Wednesday, April 8, 2009

ของฝากจากสิงคโปร์


ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนประเทศสิงคโปร์หลังจากครั้งสุดท้ายเมื่อสองปีที่แล้ว 

ครั้งนั้นผมไปสิงคโปร์ด้วยเหตุผลเหมือนหลายๆคน นั่นคือไปชอปปิ้ง

ครั้งนี้ด้วยความที่อยู่ตัวคนเดียว ก็เลยถือโอกาสไปดูพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของเขาสักหน่อย นัยว่ามันน่าจะสะท้อนอะไรในประเทศนี้ได้ 

ผมไปถึงที่นั่นบ่ายสามโมง ตั้งใจว่าสักชั่วโมงสองชั่วโมงคงกลับ

แต่ปรากฏว่าผมเดินออกตอนสองทุ่ม เวลาที่เขาปิด!

นี่ผมไปดูแค่การจัดแสดงถาวร มีสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นนิทรรศการประวัติศาสตร์ของประเทศเขา (Singapore History Gallery) และอีกส่วนมีสี่นิทรรศการ เป็นการแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนสิงคโปร์ (Singapore Living Galleries) แบ่งออกเป็นสี่ห้อง คือ ห้องแฟชั่น ห้องภาพยนตร์และ Wayang (งิ้ว) ห้องภาพถ่ายในอดีต และห้องอาหาร (แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ของความหลากหลายของอาหาร)!

วันนี้เอาแค่นิทรรศการประวัติศาสตร์ประเทศสิงคโปร์สั้นๆแล้วกันนะครับ  

ในฐานะคนสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผมก็อยากจะรู้อยู่เหมือนกันว่าเขาจะนำเสนออย่างไร 

หลังจากเสียเงินสิบดอลล่าร์ (ประมาณสองร้อยห้าสิบบาท) ก็ลุยขึ้นไปบนชั้นสอง มีเจ้าหน้าที่สุภาพเรียบร้อยนำทางผมไปถึงบริเวณการจัดแสดง เจ้าหน้าที่ก็เอาเครื่องมาห้อยคอ เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปตามพิพิธภัณฑ์ - แต่เครื่องใหญ่ทีเดียวครับ คล้ายๆไอพอดขนาดใหญ่ แล้วก็เสียบหูฟัง 

้เขาก็พยายามทำให้เหมือนว่าเครื่องที่ห้อยคอเราอยู่นั้นเป็นไกด์ส่วนตัวนำทางเราเดินไปตามทางที่เขาจัดให้ เมื่อถึงตรงไหน เขาก็จะมีตัวเลขให้เรากดตาม แล้วเราก็ฟังไปด้วยเดินดูไปด้วย 

แหม ฟังดูแล้วธรรมดาๆ แต่มันสนุกดีนะครับ เขาเริ่มด้วยสิงค์โปร์ในศตวรรษที่ 15 ที่มีหลักฐานตัวอักษรบางอย่างที่ถูกขุดพบบนหิน แ ล้วก็มีบันทึกภาษามลายูที่เขียนถึงดินแดนที่เรียกว่า "เทมาเส็ก" ในเวลานั้น เขาไปเอาหลักฐานจริงๆบางส่วน และไปทำเหมือนอีกบางส่วนมาวางแสดงเอาไว้ โดยแต่ละสิ่งของที่นำมาแสดงทุกๆอัน (ย้ำว่าทุกๆอัน) จะมีตัวเลขกำกับ เพื่อให้เรากดดูรายละเอียดได้หมด ขณะที่ผู้เล่าก็เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ไปเรื่อยๆ 

บางครั้งบางตัวเลข พอกดไปเขาก็ทำจำลองสถานการณ์ เป็นภาพยนตร์บ้าง เป็นจำลองบทสนทนาบ้าง ยกตัวอย่าง เขาเล่าเรื่องในต้นศตวรรษที่ 19 ผ่านคนพื้นเมือง ด้วยอารมณ์เสียดสีว่า ความขัดแย้งระหว่างอังกฤษและดัชต์ในการครอบครองสิงคโปร์นั้น กลับไปถูกตกลงกันในยุโรป (อังกฤษยอมให้สุมาตราแก่ดัชต์และดัชต์ยอมยกสิงค์โปร์และมะละกาแก่อังกฤษ แบ่งพื้นที่อิทธิพลการค้ากัน) ภายใต้ชื่อสนธิสัญญาลอนดอนในปี 1824 

ทั้งหมดนี้ผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินกลับไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆเลย เขาทิ้งท้ายอีกว่า แม้ยุคอาณานิคมจบไปแล้ว แต่ดินแดนที่เขาแยกไปนั้น ก็แยกกัน ไม่มีวันกลับมารวมกันได้อีก  (เป็นประเด็นคล้ายๆเรื่องมาเลเซียกับอินโดนีเซีย ว่าในที่สุดเหตุใดจึงแยกออกจากกัน ส่วนหนึ่งก็มาจากเจ้าอาณานิคมนี่เอง) 

อาจจะฟังดูน่าเบื่อ แต่เราลองถามตัวเราดูสักนิดเถิดว่า เรารู้จักประวัติศาสตร์ของแผ่นดินเกิดเรา (ในเวอร์ชั่นต่างๆ) มากน้อยเท่าใด? หรือเรายังภูมิใจกันอยู่อีกว่า เราเป็นเอกราช ไม่ต้องไปสนใจใคร? 

นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เอานักวิชาการที่เชี่ยวชาญมาเล่าถึงยุคต่างๆ รวมทั้ง debate เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อย่าลืมว่ารัฐ-ชาตินั้นเพิ่งเกิดไม่นานมานี้ ประมาณปลายศ.19 ถึงต้นศ.20 เป็นต้นมาเ่ท่านั้น) เพราะมันมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน การค้าขายทางไกลที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ มีเมืองต่างๆเข้าร่วมจำนวนมาก และมันสำคัญต่อพัฒนาการการก่อตัวของศูนย์กลางอำนาจในแต่ละจุดในอุษาคเนย์ 

เพราะฉะนั้นอย่าไปล้าหลัง-คลั่งชาติกันเลยครับคนไทย เพราะพัฒนาการประวัติศาสตร์มันบอกว่า เราก็ผลัดกันไปอยู่ตรงนั้นที ตรงนี้ที เป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติกันทั้งนั้นแหละครับ

แต่ที่ประทับใจผมสุดๆ อยู่ตรงนี้ครับ

พอผมเดินไปถึงจุดการเข้าสู่สิงคโปร์ในศตวรรษที่ 19 เป็นต้นไป เขาให้ผู้ชมเลือกเดินชมสองทาง

ทางแรกเป็น events คือหากเดินทางนี้เราก็จะเห็นลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างที่เราอ่านตำราประวัติศาสตร์

ทางที่สอง คือ personal คือเขาไปเอาบันทึก รูปถ่าย หรือสิ่งของ ของผู้ที่เข้ามาอยู่ หรือมาเกี่ยวข้องในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ เช่นนักปราชญ์มุสลิมที่ไปทำงานให้กับ เซอร์ แสตมฟอร์ด แรฟเฟิล (Sir Thomas Stamford Raffle - ตำราประวัติศาสตร์หลายเล่มบอกว่าเป็นผู้ "ค้นพบ" สิงคโปร์ในปี 1819 จากก่อนหน้านี้ที่เป็นเพียง "หมู่บ้านชาวประมงที่เงียบเหงา" - โดยในนิทรรศการนี้ก็บอก debate เอาไว้ว่า จริงๆแล้วสิงคโปร์มีความสำคัญกว่านั้น โดยมันคึกคักในฐานะที่หลังจากโปรตุเกสมารุกมะละกาในปี 1511 แล้วนั้น หลายประเทศในยุโรปมองสิงคโปร์สำคัญหลังจากนั้นเป็นต้นมา ในการไปตั้งป้อมปราการรบเอาไว้ เพื่อแย่งรักษาเส้นทางการค้า ดังนั้นการกล่าวว่าแรฟเฟิลค้นพบอาจจะเกินไปหน่อย) 

หรือเป็นจดหมายของสตรีชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาอยู่ที่นี่ เขียนไปถึงญาติที่ญี่ปุ่น หรือบ้องฝิ่นที่เคยเป็นของกรรมกรที่เข้ามาเป็นแรงงานในสิงคโปร์!

โอโฮ วงการประวัติศาสตร์เขาไปไกลทีเดียวครับ เขาไปถึงการพยายามให้เสียงกับผู้ที่เราอาจไม่เคยให้ความสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติเลย ทั้งๆที่เขาก็มีส่วน มีบทบาทในเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ด้วย 

ลองมานึกถึงประวัติศาสตร์ "ชาติไทย" บ้างสิครับ? นอกจากกษัตริย์ ขุนนาง แม่ทัพนายกอง พระผู้ใหญ่ พ่อค้าผู้ใหญ่ ฯลฯ แล้ว เราอาจจะนึกถึงขรัวอินโข่ง เทียนวรรณ ก.ศ.ร.กุหลาบ เ สม สุมานันท์ ถวัติ ฤทธิเดช  นายมี อำแดงเหมือน ฯลฯ น้อยกว่าที่เราคิดก็ได้ 

นี่คือข้อสะท้อนที่ดีทีเดียว

แล้วเขาก็ให้เดินสลับกันไปมาได้ระหว่างแนวทางประวัติศาสตร์สิงคโปร์ทั้งสอง 

ผมเดินจนลืมเมื่อยเลยครับ เหมือนดูหนังยาวๆสักเรื่อง 

เล่ามาถึงขนาดนี้ ก็อยากชวนหลายๆท่านที่คิดอยากไปเที่ยวสิงคโปร์ เจียดเวลาไปเดินพิพิธภัณฑ์ของเขาบ้าง 

อย่าไปเดินชอปปิ้งอย่างเดียว 

เพราะมันมีของฝากที่มากกว่าแค่สิ่งของ 
 
ป.ล. เชิญดูในเวบ www.nationalmusuem.sg เรียกน้ำย่อย 






2 comments:

Anonymous said...

ฟังดูน่าสนใจทีเดียว
อยากไปบ้างจัง

Jeerayus said...

Time and history never lessen the importance of anything that grow up from time to time.