว่างชนบท/เมือง
...ปากมันแดงแจ๋ยิ่งกว่าอีพวกสาวๆชาวบ้านที่เคี้ยวหมากกันเสียจนปากเปรอะ คิ้วของมันก็ดำปิ๊ดราวกับเอาอะไรมาติดไว้ไม่ใช่ขนคิ้วแท้...นางแม่สวยคนนั้น ก็วางท่าเสียราวกับว่ามันนั่งคู่มากับคนสำคัญคนหนึ่งทีเดียว ดูตา ท่าทาง มันหยิ่งยะโสโอ้อวดตัวจนน่าหมั่นไส้เมื่อเวลาที่มีคนมองมัน...(หน้า 260)
ความแตกต่างลักลั่นดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงความ "เหนือกว่า" ของกรุงเทพฯ โดยอาจารย์มนัส (ซึ่งผมว่าแกซาดิสต์นิดหน่อยในเรื่องนี้) จับเอา signifier ของกรุงเทพฯไปขายเป็นสินค้าสดเสียเลย หมดเรื่อง
ป.ล. จะดีมากหากมีใครอ่านแล้วช่วยกันอภิปราย เพราะหากไม่ต้องการให้วรรณกรรมไทยถูกอุดจุก เราต้องอ่านแล้วแสดงความคิดเห็นครับ