Sunday, April 26, 2009

อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อวานนี้?

มีบทแปลจากหนังสือพิมพ์ the guardian ของผมมาฝากกัน เป็นบทปริทรรศน์หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โดยจอห์น เกรย์ ขอเชิญอ่านครับ

------------

มีตลกสมัยโซเวียตว่า รัสเซียเป็นประเทศเดียวที่อดีตนั้นคาดเดาไม่ได้ เมื่อหัวหน้าตำรวจลับนามลาฟเรนติ เบอเรียถูกยิงในปีค.ศ.1953 มีคำสั่งไปยังห้องสมุดต่างๆให้ตัดหน้าที่เกี่ยวข้องกับเขาในสารานุกรมโซเวียตออกให้หมด และให้ขยายข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้องกับช่องแคบแบริ่งให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นสำหรับประวัติศาสตร์ฉบับทางการของโซเวียต คนชื่อเบอเรียไม่มีอยู่ และประวัติศาสตร์เหตุการณ์ที่เขามีส่วนร่วมก็ต้องถูกเขียนใหม่ทั้งหมด

อดีตของสหภาพโซเวียตถูกแก้ไขอยู่บ่อยๆ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอำนาจและการผลัดเปลี่ยนของพรรคการเมืองที่ขึ้นสู่อำนาจ อย่างไรก็ตามการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ไม่ได้จำกัดอยู่กับรัฐเผด็จการเท่านั้น หากแต่มันเกิดได้ในการปกครองทุกรูปแบบ ไม่เว้นประชาธิปไตยเสรีนิยม มาร์กาเร็ต แมคมิลเลียน ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองของเชอร์ชิลที่ว่า เป็นงานชั้นครูที่ครอบคลุมเนื้อหากว้างขวาง แต่ก็มิวายข้ามประเด็นที่อิหลักอิเหลื่อ ไม่มีการพูดถึงการอภิปรายของคณะรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคมค.ศ.1940 เมื่อประเด็นเรื่องการแสวงหาสันติภาพด้วยการไกล่เกลี่ยของมุสโสลินีได้รับการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อน โชคยังดีสำหรับอนาคตของอารยธรรมเมื่อความคิดเรื่องการสมานสันติภาพกับนาซีถูกปฏิเสธไปและเชอร์ชิลยังอยู่ในตำแหน่ง แต่ที่เขาอ้างว่าเรื่องดังกล่าวไม่เคยถูกนำมาถกเถียงอย่างจริงจังนั้นตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง เพราะหากการตัดสินใจเรื่องการทำสงครามเป็นไปในอีกทางหนึ่ง ประวัติศาสตร์โลกหลังจากนั้นคงดำเนินไปคนละทาง

ประวัติศาสตร์ทางการที่เสนอภาพเกินจริงของความสมานฉันท์ในอังกฤษในปีค.ศ.1940 เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายๆตัวอย่างที่แมคมิลเลียนพูดถึง แต่มันก็จับเอาแก่นของข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากหนังสือที่ดีและจุดประกายความคิดเล่มนี้ ในขณะที่มีมุมมองต่ออดีตแตกต่างกันอยู่เสมอ เราไม่ได้ลอยอยู่ในทะเลแห่งความสัมพัทธ์ เพราะมันมีข้อเท็จจริงที่นักประวัติศาสตร์สามารถสถาปนามันขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวได้ อย่างที่แมคมิลเลียนได้เขียนเอาไว้ว่า ความทรงจำไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับการเลือกเท่านั้น แต่มันสามารถถูกปรับแต่งได้  ยกตัวอย่างเช่นเมื่อดีน อัชชีสันเขียนบันทึกความทรงจำถึงคราวที่นั่งอยู่ในห้องทำงานของประธานาธิบดีรูสเวลท์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคอร์เดล ฮัล ในวันหนึ่งของปีค.ศ.1941 เมื่อสหรัฐฯเริ่มหยุดการเคลื่อนไหวทรัพย์สินของญี่ปุ่นและขยับเข้าใกล้การประกาศสงครามมากยิ่งขึ้น เมื่อเลขานุการของอัชชีสันตรวจสอบบันทึกดูก็พบว่า ฮัลไม่ได้อยู่ในวอชิงตันในวันดังกล่าว แน่นอนว่าความทรงจำเชื่อถือไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะรู้ความจริงไม่ได้

การนำเสนอข้อมูลผิดทั้งด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจนั้น ไม่ได้เป็นเพียงวิธีการเดียวที่ประวัติศาสตร์จะถูกบิดเบือน การเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่แตกต่างว่าเหมือนกันอย่างเข้าใจผิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีความต้องการสร้างความชอบธรรมในการเข้าร่วมความขัดแย้งที่สุ่มเสี่ยง แอนโธนี อีเดนทำผิดพลาดเมื่อไปบอกว่าการป้องกันคลองสุเอซจากการที่อียิปต์จะเข้าเป็นเจ้าของในปีค.ศ.1956 เหมือนการต่อต้านฮิตเลอร์ที่มิวนิค ในขณะที่ผู้สนับสนุนสงครามอิรักพร้อมที่จะมองซัดดัม ฮุสเซนว่าเป็นภัยต่อสันติภาพโลกเท่ากับฮิตเลอร์ ไม่ว่าผู้นำทั้งสองจะทำบาปไปมากเท่าใด พวกเขาไม่ได้มีทรัพยากรทางอุตสาหกรรมและทางการทหารมากเท่าที่ฮิตเลอร์มี หรือไม่ได้มีอุดมการณ์ถึงในระดับโลก การเปรียบเทียบความเหมือนที่ผิดเช่นนี้เกิดขึ้นในรัฐประชาธิปไตยเสรีนิยมได้เท่าๆกับรัฐเผด็จการ

แมคมิลเลียนเป็นนักประวัติศาสตร์ชั้นยอดที่ทำงานอย่างหนักในหัวข้อที่หลากหลายตั้งแต่การประชุมสันติภาพที่ปารีสในปีค.ศ.1919 ไปจนกระทั่งถึงนิกสันกับประเทศจีน เธอเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีพรสวรรค์ และเรื่องราวที่เธอเขียนก็สามารถเข้าถึงได้อย่างไม่ยากเย็น ข้อฝากของเธอที่ว่า เราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปรับแต่งอดีตในขณะที่เรากำลังสร้างอนาคตได้ แต่จงกระทำอย่างระมัดระวังและอย่างมีมนุษยธรรม นั้นเหมาะสมสำหรับนักการเมืองมากทีเดียว แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เพียงนักการเมืองเท่านั้นที่บิดเบือนอดีต มันรวมถึงนักประวัติศาสตร์ด้วย แมคมิลเลียนได้กล่าวว่า วลาดิเมียร์ ปูตินให้การสนับสนุนการเขียนประวัติศาสตร์ฉบับ รักชาติ ในหนังสือที่จะใช้ในสอนห้องเรียน โดยลดเรื่องราวอาชญากรรมของสตาลินและเน้นเรื่องบทบาทของเขาในการทำหน้าที่ป้องกันประเทศแทน พูดอีกอย่างก็คือ ปูตินบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่ออำนาจนั่นเอง จากอีกมุมหนึ่ง นักประวัติศาสตร์รัสเซียก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านักประวัติศาสตร์ตะวันตกทำผ่านมารุ่นแล้วรุ่นเล่า นั่นก็คือการให้ความสำคัญกับจำนวนคนที่ตายในช่วงสตาลินน้อยอย่างน่าใจหาย

เมื่อโรเบิร์ต คอนเควสต์ พิมพ์หนังสือของเขาที่เกี่ยวกับเกรท เทอร์เรอ (the great terror) ในปีค.ศ.1968 จำนวนตัวเลขคนตายที่เขานำเสนอถูกโจมตีว่ามากเกินไป จริงๆแล้ว เขากล่าวต่อไปอีกว่า ตัวเลขดังกล่าวถือว่าอาจน้อยกว่าความจริงด้วยซ้ำ จากการที่ถือว่าสหถาพโซเวียตในท้ายที่สุดแล้วเป็นระบอบที่ก้าวหน้า นักประวัติศาสตร์ตะวันตกหลายคนลังเลที่จะกล่าวถึงจำนวนชีวิตที่ต้องจ่ายเพื่อคอมมิวนิสต์ การหลีกเลี่ยงหรือลังเลที่จะไม่พูดถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์เช่นกัน เพราะมันคือการปล่อยปะละเลยความเข้าใจผิดอย่างไร้ความรับผิดชอบ     

           

จากหนังสือพิมพ์ the guardian 19 เม.ย. 2009 

1 comment:

Jeerayus said...

The font is interesting.