Wednesday, May 9, 2012

Great House - Nicole Krauss



ความที่ภาระหน้าที่การเรียนมีมาก ช่วงปีสองปีที่ผ่านมาผมจึงเปลี่ยนวิธีในการเลือกหานิยายอ่าน

อันที่จริงวิธีเลือกอ่านหนังสือของผมเปลี่ยนมาเรื่อยนะครับ และมีอยู่หลายแบบ ผสมปนเปกันไป ไม่ได้ชัดเจนอะไร  เวลาอ่านงานวิชาการก็จะเป็นแบบหนึ่ง คือค่อนข้างมีเส้นทางที่ชัดเจนว่าจะต้องอ่านอะไรต่อ เช่นอ่านงานอ้างอิงที่อยู่ในบทความวิชาการนั้นๆ ไม่ว่างานชิ้นนั้นจะเห็นด้วยหรือเห็นแย้งก็ตามที แต่เห็นว่างานนั้นเป็นงานที่สำคัญ จำเป็นต้องสืบสาวข้อถกเถียงต่อไป คือหนังสือหรือบทความวิชาการมันจะ "จูง" เราไปตามที่ต่างๆ ไปหาความคิดชุดต่อๆไป ซึ่งมีทิศทางที่ค่อนข้างชัดเจน

แต่กับนิยายนี่จะต่างออกไป หลายครั้งผมอ่านหนังสือจบลง แล้วพอนึกว่าจะอ่านอะไรต่อไปก็นึกไม่ออก (แต่อย่าลืมว่าก็มีนิยายอีกจำนวนมากที่จูงเราไม่แพ้งานเขียนประเภทอื่น หรือก็มีงานวิชาการที่เขียนดีจนอ่านสนุกเหมือนเรื่องเล่าหรือนิยายอยู่แยะ) หลายครั้งทิศทางที่ผมจะไปตามหาก็คือบทวิจารณ์วรรณกรรมต่างๆทั้งไทยและเทศ

นานวันเข้า พอรู้จักผู้คนมากขึ้น ผมก็เริ่มอ่านงานของเพื่อนฝูง และคนที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรม โดยถือว่านั่นก็คือการสนทนากับความคิดของพวกเขาผ่านงานที่เขียนออกมา เป็นการรักษาอุณหภูมิแห่งมิตรภาพเอาไว้ วิธีนี้ีดี เพราะมันเป็นประสบการณ์ทางวรรณกรรมที่อบอุ่นสำหรับผม

ในขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ผมมักจะตามอ่านนิยายที่ได้รับรางวัลต่างๆ ด้วยความคาดหวังว่าจะต้องเป็นงานที่ดี ในแง่ไหนก็แง่หนึ่งละวะ ไม้งั้นเขาจะให้รางวัลได้อย่างไร แต่พออ่านไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีคำถามว่า แล้วไอ้เหล่างานที่ไม่ได้รางวัลทางวรรณกรรมทั้งหลายทั้งแหล่นั่นล่ะ มันเป็นยังไง พอเราลองไปหยิบจับ ลองอ่านดู หลายครั้งเป็นความบังเอิญ ก็ได้พบว่า มีจำนวนมากที่ดีกว่างานรางวัลรางแหวะอะไรซะอีก (แต่สุดท้ายยังไงก็ตามอ่านงานรางวัลอยู่ดี เพราะยิ่งเวลาน้อย ก็ยิ่งอยากอ่านอ่านอะไรที่มีคนคัดมาแล้วโสดหนึ่ง)

แต่ล่าสุดวิธีของผมคืออ่านตามคำแนะนำของคนรู้จัก เพื่อนร่วมงาน คนรัก ฯลฯ ซึ่งเป็นคนที่เรารู้ว่าเขา/เธออ่านหนังสือดี รักวรรณกรรมแบบเดียวกับที่เรารักวรรณกรรม - วิธีนี้ดีที่สุดครับ เวลาฟังคนเหล่านี้เล่าว่าหนังสือเรื่องนี้ดีอย่างนั้น เล่มนู้นดีอย่างโน้น เล่มนั้นห่วยยังไง ก็ทำให้ผมรู้สึกพลุุ่งพล่านอยากอ่านหนังสือเล่มนั้นทุกทีไป

---

ล่าสุดเป็นคิวของ Great House (2010) มีคนแนะนำให้ผมอ่าน  - อันที่จริงเธอให้หนังสือผมมาด้วย คุณน่าจะชอบมัน เธอบอกผมพร้อมกับยื่นหนังสือเล่มนั้นให้หลังจากที่อ่านจบ ผมมองดู มันยับเยินเสียแล้ว เราทั้งสองคนไม่ได้เป็นคนดูแลหนังสือที่ดีนัก ในแง่หนึ่งเธอให้ผมมา ก็อาจเป็นเพราะว่าสภาพของหนังสือเล่มนี้เหมาะกับผมเป็นที่สุด หากหนังสืออยู่ในสภาพดี ผมก็คงทำพัง เพราะฉะนั้นหนังสือยับๆนี่แหละ คงเหมาะกับผม

ผมใช้เวลาอ่านไม่นานนัก ส่วนใหญ่จะอ่านบนรถทัวร์ที่นั่งจากแคนเบอร์ร่าไปซิดนีย์ ซึ่งกินเวลาสามชั่วโมงครึ่ง ระยะเวลาประมาณกรุงเทพฯ-โคราช แต่สภาพในรถต่างกันมากครับ รถทัวร์ไทยเบาะกว้าง มีคนมาเสิร์ฟอาหาร (อานิสงก์ของกลไกตลาด) แต่ของออสเตรเลียนี่ห่วยแตก รถทัวร์ของบริษัทนี้แสนแคบ ไม่มีอะไรอย่างอื่นจะทำได้นอกจากอ่านหนังสือ (บางคนดูหนังจากไอแผดหรือคอมฯ) เพราะฉะนั้นตั้งแต่ล้อเริ่มหมุนผมก็ไม่มีอะไรทำนอกจากอ่านหนังสือ

พออ่านจบในขากลับ (อีกสามชม.ครึ่ง นั่งจนตูดชา) ผมก็รู้สึกว่าต้องเขียนอะไรสักอย่างเกี่ยวกับมัน แต่ปัญหาคือว่า ผมไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรนี่สิ

หลักๆเรื่องนี้เป็นเรื่องของโต๊ะตัวหนึ่งและความทรงจำที่โคจรอยู่รายรอบมัน เนื้อเรื่องแบ่งเป็นสี่ส่วนและพูดถึงชีวิตของคนจำนวนหนึ่งที่มีชีวิตเกี่ยวข้องกับโต๊ะตัวนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เรื่องราวสี่เรื่องเข้ามาเกี่ยวข้องกัน นาเดีย นักเขียนอเมริกันผู้ซึ่งเขียนหนังสือมา 27 ปีบนโต๊ะตัวหนึ่งที่กวีชิลีให้เธอเอาไว้นานมาแล้ว พ่อชาวอิสราเอลและลูกของเขา นักวิชาการอ๊อกซฟอร์ดกับเมียที่เก็บความลับไว้จนตาย และผู้หญิงคนหนึ่งกับการสังเกตชีวิตครอบครัวนักค้าของเก่า

แต่โต๊ะไม่ได้เป็นเพียงวัตถุอย่างเดียวที่นิโคล เคราส์ จัดวางเอาไว้ตรงกลางเนื้อเรื่อง มันเป็นการตั้งคำถามกับสิ่งที่ดำรงผ่านการเวลา

ในแง่หนึ่ง "เครื่องปรุง" เหล่านี้ อาจทำให้หลายคน (รวมทั้งผม) ในตอนแรก คิดว่านี่เป็นนิยายประเภทสืบสวนสอบสวน และค่อยๆเปิดเผยออกมาว่าไอ้โต๊ะตัวนี้มันดึงสี่เรื่องนี้เอาไว้ด้วยกันอย่างไร (ลองนึกถึงนิยายสืบสวนสอบสวนที่เราชอบอ่านสิครับ โต๊ะตัวนั้นอาจจะเป็นโต๊ะที่มีคนถูกฆาตกรรรม! ฯลฯ) เพราะฉะนั้นเราจะนึกถึงนิยายที่มีโครงเรื่องแน่น ชัด ค่อยๆเปิดมาทีละเปลาะๆ และขมวดจบด้วยการเฉลยเรื่องราวอันดำมืดกฤษณา

แต่นิโคลทำสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันเลย และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงชอบมัน

นอกเหนือจากว่าเธอมีฝีมือทางการเขียนแล้ว เธอยังพาคนอ่านเข้าข้างในจิตใจด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ๆท้าทายมาก และพลาดกันได้ง่ายๆ มีบางตอนที่อ่านแล้วเหนื่อย เหมือนกับว่าเธอกำลังหาทางออกจากพื้นที่ภายในของตัวเองอยู่ ร้อยแก้วบางตอนนี่อ่านไปแล้วก็หวิว ตอนที่ผัวหึงเมียนี่ทำได้เยี่ยมมากเลย (คนขี้หึงมักมีภาพเมีย/ผัวเอากับชู้อยู่ในหัวเสมอ) ชายไทยหลายคนคงมีอารมณ์ร่วมได้ไม่มากก็น้อย (ฮา)

แต่ที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด ซึ่งผมมาได้รู้ทีหลัง คือคำถามที่นิโคลใช้ก่อนเริ่มเขียนเรื่องนี้ ซึ่งเธอเขียนเป็น บทความ ชื่อ On Doubt คือ

สิ่งที่ฉันรู้ [ก่อนเขียนเรื่องนี้] มีเพียงว่า 1) ฉันต้องการจะเข้าใจว่า [ตัวละคร] คือใคร และอะไรทำให้พวกเขาเป็นอย่างนั้น 2) เมื่อร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เรื่องของพวกเขาจะสามารถสร้างเรื่องใหญ่ที่มีรายละเอียดและมีความหนักแน่น ที่จะแสดงให้เห็นว่าเมื่อเรื่องราวต่างๆมาวางอยู่ด้วยกัน จะเผยรูปแบบ หรือก่อร้างสร้างขึ้นเป็นบ้านสมบูรณ์ได้ แม้ว่าฉันจะยังมองไม่เห็นบ้านหลังนั้นก็ตาม เพราะฉะนั้นฉันกำลังสร้างบ้าน - หรือจะเป็นเมืองทั้งเมืองเลยก็ได้ - โดยไม่มีแม้แต่พิมพ์เขียวด้วยซ้ำ


และนี่เป็นเส้นการแบ่งคนอ่านที่ชอบ และไม่ชอบงานนี้ คือคนที่ไม่ชอบก็จะตั้งคำถามว่า ทำไมเรื่องถูกทิ้งเป็นปลายเปิดเอาไว้ ไม่ขมวดให้สาใจคนอ่าน นิโคลเดินไปกับเรื่องที่ตัวเองกำลังเขียน ไม่ได้จูงเรื่องราวให้เดินมาทางเธอ

และเมื่อผมได้ฟังสิ่งที่เธอพูดเมื่อปีที่แล้วก็เริ่มเข้าใจ ในยุคอินเตอร์เนต คนมักจะเห็นว่ามันได้เปลี่ยนวิธีคิดของเรา ทำให้เราใช้เวลากับอะไรสั้นลง นิโคลบอกว่ามีอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมกัน และผลกระทบของมันจะยิ่งกระเทือนถึงรากมากกว่า นั่นคือเรากำลังสูญเสีย "tolerance for the unknown" - และ "ความไม่รู้" นี่แหละ เป็นเครื่องมือที่สำคัญของนักเขียน



-----

ระหว่างนี้หากคุณอยากอ่านก็บอกผมได้ ผมจะยื่นหนังสือเล่มนี้ให้คุณ แต่มันคงยับเยินมากขึ้นไปอีก หากคุณไม่ว่าอะไร เมื่ออ่านจบ ก็ขอให้ส่งผ่านไปยังคนรักวรรณกรรมคนอื่นๆต่อด้วยก็แล้วกัน

No comments: